วรรณกรรมโลกสมมติ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครที่มีชีวิตหลังกำแพงใหญ่ ภายใต้กฎระเบียบและผู้คุมที่เคร่งครัด ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเองในแต่ละวัน แต่ที่หาไม่คือความฝันที่เป็นไปได้นอกกรอบกำแพงใหญ่ “พวกเราขาดจุดเปรียบเทียบ การถูกจำกัดการรับรู้ ทำให้เราไม่เห็นอะไรที่ไกลไปกว่าขอบกำแพง หรืออย่างดีก็แค่ขอบฟ้าภายในอาณาเขตของสถาบัน” เป็นท่อนหนึ่งของนายผีที่เล่าให้วรพลฟังโดยยกตัวอย่างต่อเพดานความฝันของผู้คนในกำแพงใหญ่
ภายใต้กรอบที่ถูกบีบบังคับให้จำกัดทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต หรือขีดเขียน มนุษย์ย่อมไม่มีหนทางต่อเสรีภาพที่กว้างใหญ่ไพศาล หรือจินตนาการต่อสิ่งอื่นที่เป็นไปได้ สิ่งนี้ถูกพิสูจน์แน่ชัดมาแล้วนับต่อนับ จากชีวิตของผู้คนภายใต้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม ที่เคร่งครัดและเจ้าระเบียบต่อชีวิตของประชาชนชนในรัฐ ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้วว่าวลีพจน์ดังกล่าวไม่เป็นจริง
หนังสือเล่มนี้ชวนสำรวจและนำทางพวกเราเพื่อเข้าใจความคิดของผู้คนที่ต้องตกอยูในสภาวะจำยอมดังกล่าว กล่าวคือไม่มีความเป็นไปได้อื่นต่อการจัดการชีวิตเว้นเสียแต่ออกแบบโดยผู้คุม ไม่มีเสรีภาพต่อการเลือกใช้ชีวิต กิน เป็นอยู่ ทำงาน หรือแม้กระทั้งหลับนอน เรื่องราวในหนังสือ บอกถึงถั่วแดงก้นหม้อยามเช้า งานเลื่อยไม้กลางห้องโถงโปร่งแสงของกมล หรือการหลับนอนร่วมห้องกับคนที่กรนเสียงดัง ผมเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสอดแทรกว่า แค่สิ่งรบกวนใจเล็ก ๆแค่นี้ เขาก็ไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร เว้นแต่ “อยู่ต่อไป และอยู่ให้เป็น”
วิภาส ศรีทอง นักเขียนหนังสือเล่มนี้ ตั้งใจยอกย้อนอย่างเจ็บแสบ ว่าบางคนได้ลืมสิ่งที่กำลังต่อสู้และกลายเป็นคนสยบยอมต่ออำนาจบาทใหญ่ หากย้อนกันแบบเร็ว ๆในสังคมไทยเราก็เห็นคนจำนวนไม่น้อยที่เคยจับปืนเข้าป่าต่อสู้เพื่อกรรมมาชีพและแรงงาน แต่สุดท้ายก็หันหลังและสวามิภักดิ์ต่อรัฐอำนาจนิยม เราเห็นคนเดือนตุลาที่เรียกร้องอำนาจให้กับประชาชน วันนี้กสนับสนุนการรัฐประหารคณะรัฐบาลเผด็จการ สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ผิดเพี้ยน
อนุสาวรีย์ เป็นชื่อหนังสือที่เขียนถึงเรื่องราวหลักเพื่อบอกว่าหลายส่วนงานในคอมมูนเดินหน้าสู่การสร้างรูปปั้นใหญ่เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวคอมมูน นั้นคืออนุสาวรีย์ แต่ละคนถูกแจกจ่ายงงานให้มีส่วนงานเป็นประจำ แบ่งกันทำตามหน้าที่ และนี่คงล้อมาจากแนวคิดของมาร์ก หรือเสียดสีทฤษฎียูโทเปียของโลกสังคมนิยม
จวนใกล้สอนุสาวรีย์จะแล้วเสร็จจากหยาดเหงื่อและความเจ็บปวดของชาวคอมมูน ไม่ใช่ว่าไม่ปรากฎข้อสงสัยหรือข้อถกเถียง ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่เพราะมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ความฝันจึงถูกบีบให้คับแคบ ที่แม้สุดท้าย อนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นจะไร้โฉมหน้า มีเพียงแค่ฐานและโครงสร้าง แต่ไม่เห็นมีใครหยุดหย่อนที่จะรีบสร้างให้เสร็จโดยเร็ว บางช่วงของการก่อสร้างมีการวาดลายฐานของอนุสาวรีย์ให้เหมือนรอยร้าว เพื่อบ่งบอกว่าใกล้พังเต็มที แต่เพราะชาวคอมมูนกลัวว่าจะต้องกลับมาสร้างอนุสาวรีย์อันใหม่ ลายนั้นก็จะหายไป
ตลอดทั้งเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ชวนเราระลึกถึงความเจ็บปวดของผู้คนภายใต้ระบอบที่ถูกกดขี่โดยสภาวะจำยอม ชีวิตที่มีเนื้อหนังมังสาจำยอมต้องขูดรีดหยาดเหงื่อแรงงาน เพื่ออนุสาวรีย์อันโอ่อ่า
แม้นในคอมมูนที่มีคนอย่างวรพล ทั้งแอบคิด สงสัย ตั้งคำถาม ว่าทำแบบนี้เพื่ออะไร แต่เพราะวรพลไม่มีเสรีภาพมากพอ ที่จะป่าวประกาศข้อสงสัยนั้นออกไป จนถึงตอนจบของเรื่อง มีตัวละครอย่างตัวตลกที่ปืนขึ้นไปไชโยให่ร้องบนอนุสาวรีย์ จนถูกปาด้วยก้อนหินจนตาย แค่นี้ก็เพียงพอที่จะบอก ว่าสังคมที่คับแคบ มองเห็นแค่ความเชื่อของตัวเอง และไม่ตั้งคำถามต่อความเป็นได้อื่น ๆ นำไปสู่ความคลั่งที่สามารถฆ่าคนอื่นได้
หากไม่เลือก ”อยู่เป็น” อย่างวรพล ก็คงตายอย่างตัวตลก ทั้งกำแพงที่กั้นการรับรู้สิ่งอื่น และอนุสาวรีย์ที่ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ล้วนเป็นสาเหตุให้ชาวคอมมูนใจแคบอย่างนี้อยู่บ้าง แต่เราอ่านจนจบก็พอสรุปได้ว่า เสรีภาพไม่ได้แค่สำคัญต่อชีวิตเรา แต่มันสำคัญต่อคนอื่นที่ไม่ได้คิดและเชื่อในแบบที่เราเชื่อด้วย
หนังสือ: อนุสาวรีย์(The Monument)
นักเขียน: วิภาส ศรีทอง
สำนักพิมพ์: สมมติ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี