Resurrection ระบบยุติธรรมในแบบ Tolstoy - Decode
Reading Time: 2 minutes

หากพูดถึงนักเขียนชาวรัสเซียที่เป็นที่รู้จัก ชื่อของลีโอ ตอลสตอยคงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่เข้ามาในหัวของใครหลาย ๆ คน โดยมีผลงานที่โดดเด่นทั้งที่เป็นเรื่องสั้น เรื่องยาวเช่น War and Peace, Anna Karenina และ The Death of Ivan Ilyich ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้มีการแปลเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายในชีวิตของตอลสตอย โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ นั้นก็คือ Resurrection หรือที่แปลไทยในชื่อว่า “ชีวิตที่ฟื้นคืน”

หลังจากผู้เขียนอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผู้เขียนบอกได้เพียงว่า Resurrection เป็นงานที่ประหลาด และเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ในมุมหนึ่งเราจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ก้าวหน้ามาก ๆ ชนิดที่แม้จะเขียนมาร้อยกว่าปีก็ยังทันสมัย แต่ในอีกมุมหนึ่งจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ล้าสมัยมาก ๆ ชนิดแม้จะเทียบกับงานเขียนเวลาเดียวกันก็ยังรู้สึกได้ว่าค่อนข้างล้าสมัย หากจะมีจุดที่พอจะทำให้สองส่วนนี้อยู่ร่วมกันได้ก็คงเป็นความสุดโต่งของตอลสตอยที่สามารถสุดโต่งไปได้ทั้งในแง่ที่ดูก้าวหน้า และในแง่ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม

ในสัปดาห์นี้ De/code จึงอยากจะพาผู้อ่านไปสำรวจนิยายเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายของตอลสตอย ที่มีความก้าวหน้ามาก ๆ แต่ก็ล้าหลังมาก ๆ อย่าง Resurrection เล่มนี้

ปัญหาของระบบยุติธรรม (?)

Resurrection มีฉากหลังเป็นรัสเซียในสมัยจักรวรรดิช่วงทศวรรษที่ 1890 โดยเล่าเรื่องของชายหนุ่มชื่อเนค์ลยูดอฟ ชนชั้นสูงของรัสเซียที่วันหนึ่งได้บังเอิญไปเป็นลูกขุนในศาล และต้องเผชิญกับความผิดบาปของตัวเองในอดีต เมื่อพบว่ามาสโลวาหญิงสาวคนหนึ่งที่เขารู้จักและเคยล่วงละเมิดในอดีตนั้นกลับเป็นจำเลยในคดีที่ตนได้เป็นลูกขุนด้วย

พล็อตเรื่องดูจะไม่ซับซ้อน แต่เมื่ออยู่ภายใต้ปลายปากกาของตอลสตอย นิยายเล่มนี้กลับสามารถนำผู้อ่านไปสู่ประเด็นที่ลงลึกมากๆ ไม่ว่าจะเรื่องของจิตวิญญาณ ความยุติธรรม ไปจนถึงมิติทางเศรษฐกิจ โดยรูปแบบการบรรยายของตอลสตอยนั้นจะใช้วิธีการที่เป็นการบรรยายแบบยาวเหยียด ลงรายละเอียดลึก (จนบางคนคงรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดขนาดนั้น) ซึ่งอาจจะบอกได้ว่าเป็นวิธีที่เรียกได้ว่าปกติของตอลสตอย

โดยตอลสตอยลงรายละเอียดชนิดที่ว่าแม้จะผ่านไปร้อยหน้าแล้ว การพิจารณาคดีก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่การลงรายละเอียดคดีเช่นนี้นั้นเป็นความตั้งใจของตอลสตอย เพราะหนึ่งในประเด็นที่ Resurrection พยายามจะพาผู้อ่านไปสนทนาด้วยนั้นก็คือ เรื่องของระบบยุติธรรม และการลงรายละเอียดเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อการชี้ถึงปัญหาของระบบยุติธรรมในมุมของตอลสตอย

ในภาพย่อย Resurrection บอกว่าระบบยุติธรรมนั้นมีปัญหา เพราะมาจากตัวมนุษย์ ส่วนนี้นี่เองที่กลวิธีการเล่าของตอลสตอยได้ใช้ประโยชน์ การลงรายละเอียดเชิงลึกทำให้เราเห็นตัวละครในศาลแต่ละคนนั้นมีความต้องการเป็นของตัวเอง บางทีผู้พิพากษาหรืออัยการอาจจะไม่ได้ต้องการความยุติธรรม แต่ต้องการที่จะรีบ ๆ ตัดสิน เพื่อที่จะได้กลับบ้านเร็ว ๆ หรือบางคนอาจแค่ต้องการแสดงอีโก้ส่วนตัวเพียงเท่านั้น ส่วนลูกขุนนั้นก็เหนื่อยล้า ไร้ความสามารถ ไร้ความรู้ เกินกว่าที่จะทำอะไรได้

รายละเอียดเล็ก ๆ น้อยที่ตอลสตอยใส่เข้าไปจึงเป็นการให้ภาพว่าการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมเกิดจากความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนหลาย ๆ คนมารวมกัน มาสโลวาซึ่งดูจะมีความผิดน้อยกว่าจำเลยอีกสองคนนั้นกลับโดนตัดสินว่าผิดกว่าอีกสองคนจนถูกเนรเทศไปไซบีเรีย เพราะความสะเพร่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ของบรรดาลูกขุน รวมถึงเนค์ลยูดอฟซึ่งมัวแต่กระวนกระวาย เป็นวัวสันหลังหวะ จนไม่กล้าที่จะท้วงติงคณะลูกขุนคนอื่น ซึ่งในตอนนั้นรู้สึกอยากจะกลับบ้านกันเต็มแก่แล้ว

ทว่านอกจากภาพเล็กที่ชี้เรื่องปัญหาของกระบวนการตัดสิน ในภาพใหญ่ที่ปรากฏในหนังสือตอลสตอยมองว่าระบบยุติธรรมนั้นมีปัญหา เพราะว่าระบบยุติธรรมไม่ได้เป็นระบบที่พร้อมจะนำมาซึ่งความยุติธรรมจริง ๆ แต่เป็นกลไกหนึ่งที่มีไว้รักษาฐานอำนาจเพียงเท่านั้น

“ยังกะเป้าหมายของศาลคือความยุติธรรม!” เนค์ลยูดอฟร้อง
“อ้าว แล้วจะอะไรซะอีก”
“รักษาประโยชน์ของชนชั้น ผมเห็นว่าศาลเป็นเพียงเครื่องมือรักษาระบบที่เป็นอยู่ รักษาประโยชน์ของชนชั้นของเรา”

ทว่าวิธีที่ตอลสตอยใช้เพื่อจะอธิบายว่าศาลในสายตาของเขานั้นเป็นเครื่องมือที่ไว้ใช้รักษาระบบที่เป็นอยู่ ซึ่งในสายตาของเขาก็ไม่ได้มองว่าเป็นระบบที่มีความยุติธรรมแต่อย่างใดนั้น ตอลสตอยใช้วิธีการพูดโดยการเขียนเคสของนักโทษหลาย ๆ คนขึ้นมา ซึ่งตลอดทั้งเรื่องมีด้วยกันรวม ๆ นับสิบเคส แต่ละคนก็เข้าคุกด้วยเหตุผลที่ต่าง ๆ กัน แต่ทั้งหมดมีความเหมือนกันอยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นแพะ นักโทษการเมือง นักโทษคดีวิ่งราว จนไปถึงนักโทษคดีฆาตกรรม ตอลสตอยล้วนมองว่านักโทษเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความอยุติธรรมทั้งสิ้น

ที่เป็นเช่นนี้มีด้วยกันสองเหตุผล เหตุผลแรกคือตอลสตอยมองว่าเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว มันอาจจะโทษไม่ได้ว่านักโทษส่วนใหญ่นั้นผิดขนาดนั้น บางคนทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ บางคนเพียงเพราะผิดจากมาตรฐานบางอย่างที่รัฐหรือสังคมตั้งเอาไว้ หรือถ้าต่อให้ผิดจริง ๆ สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการกระทำผิดก็คือ สภาพแวดล้อมที่บีบให้พวกเขาทำอาชญากรรม ทั้งนี้ไม่รวมกรณีแพะที่บริสุทธิ์ แต่ได้รับความอยุติธรรมจากกระบวนการในชั้นศาล

