“อนุรักษนิยม” ที่ถูกเข้าใจผิด กับ “เส้น” ที่ห้าม “ล้ำ” ของการบูชาตัวบุคคล - Decode
Reading Time: 2 minutes

สมรภูมิทางการเมืองสีเสื้อที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 ตัวตนของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาในไทยถูกนำไปผูกติดกับ “สีเหลือง” อันเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวในม็อบใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง นั่นคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. ซึ่งอุดมการณ์หลักที่พวกเขาแสดงออกนั้นยิ่งตอกย้ำภาพความเป็นตัวแทนอนุรักษนิยมในไทย

คนทั่วไปอาจเข้าใจไปว่า ความเป็นอนุรักษนิยมแบบไทย ๆ นอกจากเชิดชูจารีตแบบเก่าของชาติแล้ว ยังขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการรัฐประหาร เชื่อในการแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล

สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อมองภาพไปยังฝ่ายอนุรักษนิยมในสากลโลกที่เป็นประชาธิปไตย เราคงไม่เห็นพรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกา หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟในสหราชอาณาจักร ล้มการเลือกตั้ง แล้วเรียกรถถังมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนแน่นอน

สำหรับหฤษฎ์ มหาทน นักเขียนไลต์โนเวล เจ้าของเพจ Starless Night – Harit Mahaton ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยม (ไม่ใช่แบบไทย ๆ) ที่มักตั้งสเตตัส/วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในเพจอยู่เสมอ แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่า ขวาแบบที่เรียกกันในไทยไม่เท่ากับขวาสากล ดังที่เขาจะร่วมบทสนทนาต่อประเด็นนี้กับ De/code ไปจนถึงประเด็นเรื่องการบูชาตัวบุคคลที่แทบจะกลายเป็นภาพทาบทับอย่างแนบสนิทไปแล้วกับฝ่ายขวาในไทย

สเปกตรัมการเมืองแบบ “ไทย ๆ” กับความเป็น “ขวา” ที่ไม่ตายตัว

หัวอนุรักษ์แค่ไหนถึงเรียกว่า “ขวา” หัวก้าวหน้าแค่ไหนถึงเรียกว่า “ซ้าย” เป็นเรื่องที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้ามาตลอดในพื้นที่ถกเถียงเรื่องการเมืองไทย บ้างก็บอกว่า คนที่ดูหัวก้าวหน้าในไทยพอก้าวออกนอกประเทศแล้ว คนคนนั้นอาจเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไปเสียก็ได้ สเปกตรัมทางการเมืองในไทยจึงแสนจะดูสับสนและงงงวยในเวลาเดียวกัน

หฤษฎ์ชวนทำความเข้าใจสเปกตรัมทางการเมืองง่าย ๆ ผ่านการเมืองโลกที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ อนุรักษนิยมกับหัวก้าวหน้า ซึ่งแต่ละประเทศใช่ว่าจะนิยามความเป็นอนุรักษนิยมเหมือนกันเสียเมื่อไหร่…

สมมติเป็นอนุรักษนิยมในอังกฤษก็จะเป็นฝ่ายที่มีความคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรืออนุรักษ์ค่านิยมเดิมของอังกฤษ ผูกพันกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ถ้าเป็นอนุรักษนิยมแบบสหรัฐอเมริกาก็จะพูดถึงความเป็นเสรีนิยมแบบอเมริกาที่รู้สึกว่า รัฐบาลไม่ควรจะมีอำนาจกับประชาชน หรือเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิตัดสินใจอะไรก็ได้แม้แต่เรื่องการถือครองอาวุธปืน แน่นอนว่าถ้าพูดแบบนี้ในสังคมไทยจะถูกจัดให้เป็นฝ่ายเสรีนิยมทันที

หรือข้ามมาอีกฝั่ง โดยทั่วไปจะมองว่าคนที่เชื่อในแนวคิดคอมมิวนิสต์ถือเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งนิยามแบบนี้อาจใช้ได้หากเป็นคอมมิวนิสต์ในอเมริกา เพราะคนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นหัวก้าวหน้าที่ต้องการให้รัฐบาลมาจัดการเกี่ยวกับโครงสร้างสังคม แต่ถ้าเป็นในจีน จะถูกมองว่าเป็นพวกหัวโบราณ เป็นพวกลัทธิเหมาที่เก่าไปแล้ว

“ความหมายของอนุรักษนิยมมันไม่ได้ตายตัว ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นมีค่านิยมอะไรที่เคยมีมาในอดีตก่อนที่จะไปสู่ปัจจุบัน”

หฤษฎ์มองว่าตัวเองนั้นมีความเป็นอนุรักษนิยมในหลายอย่างเมื่อเทียบกับฝ่ายซ้าย และมีความคิดที่คล้ายกับอนุรักษนิยมในยุโรป นั่นคือ เชื่อในแนวคิดเสรีนิยม ทั้งการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตลาดเสรี สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินในงานลิขสิทธิ์ที่ทำ การถือความเป็นเจ้าของที่ดิน สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ควรจะเป็นสมบัติของคนคิดหรือคนที่ใช้ฝีมือในการทำงาน และเชื่อด้วยว่าสังคมควรจะมีระบบศีลธรรมบางอย่าง แล้วรัฐก็ควรจะดำรงอยู่เพื่อรักษาเสรีภาพของประชาชน

หากมองในการเคลื่อนไหวแบบฝ่ายซ้าย หรือทฤษฎีมาร์กซิสต์ ก็จะพูดถึงเรื่องการทลายโครงสร้างทางชนชั้น คนรวยกดขี่คนจน คนมีอำนาจใช้ศีลธรรมกดขี่คนไม่มีอำนาจ หรือกระทั่งโลกสังคมนิยมที่เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐถือภาษี รวมถึงบริหารจัดการเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งในมุมมองของหฤษฎ์ รัฐไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น กิจการหลายอย่างของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ถ้าไม่มีเอกชนเข้ามาแข่งขันก็จะทำอยู่ในรูปแบบเดิม

“ผมไม่เชื่อว่ารัฐ โดยเฉพาะรัฐไทยมีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนทุกคนได้รับของที่มันคุณภาพจริง ๆ เพราะว่าถ้าคุณมีรูปแบบการให้อำนาจกับรัฐมากเท่าไร รัฐก็จะยิ่งคอร์รัปชันง่ายขึ้นเท่านั้น ทีนี้ ปัญหาของสังคมไทยมันสับสนในตัวเอง ใจหนึ่งคุณรู้ว่ารัฐคอร์รัปชัน แต่ใจหนึ่งคุณก็อยากได้สวัสดิการโดยที่รัฐจัดหาสิ่งต่าง ๆ ให้คุณมากขึ้น”

ในแง่นี้ ระบบทุนนิยมดีกว่าระบบสังคมนิยม แม้จะบอกว่าระบบทุนนิยมแข่งขันได้อย่างไม่เท่าเทียม แต่ย่อมดีกว่าอยู่กับระบบที่เอื้อให้คนที่มีอิทธิพลและสามารถควบคุมทุนได้มากกว่าเข้าถึงรัฐได้ฝ่ายเดียว ซึ่งแบบหลังนี้ยิ่งกว่าทุนนิยมสามานย์เสียอีก อย่างน้อยที่สุด ถ้าอยากทำกิจการค้าขายก็ผลิตสินค้ามาขายได้เลย โดยไม่ต้องคิดว่าทรัพยากรที่ผลิตมานั้นเป็นส่วนกลางของชุมชน

แปะป้าย เหมารวม ขวาไทยไม่ถูกเข้าใจอย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาสำคัญที่ขวาไทยต้องเผชิญคือ การแปะป้ายและเหมารวมว่า การที่คนคนหนึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษนิยมนั้นเท่ากับเป็นคนที่มีความคิดเหมือนกับฝ่ายสุดโต่งที่เหนี่ยวรั้งการเจริญรุดหน้าของประชาธิปไตยไทย หรือเรียกตามศัพท์ทางการเมืองที่แพร่หลายในช่วงเวลานี้ว่า “สลิ่ม” ซึ่งการแปะป้ายและเหมารวมเช่นนั้นมาจากคนบางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่ออุดมการณ์อนุรักษนิยมไปเช่นนั้น ?

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่บทสนทนานี้จะเริ่มขึ้น หฤษฎ์เคยโพสต์ในเพจของตัวเองไว้ ใจความสำคัญคือ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” ไม่ใช่อนุรักษนิยมอย่างที่ควรจะเป็น เพราะคนกลุ่มนั้นมีความล้มเหลวในแง่คุณธรรม สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ระบบยุติธรรมล้มเหลว และบทบาทเดิมมีไว้กดขี่ ไม่ใช่รักษาความดีงามในอดีต

หากย้อนไปไกลกว่านั้นอีก ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ การเคลื่อนไหวการเมืองของคนกลุ่มดังกล่าวนำพา “คนดี” ในชุดลายพรางผู้มีศีลธรรมอันสูงส่งมาปกบ้านครองเมืองอย่างน้อยถึง 2 ครั้งด้วยกัน นับว่าสวนทางกับระบอบที่มอบอำนาจสูงสุดให้ประชาชนอย่างสิ้นเชิง

บางคนที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายแบบสังคมนิยม เช่น “คนเดือนตุลา” แปรเปลี่ยนอุดมการณ์ไปสู่ความเป็นขวาสุดโต่งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน หฤษฎ์มองว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมนิยมแบบคนเดือนตุลา ไม่ใช่สังคมนิยมที่เอาประชาธิปไตย แต่เป็นความคิดที่มีส่วนผสมกับชาตินิยมแบบจีน คนยุคเดือนตุลาเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของพวกจักรวรรดินิยมอเมริกา เป็นการปกครองของนายทุน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนดังกล่าวคงเป็นเหตุให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ความเป็นฝ่ายขวาต้องมีทีท่าเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลของความเข้าใจต่ออุดมการณ์อนุรักษนิยมคลาดเคลื่อนไปเสียทั้งหมด ในอีกมุมหนึ่ง สาเหตุมาจากการนิยามตัวตนอุดมการณ์ของฝ่าย “ประชาธิปไตยเอง”

“ทำไมพอพูดถึงฝ่ายขวาถึงเป็นสลิ่ม เพราะว่าเรานิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย”

นิยามฝ่ายซ้ายแบบสังคมนิยมต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

ต้องการรัฐสวัสดิการ สู้กับศักดินา ต่อต้านทุนนิยม สู้เพื่อแรงงานคนชั้นล่าง ฯลฯ

แม้ลักษณะข้างต้นจะคล้ายกับบางข้อเรียกร้องในม็อบที่เคลื่อนไหวช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่หฤษฎ์เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ม็อบที่ปะทุขึ้นในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นม็อบเสรีนิยม “ที่ถูกจับมาเป็นฝ่ายซ้ายของไทย”

ถ้ายึดตามทฤษฎีเสรีนิยม ชนชั้นกลางจะเป็นคนขับเคลื่อนการเมืองในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ ซึ่งตรงกับกลุ่มมวลชนข้างต้นที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีความคิดแบบทุนนิยม เป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ แม้จะประกาศว่ากำลังสู้อยู่กับศักดินาด้วยทีท่าแบบฝ่ายซ้าย แต่ก็มีข้อเสนออย่างเช่นการทำคราฟต์เบียร์แบบที่ไม่มีกฎหมายมาห้าม ซึ่งเป็นความพยายามที่อยากจะทำธุรกิจโดยไม่ถูกกีดกันจากคนบางกลุ่มเข้าถึงสัมปทานรัฐ

เมื่อแกนนำหลายคนที่มีความคิดแบบฝ่ายซ้ายสังคมนิยมพูดถึงประเด็นเรื่องแรงงาน คนจึงไม่รู้สึกอินเท่า เพราะมวลชนในม็อบไม่ได้มีสำนึกเรื่องแรงงาน หลายคนอยากเป็นผู้ประกอบการ

ทั้งหมดคือมุมมองของหฤษฎ์ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคนี้

ฉะนั้น เมื่อมวลชนฝ่าย “ประชาธิปไตย (บางคน)” นิยามตนเองเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายตรงข้ามก็ย่อมเป็นฝ่ายขวา แนวคิดแบบอนุรักษนิยมที่ยึดหลักการประชาธิปไตย ประณามการรัฐประหาร จึงถูกทึกทักเหมารวมว่าเป็นฝ่ายสุดโต่งไป

จะขวา จะซ้าย ก็ล้วนบูชาตัวบุคคล

ด้วยการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาสุดโต่งที่เชิดชูคนดีมีศีลธรรม ทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายขวาดูเป็นกลุ่มคนที่นิยม “การบูชาตัวบุคคล” โดยเชื่อว่าหากแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลได้ วิกฤตการเมืองเช่นที่เคยเป็นและ (ยัง) เป็นอยู่ก็จะจบ ส่วนภาพลักษณ์ของฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายซ้าย จะเป็นกลุ่มคนที่มุ่งแก้ปัญหาทางการเมืองเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่า ไม่เน้นมองไปที่ตัวบุคคล

หฤษฎ์เห็นต่างกับประเด็นข้างต้นที่ 2 ขั้วการเมืองดูจะอยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการทำอุดมการณ์ทางการเมืองทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นขั้วไหน ล้วนเกิดการบูชาตัวบุคคลขึ้นทั้งนั้น

อย่างฝ่ายซ้ายแบบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ยุคก่อน ในสหภาพโซเวียตก็มีการบูชาคาร์ล มาร์กซ์ วลาดิเมียร์ เลนิน และโจเซฟ สตาลิน หรือในจีนก็มีการบูชาประธานเหมาเจ๋อตง ซึ่งฝ่ายซ้ายที่ไม่เห็นด้วยอาจบอกได้ว่า การกระทำแบบนี้ไม่ใช่ซ้ายที่แท้จริง ไม่ใช่โลกคอมมิวนิสต์แท้ แต่กระนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่อ้างว่าปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็มีลัทธิบูชาตัวบุคคล

ถ้าเป็นฝ่ายเสรีนิยมก็มีการบูชาสตีฟ จอบส์ อีลอน มัสก์ หรือคนอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ หฤษฎ์ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะไม่มีตัวแบบ หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่องค์กรจะดำเนินไปโดยที่ไม่มีบุคคลเป็นตัวนำ

“ผมเชื่อว่ามันเป็นธรรมดาของการเมืองที่เราจะพูดถึงภาวะผู้นำ (leadership) ของคนที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราจะมองหาคนที่เรารู้สึกนับถือเหมือนเป็นไอดอล แล้วพูดไปมันก็มีทุกวงการ”

ข้ามจากโลกการเมืองไปยังโลกศาสนา ในศาสนาคริสต์ก็มีการนับถือบูชาศาสดา นักบวช ผู้เผยแผ่คำสอน ฯลฯ อย่างนิกายคาทอลิกจะนับถือคนที่ทำคุณงามความดี หรือคนที่ตายเพื่อศาสนา ถ้ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นก็จะได้รับการยกย่องเป็นนักบุญ ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์พยายามที่จะไม่ให้นับถือนักบุญ นักเทศน์ พระ หรือพระสันตะปาปา โดยให้นับถือพระเยซูอย่างเดียว แต่พระเยซูก็ถือว่าเป็นบุคคล

ส่วนศาสนาพุทธ บอกไว้ว่าพระธรรมสำคัญที่สุด แต่ด้วยความเป็นนามธรรมจึงเป็นการยากที่คนจะทำตามสิ่งที่มองไม่เห็น ทำให้คนโฟกัสไปที่พระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้ามากกว่า หรือคนอาจจะโฟกัสไปที่พระนักเทศน์ชื่อดังและพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือ หฤษฎ์มองปรากฏการณ์เช่นนี้ว่าอาจจะเป็นจิตวิทยาของมนุษย์ที่มองหาตัวแบบที่ชัดกว่านามธรรม

“ผมว่ามันมี 2 ทาง คือ ถ้าเกิดว่าคุณไม่นำด้วยบุคคล คุณก็นำโดยองค์กร สุดท้ายแล้ว การที่มนุษย์จะต้องทำอะไรสักอย่าง มันต้องมี leadership แต่อยู่ที่ว่า leadership ของคุณมาจากรูปแบบไหน เป็นใครบางคน หรือว่าเป็นองค์กร”

คงเป็นธรรมดาที่ไม่ว่าจะขั้วการเมืองขวาหรือซ้าย จะในทางการเมืองหรือศาสนา ก็ล้วนมี “การบูชาตัวบุคคล” ตามแต่ละกลุ่ม/ฝ่ายจะให้คุณค่าลัทธิบูชานี้อย่างไร

การเมืองที่ดี คือ การบูชาตัวบุคคลที่ไม่นำไปสู่การทำร้ายคนเห็นต่าง

ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ในโซเชียลมีเดีย เมื่อคนดังที่เราชื่นชอบ/รัก/คลั่งไคล้ถูกกล่าวหา วิพากษ์วิจารณ์หรือถูกโจมตี แทบจะเห็นได้เป็นปกติไปแล้วในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะคนคนนั้นจะเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนา หรือศิลปินดาราก็ตาม แต่สำหรับหฤษฎ์ที่เคยมีประสบการณ์การโดนทัวร์ลงในเพจมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยาในการสนับสนุนบุคคล

“หรือมันเป็นธรรมชาติของทุกวงการไหม ที่เราแบบรักใครชอบใคร เราก็จะรู้สึกอยากไปปกป้องเขา เถียงแทนเขา…”

ทัวร์ลงกันได้ ถกเถียงกันได้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีขอบเขต หฤษฎ์มองว่าการปกป้องสิทธิของคนวิพากษ์วิจารณ์มีความสำคัญ ทุกคนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่เห็นด้วยได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ไปใส่ร้ายอีกฝ่าย ถ้าเกิดการใส่ร้ายก็มีสิทธิถูกฟ้องได้เหมือนกัน ทุกคนมีความชอบธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่โดนกฎหมายจากรัฐมาห้าม

และอีก “เส้น” ที่จะ “ล้ำ” ไม่ได้เป็นอันขาดคือ การใช้ความรุนแรงกับคนเห็นต่าง หรือการโซเชียลแซงค์ชั่น อย่างที่เคยปรากฏภาพคนที่โดนบังคับให้ยอมรับความเชื่อของอีกฝ่ายอย่างไม่เต็มใจมานักต่อนัก ซึ่งการกระทำแบบนี้อยู่ในระดับที่เกินเหตุผล

“ผมว่ามันมีลิมิตของการที่คุณใช้เสรีภาพในการพูดแล้วคุณจะไม่ถูกกระทืบ”

สุดท้ายนี้ หฤษฎ์เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีไอดอลในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบไหนก็ตาม แต่ก็อย่างที่เล่ามาทั้งหมด การบูชา/คลั่งไคล้/หลงใหลในตัวบุคคล ไม่ว่าจะคนคนนั้นจะเป็นใคร หรืออยู่ในสถานะใด สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ควรจะได้รับการพิทักษ์ไว้ในประเทศที่ถือตัวว่าเป็น “ประชาธิปไตย”

แน่นอนว่า รัฐควรจะเป็นผู้พิทักษ์สิทธินี้ โดยไม่หลับตาข้างเดียว เห็นชอบคำวิจารณ์ที่เป็นคุณ

ลงทัณฑ์คำวิจารณ์เป็นลบ…แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว