ธุรกิจแฝงแชร์ลูกโซ่ที่ไม่เลือนหายไป เพียงเพราะฝันอยากจะ 'รวย' - Decode
Reading Time: 2 minutes

“รวยเร็ว ทำง่าย คุณเองก็ทำได้”

จากประโยคที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทุกคนก็คงเคยได้ยินคำเหล่านี้จากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในธุรกิจขายตรงแบบหลายขั้นหรือธุรกิจเครือข่ายที่แอบแฝงในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ หลักการของการทำธุรกิจเครือข่ายที่แอบแฝงรูปแบบแชร์ลูกโซ่นั้น จะไม่เน้นขายตัวสินค้า แต่จะเน้นหาตัวแทน

สิ่งนี้จะทำให้เจ้าของแบรนด์และแม่ข่ายที่อยู่ระดับบน ๆ รวยขึ้น เนื่องจากการที่จะเป็นตัวแทนได้จะต้องมียอดขั้นต่ำในการสต๊อกสินค้าเพื่อขาย อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นโดยการใช้ตัวแทนในการไปบอกต่อทั้งคนใกล้ตัว และสื่อออนไลน์ โดยมักจะโฆษณาชวนเชื่อว่า “ลงทุนหลักพันก็มีเงินล้านได้ภายในไม่กี่เดือน” หรือ “ทำธุรกิจง่าย ๆ เพียงแค่ลงทุนกับเรา” เป็นต้น

ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อ มักเป็นบุคคลที่กำลังหมดหวังทางการเงินหรือกลุ่มฐานะยากจนที่อยากจะพยายามดึงตัวเองขึ้นมาจากช่องว่างระหว่างชนชั้นทางการเงิน อีกทั้งยังมีการหลอกล่อให้คนเข้าไปเป็นลูกข่ายจากการแจกสิ่งของต่าง ๆ เช่น บ้าน คอนโด หรือรถ ด้วยเหตุเหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้ผู้คนเลยหลงเข้าไปในวงจรของธุรกิจเครือข่ายที่แอบแฝงมากับการเป็นแชร์ลูกโซ่

De/code พูดคุยกับ พรดิถี จอมประดิษฐ์ เคสที่อยู่ในช่วงหมดไฟจากทั้งปัญหาโควิดและปัญหาจากที่ทำงาน แม้ว่าเธอจะมีพอกินพอใช้ ไม่ได้ขัดสนอะไร แต่การหล่อหลอมจากสื่อและคำพูดชวนเชื่อ เช่น ถ้าลงทุนแค่ไม่กี่พันก็อาจได้กลับมาหลายล้านภายในไม่กี่เดือน ด้วยเหตุนี้ทั้งปัญหาการหมดไฟในช่วงโควิดและความอยากได้อยากมีตามระบบทุนนิยมทำให้เธอตัดสินใจเดินเข้าไปสู่วงจรการเป็นลูกข่ายและแม่ข่ายของธุรกิจขายตรงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่

นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ Nanyang Technological University และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับเศรษฐศาสตร์ความสุขที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมของคนที่ลงทุนในธุรกิจประเภทนี้

ก้าวเท้าสู่พีระมิดของธุรกิจเครือข่าย

“เริ่มต้นเป็นตัวแทนประมาณช่วงโควิดใหม่ ๆ พึ่งทำงานประจำได้ปีกว่า ๆ แล้วเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน ก็เลยอยากลองหาอะไรทำ ทำให้ไปคุยกับแฟนว่าจะขายของออนไลน์ดีกว่า แล้วมีคอลลาเจนตัวหนึ่งที่เขาพึ่งเปิดตัวมา ในตอนแรกเรามองว่าเขารับตัวแทนค่อนข้างน้อย มีการคัดคนในการเป็นตัวแทน ก็เลยตัดสินใจเอาเงินประมาณ 6,000 บาทไปเปิดบิล ซึ่งอันนี้เป็นการเปิดบิลขั้นต่ำ ได้คอลลาเจน 10 ซองวิตามินซี 10 ซอง แต่ในเมื่อได้เข้าไปก็พบว่าที่ตัวแทนไม่เยอะของเขา หมายถึงแม่ข่ายที่เป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัทมีไม่ถึง 20 คน แต่มันจะมีลูกข่ายที่ย่อย ๆ ลงมาอีก แม่ข่ายที่เป็นพาร์ทเนอร์บริษัท 1 คน อาจมีลูกข่ายถึงหลักหลายร้อยคนเลย”

พรดิถีได้เล่าต่อจากเมื่อหลังที่เธอได้เข้าไปทำในธุรกิจประเภทนี้ ก็พบว่าแม่ข่ายจะมักบอกให้พูดคอนเทนต์ตามสื่อออนไลน์ตามนี้มีทั้งบอกสรรพคุณของสินค้าที่เกินจริงไปหรือการเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้ดูจน และเมื่อขายไม่ค่อยได้ แม่ข่ายก็มักจะมีคำพูดว่า “คิดดูสิประเทศไทยมีคนกี่ล้านคน แล้วจะมีคนที่เป็นแม่ค้าออนไลน์กี่คนที่อยู่รอด” ด้วยประโยคเหล่านี้ก็มักเป็นแรงจูงใจให้ฮึดสู้ต่อแม้ในความเป็นจริงนั้นอัตราการขายของอาจไม่ได้อยู่ที่ความขยันของลูกข่ายไปทั้งหมด แต่อาจอยู่ที่คุณภาพของสินค้าด้วย แต่ด้วยประโยคดังกล่าวทำให้หลายคนก็ยังหลงเชื่อในธุรกิจเครือข่ายที่แฝงการเป็นแชร์ลูกโซ่

หลังจากนั้นเธอได้พบกับต้นทุนแฝงที่มีมากกว่านั้น

“ตอนที่ตัดสินใจลงทุนไม่ได้คิดเลยว่ามันจะขาดทุนมากกว่า เราแค่คิดว่าเราไม่ต้องลงทุนในการผลิตเอง เพราะเรามองจากคนอื่นในการโฆษณาขายของว่าง่ายมาก ๆ แค่ขายสินค้า แค่สร้างตัวตน เราก็คิดว่า เราได้จริง ๆ แต่เราไม่รู้ว่าข้างหลังจริง ๆ เป็นยังไง ด้วยความที่เราไม่ได้ศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังเลย พอไปทำจริง ๆ มันมีต้นทุนมากกว่าค่าเปิดบิล มีทั้งค่าถ่ายรูป ค่าขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายคลิป ค่าไฟในการไลฟ์ขายของ และค่าอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนแฝงอีกมากมาย แต่มันเป็นค่าใช้จ่ายที่เขาไม่ได้แสดงให้เราเห็นในการโฆษณาของเขา”

พรดิถี กล่าว

ต่อมา ศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปัจจัยการอธิบายการลงทุนของธุรกิจเครือข่ายในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ มีประเด็นแยกย่อยดังนี้

ถ้าเราเลือกระหว่างสองตัวเลือก มีตัวเลือกความชัวร์ที่จะได้ 1,000 บาท กับตัวเลือกที่ต้องทายเหรียญหากทายหัวจะได้ 2,500 บาท แต่หากทายได้ก้อยจะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็อาจจะเลือกความชัวร์มากกว่าที่จะไปยอมเสี่ยงโอกาสครึ่ง ๆ จากการทายเหรียญ ถึงแม้ว่าการทายเหรียญจะมีโอกาสที่ได้มากกว่า

ความอยากรวยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เศรษฐกิจถดถอย และคนต่างตกงานกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเครือข่ายเกิดขึ้นมากขึ้นในสังคม หลายคนหมดหนทางไม่มีทางออกอื่น ๆ เป็นช่วงที่คนอ่อนไหวในเชิงรายได้ เพราะความห่วงเรื่องรายได้ ทำให้เวลาส่วนใหญ่กลายเป็นห่วงเรื่องรายได้ จนไม่เหลือที่ว่างสำหรับการคิดไตร่ตรองว่าการทำธุรกิจนี้จะดีจริง ๆ หรือไม่ พอคนไม่ได้คิดตรงนี้ ก็ผูกโยงไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อที่ยืนยันว่าได้เงินชัวร์

การเชื่อใจคนรู้จักมากเกินไป โดยส่วนใหญ่คนมักพูดเชิญชวนให้คนร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ก็มักเป็นคนใกล้ตัวหรือคนรู้จัก ทำให้คนไม่สนใจที่ใจความที่คนพูดเชิญชวนพูด แต่สนใจที่ความไว้เนื้อเชื่อใจจากการเป็นคนรู้จัก ทำให้การไตร่ตรองตรวจสอบความเป็นจริงของการลงทุนธุรกิจประเภทนี้น้อยลง อีกทั้งยังใช้คำพูดที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้หลาย ๆ ปัจจัยหล่อหลอมให้คนยิ่งเชื่อเพิ่มมากขึ้น

คำพูดเชิญชวนกลายเป็นเหยื่อชั้นดี

“เวลาเราเห็นความมั่งคั่งของคนอื่น มักจะมีเป็นความฝันของเราเสมอ” พรดิถี กล่าว

ความรู้สึกดังกล่าวที่เธอรู้สึกมักมาจากสื่อออนไลน์หรือคนรอบข้าง ที่มักจะเชิญชวนให้เข้าไปทำธุรกิจนี้ โดยใช้คำพูดประมาณว่า “ตอนแรกแทบไม่มีเงิน แต่รวยได้เพราะการทำธุรกิจออนไลน์” คำพูดเหล่านี้มักอยู่ในโลกออนไลน์ เหมือนทุกอย่างที่เธอได้ยินในสื่อออนไลน์ค่อย ๆ สะกดจิตเธอให้หลงเชื่อกับธุรกิจนี้เพียงแค่หลังม่าน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังปัญหาเยอะกว่าที่เธอคิดมาก ๆ เลย

นอกจากนี้ยังมักมีคำพูดเชิญชวนด้วยการมีการเก็บคะแนนจากการซื้อสินค้า โดยจะสามารถแลกทั้งของมากมายทั้งรถ บ้าน คอนโด หรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะได้ แต่อาจไม่ใช่คุณ เพราะพีระมิดของธุรกิจเครือข่ายนั้นมักมีสิทธิพิเศษไม่เหมือนกัน หากใครที่มีคนติดตามเยอะ ก็จะได้สิทธิพิเศษทั้งได้พบปะกับเจ้าของแบรนด์ พาไปเพิ่มทักษะกับโค้ชต่าง ๆ

ด้วยจุดนี้ทำให้พรดิถีเธอได้คิดว่า ทำไมเธอไม่ได้ไปอยู่ตรงจุดนั้นบ้าง หรือเพราะเธอไม่ได้รับลูกทีม ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เธอรับลูกข่าย แต่ผลก็ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะกำไรส่วนใหญ่กลับน้อยลง ถึงแม้ว่าเธอจะซื้อสินค้าได้ในราคาที่น้อยลงเนื่องจากมีการรับลูกข่าย แต่กำไรที่ได้จากการขายปลีกของเธอก็ถูกแบ่งขายไปให้กับตัวแทน ทำให้นานวันเข้า เธอยิ่งต้องสต๊อกของเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะเพิ่มกำไรจากการถูกหักไปให้ตัวแทน จนสุดท้ายทุนที่เธอคิดว่าจะมาเปลี่ยนชีวิตกลับติดลบไปในไม่กี่ปี

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมจากสิ่งที่พรดิถีได้กล่าวมาข้างต้นว่า “ส่วนหนึ่งเป็นจากการเปลี่ยนมันเยอะมาก การเปลี่ยนทั้งชีวิต สมมุติผมมาบอกลงทุน 7,000 บาท โอกาสที่คุณจะได้เงิน 10% ภายในหนึ่งปีสูง ถามว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนอันนั้นหรือเปล่า ถ้าเทียบกับคุณลงทุน 7,000 บาท แล้วได้ 14 ล้านเลย เพราะมันมีการเปลี่ยนชีวิตอย่างค่อนข้างชัดเจน ถ้าเปรียบเทียบกับลอตเตอรี่คนส่วนใหญ่รู้ว่ามีโอกาสถูกลอตเตอรี่น้อยมาก ๆ แต่เพราะน้อยมาก ๆ แต่รางวัลใหญ่มาก โอกาสถึงแม้ว่ามันจะน้อยนิด แต่ก็มีความเป็นไปได้

แต่ปัญหาของธุรกิจเครือข่ายมันทั้งใหญ่และเปอร์เซ็นต์ในการได้มันสูงกว่าลอตเตอรี่ นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ การลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้โชคลาภเหมือนกับลอตเตอรี่ แต่เป็นการใช้น้ำพักน้ำแรง ยิ่งเราพยายามหาโอกาส เราก็จะมีโอกาสที่รวยสูงยิ่งขึ้นจากความพยายาม คนเลยคิดว่าควบคุมได้ ไม่เหมือนกับซื้อลอตเตอรี่ธรรมดาที่ต้องหวังพึ่งแต่โชคลาภ ก็เลยทำให้คนเชื่อที่จะลงทุนมากยิ่งขึ้น”

ธุรกิจหลอกลวงที่ยังไม่เลือนหายกับความอยากได้ของคนที่ไม่หมดสิ้น

เมื่อถามว่า ทำไมเหยื่อส่วนใหญ่ของธุรกิจเครือข่ายที่แฝงด้วยการเป็นแชร์ลูกโซ่มักเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางทางการเงิน

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่า “พอมีคนที่อยากรวยเร็วไต่ลำดับไป ไต่อันดับขึ้นมาของสังคมยิ่งสูง คนในกลุ่มเปราะบางทางการเงินส่วนใหญ่อาจไม่มีความรู้ทางการเงินความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจที่สูงบวกกับความต้องการในการเงินสูง ก็เลยยิ่งทวีคูณเข้าไปใหญ่ ยิ่งชนชั้นที่เขาอยู่ยากจน เขารู้ว่าไม่ว่าเขาจะทำงานหนักขนาดไหน เขาไม่มีทางที่จะไต่บันไดขึ้นมาเป็นคนที่ร่ำรวยด้วย มีอย่างเดียวคือต้องโชคดีถูกลอตเตอรี่หรือไม่ก็ได้จากธุรกิจเหล่านี้”

สุดท้ายแล้วคงมีคำถามว่า จะมีวิธีควบคุมธุรกิจประเภทนี้อย่างไร ซึ่งในปัจจุบัน พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ได้เพิ่มการคุ้มครองให้กับผู้บริโภค เช่น ในกรณีที่ผู้บริโภคเรียกร้องความเสียหายจากเจ้าของธุรกิจขายตรงต่อสำนักงานงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความจริง สคบ.จะจ่ายค่าชดเชยโดยใช้เงินจากหลักประกันที่เจ้าของธุรกิจดังกล่าววางหลักประกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มจดทะเบียนตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นจดทะเบียนธุรกิจทั้งแบบขายตรงและตลาดแบบตรง แต่ถ้าหากไม่เพียงพอ สคบ.สามารถสั่งให้เจ้าของธุรกิจดังกล่าวเพิ่มวงเงินประกันจนเพียงพอ ภายใน 15 วัน ถ้าหากเจ้าของธุรกิจไม่ดำเนินการเพิ่มวงเงิน สคบ. ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่ทำไมธุรกิจประเภทนี้ก็ยังไม่เลือนหายจากสังคมไทยอยู่ดี และยังมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ

“ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราอยากรวยอยู่ แล้วอยากรวยเร็วและเยอะ โอกาสที่ธุรกิจพวกนี้จะยังอยู่ก็อยู่กับเราไปเรื่อย ๆ จนกว่าสังคมจะมีความเท่าเทียมมากขึ้น แรงจูงใจของคนที่อยากจะรวยขึ้นน้อยลง ถ้าเราไปดูสังคมที่มีความเท่าเทียมกันสูงเช่น ประเทศเดนมาร์กหรือนอร์เวย์ ผมว่าเรื่องพวกนี้แทบไม่มีเลย หรือถ้าจะมีคนก็ไม่สนใจขนาดนั้น เพราะจะรวยไปทำไมในเมื่อสังคมเรามีสวัสดิการทางสังคมรองรับอยู่แล้ว” ศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงข้อมูลจาก

iLaw