“ฉันจ่ายเงินค่าเทอมเองทั้งหมดและฉันจะจ่ายให้พวกคุณด้วยเพราะเราต้องการสังคมที่ก้าวหน้า” ลบมายาคติ 'ล้างหนี้การศึกษา' กรณีสหรัฐอเมริกา - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

สหรัฐอเมริกา เป็นไม่กี่ประเทศในกลุ่มประเทศ OECD หรือกลุ่มประเทศรายได้สูง ที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษามีราคาสูงมาก ๆ พวกเรามักเข้าใจว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ ความฝัน และโอกาส แต่ด้วยระบบสวัสดิการอิงกลไกตลาดที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างทางชนชั้นมิได้แตกต่างจากไทย คนมีความเปราะบางสูง ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ สวัสดิการมีลำดับชั้น ตามความสามารถของคนที่สามารถจ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นประเทศ ที่คนทำงานหนักจะสามารถมีชีวิตที่ดีได้ ห่างไกลจากการเป็นประเทศที่ที่ทุกคนปรารถนาจะสามารถเป็นชนชั้นกลางได้ ขณะที่กลุ่มมหาเศรษฐีไม่ว่าเจอ วิกฤตเศรษฐกิจแบบไหน พวกเขามักจะได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ สะสมทุนมั่งคั่งมากขึ้น ไม่ว่าชีวิตของคนส่วนใหญ่ จะย่ำแย่สวนทางเพียงใด ในบทความนี้ ผมจะชวนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ความคิดครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศศูนย์กลางในระบบทุนนิยม เพื่อจะยืนยันให้เห็นว่าถ้าระบบทุนนิยมต้องการที่จะไปต่อ นั้นมีความจำเป็น ที่จะต้องพัฒนาระบบสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

Alberto Alesina นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด เคยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด สหรัฐอเมริกา จึงไม่มีรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมชีวิตผู้คน แบบเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ข้อค้นพบน่าสนใจว่า สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นประเทศ ที่มีการเพิ่มลำดับชั้นได้ดี “แย่กว่ายุโรป” ก่อนที่จะมีระบบสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้เปิดกว้าง ที่ทำให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นชนชั้นกลาง ในปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นมาจากการที่พ่อหรือแม่เขาเป็นชนชั้นกลาง คนที่เป็นมหาเศรษฐีก็เป็นมหาเศรษฐีเพราะพ่อแม่เขาเคยเป็นเศรษฐีมาก่อน เช่นเดียวกันกับที่ คนที่เป็นชนชั้นล่างหรือกลุ่มคนยากจน พวกเขาอยู่ในสถานะนี้ก็เพียงเพราะพ่อแม่ของเขาเกิดในสถานะนี้  Alesina สรุปว่าปัญหาใหญ่เกิดจากการที่คนในสหรัฐอเมริกามองว่าความยากจนเป็นเรื่องของความขี้เกียจ ไม่ใช่เพราะความโชคร้ายของเขา พร้อมกับการมองว่า สวัสดิการให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มคนยากจน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วชนชั้นกลางจำนวนมากก็ได้รับผลประโยชน์จากสวัสดิการเช่นเดียวกัน เมื่อมีทัศนคติเช่นนี้ การพัฒนาสวัสดิการหรือกลไกการลดความเหลื่อมล้ำอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา จึงฟังดูยากเย็นมาก

ช่วงกลางปี 2022 โจ ไบเดน ประกาศนโยบายล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งสนับสนุนและเห็นด้วยหลากหลาย จนกระทั่งเดือนสิงหาคม นโยบายนี้ถูกประกาศออกไปหลังจากที่ได้มีการพักชำระหนี้มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ยอดการล้างหนี้ เริ่มต้นที่ประมาณ 350,000 บาทและสูงสุด 700,000 บาท

มีผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้กว่า 40 ล้านคน จากประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือราว 13 % ของประชากร

การศึกษาของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ค่าใช้จ่ายในการเรียน มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน สูงขึ้นราวสามเท่า แม้จะมีการหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว สหรัฐอเมริการมีกองทุนช่วยเหลือนักศึกษารายได้น้อย (Pell Grants) ซึ่งก่อนหน้า ยุค 1980 เคยครอบคลุมค่าใช้จ่าย ถึงร้อยละ 80 ในมหาวิทยาลัยรัฐ แต่ปัจจุบันนี้ กองทุนช่วยเหลือ สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้เพียงแค่ ประมาณ หนึ่งในสามเท่านั้น ดังนั้น นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มชนชั้นกลาง จึงไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยเฉลี่ยแล้ว นักศึกษาคนหนึ่ง จะเป็นหนี้เพื่อการศึกษา ประมาณ 800,000 บาท หรือ 25,000 USD

ยอดหนี้เพื่อการศึกษาที่สะสมไว้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และครอบคลุมคนมากกว่าสี่สิบห้าล้านคน หนี้เพื่อการศึกษากลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก ที่แม้กระทั่งชนชั้นกลางก็ไม่สามารถ ที่จะเริ่มต้นชีวิตได้อย่างสะดวก พวกเขาพบอุปสรรคกับการซื้อบ้าน วางแผนการเกษียณหรือแม้กระทั่งการที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังพบว่า กว่า 1/3 ของผู้กู้ ไม่สำเร็จการศึกษา พวกเขาต้องนั่งใช้หนี้ โดยที่พวกเขาไม่ได้ประโยชน์ จากเงินกู้ที่พวกเขาได้จ่ายไปสาเหตุมามาจากที่พวกเขา อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนและเป็นอุปสรรคต่อการสำเร็จการศึกษา ร้อยละ 16 ของประชากรวัยเกษียณ ยังเป็นหนี้เพื่อการศึกษาตัวนี้อยู่ กลุ่มผู้กู้ยืม ที่มาจากครอบครัวผิวดำกว่ายี่สิบห้าปีหลังการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 1995 ยังคงเป็นหนี้เพื่อการศึกษาอยู่

กระบวนการการล้างหนี้สามารถเกิดขึ้นทันที ผู้สนับสนุน ให้ความเห็นว่า หากประเทศนี้สามารถพักอัตราเงินกู้ ของพวกนายทุนในตลาดหุ้น ออกนโยบายการลดหย่อนภาษีมากมาย ให้แก่กลุ่มคน ชนชั้นนำของประเทศได้ การพักหนี้เพื่อการศึกษา ก็ดูเป็นสิ่งที่ ไม่ได้หนักหนาเลย คำถามสำคัญ จึงมาอยู่ที่ว่า นโยบายนี้ ย่อมมีคนที่ได้ประโยชน์มาก ตามที่ผมยกจากข้อมูลของสหรัฐอเมริกา มาแล้วกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด กลุ่มคนที่อยู่ระหว่างการกู้ยืม หรือกลุ่มที่กำลังโดนฟ้องร้องดำเนินคดี  แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีกลุ่ม ที่ได้ประโยชน์น้อยลงไป เช่น กลุ่มที่ใช้หนี้มาแล้วเกือบหมด หรือกลุ่มที่ไม่ได้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ต้องทำงานพิเศษ หรือนำเงินเก็บส่วนหนึ่ง มาใช้ระหว่างที่เรียน ยอมเป็นคนที่ไม่ได้รับประโยชน์ และอาจเสียประโยชน์โดยอ้อมจากนโยบายนี้

มีคำกล่าวหนึ่ง จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา ตอบโต้ต่อวิวาทะว่าผู้จ่ายภาษี กำลังจะสูญเสียภาษีไป อย่างไม่สมเหตุสมผลให้แก่นโยบายการล้างหนี้เพื่อการศึกษาหรือไม่ ? ซึ่งผมคิดว่า เป็นข้อความที่สรุปได้สั้น กระชับ และอาจเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นจริงในไทยได้เช่นกัน

“ฉันทำงานหนักมาทั้งชีวิตเพื่อจ่ายให้ตัวเองได้เรียนมหาวิทยาลัย และวันนี้ฉันและครอบครัวก็ยินดีที่จะจ่ายภาษีเพื่อให้คนอื่นได้เรียนเช่นกัน เพราะเรา ต้องการสังคมที่ก้าวหน้า เราต้องการสังคมที่อุดมไปด้วยคนมีการศึกษา”

https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/08/24/fact-sheet-president-biden-announces-student-loan-relief-for-borrowers-who-need-it-most/


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565