ส่วนเหตุผลที่สองนั้นเป็นเพราะตอลสตอยเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความดีอยู่ในธรรมชาติ ส่วนนี้จะเห็นได้จากการเล่าชีวิตของเนค์ลยูดอฟและมาสโลวาในวัยเยาว์ ตอลสตอยเลือกที่จะใช้คำในแนว ๆ ที่ชี้ไปว่าทั้งสองตัวละครนั้นเป็นคนที่ดีและบริสุทธิ์ในธรรมชาติ ทว่ากลับถูกสังคมที่ชั่วช้าหลอกลวงจนหลงผิด แนวคิดนี้ทำให้เห็นอิทธิพลของนักปรัชญาฝรั่งเศสอย่าง ฌอง ฌากส์ รุสโซ ในตัวตอลสตอย และทำให้เข้าใจได้ว่าตอลสตอยมองว่าคนทำผิดนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมมากกว่าที่ตัวตนของเขาเอง

ดูเหมือนตอลสตอยตระหนักดีว่าโลกความเป็นจริงอาจจะเชื่อแบบนั้นยาก แม้ส่วนตัวตอลสตอยจะมีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นดี การก่ออาชญากรรมเป็นผลจากสังคมมากกว่าที่ตัวบุคคล (หรือพูดด้วยศัพท์หรู ๆ ปัจจุบันก็คือ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง) แต่ใน Resurrection ก็มีหลายตอนที่ชี้ไปว่าบางคนอาจจะถูกสังคมทำร้าย จนมีสภาพเกินเยียวยาเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย ทว่าการเลือกที่จะเล่าเช่นนี้ก็ช่วยทำให้สารของตอลสตอยดูหนักขึ้น เพราะมีการแย้งตัวเองอยู่ตลอด ทำให้สารดังกล่าวดูเหมือนจะถูกไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนมาแล้ว

ในแง่มุมนี้ หลายคน คงจะพอเห็นความก้าวหน้าและย้อนแย้งบางอย่างของงานชิ้นนี้ของตอลสตอยเป็นที่เรียบร้อย กล่าวคือ ตอลสตอยสามารถมองและอธิบายปัญหาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่แค่ภาพใหญ่ แต่ยังรวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้มีปัญหา บางประเด็นสามารถสร้างบทสนทนาได้แม้แต่ในยุคปัจจุบัน

แน่นอนระบบยุติธรรมทุกวันนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงจากระบบยุติธรรมในยุคของตอลสตอย จนไม่อาจจะบอกได้ว่าสิ่งที่เขียนใน Resurrection เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ก็นับว่าเป็นการมองปัญหาที่เรียกได้ว่าเจนโลก ทว่าขณะเดียวกันเราก็เห็นแค่มุมที่ดูจะไร้เดียงสาของตอลสตอย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ระบบยุติธรรมเท่านั้น ตลอดทั้งเรื่องตอลสตอยมีแง่มุมที่ถ้าในปัจจุบันหลายคน คงบอกได้ว่าไร้เดียงสาโดยเฉพาะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ และนำมาซึ่งข้อเสนอที่เรียกได้ว่าแม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังสามารถพูดเต็มปากได้ว่าสุดโต่งจำนวนมาก นั่นก็คือ การยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล 

ด้วยความคิดที่สุดโต่งนี้เองทำให้ Resurrection ถูกมองว่าด้อยกว่านิยายเรื่องยาวอีกสองเรื่องของตอลสตอยอย่าง War and Peace และ  Anna Karenina หลายคนวิพากษ์ว่างานชิ้นนี้ดูเหมือนตอลสตอยจะมุ่งแต่จะ statement ทางความคิดของตนมากกว่าให้คุณค่าทางวรรณกรรม ซึ่งหนึ่งในส่วนที่เป็นความคิดสำคัญที่ตอลสตอยมองว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ คำสอนของพระเยซู

โลกเปลี่ยนได้ด้วย พระคริสต์

แม้ว่าตัวงานของตอลสตอยจะมีการพูดถึงประเด็นทางสังคมอยู่เยอะ หลายอย่างก็ก้าวหน้ามาก ๆ แต่หนึ่งในประเด็นที่สำคัญสำหรับตัวตอลสตอยเองคือเรื่องทางจิตวิญญาณ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาทางสังคมของตอลสตอยนั้นผูกกับเรื่องของจิตวิญญาณอย่างชัดเจน และนำมาซึ่งข้อสรุปในการแก้ปัญหาทั้งหมดที่ตอลสตอยพยายามจะอธิบายมาตลอดทั้งเรื่อง

กล่าวโดยสั้น ๆ คือ ตอลสตอยเสนอว่าการจะแก้ปัญหาทางสังคมนั้นคือ การเทศนาบนหุบเขาของพระเยซูมาปฏิบัติใช้ เมื่อทุกคนรักกันและยอมให้อภัยซึ่งกันและกันโลกก็จะมีแต่สันติสุข

ในแง่มุมนี้ผู้อ่านหลาย ๆ คนคงจะบอกได้ว่าตอลสตอยดูจะเป็นคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ในมาตรฐานปัจจุบัน และดูจะมีน้ำเสียงเคร่งศาสนา ทว่าในความเคร่งศาสนาของเขานั้นก็ทำให้เขาถูกขับออกจากศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ เพราะว่าใน Resurrection ที่มีข้อเสนอว่าสังคมจะดีขึ้นได้เพราะคำสอนของพระเยซู ตอลสตอยก็ได้วิพากษ์ศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ว่ามีแต่เปลือก แต่ไม่มีแก่นจริง ๆ ของคำสอนแบบคริสต์ศาสนา

จนแม้จะสามารถมองได้ว่าตอลสตอยมีความเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ความเป็นอนุรักษ์นิยมของตอลสตอยก็ยังมีความตอลสตอยในตัวเอง และมันก็ไปด้วยกันได้กับแง่มุมที่เขามุ่งวิพากษ์สังคมซึ่งดูจะเป็นแง่มุมที่ก้าวหน้าของเขา

ความย้อนแย้งของตอลสตอย

การอ่าน Resurrection ในปัจจุบันนั้นทำให้เราเห็นว่าชิ้นนี้มีทั้งความก้าวหน้าและล้าหลังอย่างน่าประหลาด มันเป็นหนังสือที่สามารถพูดคุยประเด็นทางสังคมในปัจจุบันได้ จนไม่น่าเชื่อว่าจะถูกเขียนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ขณะเดียวกันก็มีมุมที่ดูจะล้าหลังมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศซึ่งตอลสตอยมีน้ำเสียงค่อนข้างไปในทางรังเกียจ

ความย้อนแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นจากตัวตอลสตอยเอง ซึ่งก็มีหลายคนวิพากษ์อยู่เรื่อย ๆ ดังที่เลนินเคยเขียนเอาไว้ว่าในมุมหนึ่งตอลสตอยเป็นเจ้าที่ดินซึ่งเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากระบบที่กดขี่ชาวนาในรัสเซีย แต่อีกมุมหนึ่งตอลสตอยกลับเป็นคนที่มองเห็นและพยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับความไม่เป็นธรรมของสังคม ซึ่งแน่นอนตามประสานักปฏิวัติเลนินมองว่าไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นกระจกสะท้อนความอ่อนแอไม่กล้าที่จะทำอะไรของคนรัสเซีย

ซึ่งดูแล้วจากประวัติศาสตร์ดูเหมือนว่าข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนของเลนินจะถูกใจประชาชนชาวรัสเซียมากกว่าตอลสตอยที่ให้กลับไปหาความเป็นคริสเตียน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงของตอลสตอยจะไม่มีค่า

ที่จริง ความย้อนแย้งของตอลสตอยนี่เองทำให้เราเห็นภาพอะไรหลาย ๆ อย่างโดยเฉพาะภาพของสังคมรัสเซียก่อนการปฏิวัติ ไม่ว่าจะภาพสังคมหรือแง่มุมความคิด และต่อให้ไม่เชื่อในข้อเสนอของตอลสตอย Resurrection ก็ยังมีคุณค่าทางวรรณกรรมอย่างกลวิธีการเล่าที่แม้จะมีการลงรายละเอียดที่เยอะ แต่ด้วยสำนวนของตอลสตอยทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อ และอ่านไปได้ตลอดทั้งเล่ม จนสุดท้าย Resurrection ก็ยังเป็นหนังสือที่คู่ควรต่อการอ่านด้วยประการฉะนี้

หนังสือ: RESURRECTION
นักเขียน : เลียฟ ตอลสตอย แปล: สดใส
สำนักพิมพ์: ทับหนังสือ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี