เราต่างมีซุ่มเสียงของตนเอง
ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ทุ้มหรือแหลม ดังหรือเบา
ทุกจังหวะจะโคนต่างประกอบสร้างให้เราเป็นเรา
แต่บางครั้งเสียงนั้นกลับเงียบลง และไม่ใช่เพียงเราที่เป็นเจ้าของ
Women & Power: A Manifesto ของ Mary Beard ได้พาเราลงไปสำรวจ “เสียงของผู้หญิง” ที่ถูกทำให้เงียบสนิทจากแรงปรารถนาของความเป็นชายที่แฝงอยู่ในทุกอณู เริ่มตั้งแต่อารยธรรมกรีก-โรมัน การ์ตูนล้อเลียนบนหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมอเมริกัน จวบจน #Metoo แฮชแท็กที่ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
“ ท่านแม่ จงกลับขึ้นห้องไปเสียเถิด กลับไปทำงานของท่านกับหูกและกระสวย
การปราศรัยเป็นเรื่องของบุรุษเท่านั้น เป็นเรื่องของบุรุษทั้งมวล
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของข้าพเจ้า เหตุเพราะในราชสำนักแห่งนี้
ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุด ”
บทสนทนาระหว่าง เทเลมาคัส ผู้เป็นลูกกับ เพเนโลพี ผู้เป็นแม่ ในบทประพันธ์เรื่อง โอดิสซี (Odyssey) ของกวีโฮเมอร์ ที่แมรีหยิบยกมาเป็นหลักฐานแรกที่มีการบันทึกไว้ว่า เสียงผู้หญิงไม่จำเป็น และหน้าที่ของเจ้าหล่อนไม่ใช่บนเวทีปราศรัย แต่เป็นงานบ้านเสียมากกว่า
เธออธิบายเพิ่มเติมว่า “มันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสำคัญในการเติบโตของผู้ชาย คือเรียนรู้ที่จะเข้าควบคุมสิทธิการพูดในที่สาธารณะและจัดการให้ผู้หญิงเงียบเสียง”
กล่าวคือ ในการเจริญเติบโตของเพศชายไม่ได้มีเพียงร่างกายที่ใหญ่โตแข็งแรง แต่ยังมี อำนาจ ที่แฝงมาพร้อมกับความแข็งแกร่งนั้น และมากพอจะเข้าควบคุมความเป็นหญิงในสังคม ภาวะถูกควบคุมดังกล่าวมีทั้งที่โจ่งครึ่มและเงียบเชียบ ทั้งในพื้นที่การเมืองและรั้วบ้าน หากความเป็นหญิงใดโผล่พ้นเขตแดนของความเป็นชายเมื่อใด ความเคลือบแคลง การแซะกระแนะกระแหน กระทั่งคำด่ากราดสารพัดคือมวลหนักที่ความเป็นหญิงต้องเผชิญ และเป็นราคาสูงลิ่วที่ความเป็นหญิงต้องจ่าย แม้มันจะเผยความเกลียดชังเพศหญิงที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมก็ตาม
ขณะเดียวกัน น้ำเสียง ก็เป็นกลไกสำคัญที่ผู้เป็นชายหยิบยกมากล่าวอ้างว่า เสียงของผู้หญิงนั้นไร้ความน่าเชื่อถือ นั่นก็เพราะน้ำเสียงที่ถูกยอมรับในพื้นที่การเมืองนั้นคือ น้ำเสียงทุ้มลึกของเหล่าชายชาตรี และเสียงเรียวแหลมของหญิงสาวเป็นเพียง ‘การบ่นพึมพำไม่เป็นสาระ’ ในงานเขียนยุคโบราณก็กล่าวว่า เสียงผู้หญิงคล้ายเสียงร้องของวัว แพะ หรือสุนัขเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งหากมองให้ไกลกว่าการเทียบเคียงมนุษย์กับสัตว์ที่วรรณะต่ำกว่า การเปรียบเทียบดังกล่าวได้ริดรอนสิทธิ์พื้นฐานในการเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน เกิดการวิพากษ์ที่ไม่สร้างสรรค์ รวมถึงการมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งแมรีได้ยกตัวอย่างกรณีของ Jacqui Oatley ที่ได้เป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลหญิงคนแรก ของรายการ Match of the Day (รายการไฮไลท์ฟุตบอลอังกฤษฉายทางช่อง BBC ในคืนวันเสาร์) แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิงในกีฬาฟุตบอลที่(เชื่อกันว่า) เป็นของผู้ชาย
เสียงเรียวแหลมหรือเสียงคล้ายสัตว์ที่เทียบเคียงกับความเป็นหญิงนั้น ได้แทรกเข้าสู่รอยแยกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ อคติเหล่านั้นล้วนถูกบ่มเพาะซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากหนึ่งเป็นสิบ สิบเป็นร้อย ร้อยเป็นล้าน และใครจะรู้ว่ามายาคตินี้จะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง แต่อย่างน้อยการรับฟังมนุษย์ควรเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคม
“ เราจะเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงอย่างไร
เรายิ่งไม่ควรตั้งคำถามเพียงแค่ว่าเธอจะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสพูด
แต่ควรถามว่าทำอย่างไรเราจึงจะรู้เท่าทันกระบวนการและอคติต่าง ๆ
ที่ทำให้เราไม่สนใจจะรับฟังเธอตั้งแต่แรก ”แมรี เบียร์ด
การยอมรับในอำนาจของผู้หญิงคือสิ่งที่ยังเป็นปัญหา แมรีได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหานี้ว่า
“เรา(ผู้หญิง) ไม่มีภาพต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีอำนาจนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร”
เธอยกผู้นำทางการเมืองหญิงในโลกตะวันตกอย่าง Hillary Clinton มาเป็นตัวอย่าง เพราะแม้จะมีอำนาจทางการเมือง แต่การแสดงออกภายนอกยังมีต้นแบบมาจากความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงที่ทุ้มต่ำ หรือการสวมสูทกับกางเกง ซึ่งนอกจากจะเทียบเคียงว่า เสียงเล็กแหลมหรือกระโปรงเป็นตัวแทนของความอ่อนแอ ยังเน้นย้ำสถานะ คนนอก ของความเป็นหญิง ที่หากอยากเข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจก็ทำตัวให้สมชายซะ
ซึ่งในบางกรณี ภาวะคนนอกที่ติดมากับความเป็นหญิงนั้นก็ไม่ถูกต้อนรับเหมือนกัน อย่างในกรณีของหนังสือพิมพ์ The Times ช่วงต้นปี 2017 เป็นบทความที่รายงานความเป็นไปได้ ที่ผู้หญิงจะเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประธานคณะกรรมการบริหารบีบีซี และบิชอปแห่งลอนดอน โดยพาดหัวว่า “ผู้หญิงพร้อมยึดอำนาจจากพระ ตำรวจ และบีบีซี”
หรือกระทั่งกรณีของ “โอลีฟ โตเกียวเนยกรอบ” แม่ค้าขายโตเกียวกรอบที่เกิดเป็นกระแสขึ้นมาเพราะว่าเธอโนบรา(ไม่ใส่ชุดชั้นใน) และใส่เสื้อผ้าที่เผยให้เห็นทรวดทรงต่าง ๆ ยืนขายโตเกียว ทำให้ชายหนุ่มมากหน้าหลายตาเข้าอุดหนุนเธอไม่ขาดสาย ความโด่งดังของเธอกระจายไปทั่วสังคมไทย เธอได้ต่อยอดงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดง งานทีวี งานขายของต่าง ๆ โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นนอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว ยังมีเสียงเล็กแหลมขึ้นจมูก หนีบ ๆ (ผมก็ไม่ทราบว่าจะอธิบายผู้อ่านอย่างไรเช่นกัน) ที่ใครได้ยินก็ต้องรู้ว่าเป็นเธอ
เรื่องไม่ปกติที่ปกติอย่างแรกคือ เธอถูกคุกคามทั้งทางวาจาและร่างกาย ซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบที่ธรรมดาไปเสียแล้ว และผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเราได้รับอนุญาตให้แตะต้องผู้อื่นอย่างเลวทรามแบบนี้ได้ตั้งแต่เมื่อใด ส่วนประเด็นที่สองคือ เสียง อย่างที่เห็นกันว่าน้ำเสียงของเธอค่อนข้างประหลาด ในแง่ที่ว่าน้อยนักคนที่จะใช้น้ำเสียงแบบนี้ในชีวิตประจำวัน
แต่ใช่ว่าเสียงแบบนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามเสียหน่อย เพราะเราเกิดมาพร้อมสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย หากแต่ผู้คนที่ได้ยินเสียงของโอลีฟกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเสียงของเธอถูกตั้งคำถาม “เสียงเป็นเหี้*อะไร” “เสียงตอแห*” หรือกระทั่งไม่อยากจะได้ยินเสียงเธอด้วยซ้ำ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ผิดหากจะมองเป็นมุกตลกต่าง ๆ
แต่หากมองให้ใกล้อีกสักหน่อย มันเป็นตัวอย่างของความเป็นหญิงที่ไม่ถูกยอมรับ ตัวตนของเธอไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะแม่ค้าขายโตเกียวกรอบ แต่เป็นผู้หญิงแรดแต่งตัวอ่อยผู้ชาย เสียงของเธอไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะความปกติ แต่เป็นเสียงประหลาดที่ฟังดูไม่เข้าหู ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ได้ข้ามพ้นเขตแดนที่บางอย่างผู้ชายได้ขีดไว้ (ผู้หญิงก็ร่วมขีดด้วย) และสมควรแล้วกับการถูกลงโทษ
ซึ่งมันก็เป็นภาวะที่แสดงให้เห็นถึงอคติ ความเกลียดชังที่มีต่อความเป็นหญิง การบ่มเพาะหรือผลิตซ้ำวาทกรรมประหลาดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน รวมถึงอำนาจต้นแบบในผู้หญิงที่ถูกปล้น หรือทำให้สยบยอมอยู่เรื่อย ๆ
ฉะนั้นการพาความเป็นหญิงหลุดพ้นจากกรอบโลกเก่า จึงเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญ ที่บุคลากรทุกภาคส่วนควรตระหนักตั้งแต่กษัตริย์ถึงรากหญ้า และการตระหนักที่ว่านั้นต้องลึกถึงแก่นแท้ของอำนาจ ตะกอนโครงสร้าง และเผยอำนาจบนเนื้อกายของความเป็นหญิง โดยปราศจากการยอมรับจากความเป็นชาย หรือต้องข้ามผ่านอคติใด ๆ แม้แต่น้อย
” อย่างน้อยสำหรับฉันเราควรต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดีว่าแท้จริงแล้ว
อำนาจคืออะไร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และประเมินค่าได้อย่างไร
หากผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว
สิ่งที่น่าจะต้องนิยามใหม่ควรจะเป็นอำนาจ แทนที่จะเป็นผู้หญิงใช่หรือเปล่า “แมรี เบียร์ด
ผมในฐานะผู้อ่าน, Women & Power : A Manifesto เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ย่นย่อ ที่บอกเล่าเรื่องราวระหว่างผู้หญิงกับอำนาจ กลไกทางสังคมที่ผลักให้ผู้หญิงตกขอบอารยธรรม ทั้งยังมีการออกแบบการเล่าเรื่องที่ไหลลื่นอ่านง่าย เป็นมิตรกับผู้คนทั้งที่คุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย
บทแรก “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ” ที่แม้ร่องรอยของอำนาจผู้หญิงจะเลือนลาง กระจัดกระจายตามรอยแยกของเวลา แมรีก็ยังสามารถปะต่อเศษซากนั้นเข้าด้วยกันได้อย่างดี ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าโลกจะพลวัตมากเพียงใด การขับเคลื่อนเรื่องเพศก็ยังถูกแช่แข็ง และควรเดินหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังไม่โอนอ่อน
กระทั่งบท “ผู้หญิงที่มีอำนาจ” การพาข้อถกเถียงบางอย่าง หรือสิ่งยังอยู่ในสถานะคำถามไปสู่กระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบ มีเหตุผล และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับนั้นทำให้ข้อแย้งของเธอมีพลังอย่างมาก
รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเองที่ถูกการกดทับทางเพศนี้เล่นงาน ซึ่งพอผนวกเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ผู้เขียนก็ไม่คิดว่าจะมีชายแท้ท่านใดจะหาข้อโต้มาแย้งกับเธอได้
ท้ายนี้ ผมนึกไปถึงครั้งที่มีการเปิดข้อเรียกร้อง 10 ข้อของกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตย์ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนั้นไม่ใช่เพียงข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ตรึงใจผู้เขียน แต่เพราะความเป็นหญิงมากมายต่างกู่ร้องต่างหาก
ความงดงามตามเพศวิถีได้เจิดจรัส สายรุ้งที่วันนี้แข็งแกร่ง คนแปลกแยกไม่มีอีกต่อไป
ความเป็นหญิงที่ไม่ว่าจะในนามความอ่อนแอ ความหลากหลายทางเพศ เสื้อแดง หรือคนชังชาติ
ณ วันนั้นทุกสิ่งได้ถูกตอบรับและเป็นหนึ่งเดียว เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ผู้เขียนรู้สึกถึง “ความหวัง” ในสังคมแห่งนี้
แม้ในสายธารอันยืดยาวของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยผลพวงของอำนาจความเป็นชาย สภา การปราศรัย โรงเรียน บ้าน ล้วนมีอณูของอุดมคติเก่าแฝงอยู่ การรู้เท่าทันการเป็นไปของอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ “การยอมรับในความหลากหลายของมนุษย์”
หลายครั้งที่การผลักไสนี้ผลิตซ้ำอุดมคติเก่าและสร้างความเป็นอื่นขึ้นมาในสังคม มีหญิงสาวจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ มีชายหนุ่มมากมายไม่อาจร้องไห้ มีเพศหลากหลายมากมายที่กลายเป็นตัวประหลาด มีเด็กน้อยต้องถูกพรากอนาคต และยังมีอีกมากที่ต้องไร้ที่ทางเพียงเพราะต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม
ซึ่งนั่นไม่ใช่โลกที่หลายคนใฝ่ฝันถึง, ผมเองก็เช่นกัน หากลองนึกถึงบ้านเมืองที่การเดินในซอยเปลี่ยวนั้นปลอดภัย หญิงสาวที่นั่งแท็กซี่อย่างสบายใจ สังคมที่ชายหนุ่มสามารถร้องไห้ หรือเป็นเพื่อนกับหญิงสาวได้อย่างปกติ โลกที่เด็กสามารถเติบโตมาพร้อมกับความฝันที่ไร้พรมแดน หรือโลกที่สามารถรักหรือไม่รักใครก็ได้โดยไม่ต้องไปนอนคุกนอนตะราง แม้จะดูเป็นโลกอุดมคติมาก แต่เพียงแค่คิดมันก็เป็นสุขแล้ว แล้วทำไมเราถึงจะคิดไม่ได้ล่ะ?
แม้จะมีประเด็นทางสังคมนี้เกิดขึ้น การขับเคลื่อนวาระนี้มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก็อาจจะยังไม่มีแนวทางสร้างโลกในฝันนั้นอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เราควรมีร่วมกันคือแรงปรารถนาที่อยากจะสร้างบางสิ่งบางอย่าง
และผมก็เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า มีเพียงความหลากหลายเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนโลกนี้ไปได้
หนังสือ – Women & Power: A Manifesto
ผู้เขียน – Mary Beard
ผู้แปล – นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน
สำนักพิมพ์ – Bookscape
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี