ฐานันดรที่สาม - Decode
Reading Time: 2 minutes

แด่บรรดาทุกผู้ทุกนามที่(ไม่)ถูกนับในสายตาของอภิสิทธิ์ชน

ในฐานะที่ดำรงอยู่ในฐานันดรที่แปลกประหลาดจากชนชั้นนำ  ฐานันดรที่สาม คือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของการขยับฐานะทางชนชั้นในฝรั่งเศส ก่อนการปฏิวัติในปี 1789 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สังคมถูกแบ่งแยกชนชั้นออกเป็นสามฐานันดร ขุนนาง-พระ-ไพร่ และการเมืองการปกครองในระบบนี้ก็ได้มอบอภิสิทธิ์ให้กับสองชนชั้นแรก ขุนนางและนักบวชถูกยกเว้นภาษี ในขณะที่สามัญชนต้องจ่ายภาษีนานาประเภท หนังสือเล่มนี้จะชวนเราสำรวจความคิดก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และถามหาที่ยืนของพลเมืองผู้ไร้อำนาจในการตัดสินใจทั้งต่ออนาคตและภาระที่ตกถูกบังคับให้แบกรับไว้

ชาติอันประกอบขึ้นด้วยกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอย่างฐานันดรที่สามในฐานะที่เป็นทุกสิ่งอย่างของชาติ เพียงแต่ว่าถูกพันธนาการด้วยโซ่ล่ามจากชนชั้นอภิสิทธิ์ “หากตัดชนชั้นอภิสิทธิ์ออกไป ชาติก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ลดน้อยถอยลง แต่กลับเป็นอะไรที่มากขึ้น” เราต่างยืนยันได้ตรงกัน ว่าขุนนางและศักดินาไม่ใช่คนหมู่มากในสังคม แต่พวกเขากลับยืนอยู่บนยอดสุดของสังคม ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเยอะที่สุด ใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อเฉื่อยแฉะ ไม่ต้องแก่งแย่งจากหมู่มวลชนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอที่บอกได้ว่า ไร้ซึ่งชาติ หากไร้ซึ่งฐานันดรที่สามอย่างสามัญชน ต่อคำถามที่จะถามอีกกี่ครั้งก็จะมีคำตอบแบบเดิมเสมอ ว่าฐานันดรที่สามคืออะไร คำตอบคือ ฐานันดรที่สามคือทุกสิ่งอย่าง และที่นอกเหนือไปจากฐานันดรที่สาม ก็ไม่ได้สลักสำคัญต่อความเป็นชาติ แต่กลับกันจากความเป็นจริง ที่พบเจอคำตอบได้ว่าฐานันดรที่สามกลับไม่เป็นอะไรเลยในสมการทางการเมืองและการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน อีกทั้งยังถูกกดขี่บังคับ ขูดรีด และขังประชาชนเอาไว้ในสภาพสังคมที่น่าอดสู

ฐานันดรที่สาม ตอกย้ำต่อการดำรงอยู่ของพลเมืองสามัญที่อาศัยอยู่ในฐานะทางชนชั้นเดียวกัน ไร้อภิสิทธิ์ทางกฎหมาย ใครก็ตามที่หลุดออกไป ก็เท่ากับว่า เขาก็ไม่ได้ถูกนับอยู่ในฐานันดรที่สาม ซึ่งเท่ากับว่า ในฐานะชาติฐานันดรที่สามกลับไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีความสำคัญอะไรเลย และไม่ต้องแยแสต้องการจัดสรรทั้งอำนาจต่อการตัดสินใจทางการเมือง และการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บทสนทนาต่อข้อเสนอที่เรียบง่ายของฐานันดรที่สาม คือการดำรงอยู่ในระบบกฎหมายที่เสมอภาค ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างเป็นธรรม ฟังดูแล้วเหมือนคลับคล้ายว่าสิ่งเหล่านี้กำลังดำรงอยู่ในสังคมไทย อาจใช่? แต่ที่หนังสือเล่มนี้กำลังพูดถึง คือการกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยล้าหลัง? เอื่อยเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง? หรือมากกว่าไปกว่านั้น คือมีกลุ่มคนในสังคมกลุ่มหนึ่งไม่ต้องการให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง?

 “ประเทศที่พลเมืองกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์มากที่สุดจากทรัพยากรของสังคม แต่กลับเป็นกลุ่มที่สร้างคุณูปการให้กับสังคมน้อยที่สุด ช่างเป็นประเทศที่พิลึกกึกกือ” พูดแบบตรงไปตรงมาคือ ประเทศแบบไหนกันที่กลุ่มคนส่วนน้อยได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของทั้งสังคมมากมากยมหาศาล แต่กลับแบกรับต้นทุนที่ถูกที่สุดเอาไว้ ซึ่งพลเมืองสามัญผู้แบกรับในฐานะผู้จ่ายภาษีกลับได้ประโยชน์อันน้อยนิด ประเทศแบบนี้เอาความเป็นธรรมไปซ่อนไว้ตรงไหนกัน เมื่อมองดูสังคมไทย เราก็ยิ่งหดหู่ใจไม่แพ้กัน เมื่อเห็นการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนกว่า 60 ล้านคนในวงเงิน 4.6 แสนล้าน แต่กลับจัดสรรให้กับข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคนในวงเงินที่ใกล้เคียง

ความพิลึกพิลั่นของรัฐที่ทอดทิ้งประชาชนให้อดอยาก คือเราต้องเป็นรัฐแบบไหนกันที่อดสูได้ขนาดนี้ เราเห็นผู้ยากไร้ทุกผู้นามไร้ที่ดินในการทำกิน ไร้โอกาสในการศึกษาที่ดี จะจบปริญญาตรีได้ต้องแบกหนี้ กยศ.กว่าสองแสน นี่คือต้นทุนของหนึ่งชีวิตที่จะได้เริ่มต้นแต่โหดร้ายตรงที่นี่คือการเริ่มต้นชีวิตที่ติดลบ ไร้การเติบโตทางอาชีพทางการงานเพราะมาจากครอบครัวที่ไม่ใช่ตระกูลที่วิเศษวิโส ต้องทนเห็นคนธรรมดาสามัญนอนเจ็บปางตายเพราะไม่มีเงินพอจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลต้องเป็นหนี้เป็นสิน กู้ยืมหรือขายทรัพย์ที่มีเพื่อรักษาชีวิต ไร้ความมั่นคงจากการไร้รัฐสวัสดิการ หนำซ้ำกลับมองไปข้างหน้าแล้วยังแลเห็นว่าไร้อนาคตที่ดี หากมองไม่เห็นสิ่งพรรค์นี้ที่เกิดขึ้น ก็คงต้องนับว่าเราหรือคุณก็พิลึกพิลั่นกับรัฐไม่แพ้กัน

สู่ความเสรี เท่าเทียม และทวงถามสิทธิในฐานะพลเมือง เพื่อชี้ให้ฐานันดรที่สามตระหนักถึงขอบเขตของทรัพยากรที่จำกัด ตระหนักถึงสิทธิของตน “เพื่อพาตัวเองเข้าไปครองสถานะในระเบียบการเมืองที่คู่ควรกับตน” นี่เป็นหมุดที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าในฐานะพลเมืองที่มีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชาติ ในฐานะผู้จ่ายภาษี เพราะเราไม่ได้อยู่อาศัยในฐานะไพร่ คนใช้ หรือทาส เราต้องการความเสรี เราต้องการความเท่าเทียม เราต้องการสิทธิอันชอบธรรมที่จะอยู่ในรัฐและได้รับการดูแลจากรัฐเสมือนที่รัฐดูแลขุนนางและศักดินา นี่ไม่ใช่คำกล่าวหรือการเปิดบทสนทนาที่เกินจริงหรือเกินความเป็นไปได้ หากแต่นับว่านี่คือสิ่งปกติ ที่รัฐทั่วไป มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของทรัพยากร และเป็นเจ้าของอำนาจอย่างถึงที่สุด

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

หนังสือ ฐานันดรที่สามคืออะไร?
ผู้เขียน Emmanuel Joseph Sieyes (เอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส)
ผู้แปล ภัควดี วีระภาสพงษ์
สำนักพิมพ์ บุ๊คสเคป