ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
กว่า 3 ปีของวิกฤติโควิด ได้ผ่านไป เช่นเดียวกับ 2 ปีกว่า ของขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ การต่อสู้สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญสำหรับการเมืองไทย การต่อสู้ที่ทำให้เมืองไทยไม่อาจกลับกลายเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป แต่เช่นเดียวกันก็เป็นการต่อสู้ที่ทิ้งบาดแผลไว้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่อาจยังไม่สามารถสร้างความสำเร็จต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ อาจยังไม่สามารถสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมได้ ผู้ตั้งคำถามกับรัฐบาลจำนวนไม่น้อย ถูกจับกุมคุมขัง ย้ายประเทศ หรือลี้ภัยทางการเมือง แกนนำที่ได้รับการประกันตัวก็มีเงื่อนไขจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปี 2565 เต็มไปด้วยข่าวของความน่าหดหู่ใจ กลางปี 2565 เมื่อการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างที่ชวนเป็นคำถามที่เหมือนว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่
นักศึกษาปี 1 ที่อายุประมาณ 18 ปีเรียนออนไลน์และตัดขาดชีวิตทางสังคม ตั้งแต่อายุ 16 ปี หรือแทบทั้งหมดของชีวิตมัธยมปลาย ช่วงสำคัญในการฟอร์มตัวตน ความฝัน ความสัมพันธ์ การเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ความสำเร็จ ผิดหวัง ความสุข ความรัก มันหายไปโดยปริยาย พวกเขาเลิกใช้เฟซบุ๊กอย่างสิ้นเชิง และใช้ Tiktok เป็นช่องทางการรับรู้สังคม สื่อที่พวกเขาไว้ใจไม่ใช่สื่อทางการทั้งไทยและต่างประเทศ แต่เป็น แฮชแท็กที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมถึงข่าวคราวจากกลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจกัน ผมเอ่ยถามชื่อ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาการเมืองรู้จักน้อยกว่าครึ่งห้อง แตกต่างจากเมื่อ 3-4 ปีก่อนมาก เพราะการล็อกดาวน์ที่ยาวนานทำให้พวกเขารู้สึกเหมือน พวกเขาอยู่ในโลกนี้เพียงลำพัง และจักรวาลของความสัมพันธ์หดแคบ โลกนี้ดูหมือนไม่เข้าใจและหันหลังให้พวกเขา
ภาพแตกต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อนสำหรับนักศึกษาที่หาญกล้าท้าทายต่อ แก๊สน้ำตา กระบอกปืน คุกศาล ทหาร ตำรวจ อย่างทระนง
พวกเขาหายไปแล้วจริงหรือ พวกเขาสนใจแต่เรื่องตัวเอง หรือละทิ้งความฝันการเปลี่ยนแปลงสังคม เหลือเพียงแต่ความสนใจส่วนตัวเพื่อสะสมความมั่งคั่งต่อไป
ลักษณะข้างต้นก็เป็นจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด จากการสังเกตของผม แม้วันที่ไร้ขบวนการเคลื่อนไหว แม้พวกเขาถูกแยกขาดออกจากสังคม แต่พวกเขายังตั้งคำถามต่อสังคมอย่างลึกซึ้งเช่นกัน
มีนักศึกษาปี 1 จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนที่ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เธอบอกว่าคนรุ่นเธอสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น เราไม่ได้สนใจแค่สิ่งที่อยู่ในกระแสโลกออนไลน์ที่มาไวและไปไว แต่เราล้วนตั้งคำถามกับสิ่งที่จะทำอย่างไรให้โครงสร้างที่อยุติธรรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
มีนักศึกษาปี 1 ที่สนใจแนวคิดมาร์กซิสม์ และสตรีนิยมอย่างจริงจัง และพวกเขาเองก็เชื่อว่า ระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ที่มีอยู่นี้ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง และห่างไกลกับการที่จะบอกว่ามันเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบเดียว ที่พึงเป็นสำหรับสังคม และสำหรับโลกใบนี้
ผมเคยตั้งคำถามง่าย ๆ ต่อนักศึกษาปี 2 ที่ศึกษาวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ ว่า “ไม่นับว่าพวกคุณเรียนธรรมศาสตร์ แต่หากคุณเลือกได้ว่าจะเป็นถนอม หรือปรีดี ถนอมแม้จะมีชีวิตที่ถูกจดจำไม่ดีนัก แต่ชีวิตส่วนตัวก็สุขสบายในบั้นปลาย ลูกหลานไม่เดือดร้อน หรือ อยากจะมีชีวิตแบบปรีดี แม้จะมีชีวิตเป็นที่จดจำในทางประวัติศาสตร์ แต่ชีวิตส่วนตัวลำบาก ไม่สบายนัก เราจะเลือกเส้นทางแบบไหน” นักศึกษาส่วนมาก ยังยืนยันว่าพวกเขาอยากเป็นปรีดี
“ถ้าผมถามสิ่งที่ตัดสินใจง่ายกว่านี้” ผมลองยิงคำถามใหม่ “พวกคุณเรียนหลักสูตร ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) อุดมคติ คือการได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะช้า จะไว ใคร ๆ ก็มีเป้าหมายนี้ ถ้าเกิดคุณเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อยู่ในระบบการเมืองมามากกว่า 20 ปี แล้วมีโอกาสการได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการที่ได้ตำแหน่งไม่ถูกต้องตามหลักการที่คุณยึดถือ และคุณทราบถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2553 คุณจะเลือกรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่”
แทบทุกคนตอบปฏิเสธ โอกาสเช่นนั้น
สิ่งที่ผมอยากยืนยันคือ ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะพบกับเงื่อนไขที่ยากลำบาก แม้วันนี้เราอาจยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่โตเหมือนกับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อสารต่อคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ อายุ 25-35 ปี ว่าเวลายังอยู่ข้างเรา และเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งต่อความฝัน จินตนาการ ถอดบทเรียนของเราต่อไป เพื่อเป็นฐานในการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต เพราะเราอยู่ในคลื่นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงคลื่นเดียวกัน