สุนทรียศาสตร์ และรัฐสวัสดิการ: แด่ ถนอม ชาภักดี - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ปลายปี 2020 ผมมีโอกาสไปร่วมงานการบรรยายประเด็นรัฐสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผมได้พบเจอกับ อ.ถนอมเป็นครั้งแรก อาจารย์เป็นผู้บรรยายก่อนผม หัวข้อที่อาจารย์บรรยายดูแปลกและห่างไกลจากความคุ้นเคยของผมอย่างมาก อาจารย์บรรยายถึงเรื่อง สุนทรียศาสตร์ หรือหากแปลก็คือการศึกษาว่าด้วย “ความงาม” สิ่งที่อาจารย์บรรยายในวันนั้นสำคัญกับผมมาก และมันมีความเกี่ยวพันกับเรื่องรัฐสวัสดิการ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมในมิติต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งเช่นกัน

Photo by Wanit Nantasuk

“หากคนธรรมดาไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือความงาม เราไม่มีทางเข้าถึงสังคมที่เสมอภาคได้อย่างแท้จริง”

อ.ถนอม บรรยายในวันนั้น ความงามที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงความงามด้วยผัสสะทางตาเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึง รสชาติ ความอร่อย เสียง-ความไพเราะ หากคนธรรมดาไม่สามารถบอกได้ว่าเสียงแบบใดคือความไพเราะ รสชาติแบบใดคือความอร่อย รูปแบบใดคือความสวยความงามของชนชั้นตน ย่อมไม่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

“ชนชั้นนำผูกขาดความหมายว่า อาหารรสแบบใดเป็นรสที่อร่อย ใช้เครื่องปรุงแบบใด แล้วแต่พวกเขาจะสรรหามาจากสุดหล้าฟ้าเขียว กินอย่างไร ท่าแบบไหน ถึงจะอร่อย  แต่ไพร่ หรือสามัญชน ไม่สามารถนิยามความอร่อยของตัวเองได้ เราก็ไม่สามารถเป็นข้าวของชีวิตเราเองได้”

“ชนชั้นนำกำหนดว่าเสียงนี้คือความไพเราะ เครื่องดนตรีแบบนี้คือความสูงส่ง จังหวะแบบนี้คือความรื่นหู เมื่อคนธรรมดากำหนดไม่ได้ เราก็ไม่สามารถมีเสียงดนตรีของผู้ทุกข์ทน มีความไพเราะของชนชั้นเรา”

“แม้แสงสี จะเท่าเทียมกัน แต่ดวงตาของประชาชนก็ไม่เท่าเทียมกัน ในการบอกว่าสิ่งนี้คือความงาม เมื่อชนชั้นสูงผูกขาดความงามจากดวงตาของพวกเขา และทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงความงามตามความหมายของชนชั้นตน”

ส่วนนี้คือถ้อยคำที่ผมพอจำรำลึกได้จากการอภิปรายของ อาจารย์ ถนอม ชาภักดี ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นแกนกลางให้ผมได้คิดต่อว่า ในสังคมที่เหลื่อมล้ำภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่ชนชั้นครอบครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจมหาศาล ผูกขาดอำนาจทางการเมือง และควบคุมจารีตประเพณี พวกเขาไม่ได้เพียงแค่กำหนดความเป็นไปของนโยบายต่าง ๆ แต่ยังกำหนดถึงความสามารถในการนิยาม “ความงามต่าง ๆ ”ของผู้คนในสังคม เช่นนั้น เมื่อเชื่อมโยงกับเรื่องรัฐสวัสดิการ ผมครุ่นคิดตามคำอธิบายด้านสุนทรียศาสตร์ของอาจารย์ถนอมก็พบประเด็นความน่าสนใจหลายอย่าง ที่กีดขวางการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการในสังคมไทย

ผู้ชายใส่สูทในสภาต่อต้านกฎหมายการลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร 180 วัน ด้วยเหตุผลว่า การที่แม่ต้องเสียสละออกจากงานมาเลี้ยงดูลูกคือความงดงามเสียสละที่น่ายกย่อง

นายทุน ผู้ประกอบการ เจ้าสัว บอกว่าการทำงานหนัก อดทน คือชีวิตที่ดีงามสำหรับทุกคน

ผู้มีอำนาจพร่ำสอนต่อคนรุ่นใหม่ว่า เด็กที่มีพฤติกรรมงดงาม คือผู้ที่คุกเข่าค้อมหัวกับผู้มีอำนาจ ผู้ที่สามารถอยู่เป็นกับผู้มีอำนาจและสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้

พวกเขานิยามความงามพร้อมกับนิยามความอัปลักษณ์ภายใต้วาทกรรมต่าง ๆ ในการบอกว่าความจนเกิดจากการขี้เกียจ สวัสดิการที่มากเกินไปทำให้คนขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ค่าแรงสูงทำให้เศรษฐกิจแย่ มหาวิทยาลัยเป็นที่ทางสำหรับคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ลูกหลานของคนที่เตรียมตัวมาอย่างดีเท่านั้น ไม่ใช่ที่สำหรับคนยากจนที่ไม่พร้อม อาชญากรรมของคนจนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่การที่คนรวยพยายามหาช่องทางขูดรีดคนทั่วไป ให้พวกเขารวยขึ้นมากมายกลับเป็นสิ่งที่สวยงามน่ายกย่อง ชนชั้นปรสิตที่ร่ำรวยจากการขูดรีดผู้คน กลับมีพื้นที่ทางสังคมได้รับการยกย่อง พวกเขาดูดี สง่างาม ดูเป็นมิตร ใจดี มีการศึกษา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำงานหนักเพื่อหล่อเลี้ยงพวกชนชั้นปรสิต กลับถูกดูแคลน ว่าต่ำต้อยหยาบช้า ไม่มีรสนิยม และไม่สามารถเป็นต้นแบบของอะไรได้

“สุนทรียศาสตร์” อาจเป็นคำที่ดูห่างไกลและไม่น่าเกี่ยวข้องกับคำว่า “ความเสมอภาค” หรือ “รัฐสวัสดิการ” แต่เมื่อพิจารณาตามที่ อ.ถนอมได้นำให้ผมคิดตามแล้ว จากประสบการณ์ของผม บ่อยครั้งจริง ๆ ที่ความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นเรื่องตลกของชนชั้นนำ ที่พวกเขาไร้ความละอายและความรู้สึกผิดต่อความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาสร้างขึ้นมา พวกเขามีคำอธิบายที่หลากหลายในการบรรยายความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และเป็นความผิดพลาดของประชาชนเอง

หรือหากกล่าวโดยสรุปเมื่อพิจารณาความงามตามที่ชนชั้นนำพอใจจะอธิบาย ก็เหมือนเวลาที่พวกเขาเห็นแม่จูงมือลูกข้ามถนน พวกเขาอาจเห็นความรัก ความสวยงาม ความเมตตา แต่ภายในดวงตาคู่นั้นของแม่ มันคือความกังวลต่อค่านมลูก ค่าเล่าเรียน ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ค่าเช่าบ้าน อนาคตอันมืดมนของลูกน้อย  

“สำหรับชนชั้นปกครองมันคือภาพความงาม แต่สำหรับประชาชนมันคือความเป็นความตาย”

เราย่อมไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้เช่นกัน หากเราไม่สามารถรวมตัวกันแล้วส่งเสียงว่า ความเท่าเทียมและรัฐสวัสดิการที่ไม่ทำให้มนุษย์รู้จักกับความยากจนมันสวยงามเพียงใด และความเหลื่อมล้ำสูงต่ำทางสังคมโดยชนชั้นปรสิตมันอัปลักษณ์เพียงใด

ด้วยความระลึกถึง สหายนักสู้เพื่อประชาชนที่จากไป อาจารย์ถนอม ชาภักดี ศิลปินเพื่อประชาชนตลอดกาลตลอดไป

ภาพประกอบบทความโดย : Wanit Nantasuk