มีคนตายและจมหายมากกว่าหนึ่ง
ทั้งที่มันเป็นวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง อากาศหนาวเหน็บ -2.2 องศาเซลเซียส เรืออวนลากลำหนึ่งออกหาปลาในทะเลสาบที่ห่างไกลไปทางตะวันออกจากเกาะเฮยไมในหมู่เกาะนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ บนเรือลำนั้นมีลูกเรืออยู่ห้าคน
กูธเลาเกอร์ ฟริธเธอร์สัน ผู้ช่วยกะลาสีที่อายุเพิ่งจะ 22 ปี งีบหลับอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือตอนพ่อครัวมาปลุกแล้วบอกว่า อุปกรณ์ลากอวนอยู่ก้นทะเล เมื่อฟริธเธอร์สันขึ้นไปบนดาดฟ้าก็เห็นลูกเรือพยายามกว้านอุปกรณ์ขึ้นจากน้ำ แต่สายลากอวนเส้นหนึ่งรั้งเรือเอียงกระเท่เร่ จนน้ำทะเลเริ่มท่วมราวกั้น ฟริธเธอร์สันร้องเตือน! ส่วนกัปตันเรือส่งสัญญาณให้หย่อนเครื่องกว้านลงแต่เครื่องกลับติดขัด คลื่นใต้น้ำก่อตัวขึ้นใต้ท้องเรือ จนพลิกเรือคว่ำ ลูกเรือทั้งหมดลอยคออยู่ในทะเลเย็นเยือก
ลูกเรือสองคนจมน้ำแทบจะทันที ส่วนอีกสามคนที่เหลือรวมถึงฟริธเธอร์สันเองคว้ากระดูกงูเรือไว้ได้ ไม่ทันไรเรือก็ค่อยอับปางและพวกเขาปล่อยแพฉุกเฉินไม่ทัน น้ำวันนั้นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส พวกเขามีเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก่อนถูกภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) เล่นงาน ทั้งสามเริ่มว่ายเข้าหาฝั่ง
แต่ไม่กี่นาทีจากนั้นก็เหลือเพียงสองคนคือกัปตันเรือกับฟริธเธอร์สัน
ขณะว่ายน้ำ ทั้งคู่ต่างคอยเรียกกันเพื่อดึงสติของอีกฝ่าย กระทั่งกัปตันเรือก็ไม่ตอบสนอง ส่วนฟริธเธอร์สัน ยังคงว่ายต่อไปและพูดคุยกับนกนางนวลเพื่อประคองสติตัวเองไว้ เขาตะโกนสุดเสียงเมื่อเห็นเรือลำหนึ่งแล่นเข้ามาใกล้ในระยะ 350 ฟุต แต่แล้วเรือก็แล่นจากไป เขาว่ายท่ากรรเชียงไปเรื่อย ๆ สายตาจับจ้องประภาคารที่อยู่ทางใต้สุดของเกาะ
ที่สุดก็ได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง เขาภาวนาไม่ให้ตัวเองจมหายไปตามแนวโขดหิน เขาอ่อนล้าและกระหายน้ำอย่างที่สุด ขณะที่แขนขาเริ่มปราศจากความรู้สึก เมื่อว่ายไปถึงตีนผาหินสูงชันและพบว่าไม่มีทางปีนขึ้นฝั่ง จึงหันกลับลงทะเล ว่ายต่อไปทางใต้จนขึ้นฝั่งที่นั่น เขาค่อย ๆ พยุงตัวเดินข้ามทุ่งลาวาขรุขระมีหิมะปกคลุมเป็นระยะทางกว่าหนึ่งไมล์ไปยังเขตชุมชน เขาหยุดพักแล้วเจาะน้ำแข็งหนาหนึ่งนิ้วที่เกาะอยู่บนถังน้ำสำหรับเลี้ยงแกะเพื่อดื่มน้ำ เมื่อถึงเขตชุมชนเขารู้สึกราวกับได้เห็นภาพฝันบรรเจิดแห่งชีวิต เขาเคาะประตูบ้านหลังแรกที่มีแสงไฟสว่าง ขณะที่เท้าของเขาเปลือยเปล่าและตามตัวมีน้ำแข็งเกาะ ด้านหลังมีรอยเท้าโชกเลือดเป็นทางบนบาทวิถีที่ทอดมายังบ้านหลังนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ที่สุดฟริธเธอร์สันก็รอดชีวิตมาได้หลังจากแช่อยู่ในทะเลเย็นเยือกนานนับ 6 ชั่วโมง
ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้เปิดประตูบานแรกให้ฉันค้นหาผู้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ ไม่เหมือนแต่ก็คล้ายจะจมน้ำ ถอยห่างจาก “ประเทศกรุงเทพ” ไกลออกไปจากนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ สู่ความเวิ้งว้างใต้บาดาลมานานเกินเดือน ในแถบ อ่างทอง บางบาล เสนา ผักไห่ ไกลออกไปก็อุบลราชธานีที่กรมสุขภาพจิตคำนวณเป็นตัวเลขของความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต ถ้านับเฉพาะ “อุบลฯ” จังหวัดเดียวแต่จมน้ำมาแล้วหนึ่งเดือน สาหัสสุดในรอบ 44 ปีคนในพื้นที่เสี่ยงเครียดสูง 3% เสี่ยงซึมเศร้าเกือบ 4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 0.25% ยังไม่นับรวมอีก 28 จังหวัด ที่ประชาชนรับผลกระทบไปแล้ว 369,513 ครัวเรือน เทียบเคียงข้อมูล GISTDA กางตัวเลขพื้นที่น้ำท่วมในปี 2565 ทั้งประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของปี 2554 เท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้เราสบายใจขึ้นหรือไม่ยินดียินร้ายกับชีวิตของผู้คนเรือนแสน
หลายครอบครัวอพยพหนีน้ำมามากกว่า 3 ครั้ง ทั้ง “รัฐยังพูดอยู่ในระดับของความทุกข์ร้อน แต่ยังไม่เห็นว่าจุดที่ผู้เดือดร้อนอยู่ที่ไหนบ้างและจะรับมืออย่างไร” มิตรสหายท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกต หนำซ้ำยังกลับไปค้นหา Key message ที่รัฐพยายามสื่อสารก็มักถูกตัดตอนให้เหลือเพียงปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์ 2,950-3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรืออย่างดีที่สุดก็คงเป็นข่าวดีที่นายกรัฐมนตรีลงเรือท้องแบนไปให้กำลังใจและเยี่ยมบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัยใน ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เมื่อสองสามวันมานี้
ฉากตอนสำคัญอยู่ที่การรอนายกรัฐมนตรีกดปุ่มเปิดเครื่องสูบน้ำ เพื่อเป็นสัญญาณในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โอละพ่อ! อ่างทอง บางบาล เสนา ผักไห่ ยังลอยคอต่อไปไม่สิ้นสุด
เพราะใช่ว่า แก้ปัญหาที่เดียว จะง่ายเหมือนเคี้ยวข้าวทีละคำ
“ต้องปรับการบริหารจัดการน้ำหรือไม่คะทั่น” นักข่าวตะโกนถามสุดเสียง
ไม่มีสัญญาณตอบกลับแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวบ้านเสนา พูดกับสื่อทั้งน้ำตา “อย่าบอกว่าเราชิน” โลกยามตื่นก็เหมือนฝันร้ายที่ไม่ต้องพูดถึงตอนหลับ “จะนอนก็นอนไม่ได้” หลายคนอยู่มาตั้งแต่เด็กจนโต “ไม่เคยเจอน้ำท่วมมากและนานขนาดนี้มาก่อน”คำบอกเล่าจากคนเสนาที่ยังมีชีวิตรอดในสถานการณ์ “จม” มาสามเดือนเต็มที่ไม่ต่างอะไรกับการถูกทิ้งให้ตายหมู่อย่างไม่เต็มใจ
ส่วนมากเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นบนเรือ “ทุกคนมักจะจมน้ำกันหมด” จึงไม่มีใครเหลือรอดมาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่คืนนั้นตอนที่ฟริธเธอร์สันคว้ากระดูกงูเรือได้ พวกเขาคุยกันว่า ถ้ามีใครรอดไปได้จะพยายามปรับปรุงสิ่งต่าง ๆให้ปลอดภัยขึ้นและดีขึ้นเพื่อช่วยชีวิตคนอื่น “เราจะเล่าให้คนอื่นฟัง” เขานิ่งเงียบ “ผมเลยอยู่เพื่อที่จะบอกเล่าในช่วงทศวรรษแรก ๆ ที่จัดรายการกูธเลาก์ซุนด์ เขารักษาคำมั่นสัญญาอย่างซื่อสัตย์และเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนให้เรือประมงไอซ์แลนด์ทุกลำติดตั้งแพชูชีพอัตโนมัติ
ไม่แน่ว่า ชูชีพของฟริธเธอร์สัน อาจทำให้เรามองเห็นเงาในน้ำที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง เพราะแก่นสารที่ซ่อนอยู่ในชูชีพของฟริธเธอร์สันกลับไม่ใช่เครื่องมือเอาตัวรอดของชีวิตคน ๆ เดียว กลุ่มเดียว หรือพื้นที่เดียว แต่ฟริธเธอร์สันกำลังชี้ให้เราเห็นว่า การรอดชีวิตของฟริธเธอร์สันนั้นไปไกลถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เป็นผลมาจากการแบ่งแยกผู้คน ระหว่างชายกับหญิง คนรวยกับคนจน คนผิวดำกับผิวขาว ปลุกเร้าความเกลียดชังและแบ่งแยก
ทิ้งความเหลื่อมล้ำไว้สำหรับผู้รอดชีวิต พูดให้ชัดคือเด็กผิวดำมีอัตราการจมน้ำมากกว่าเด็กผิวขาวถึง 5 เท่า เช่นเดียวกับหลาย ๆเรื่อง อย่างเรื่องเงินก็มีบทบาทสำคัญในสังคมเกือบร้อยละ 80 ของเด็กสหรัฐจากครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 50,000 ดอล์ลาร์ ว่ายน้ำไม่เป็น จนนำไปสู่การจลาจลและการกีดกันทางเชื้อชาตินักว่ายน้ำผิวดำถูกฝูงชนผิวขาวทำร้ายตามสระต่าง ๆตั้งแต่เมืองพิตส์เบิร์กไปจนถึงเซนต์หลุยส์ และถ้าย้อนกลับไปในทศวรรษ 1950 และ 1960 สระว่ายน้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆกลายเป็นพื้นที่แสดงอารยะขัดขืน ให้คนผิวดำและผิวขาวทั่วอเมริกาประท้วงการถูกกีดกันด้วยการ “ลุยลงน้ำ” เราควรดีใจหรือเสียใจ แค่เรื่องว่ายน้ำต้องกลายเป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องกันเอาเอง
มันเป็นความรู้สึกประหลาดพิกลคล้ายตกอยู่ในห้วงชะตากรรมที่ไม่แน่ใจว่าดีหรือร้าย “อยุธยาน้ำลงแล้วค่ะลงจากหลังคาไปอยู่ตัวบ้าน” โพสต์แรกของวันจากเพจ อยุธยา-Ayutthaya Station 87 คอมเมนต์ร่วมสังฆกรรมในชั่วโมงถัดมา “ขึ้นวันละศอก ลงวันละเซ็น” บ้างก็สงสัย “เสนาก็เริ่มลงบ้างแล้วค่ะ แต่ลงช้าจัง”
จะต่างอะไรกับการแบ่งแยก “ทุ่งรับน้ำ” และ “พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ” ศัพท์ไม่คุ้นหูใน พ.ศ.นี้ที่ประดิษฐ์กรรมมาจากระบบการจัดการน้ำของภาครัฐที่ย้ำว่า ชาวบ้านในทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำต่างคุ้นเคยกับน้ำท่วมแทบจะทุกปีอยู่แล้ว แต่ชาวบางบาล ตัวจริงสำเนียงอยุธยาที่บ้านตัวเองยังจมมิดหลังและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเร็ววัน “พื้นที่ทุ่งรับน้ำไม่ใช่พื้นที่ทุ่งรับกรรมนะครับ” เมื่อชาวบางบาลไม่ยอมรับว่า น้ำท่วมเป็นวิถีชีวิต ทั้งยังใช้สัญลักษณ์ “ธงขาว” ที่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นการขอเจรจาโดยบริสุทธิ์ใจกับรัฐบาลและหน่วยงานราชการจะมีแนวทางการจัดการน้ำอย่างไรเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในชั่วโมงนี้
ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะต้องอยู่กับ ‘น้ำ’ ไปถึงเมื่อไร แต่เรื่องนี้ยังมีคำว่า “ชีวิต” อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะ “รับน้ำ” หรือ “รับกรรม” แทนกรุงเทพฯ ก็ตาม
ใด ๆในสถานการณ์ “จม” เราต่างเป็น ฟริธเธอร์สัน ทั้งอยากได้ยิน และไม่อยากให้ตัวเองจมหาย แม้จะอ่อนล้าและกระหายน้ำอย่างที่สุด ผู้คนเรือนแสนกำลังถูกแบ่งแยก อ่อนล้า หนีตายและจมหาย แม้ในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ผ่านพ้นฤดูฝนในอีกสองวัน
หนังสือ: Why We Swim
ผู้เขียน : Bonnie Tsui (บอนนี ซุย) ผู้แปล : สุทธมาน ลิมปนุสรณ์
สำนักพิมพ์: Bookscape
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี