คณิตศาสตร์ของความ(สิ้น)หวังและความ(จน)ข้ามรุ่น - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการนำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ซึ่งจัดทำโดย “ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว” หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “คิด for คิดส์” ซึ่งต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเรามีการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านนโยบายเกี่ยวกับเด็กอย่างจริงจังเสียที ต้องขอขอบคุณศูนย์สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของศูนย์ความรู้ดังกล่าวนี้

ผมมีโอกาสได้อ่านรายงานฉบับนี้โดยละเอียดพบว่า เป็นรายงานที่มีประโยชน์ เปิดหูเปิดตาผู้อ่านอย่างมาก ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลรายละเอียด เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเรื่องราวชีวิตของเด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญกับสารพันปัญหารอบด้าน คนเขียนรายงานฉบับนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างหนักและเรียบเรียงรายงานออกมาได้อย่างดี ต้องขอชื่นชมคณะผู้เขียนอย่างฉัตร คำแสง วรดร เลิศรัตน์ และเจณิตตา จันทวงษา ทีมนักวิจัย

ผมคงไม่สามารถสรุปรายละเอียดทั้งหมดของรายงานมาไว้ในบทความนี้ได้ อยากชวนให้ทุกคนที่สนใจเข้าไปอ่านรายงานฉบับนี้ด้วยตัวเองที่ https://linktr.ee/kidforkids?fbclid=IwAR1JpTcirYnCMcxe7Zfpbx6Vb-GoChFkdrPs9uB5qn4mLc0wguDf_O8kMfc

ในที่นี้ผมอยากจะไฮไลต์บางประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานนี้มาเล่าสู่กันฟัง โดยจะขอเล่าเรื่องผ่านตัวเลขที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมกัน

 รายงานฉบับนี้ซึ่งเขียนขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจชีวิต พฤติกรรม และทัศนคติของเยาวชนไทย ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวนกว่าสองหมื่นคนทั่วประเทศ  

3 วิกฤต

ประเด็นใหญ่ของรายงานคือ เยาวชนไทยในเจเนอเรชันปัจจุบันกำลังถูกรุมล้อมจากวิกฤตถึง 3 ด้านด้วยกันคือ วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง แน่นอนว่าทั้งสามวิกฤตนั้นกระทบกับคนเจเนอเรชันอื่น ๆ ด้วย แต่เด็กนั้นได้รับผลกระทบหนักหน่วงมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ขาดประสบการณ์ชีวิต ขาดทรัพยากร และขาดความมั่นคงในต้นทุนชีวิตที่จะรับมือกับปัญหาใหญ่ทั้งสามด้านได้ และผลกระทบที่มีต่อพวกเขาไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น แต่มันคือ ความบอบช้ำระยะยาวที่ส่งผลซึมลึกยาวไกลไปอีกหลายปี

จากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะคนสอนหนังสือ ผมเห็นใจและรู้สึกกังวลแทนเยาวชนไทยในรุ่นปัจจุบัน ในทัศนะผมพวกเขาคือรุ่นที่โชคร้าย ที่เติบโตมาในยุคที่มีทั้งโรคระบาด สงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ และเมื่อพวกเขาพยายามส่งเสียงให้ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจได้ยิน เสียงของพวกเขากลับไม่ถูกรับฟัง มิหน้ำซ้ำเสียงของพวกเขากลับถูกกดปราบให้ต้องเงียบงันและยอมจำนนกับสภาพที่เป็นอยู่

เยาวชนไทยรุ่นนี้จึงกลายเป็นรุ่นที่ทั้งกังวลและมีความไม่พอใจต่อสังคมสูง (anxious and angry generation) เพราะพวกเขาถูกคาดหวังให้โตมาโดยมีความฝันและความหวังมากมาย แต่สภาพความเป็นจริงกลับไม่เอื้อให้พวกเขาทำตามความฝันเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการศึกษา โอกาสในการมีงานทำ สภาพแวดล้อมในครอบครัวที่มีความสุข โอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฯลฯ ช่องว่างระหว่างความจริงกับความคาดหวังที่ถ่างกว้างมหาศาล คือ ต้นเหตุแห่งความทุกข์และปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรง

7 แนวโน้ม

จาก 3 วิกฤตใหญ่ดังกล่าว รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นลึกลงไปว่า เยาวชนไทยตกอยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญกับปัญหา 7 ประการ ดังต่อไปนี้

 

1. เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก

2. เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

3. เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น

4. เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น

5. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

6. โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

7. ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

เราคงเห็นได้ว่าปัญหาแนวโน้มทั้ง 7 ประการนี้เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสจริง ๆ และไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้โดยง่าย แต่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคงต้องเริ่มจากการยอมรับความเป็นจริงเสียก่อน โดยเฉพาะปรากฎการณ์ที่เราเห็นเยาวชนไทยออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองอย่างร้อนแรงและเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 4 ทศวรรษ หากเราตั้งสติและพยายามเอาใจเขาไปใส่ใจเรา คำถามที่เราต้องตั้งคือ อะไรคือสาเหตุรากฐานที่ทำให้เยาวชนที่ปรกติเราคิดว่าพวกเขาไม่เคยสนใจปัญหาสังคม และไม่มีความอดทนหรือยอมลำบากมารวมกลุ่มทำอะไรร่วมกันได้ กลับยอมแบกรับความเสี่ยงมากมายเพื่อส่งเสียงของพวกเขาบนท้องถนน มันสะท้อนว่าสังคมเรามีปัญหาวิกฤตบางอย่างใช่หรือไม่ ทั้งในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันข้าราชการ และสถาบันทางการเมืองที่ไม่มีช่องทางให้เสียงของเด็กถูกรับฟัง ถูกใส่ใจ และถูกนำเข้าไปอยู่ในกระบวนการกำหนดนโยบาย เราออกแบบมาตรการและนโยบายในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเยาวชนโดยกีดกันเด็กออกไปจากการมีส่วนร่วม ให้ผู้ใหญ่ (ที่มีช่องว่างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก) มาคิดแทนเด็ก และออกแบบนโยบายจากบนลงล่างบนฐานประสบการณ์เดิม ฐานคิดเดิม และข้อมูลที่ไม่มีเสียงของเด็กและเยาวชนอยู่ในนั้น

2.3 แสนคน ตัวเลขนี้คือ ตัวเลขของเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิดและปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทำให้ครัวเรือนยากจนมีสถานะยากจนลงกว่าเดิม ผู้ปกครองของเด็กตกงานหรือขาดรายได้ อุปกรณ์และความพร้อมในการเรียนแบบออนไลน์มีไม่พอ ดังที่ผลการสำรวจพบว่า 86.9% ของครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์น้อยกว่าจำนวนเยาวชนในบ้าน และ 42.8% ของครัวเรือนไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง เพราะเราต้องเข้าใจว่าค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและค่าบริการมือถือคิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงมากสำหรับครอบครัวยากจน ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนคือ ในช่วงที่สอนออนไลน์ นักศึกษาจำนวนมากเรียนผ่านมือถือเพราะมีคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียวในบ้าน ต้องแบ่งกันระหว่างพี่น้องหลายคน และเมื่อเรียน ๆ ไป บางคนก็หายไปจากชั้นเรียนกลางคันเพราะเงินที่เติมค่าเน็ตไว้หมดพอดี 

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าตกใจคือ เด็กไทยคิดเป็น 61.4% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมาก ซึ่งไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะส่งเสียให้พวกเขาสามารถเรียนจนจบปริญญาตรีได้

สถานการณ์ที่น่าห่วงคือ เด็กในครอบครัวยากจนพิเศษเมื่อหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว มีแนวโน้มจะไม่ได้กลับเข้ามาในระบบอีกเลย เป็นการหลุดออกไปอย่างถาวร และการขาดการศึกษาที่ดีย่อมนำไปสู่โอกาสที่ต่ำในการหางานที่มีค่าตอบแทนที่ดี ซึ่งหมายความว่าพวกเขาก็จะเติบโตไปเป็นคนที่ยากจนต่อไป ในแง่นี้ความยากจนกำลังจะส่งต่อข้ามรุ่น

30.1%, 35.3% และ 17.5% กับปัญหาสุขภาพจิต

ตัวเลขดังกล่าวคืออะไร คำตอบคือ จำนวนเปอร์เซ็นต์ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามในเรื่องสุขภาพจิต โดยผลการสำรวจพบว่าในปี 2564 เยาวชนไทยร้อยละ 30.1 ตอบว่าพวกเขามีความเครียดสูง ร้อยละ  35.3 บอกว่าพวกเขามีภาวะซึมเศร้า และอีกร้อยละ 17.5 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย รายงานสรุปว่าเด็กและเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันทุก 1 ใน 3 คนมีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตอย่างน้อย 1 ด้าน และ 7 ใน 10 มีสุขภาพจิตย่ำแย่ลงในปีที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวนี้สูงอย่างน่าตกใจทีเดียว และที่อยากจะย้ำเตือนผู้อ่านคือ เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องของสถิติหรือตัวเลขในเชิงปริมาณ แต่ทุกตัวเลขดังกล่าวนี้คือชีวิตและสุขภาพของเด็กไทยที่ขาดความสุขและมีความทุกข์ เราเห็นข่าวการฆ่าตัวตายบ่อยครั้งขึ้น คุณหมอที่ทำงานด้านสุขภาพจิตหลายท่านกล่าวว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าที่ปรากฎในข่าวมากนัก ในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนสอนหนังสืออยู่ ก็พบปัญหาดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาสุขภาพจิตเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกจากสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาในครอบครัว ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

1 ชีวิต และ 279 เสียงที่ถูกทำให้เลือนหายและเงียบงัน

รายงานพบว่าเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันตื่นตัวและเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางสังคมและการเมืองอย่างสูง ตั้งแต่ปี 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีการชุมนุมประท้วงที่เยาวชนเป็นผู้นำและผู้ประสานงานสูงถึง 1,838 ครั้ง นอกจากนั้นยังพบอีกว่า เยาวชนไทยร้อยละ 68.8 % สนใจติดตามการเมืองผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างเข้มข้นและเกาะติด  และเยาวชนจำนวนมากถึงร้อยละ 71.7 % เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาทิ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ลงชื่อในแถลงการณ์ ลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การซื้อหรืองดซื้อสินค้าด้วยเหตุผลทางการเมือง เข้าร่วมชุมนุมประท้วง การซื้อสินค้าหรือบริจาคเงินให้พรรคการเมืองหรือองค์กรประชาสังคม การร่วมกิจกรรมของพรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยไม่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกเหมือนคนรุ่นก่อน พวกเขากลับมองว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองและของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่

แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว รัฐกลับใช้วิธีการปราบปรามแทนที่จะรับฟังเสียงของเยาวชน โดยในปี 2564 รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนถึง 60 ครั้ง จนทำให้มีเยาวชนเสียชีวิต 1 คน (คือ วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี) บาดเจ็บอย่างน้อย 88 คน นอกจากนั้นระหว่างเดือนมกราคม 2564 ถึงพฤษภาคม 2565 รัฐบาลยังดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีสูงถึง 279 คน ในจำนวนนี้ 16 คนถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากสถิติดังกล่าวนี้ ทำให้ยุคปัจจุบันคือยุคที่รัฐดำเนินคดีกับเยาวชนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และอายุของเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามทางกฎหมายก็มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

65% กำลังหาทางไป

ตัวเลขสุดท้ายที่น่าสะท้อนใจจากผลการสำรวจคือ เยาวชนไทยสูงถึง 65% ตอบว่า การย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจทีเดียว ความอยากย้ายประเทศนี้น่าจะสะท้อนสภาวะที่พวกเขารู้สึกสิ้นหวังกับประเทศ สิ้นหวังกับระบบการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่ ที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้พวกเขามีทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่ดีพอที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อไปบรรลุฝันได้

เราคงไม่อาจโทษเด็กได้ที่พวกเขาคิดเช่นนี้ หากพิจารณาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจกระทำต่อความฝันและความหวังของเยาวชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังประโยคหนึ่งที่คมชัดและบาดลึกในรายงานฉบับนี้ที่ว่า

“ราวกับว่าความฝันในการสร้างสังคมให้น่าอยู่นั้นไร้ค่า”


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565