ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
บทความเมื่อตอนที่แล้ว (ย้อนรอยระบบเลือกตั้ง (ตอนที่ 1)) ผู้เขียนได้อธิบายถึงระบบเลือกตั้งสองระบบหลักในโลกไปแล้วคือ ระบบเสียงข้างมากและระบบสัดส่วน ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันต่อถึงระบบเลือกตั้งแบบสุดท้าย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าระบบผสม (mixed system)
ประเด็นการถกเถียงอันร้อนแรงเกี่ยวกับสูตรการหาร 100 หาร 500 ในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันในสังคมการเมืองไทย แท้ที่จริงแล้วก็คือ การถกเถียงกันถึงระบบเลือกตั้งแบบผสมนั่นเอง น่าเสียดายว่าการถกเถียงนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากหลักการที่มาที่ไปของระบบเลือกตั้งแบบนี้ แต่ไปถกเถียงกันที่สูตรการคำนวณคะแนนเป็นหลัก
ซึ่งทำให้การอภิปรายกลายเป็นเรื่องเทคนิค และทำให้ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน กระทั่งคนที่สนใจการเมืองจำนวนมากทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ก็ยังเกิดความสับสน ว่าสูตรหาร 100, 500 มันต่างกันอย่างไร ตัวเลขที่ต่างกันนี้มาจากหลักคิดอะไร แล้วทำไมต้องมาถกเถียงกันโต้แย้งกันในเรื่องตัวเลขนี้ ใช้สูตรหารต่างกันแล้วผลลัพธ์ในการเลือกตั้งต่างกันอย่างไร ฯลฯ
บทความนี้อยากจะชวนผู้อ่านถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ ขอให้ลืมสูตรตัวเลขเจ้าปัญหาไปชั่วขณะ แล้วมาทำความเข้าใจสาระสำคัญของระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียก่อน หากเข้าใจหลักการแล้ว เรื่องตัวเลขก็เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว และจะได้ถกเถียงกันโดยไม่สับสนและหลงทาง
ถามว่าทำไมถึงเรียกระบบเลือกตั้งแบบที่สามนี้ว่า ระบบเลือกตั้งแบบผสม (mixed system) คำตอบก็คือ มันเป็นระบบที่ผสมผสานระบบเสียงข้างมากกับระบบสัดส่วนเข้าด้วยกัน ผู้ที่ออกแบบระบบนี้ รวมทั้งประเทศที่นำระบบเลือกตั้งแบบนี้มาใช้มองว่าในเมื่อระบบเลือกตั้งหลักที่ใช้กันมานานในโลกทั้งระบบเสียงข้างมากแบบอังกฤษ และระบบสัดส่วนแบบยุโรป ต่างก็มีข้อดีในตัวมันเองต่างกัน คือระบบแบบเสียงข้างมากทำให้เกิดรัฐบาลเข้มแข็งและการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนระบบแบบสัดส่วนทำคะแนนไม่สูญเปล่าและเปิดโอกาสให้พรรคทางเลือก
ทำอย่างไรจึงจะออกแบบระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ผนวกเอาข้อดีของทั้งสองระบบเข้ามาไว้ด้วยกัน
ผลของความพยายามผนวกสองระบบเข้าด้วยกันก็กลายมาเป็นระบบผสมนั่นเอง ผมทิ้งท้ายในบทความที่แล้วว่าผู้ออกแบบระบบนี้เป็นพวกโลภมาก คือ รักพี่เสียดายน้อง อยากได้สิ่งดี ๆ จากทั้งสองระบบ (the best of both worlds) มาไว้ด้วยกัน ซึ่งปรากฏว่าการออกแบบทำได้ดี ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงมีหลายประเทศนำระบบแบบนี้ไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ
รวมถึงบางประเทศที่เคยใช้ระบบแบบเสียงข้างมากหรือสัดส่วนแล้วมีการทบทวนเพื่อค้นหาระบบเลือกตั้งใหม่ อาทิ อิตาลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ก็ได้นำระบบแบบผสมไปใช้เช่นกัน
หัวใจของระบบผสมคือ จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบให้ประชาชนได้เลือกทั้งผู้แทนในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ
เพราะถือว่าหากมีผู้แทนทั้งสองแบบ ประชาชนก็ต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือมีสิทธิเลือกอย่างเต็มที่ว่าอยากได้ใครเป็นส.ส.เขตเพื่อเป็นตัวแทนเชิงพื้นที่ (geographical representation) ของตน และอยากได้พรรคใดเป็นตัวแทนเชิงนโยบาย (policy representation)
ฉะนั้นระบบผสมไม่ว่าจะใช้ในประเทศใดก็ตามในโลกนี้ล้วนต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบให้ประชาชนได้เลือกทั้งคนและพรรคแยกจากกัน (เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ) มิใช่ระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” ของไทยในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีผู้แทนทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ แต่ให้ประชาชนมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยมีสิทธิเลือกผู้แทนในระบบเขตเท่านั้น อันนี้ถือว่าผิดหลักการและไม่ยุติธรรม เราจึงไม่สามารถเรียกระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าระบบผสมได้
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านเข้าใจในเบื้องต้น คือ ระบบเลือกตั้งผสมนั้นแบ่งแยกย่อยออกเป็น สองแบบหลักด้วยกัน คือ 1.ระบบผสมแบบคู่ขนาน (parallel systems) หรือระบบผสมที่เน้นเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian System) ซึ่งมักเรียกย่อ ๆ ว่า MMM และ 2. ระบบผสมที่เน้นสัดส่วน (Mixed Member Proportional System) ที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า MMP
ทั้งสองแบบล้วนมีบัตรสองใบให้ประชาชนใช้สิทธิเหมือนกันทั้งคู่ ต่างกันที่วิธีคิดในการคำนวณหาที่นั่ง แบบ MMM นั้นชื่อก็บอกว่าเน้นเสียงข้างมาก คือ แม้จะเป็นระบบผสม แต่ผู้ออกแบบยังอยากให้น้ำหนักกับเสถียรภาพและความเข้มแข็งของรัฐบาลอยู่ จึงมีวิธีคิดคะแนนที่ค่อนไปทางระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากที่จะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบ
หลัก ๆ คือ คิดคะแนนในระบบเขตกับระบบบัญชีรายชื่อแยกจากกันไปเลย ไม่เอามาผูกกัน (จึงเรียกว่าแบบคู่ขนาน) ส่วนแบบ MMP นั้นต้องการเน้นไปที่ความเป็นสัดส่วนระหว่างที่นั่งกับคะแนนของแต่ละพรรคเป็นสำคัญ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบจนเกินไป ต้องการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทางเลือกขนาดกลาง
สรุปง่าย ๆ แบบ MMM นั้นเป็นระบบผสมที่มีใจโอนเอียงไปทางระบบเสียงข้างมาก ส่วน MMP เป็นระบบผสมที่มีใจโอนเอียงไปทางระบบสัดส่วน
เมื่อเข้าใจหลักใหญ่ใจความแตกต่างของทั้งสองระบบย่อยแล้ว เรามาพิจารณาลงรายละเอียดกันสักเล็กน้อย
1) ระบบผสมแบบคู่ขนาน/เสียงข้างมาก (MMM)
ระบบนี้มีบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกใบเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และคำนวณคะแนนแยกจากกัน ยกตัวอย่าง สมมติทั้งประเทศมีผู้แทน 500 คน แบ่งเป็นผู้แทนเขต 400 คน และผู้แทนบัญชีรายชื่อ 100 คน มีพรรคการเมือง A ชนะในระบบเขตทั้งหมด 200 เขต (จาก 400) พรรค A ก็จะได้ ส.ส. ทั้งสิ้น 200 คน ส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็ดูง่าย ๆ ว่ามีประชาชนเลือกพรรค A กี่เปอร์เซ็นต์ในส่วนบัตรบัญชีรายชื่อ ถ้ามีประชาชนเลือกพรรค 50% พรรค A ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไปทั้งหมด 50% ของจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ (คือ 50% จาก 100) เท่ากับ 50 คน
ภายใต้ระบบ MMM วิธีคิดจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภาที่แต่ละพรรคจะได้ก็ง่ายมาก คือ เอาจำนวน ส.ส. เขต กับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้น ๆ ได้มารวมกัน ในตัวอย่างนี้ พรรค A ก็จะได้ ส.ส. ทั้งหมด 200 + 50 = 250 ที่นั่ง
ประเทศไทยนำระบบนี้มาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้าปี 2540 ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งที่มีแต่ ส.ส. เขต ไม่เคยมี ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย รัฐบาลมีแต่ความอ่อนแอ การเมืองไร้เสถียรภาพ ไม่เคยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งใดอยู่ครบวาระ จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปิดจุดอ่อนนี้ การนำระบบผสมแบบเสียงข้างมากมาใช้เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเล็งเห็นว่าจะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคเพราะนโยบายมากขึ้นจากการมีบัตรเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ที่ไม่ได้แข่งกันในเชิงว่าผู้แทนคนใดดูแลพื้นที่ได้ดีกว่า แต่แข่งกันที่พรรคใดมีนโยบายและวิสัยทัศน์ระดับชาติในการพัฒนาประเทศได้ดีกว่า
ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว ระบบนี้ได้รับความนิยมจากหลายประเทศที่ปฏิรูประบบการเลือกตั้งใหม่ แต่ว่าแต่ละประเทศแบ่งสัดส่วนที่นั่งระหว่างระบบเขตกับบัญชีรายชื่อไม่เท่ากัน อันดอร์รา รัสเซีย และยูเครนแบ่งในสัดส่วน 50:50 เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้น้ำหนักกับเขตมากที่สุดคือ 81:19 ในขณะที่ติมอร์เป็นกรณีที่ให้น้ำหนักกับบัญชีรายชื่อมากที่สุด คือ 75 ที่นั่งมาจากบัญชีรายชื่อและเพียง 13 ที่นั่งมาจากระบบเขต อย่างไรก็ตามประเทศส่วนใหญ่มักจะแบ่งสัดส่วนที่นั่งทั้งสองประเภทในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ 60:40
2) ระบบผสมแบบสัดส่วน (MMP)
ย้ำอีกทีว่าระบบนี้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเช่นเดียวกับระบบ MMM ข้อต่างจากระบบ MMM คือ ระบบ MMP จะมีวิธีคิดในการแปรคะแนนเสียงของแต่ละพรรคไปเป็นที่นั่งเพื่อให้เกิดความเป็นสัดส่วนมากกว่าระบบคู่ขนาน ประเทศหลักที่ใช้ระบบนี้ คือ ประเทศเยอรมนี ทำให้บางทีมีการเรียกระบบนี้ติดปากว่าระบบเยอรมัน
ยกตัวอย่างวิธีคำนวณหาที่นั่ง ผู้มีสิทธิออกเสียงไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ละคนมีคะแนนเสียงสองคะแนนคือ เลือก ส.ส. เขต กับเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง การคำนวณหาที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคการเมืองก็ทำโดยเอาคะแนนบัญชีรายชื่อที่พรรคได้รับมาคำนวณก่อนว่าพรรคนั้นจะได้กี่ที่นั่ง แล้วก็ไปดูว่าผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคนั้นชนะมากี่เขต แล้วเอาสองตัวเลขนี้มาหักลบกันก็จะเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับ
สาเหตุที่เอาคะแนนที่ประชาชนเลือกบัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้งก็เพราะหลักคิดที่ว่าคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นคะแนนที่สะท้อนความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองได้ดีที่สุด ประชาชนเลือกกาบัตรบัญชีรายชื่อให้กับพรรคใด ย่อมสะท้อนว่าเขาชอบนโยบาย แนวทางการทำงาน หรืออุดมการณ์ของพรรคนั้น ๆ ส่วนคะแนนในส่วน ส.ส. เขตนั้น คนอาจจะเลือกเพราะชอบตัวบุคคล ชอบชื่อเสียง ชอบหัวคะแนนของผู้สมัครคนนั้น ชอบครอบครัวของผู้สมัครที่มีผลงานในพื้นที่มานาน โดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพรรคที่ผู้สมัครสังกัดก็ได้
ยกตัวอย่างการคำนวณหาที่นั่งดังนี้ สมมติเหมือนเดิมว่าทั้งประเทศมีผู้แทน 500 คน แบ่งเป็นผู้แทนเขต 400 คน และผู้แทนบัญชีรายชื่อ 100 คน พรรค A ได้ที่นั่งจากบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมด 50% และชนะ ส.ส. เขต 200 ที่นั่ง การคิดที่นั่งเริ่มจากเอาคะแนนบัญชีรายชื่อมาคำนวณหาที่นั่งทั้งหมดที่พรรคนั้นจะได้ เนื่องจากมีคนเลือกพรรค A ทั้งประเทศรวมกัน 50% สะท้อนว่ามีประชาชนนิยมพรรค A ครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง พรรค A จะได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 50% ซึ่งเท่ากับ 250 ที่นั่ง (50% จาก 500) และในเมื่อพรรค A ได้ ส.ส. เขตแล้ว 200 ที่นั่ง ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 50 ที่นั่ง (250 – 200)
จะเห็นได้จากตัวอย่างว่าไม่ว่าจะใช้ระบบ MMM หรือ MMP พรรคขนาดใหญ่จะทำผลงานได้ดีไม่ต่างกันมากนัก เพราะมักจะมีฐานเสียงเข้มแข็งทั้งในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว อันที่จริงถ้าทำคะแนนบัญชีรายชื่อได้ดี ระบบเยอรมัน (MMP) จะทำให้พรรคใหญ่ได้ที่นั่งมากกว่าระบบ MMM ด้วยซ้ำ เช่น หากพรรค A ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 60% จะได้ที่นั่งในระบบ MMP ถึง 300 ที่นั่ง (60% จาก 500)
ส่วนที่ต่างคือ พรรคทางเลือกขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีโอกาสเข้าสู่สภาภายใต้ระบบ MMP มากกว่าระบบคู่ขนาน เพราะเปิดโอกาสให้พรรคที่มีนโยบายที่โดนใจประชาชน ที่อาจจะไม่มีฐานเสียงเข้มแข็งในเขตใดเขตหนึ่งชัดเจน เพราะมีผู้สนับสนุนกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เมื่อนำคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งประเทศมารวมกันก็จะมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น ยกตัวอย่างว่ามีพรรค B นำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อม มีคนนิยมพรรคนี้ทั่วประเทศ 5% ส่วนในระบบเขตพรรคนี้มีฐานเสียงเข้มแข็งแค่ 10 เขต หากใช้ระบบคู่ขนานพรรคนี้จะได้ ส.ส. ทั้งหมดเท่ากับ 10 (ส.ส. เขต) + 5 (บัญชีรายชื่อ ซึ่งคิดจาก 5% ของ 100) = 15 ที่นั่ง แต่ถ้าใช้ระบบผสมแบบสัดส่วนพรรคนี้จะได้ที่นั่งมากขึ้น คือ จะได้ 5% จาก 500 = 25 ที่นั่ง (แบ่งเป็น ส.ส. เขต 10 ที่นั่ง และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 15 ที่นั่ง)
ระบบนี้ยึดคะแนนบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกพรรคเป็นหลัก เพราะเห็นว่าทำให้จำนวนที่นั่งกับจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับจะมีความเป็นสัดส่วนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยมากเกินไป จนการเมืองไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอ่อนแอ จึงมักจะมีการกำหนดเพดานขั้นต่ำไว้ด้วย เช่น 5% หากพรรคใดได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์นี้ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในสภาเลย นอกจากนั้น ประเทศที่ใช้ระบบ MMP ยังคงให้สัดส่วนที่นั่งที่มาจากระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ไม่ต่างกันมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้สัดส่วน ส.ส. เขต: ส.ส. บัญชีรายชื่อ คิดเป็น 60:40
ที่เถียงกันเรื่องสูตรหาร 100, 500 นั้น แท้จริงแล้วเราไม่ได้กำลังเถียงกันเรื่องตัวหารที่แตกต่างกัน แต่เรากำลังพูดถึงระบบผสมสองแบบย่อยที่ต่างกันไปเลยต่างหาก ที่บอกว่าใช้หาร 100 นั้นก็คือระบบผสมแบบคู่ขนานที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คะแนนบัญชีรายชื่อจะนำมาคำนวณหาแค่ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ที่มี 100 ที่นั่ง) ในขณะที่สูตรหาร 500 นั้นจริง ๆ แล้วมีลักษณะคล้ายกับระบบแบบเยอรมัน คือ คะแนนบัญชีรายชื่อจะถูกนำมาคำนวณ ไม่ใช่แค่หาที่นั่งบัญชีรายชื่อ แต่เพื่อหาที่นั่งทั้งหมดของสภา (ที่มี 500 ที่นั่ง)
ระบบผสมทั้งแบบคู่ขนานและแบบสัดส่วนเป็นระบบที่มีความเป็นสากลทั้งคู่ ผ่านการทดลองใช้ในหลายประเทศและประสบผลสำเร็จด้วยดี ไม่มีระบบไหนเลวหรือดีกว่าระบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังออกแบบระบบเลือกตั้งไปตอบวัตถุประสงค์ข้อใด อยากจะเน้นความเข้มแข็งของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมือง หรือเน้นความเป็นสัดส่วน (ของคะแนนกับที่นั่งของแต่ละพรรค) พร้อมกับเปิดโอกาสให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก
และถ้าจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งของพรรคขนาดใหญ่จะมีกลไกอย่างไรให้พรรคใหญ่ต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคอื่นด้วย ส่วนถ้าจะใช้ระบบเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้พรรคเล็ก จะมีมาตรการอย่างไรป้องกันไม่ให้พรรคเล็กเหล่านั้นกลายเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองมากเกินไป และใช้ที่นั่งของตัวเองไปต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อรับแจก “กล้วย” จนทำให้การเมืองไทยไร้คุณภาพ ทำอย่างไร นี่คือประเด็นที่สังคมควรถกเถียงกัน มิใช่ไปเถียงเรื่องสูตรตัวหาร ที่สำคัญกระบวนการตัดสินใจว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใดควรเป็นกระบวนการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่เรื่องของการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ และวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
สุดท้าย ผู้เขียนอยากจะทิ้งท้ายเรื่องสูตร 500 ที่นำเสนอในสภาว่า สูตร 500 แบบไทย ๆ ที่เสนอในสภานั้นมีปัญหา เพราะหนึ่ง ขัดกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะใช้ระบบแบบคู่ขนาน) เปรียบเสมือนการลักไก่เข้ามาในภายหลัง หากจะใช้สูตร 500 ควรตกลงกันในหลักการตั้งแต่ต้นว่าจะใช้ระบบแบบ MMP ด้วยเหตุผลใด ระบบแบบ MMP นั้นมีหลักคิดที่ดีและมีข้อดีหลายประการดังที่อธิบายไว้ข้างต้นนี้
แต่ถ้าจะใช้ระบบนี้จริง ๆ ต้องคิดให้ครบในเรื่อง หนึ่ง เพดานขั้นต่ำ (เพื่อป้องกันพรรคเล็กปัดเศษ) สอง ต้องมีการคิดเรื่องสัดส่วน ส.ส. เขตกับ ส.ส. บัญชีรายชื่อให้ไม่ห่างกันมากจนเกินไป มิเช่นนั้นจะจัดสรรที่นั่งไม่ได้ สาม ต้องมีการคิดเรื่องที่นั่งส่วนเกิน (overhang seats) ในกรณีที่พรรคบางพรรคได้ ส.ส. เขต เกินกว่าที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดที่พรรคจะได้รับการจัดสรรจะทำอย่างไร เช่น พรรคควรได้ ส.ส. ทั้งหมด 200 ที่นั่ง แต่ชนะ ส.ส. เขตไปแล้วถึง 220 ที่นั่ง จะทำอย่างไร (ประเทศเยอรมนีต้นแบบระบบ MMP คิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ)
หากไม่มีการคิดและตกผลึกในประเด็นเหล่านี้ ที่เรียกกันว่าสูตรหาร 500 นั้นจะกลายเป็นสูตรที่ไร้หลักการรองรับ คำนวณคะแนนสับสน ไม่ยุติธรรม และนำการเมืองไทยไปสู่ทางตัน