อัพเดทขนส่งสาธารณะไทย พร้อมไหม พอหรือยังสำหรับให้ทุก ๆ คนได้เดินทาง - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ที่เรียกร้องวันนี้ไม่ใช่เพื่อผมที่พิการ แต่เพื่อตัวคุณในอนาคตด้วย เพื่อคุณปู่ คุณย่า คนตาคุณยาย เพราะร่างกายคนเปลี่ยนได้เสมอ ต่อให้เราไม่ต้องเจออุบัติเหตุอะไรก็ตาม แค่คุณอายุ 60-70 ปี ก็อาจจะต้องใช้” — มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom 

สิ่งที่มานิตย์เรียกร้องและกำลังทำงานอยู่ ก็คือ การผลักดันให้เกิดกระบบที่ “ทุกคน” เข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน 

“ใคร ๆ ก็ต้องเดินทางได้ มนุษย์ทุกคน สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ต้องสามารถเคลื่อนไหวจากจุด A ไปยังจุด B ได้” 

มานิตย์อยากให้เรานึกถึงว่า “หากวันหนึ่งตัวเราต้องนั่งรถเข็น” หรือวันหนึ่ง “มองไม่เห็น” หรือ “หูไม่ได้ยิน” แล้วนึกดูว่าจะเดินทางจากบ้านไปยังที่ทำงาน เราจะเดินทางอย่างไร ถ้าไม่มีรถส่วนตัว อย่างเช่นต้องไปทำงานที่ไทยพีบีเอส ถ้าเรานึกถึงเส้นทางแถวนั้นรถไฟฟ้าก็มี แต่ยังไม่ถึงที่ รถเมล์จะสะดวกไหม เหลือทางเลือกแท็กซี่ ในภาพรวม ๆ “ก็คือว่ายังไม่สะดวก”

เมื่อขนส่งไม่ดี คนพิการก็ออกมาลำบาก สังคมก็ไม่ค่อยคุ้นชินกับคนพิการ เราจึงแยกห่างกันหรือเปล่า มานิตย์บอกว่า “นี่คือปัญหางูกินหาง” และจากประสบการณ์ที่เคยพาคนพิการออกมาข้างนอก เขาบอกว่า “โหปัญหาเพียบเลยอยู่บ้านดีกว่า” แต่คำพวกนี้จะหมดความหมายเลย ถ้าเราทำทุกอย่างเป็น Universal Design

“ทุกวันนี้ สังคมมองคนออกเป็น 2 ก้อน คนพิการ และไม่พิการ หน่วยงานรัฐเองก็มีแนวทางที่ดีแหละ แต่ในมุมมองของผมคือยังไม่ตรงจุด Vision คือทุกคนมันต้องเดินทางได้ก่อน อยากไปโรงเรียนได้ไป อยากไปทำงานได้ทำ ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่คนพิการมักตามไม่ทัน สิ่งที่ช่วยเหลือด้วยเงิน มันก็ช่วยได้ชั่วคราว แต่อยากให้มันยั่งยืน อยากให้ช่วยเหลือให้มันจริง ๆ คือ ทุก ๆ คนใช้ขนส่งสาธารณะ ทุกคนได้ใช้พื้นที่เมือง”

De/code ชวนสำรวจ และอัพเดทการขนส่งสาธารณะเมืองกรุงว่ามีไว้ให้ทุก ๆ คนได้ใช้มากแค่ไหน ตั้งแต่รถเมล์ รถไฟฟ้า แท็กซี่ และทางเท้า และคุยกับ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom และ ปอนด์-พชร ด่านประภา อดีตสมาชิกสภาเยาวชนกรุงเทพฯ และนิสิตปี 4 ย่านอโศก

รถเมล์
เย้! มีชานต่ำแล้วนะ ชานกึ่ง ๆ ต่ำก็มี
ชานสูงขึ้นไม่ได้ก็ยังเพียบ!

คลาสสิกไม่เสื่อมคลาย รถเมล์ไทยนอกจากถูกพูดถึงเรื่องเก่า ขับซิ่ง จอดไม่ตรงป้ายแล้ว การเรียกร้องเพื่อให้รถเมล์นั้นเป็นชานต่ำก็ดำเนินมาหลายปี ติดขัดทั้งปัญหาการบริหารจนขาดทุน และปัญหาที่นโยบายเปลี่ยนแปลงตลอดเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล

และในที่สุดกรุงเทพฯ มีรถเมล์ชายต่ำที่วีลแชร์สามารถขึ้นได้แล้วราว ๆ 500 คัน

ข้อมูลจาก The Rocket Lab ระบุว่า สายรถเมล์ที่วิ่งส่วนใหญ่มักวิ่งในส่วนกรุงเทพฯ ชั้นใน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ห้างร้านต่าง ๆ หรือเป็นสถานศึกษา หรือว่าที่เที่ยวกินดื่ม แต่ลดลงเมื่ออยู่ในพื้นที่กรุงเทพชั้นนอก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีรถเมล์ไปถึง แต่จำนวนต่างหากที่ไม่ถี่

ส่วนจำนวนรถเมล์นั้น ThisAble.me รายงานผลสำรวจมีรถเมล์ชานต่ำอยู่ทั้งหมด 58 สาย จาก 224 สายทั่วกรุงเทพมหานคร หากดูเป็นจำนวนคันนั้นมีอยู่ 1,079 คัน จากทั้งหมด 4,405 คัน รถเมล์ชานต่ำมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น หรือแม้แต่เด็กเล็ก ผู้บกพร่องทางการมองเห็น คนแก่ และคนท้อง

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom บอกว่า แม้จะดีขึ้น แต่มันก็ไม่ครอบคลุม ขณะที่สิ่งที่ต้องการคือ รถเมล์เก่า ต้องหายไป นั่นหมายความว่า คนทั่วไปใช้ได้ 100% ส่วนคนพิการก็ควรจะทำได้ 100% เช่นกัน แต่เราก็เข้าใจมนุษย์ เมื่อเรายังไม่เดือดร้อนเราก็จะละเลย เป็นเราที่ต้องพยายามเกาะกลุ่มกัน และส่งเสียงให้ดัง ๆ หลากหลายวิธี

ปอนด์-พชร ด่านประภา แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางด้วยรถเมล์ว่าจะสะดวกเฉพาะสายที่เดินทางประจำ

“เพราะเราไม่รู้ป้ายว่าต้องลงตรงไหน ถ้าเราขึ้นรถ หรือรอรถ เทคนิคที่ใช้กันก็คือ ถามคนแถว ๆ นั้นว่าให้ช่วยบอกหน่อย แต่ถ้าเขาลงรถ หรือขึ้นรถไปแล้วก็ต้องหาคนใหม่”

รถไฟฟ้า
ต่อสู้เพื่อให้มีลิฟต์ทุกสถานี วันนี้มีแล้วนะ
แต่มันยังมีภาคต่อ

หากวันนี้เราขึ้นรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน หรือบนฟ้าก็อาจไม่เคยรู้ หรือไม่สังเกตก่อนเลยว่า ครั้งแรกที่เราเริ่มใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อปี 2542 สถานีแรกเริ่มนั้น ไม่ลิฟต์สำหรับผู้ใช้วีลแชร์ หรือผู้สูงอายุ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดับฝันผู้ใช้รถเข็นในประเทศจำนวนมาก เพราะตั้งแต่เริ่มรู้ข่าวว่าไทยกำลังจะสร้างรถไฟฟ้า นั่นเป็นโมเม้นต์ที่ทำให้ผู้พิการนั้นมีความหวังที่จะเดินทางได้โดยสะดวกมากขึ้น หลังจากที่อดทนและพยายามอย่างมากในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะไทย

แม้วันนี้รถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ต่างมีลิฟต์เพื่อผู้ใช้วีลแชร์แล้วเรียกได้ว่าเกือบ 100% (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://rb.gy/fds11m) แต่กว่าที่จะได้มานั้น ผู้พิการผ่านการต่อสู้มานานหลักหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี 2538 ที่รู้ว่า แปลนการก่อสร้างนั้นจะไม่มีลิฟต์ แต่มีปล่องลิฟต์รอการทำในอนาคตมีเพียงทางเดินขึ้น-ลง และบันไดเลื่อนเท่านั้น พวกเขาเดินหน้าเรียกร้องให้มีการติดตั้งลิฟต์ให้ครบทุกสถานี ทั้งการประท้วง ยื่นหนังสือ ร้องสื่อ เข้าพบผู้บริหาร กทม. แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

สุดท้าย ผู้นำคนพิการผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยและกทม.คือการระดมทุนสร้างลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ 90 ล้านบาท ก่อสร้างลิฟต์ 13 ตัว 5 สถานี ที่เหลืออีก 18 สถานีก็ค่อยของบ กทม.มาสร้างภายหลัง ขณะที่บริษัทผู้รับสัมปทานก่อสร้างไม่ต้องจ่าย เพราะตัวสัญญา “ไม่ได้ระบุ” เอาไว้ ซึ่งกรณีนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในปี 2550 ต่อมายกฟ้องในปี 2552 ด้วยเหตุว่า พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 นั้น ไม่มีการกำหนดรายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ การไม่ได้สร้าง จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องละเลยการทำหน้าที่ ต่อมาก็มีการปรับปรุงกฎหมายกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ พ.ศ.2548 รวมถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า “ห้ามเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไม่เป็นธรรม”

จากนั้นจึงมีการใช้กฎหมายนี้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้งในเดือนตุลาคมปี 2552 ซึ่งศาลใช้เวลา 5 ปี ในการพิจารณา ก่อนสั่งให้มีการสร้างลิฟต์ให้ครบทุกสถานี ในเดือนมกราคม 2558 แต่กระนั้นสถานีที่เหลือ 18 แห่งก็ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานกว่าที่กำหนดเวลา 1 ปี ขณะที่วันนี้ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 58 สถานีเกือบครบทุกสถานีแล้ว

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom หนึ่งในผู้พิการที่เดินหน้าเรียกร้องอย่างเข้มข้นบอกว่า การปรับปรุงรถไฟฟ้านั้นดีขึ้นแน่นอน เพราะเป็นการผลักดันร่วมกันของเครือข่ายผู้พิการ

“เราพูดหนัก และพูดดัง”

แต่อย่างนั้นการเรียกร้องของผู้พิการต่อการสร้างลิฟต์นั้นก็ทำให้เกิดมุมมอง 2 มุม คือ คนพิการมองว่า ทำเบาเกินไป ขณะที่คนทั่วไปบอกว่า เรียกร้องรุนแรงเกินไป

เหตุการณ์หนึ่งในการเรียกร้องของมานิตย์ คือ การทุบกระจกลิฟต์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก จนแตกร้าว โดยให้เหตุผลว่า เมื่อต้องการใช้ลิฟต์จำเป็นต้องแสดงบัตรคนพิการ และเซ็นชื่อ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

“วันนี้ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสมีลิฟต์ให้แล้ว อย่างน้อยฝั่งละ 1 ตัว ซ้าย 1 ตัว ขวา 1 ตัว ที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะเสียงของพวกเรานี่แหละ ที่ไม่หยุดพูด ข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้เกิดจากการลงพื้นที่ และปรับปรุงข้อมูลอยู่ตลอด

และแม้ว่ารถไฟฟ้าดีขึ้น แต่ถ้าดูในรายละเอียดลึกลงไป ห้องน้ำคนทั่วไปยังหาที่เข้ายากเลย ต้องไปขอเข้าใช้ ส่วนคนพิการใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีให้”

“สุดท้ายมันไม่ใช่เรื่องของคนพิการ มองว่า เฮ้ยคนพิการมาร้องบีทีเอสอีกแล้ว แต่ทุกคนลืมนึกไปว่าไม่แน่นะ พรุ่งนี้คุณอาจจะไม่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงก็ได้ มันมีทางเลือกเดียวเลย เวลาสร้างสิ่งต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงคนทุก ๆ กลุ่ม มันเหมือนเป็นรับรองว่า ถ้าพรุ่งนี้ร่างกายคุณเปลี่ยนแปลง คุณก็ยังมีชีวิตที่ดีอยู่ได้

เบรลล์บล็อก และทางเท้า
ไร้รอยต่อ ต่อติดบ้าง ต่อไม่ติดบ้าง 
เสี่ยงอุบัติเหตุทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

หนู ๆ ซ้ายหน่อย ๆ” คำคุ้นเคยจากเพื่อนร่วมทางบนทางเท้าที่ ปอนด์-พชร ด่านประภา พบเจอเป็นประจำ เมื่อต้องเดินตามทางเท้า หรือเดินตามเบรลล์บล็อก

“การขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ต้องพูดได้เลยว่า มันไม่เยอะเท่าที่ควร ทั้งทางเท้า บางจุดก็ยังเหมือนเดิมนานแล้ว ก็ยังไม่แก้ บางจุดก็แก้แล้ว อย่างที่ผมเรียนแถวอโศก ฝั่ง MRT เพชรบุรี ก็จะมีหลุมมีอะไรเยอะไปหมด ไม่สะดวกเท่าไหร่ พวกที่เป็นรถไฟฟ้า อันนี้สะดวกเพราะมีพี่ รปภ.ช่วย มีสัญลักษณ์บอก”

ตั้งแต่สายตาเริ่มเลือนลางจนถึงทุกวันนี้ ปอนด์บอกว่า แม้เบรลล์บล็อกจะไม่ค่อยปะติดปะต่อกันนัก แต่ก็ช่วยได้มากเวลาต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

“บางที่มันยังเป็นปัญหา มีเบรลล์บล็อกมีร้านขายของอยู่ เราเดินชนก็อาจเกิดความเสียหาย หรืออันตรายได้ เบลล์บล็อกบางทีไม่รู้ทำกันยังไง ไม่รู้ตึกหรือเบลล์บล็อกเกิดก่อน เดินไปหลังชนกำแพง อันนี้เจอที่แถวอนุสาวรีย์ชัยฯ บางทีถ้ามันไม่ต่อ เราก็เดินทางไม่ถึงจุดหมาย

แต่หากถามว่า หลาย ๆ ปีที่ผ่านมามันดีขึ้นหรือไม่นั้น ปอนด์บอกว่า “ทรง ๆ” แต่ที่เห็นจะเป็นปัญหาไม่แพ้กันก็คือ พื้นผิวถนนที่ไม่เรียบ

“ตัวผมเดินทางฝั่ง MRT เพชรบุรี เราเดินมาตั้งแต่ปี 1 ตอนนี้ปี 4 แล้ว มันก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้แก้ไขอะไร ทั้ง ๆ ที่อยู่ย่านกลางเมือง ควรปรับปรุงให้น่าใช้น่าเดิน พื้นที่ที่รู้สึกว่าสะดวก ทั้งพื้นเรียบ และเบลล์บล็อก ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงรถไฟฟ้า อย่าง BTS อโศกที่เดินประจำก็มีตลอดเส้นทาง”

“ผมเคยเดินไปเองแถวห้วยขวาง เคยเดินไปโรงเรียนจากรถไฟฟ้า แต่พื้นเหมือนดวงจันทร์ สุดยอดมาก ขรุขระมาก อยากให้แก้เรื่องพื้นถนน และฟุตบาทที่มันไม่เรียบ มันอาจเกิดอันตรายได้ และพวกป้ายที่ยื่นออกมาจากเสา หรือร้านขายของบนทางเท้า”

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวคนพิการขายล็อตเตอรี่ถูกรถชน มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom บอกว่า นี่เป็นบทสะท้อนให้คนในสังคมเห็นว่า “มันไม่โอเคนะ”

ชวนสำรวจความยากลำบากของใช้ทางเท้าของคนกรุง ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตามจากกิจกรรม #เดินปลุกกรุง ทางเท้าทางทิพย์ที่นี่

แท็กซี่
คนทั่วไปยังโดนเท คนใช้วีลแชร์ก็ไม่เหลือ
แต่ยังมีบริการจากเจ้าเอกชน แม้สะดวก แต่ไม่สบายกระเป๋า

300 บาทต่อวัน ค่าแท็กซี่ที่ “มานิตย์ อินทร์พิมพ์” นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ องค์กร Accessibility Is Freedom เคยจ่ายทุก ๆ วันเพื่อเดินทางไปทำงาน เมื่อ 25 ปีก่อน เขาบอกว่า จะเดินทางออกมาได้สมัยก่อนตัวเลือกไม่มาก รถเมล์ หรือแท็กซี่

“เดือน ๆ หนึ่ง ก็เสียค่าเดินทางไปแล้วเกือบหมื่น ส่วนเงินเดือนก็แค่หมื่นกว่าบาท”
แต่การขึ้นแท็กซี่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในแง่กายภาพ ค่าใช้จ่าย และการยอมรับจากแท็กซี่

“คนทั่วไปยังถูกปฏิเสธเลย แล้วกับคนพิการ คนใช้วีลแชร์ก็ไม่เหลือ สภาพร่างกายของคนใช้รถเข็นไม่เหมือนกันด้วย บางคนเคลื่อนไหวไม่ได้แค่ขา บางคนขยับได้แต่นิ้ว มันก็เป็นภาระเขาในการพาขึ้น-ลง และเก็บรถ ค่าใช้จ่ายการเดินทางมันแปรผันตามสภาพร่างกายของเรา ถ้าร่างกายเราเสี่ยงเยอะ ทุกอย่างก็เสียเปรียบหมดถ้าขนส่งสาธารณะยังไม่สมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเห็นข่าวแท็กซี่อาสา หรือแท็กซี่ที่ประกาศตัวพร้อมรับส่งทุกคน หรือบริการจากภาคประชาสังคม หน่วยงานเอกชน ที่ต้องใช้วิธีจองช่วงเวลา และมีค่าใช้จ่ายแล้วแต่ที่ หรือบริการจากบริษัทเอกชน ที่มี Option ให้เลือก เช่น Grab Assistant หรือ TAXI Cabb

นอกจากนี้ กรุงเทพธนาคม ร่วมกับ กทม.ดำเนินนโยบายบริการรถตู้เพื่อรับส่งคนใช้วีลแชร์ และอบรมแท็กซี่เพื่อบริการผู้ใช้รถเข็นด้วยตั้งแต่ปี 2555 ก่อนจะหมดสัญญาไปแล้ว ในเว็บไซต์ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ มีนโยบาย “สนับสนุนการรับส่งคนพิการ” ซึ่งต้องติดตามว่ามีการดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้างหรือไม่

อ้างอิง
https://rocketmedialab.co/bkk-bus/…
https://thisable.me/content/2022/04/815
https://www.accessibilityisfreedom.org
https://www.thaipbs.or.th/news/content/270942)
https://www.transportationforall.org/
https://www.elifegear.com/elife_wheelchairscar/
https://www.chadchart.com/policy/6266176676780b36728d475c/
https://www.elifegear.com/elife_wheelchairscar/
https://www.grab.com/…/grab-launches-grabassist-in…/