ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศที่มีประชากรเพียงแค่ 3 แสนคน หนึ่งในประเทศกลุ่มนอร์ดิกซึ่งมีโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบรัฐสวัสดิการ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นเหมือนเป็นสัญญาณว่าแนวคิดรัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาถึงจุดสิ้นสุด
วิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2008-2011 ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าหนี้สูงกว่า GDP ยอดรวมทั้งหมดสูงกว่าเงินออมของประชากรทุกคนรวมกันในประเทศ หรือเรียกได้ว่าหากคิดง่าย ๆ นำเงินของประชาชนทั้งประเทศมารวมกัน ก็ไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่ประเทศในช่วงวิกฤติได้
ส่วนมากแล้วทางออกของประเทศที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในลักษณะนี้ก็ไม่พ้นแนวทางเสรีนิยมใหม่คือการลดบทบาทภาครัฐ ตัดสวัสดิการประชาชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดเสรีทางการเงิน เพิ่มอำนาจกลุ่มทุน เหมือนอย่างที่เริ่มต้นในลาตินอเมริกายุค 1970 และในเอเชียยุคปลายทศวรรษ 1990 แต่ไอซ์แลนด์ในปี 2010 แตกต่างออกไปเพราะภาคการเงินของประเทศเดินหน้าเข้าสู่การเปิดเสรีตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และการเปิดเสรีนี้ก็กลายเป็นสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก
แต่สำหรับบทความนี้ผมจะไม่ได้พูดถึงเรื่องการแก้ไขด้านนโยบายเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ในการฟื้นฟูประเทศ แต่จะชวนมองถึงเรื่องราวปรัมปราพื้นเมืองของประเทศนี้ ในวันที่ คนไอซ์แลนด์เลือกที่จะรักษาชีวิตของเหล่า “ภูติจิ๋ว” คนตัวเล็กตัวน้อย และเลือกที่จะจำคุก “นายธนาคารจอมละโมบของประเทศ” แทน
ภูติจิ๋ว (Elf) เป็นรากฐานของความเชื่อสำคัญของประเทศไอซ์แลนด์ จริง ๆ แล้วเป็นประเทศที่ดูสอดรับกับอุดมคติ ประชากรน้อย พื้นที่เล็ก มีระบบรัฐสวัสดิการประเทศนี้น่าจะไม่ต้องมีปัญหาอะไรเลยทุกอย่างน่าจะสามารถคลี่คลายจัดการได้ง่าย ๆ
นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมทั่วไปในสังคมไทยที่มักจะกล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้เพราะว่ามีคนเยอะ กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นประเทศที่รวยคนน้อย อยากได้อะไรก็ได้แต่เรื่องไอซ์แลนด์ทำให้ผมมองเรื่องนี้ต่างไป เพราะเป็นภาพสะท้อนว่าการที่ประเทศหนึ่งจะมีปัญหาก็ไม่เกี่ยวกับว่าประเทศนั้นคนน้อยหรือว่าประเทศนั้นคนเยอะ ประเทศนั้นอากาศหนาวหรือว่าประเทศนั้นอากาศร้อนประเทศนั้นมั่งคั่งหรือว่ายากจน
ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจไอซ์แลนด์มีเหตุผลมากมายที่จะยกเลิกลบทิ้ง ด้อยค่า รัฐสวัสดิการ แต่สิบปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเดือนที่แล้วน้องสาวของผม (อ.รับขวัญ ธรรมบุษดี) ได้ไปนำเสนองานในประเทศไอซ์แลนด์ หัวข้อของงานน่าสนใจมากนั่นคือเมื่อประชาชนเรียกร้องส่งเสียงชนชั้นนำเพียงแค่กระซิบทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง
น้องสาวของผมเล่าให้ฟังว่าคนไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้มาก สาเหตุที่คนไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญและสนใจในหัวข้อก็น่าจะมาจากสาเหตุรากฐานวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจการเมืองเรื่อง ภูติจิ๋ว ที่ผมได้กล่าวถึงนี่เองเรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ บางครั้งอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวและน่ารำคาญให้แก่วัฒนธรรมจารีตประเพณี
บางครั้งตรงข้ามกับอำนาจศาสนจักร แต่หากจะให้ผมสรุปง่าย ๆ ภูติจิ๋วของคนไอซ์แลนด์ ก็คือคนจน คนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกมองข้ามจากสังคม บางครั้งภูติจิ๋วมาพร้อมกับคำสาปแช่ง บางครั้งมาพร้อมกับคำอวยพร ผู้มีอำนาจในนิทานไม่ว่าจะเป็น นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน บาทหลวง หากสามารถจัดการกับความไม่แน่นอนของ “ภูติจิ๋ว” ได้ ก็ย่อมทำให้สังคมราบรื่นดำเนินต่อไปได้ แต่การผิดคำสัญญา หลอกลวง ทรยศ ต่อคนตัวเล็กตัวน้อย บ่อยครั้งจะเป็นสัญญาณที่นำสู่ความวุ่นวาย
เป็นเรื่องสำคัญที่ผมได้จากการอ่านหนังสือที่น้องสาวนำมาให้ The Little Book of the Hidden People เรื่องราวของภูติจิ๋ว ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา การผิดสัญญา การไม่ซื่อตรงของชนชั้นปกครอง เมื่อผมเชื่อมโยงกับวิกฤติเศรษฐกิจในไอซ์แลนด์เมื่อสิบกว่าปีก่อน
กรณีศึกษาของวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ วิกฤติที่เกิดจากการปล่อยกู้เก็งกำไรระหว่างธนาคาร การตั้งบริษัทเงาสวมรอย เรื่องที่ทำให้คนไอซ์แลนด์ไม่พอใจคือพบว่า ผู้มีอำนาจรัฐ นักการเมือง นายธนาคาร นายทุน คนกลุ่มนี้รู้เห็นเป็นใจกับความไม่โปร่งใสอันเป็นต้นเหตุวิดฤติเศรษฐกิจนี้ เมื่อเกิดวิกฤติรัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายตามแนวทางของ IMF แต่ว่าได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก พรรคการเมืองกระแสหลักเสื่อมความนิยมอย่างมาก
ปี 2016 ประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนน เมื่อมีรายงานรายชื่อ นักการเมืองและนักธุรกิจไอซ์แลนด์ถึง 600 คนใน Panama Paper รายงานที่เปิดเผยความอื้อฉาวในวงการธุรกิจการเมืองระดับโลก คนไอซ์แลนด์กว่า 20,000 คน หรือ 6% ของประชากร แสดงความไม่พอใจเรื่องนี้ในท้องถนน ในการเลือกตั้งปี 2016 พรรคการเมืองซ้าย-สิ่งแวดล้อม (Left-Green) ได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น สิ่งที่ไอซ์แลนด์ทำแตกต่างจากหลายประเทศในระบบุทุนนิยม
พวกเขาเพิ่มสวัสดิการประชาชน และจับกุมนายธนาคาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
แม้วิกฤติค่าเงินจะมีผลดีคือการดึงดูดนักท่องเที่ยว และกลายเป็นรายได้หลักของไอซ์แลนด์แม้ยามเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว แม้จะมีคำอธิบายที่หลากหลายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค แต่คนไอซ์แลนด์ก็ยังเชื่อเสมอว่า การคดโกง เอาเปรียบของชนชั้นนำเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจนี้ และการรวมตัวเรียกร้องของคนตัวเล็กตัวน้อยคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ผ่านไปได้
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภูติจิ๋วในไอซ์แลนด์ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพลัดหลงไปถึงดินแดนของภูติจิ๋ว เธอได้ช่วยเลี้ยงเด็ก ๆ ในดินแดนนั้น ภูติจิ๋วจึงให้พรเธอโดยการนำน้ำยาวิเศษมาป้ายตาเด็กผู้หญิงแล้วบอกว่าต่อไปนี้เธอจะเห็นเหล่าภูติจิ๋ว แลกกับชีวิตของเธอที่ร่ำรวยและมีความสุข เด็กผู้หญิงเติบโตได้แต่งงานกับคนร่ำรวยมีความสุข วันหนึ่งเธอเห็นภูติจิ๋วในงานเทศกาล เธอเข้าไปทักภูติจิ๋วตนนั้น ก่อนที่ภูติจะนำมือป้ายที่ตาเธออีกครั้งจากนั้นเธอก็ไม่เห็นเหล่าภูติจิ๋วอีกต่อไป และโชคชะตาและชีวิตของเธอก็หายไปพร้อมกัน
โชคชะตาและความสงบสุขของชนชั้นนำอาจสร้างมาได้ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า พวกเขาเห็นหัวประชาชนที่ซ่อนเร้นอยู่ตามซอกหลืบของสังคมบ้าง
เป็นสาเหตุที่แนวทางของไอซ์แลนด์หลังวิกฤติเศรษฐกิจคือการจับกุมคนรวยที่ฉ้อฉลและใส่ใจคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคม อันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมรัฐสวัสดิการ ไม่เกี่ยวว่าประเทศคนมาก คนน้อย ร่ำรวย ยากจน พื้นที่กว้างใหญ่มาก หรือเล็กแค่หยิบมือ มันสำคัญจากรากฐานที่ว่า เราอยากให้คนเสมอภาคกันมากน้อยเพียงใด
Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน
เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565