เหมือนเวลาหยุดอยู่กับที่ เราต่างมีแสงสว่างในตัวเองของ พี่หนึ่ง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นบันทึกเรื่องราวของหนุ่มสาวระหว่างยุค 2000 ต้น ๆ เป็นการประกอบรวมเรื่องสั้นลงเล่ม ที่ตรึงเราให้ค้นหาความเปลี่ยนแปลงของอดีตและปัจจุบัน
ชั่วขณะที่ไล่สายตาผ่านงานสัมภาษณ์อันมีเนื้อหากระแทกเปลือกของความคิดให้เชื่อมโยงลึกถึงแก่นของยุคสมัย อาจมีหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปจากวันวาน แต่ก็แปลกที่มีอีกหลายเรื่องยังเป็นเช่นนั้น
เอ๊ะ! นี่เรากำลังออกเดินทางก้าวไปข้างหน้า หรือแค่จินตนาการว่าเราก้าวเดินแล้วกันแน่
เปลี่ยนผ่านจาก 2002 ถึง 2020
สายเดี่ยว เอวลอย แหวกอก เปิดหลัง เจาะจมูก สักลาย แฟชั่นที่แสดงออกถึงความกล้าหาญ เปรี้ยวซ่าท้าทายของหนุ่ม-สาวในยุค 2000
ท่ามกลางความเปรี้ยวซ่าซึ่งมีดนตรีโมเดิร์นพังก์ยุค 80 เป็นแกนกลาง เซ็นเตอร์พอยต์ถูกใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการรวมพล เพราะแน่นอนหากเดินไปที่อื่น ปะปนกับผู้ใหญ่ผู้มากอาวุโสของสังคมในยุคนั้น มีหวังต้องเกิดอาการเขิน
ชัดเจนจากบทสนทนาของพี่หนึ่ง วรพจน์ และสองตัวละครในเรื่องมีอะไรในสายเดี่ยว ? ซึ่งเปิดเผยความในใจ พร้อมกับการวิพากษ์สังคมเมื่อ 20 ก่อนอย่างตรงไปตรงมา
ปิ๊ด – ณัฐวัฒน์ รุ่งนิเวสน์ กล่าว
“ไอ้เสื้อผ้าพวกนี้ไม่ใช่เด็กทำนะ ผู้ใหญ่คิดขึ้นมาทั้งนั้น ผมว่ามันก็เหมือนตอนที่ผู้ใหญ่เป็นวัยรุ่น เขามีความคิดความอ่านของเขา ทั้งที่ยุคโน้นเข้มงวดกว่านี้ยังแหกกฎ ไปดูรูปเก่า ๆ สิ เอวลอย ขาบาน โป๊ไม่ต่างจากยุคนี้ รุ่นลูกผมอาจไม่ใส่เสื้อผ้าแล้วก็ได้ แต่ละยุคสมัยก็คงต่างกันไป”
ฟรีซ – ศุภัทรชัย ตั้งติวัฒนตุลย์ เพื่อนหนุ่มที่มีรอยสักทั้งตัวเสริมว่า
“ผู้ใหญ่ชอบมองหัวจรดเท้า บางคนตั้งคำถามว่า ‘การแต่งตัวแบบนี้มึงติดยาหรือเปล่า’ ผมอยากให้มองเป็นแค่แฟชั่น อย่าด่วนสรุปว่าเป็นไอ้ตัวร้าย ชีวิตผมปกติ ขึ้นรถเมล์ก็จ่ายตังค์ ซื้อของก็ยังเข้าคิว ยาเสพติดไม่ยุ่งอยู่แล้ว มันแพง(หัวเราะ) ส่วนเหล้าบุหรี่มีบ้างตามประสาผู้ชาย”
ชัดเจนว่า เราไม่สามารถอธิบายทั้งหมดของคนคนหนึ่งที่สายตากวาดมาเห็น ผ่านเสื้อผ้า ท่าทาง หรือร่องรอยบนเรือนร่างได้ เพราะมันอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความชอบเท่านั้น
ในวันอันแสนธรรมดาของปิ๊ด ผมสีเขียวแซมขาวส้มก็ถูกล้างออกทั้งหมด รูเจาะฝังโลหะก็ถูกจัดการจนเกลี้ยงเกลา ท่วงทำนองชีวิตในมิติการอ่านก็ผูกโยงอยู่กับเรื่องราวชีวประวัติของบุคคลสำคัญ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งหาอ่านได้ตามร้านหนังสือแถบจตุจักร
นั่นไง! ชีวิตคนเรามีหลายมิติเมื่อได้คุยจึงได้รู้จัก เมื่อมองไกล ๆ ในระยะนินทาจึงได้เพียงจินตนาการไปต่าง ๆ นานา
การกดทับกระจายฟุ้งอยู่ทั่วไป กรอบการตีตราผ่านจินตนาการ บนขนบที่ใครก็ไม่รู้สร้างขึ้นแผ่กว้างในทุกอณู นั่นจึงไม่แปลกที่ยุคนั้น ความกระหายที่อยากจะปลดแอกตัวตนของหนุ่มสาวในยุค 2000 กลายเป็นลมหายใจของเซ็นเตอร์พอยต์ พื้นที่เล็ก ๆ กลางเมืองที่มีอุณหภูมิพอเหมาะให้เมล็ดพันธุ์แห่งตัวตนได้เติบโต
วันนี้เปลี่ยนไปแล้วไม่มีเซ็นเตอร์พอยต์ แต่ความกระหายนั้นยังอยู่ เพียงแต่ในช่วงไม่ถึงสิบปีมานี้สังคมใจกว้างขึ้น หนุ่มสาวจึงมีพื้นที่ให้ตัวตนของเราเบ่งบานได้ในทุกที่ อาจเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เห็นชัดว่า เราไม่ใช่ประชากรส่วนน้อย อาจเป็นเพราะตัวอักษรในโลกออนไลน์ ช่วยกระตุ้นความกล้าให้เราถกเถียงกันถึงความแตกต่างมากขึ้น
วันนี้ดนตรีโมเดิร์นพังก์ยุค 80 ไม่ต้องเลือกเปิดเฉพาะที่เซ็นเตอร์พอยต์อีกต่อไป
แปลกตาแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลง รัชดาที่(ไม่)รู้จัก
ถ้าไม่ใช่เพราะโควิด19 ย่ามราตรีในยุค 2022 บนถนนรัชดาคงคึกคักกว่านี้ แต่ถึงอย่างไร? รัชดายังคงเป็นถนนที่ไม่เคยหลับ เงินไหลหมุนเวียนหลายร้อยล้านเคลื่อนตัวในทุกราตรี นักท่องแสงจันทร์คงพอคุ้น ๆ หากนึกชื่อตึกใหญ่ที่ไฟส่องสว่างอยู่ในแถบนั้นได้สัก 2-3 ชื่อ
เราเองไม่เคยไปท่องราตรีในย่านนั้น แต่ก็พอได้มีโอกาสขับรถผ่านไปมา และคุ้นเคยกับบทสนทนาหยอกเย้าของหนุ่ม ๆ กลุ่มขี้ร้อนที่ชอบลงอ่างอยู่บ้าง
อาบ อบ นวด และ สาว ๆ ในตู้กระจก ยังไม่ใช่เรื่องตกยุคที่เราจะพูดถึง เป็นสิ่งที่รู้ว่ามีแต่สังคมยังเต็มไปด้วยคำถาม คำถามที่ถูกตั้งต้นจากกรอบวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว ความรักนวลสงวนตัว และอื่น ๆ อีกมาก แต่ก็นั่นแหละ วันนั้นเป็นอย่างไร วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น รัชดาภิเษกยังเป็นถนนที่ห่างไกลจากคำว่ารู้จักอยู่เสมอ
เพราะอยากมีเงิน คือเหตุผลของหญิงสาวในหนังสือเล่มนี้ เธออายุ 23 ปี เป็นคนโคราช ความภูมิใจของเธอคือเมื่อกลับบ้านแล้วถูกมองว่า เป็นผู้หญิงเก่งสร้างเนื้อสร้างด้วยลำแข้งของตัวเอง
เธอผ่านมาแล้วหลายอาชีพ ผ่านทั้งการแต่งงานและหารหย่าร้าง สุดท้ายก็มาอยู่ตรงรัชดากับอาชีพหมอนวด ที่มีรายได้ 70,000-80,000 บาท เดือนไหนขี้เกียจก็จะได้ราว ๆ 30,000-50,000 บาท เป็นตัวเลขที่มากอยู่หากเทียบกับรายได้ในสายอาชีพอื่น ๆ ทั้งในยุคนั้นและยุคนี้
แต่ก็นั่นแหละเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องความต้องการของแต่ละคน อาจเพราะความสุขของเธอคือการดิ้นรนหาเงินส่งเลี้ยงครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อาชีพนี้จึงตอบโจทย์แม้ต้องแลกกับการตีตรา ดูถูก จากคนจำนวนมากในสังคม
“เหนื่อยนะพี่นอนกับผู้ชายเนี่ย แต่ยังไงก็ต้องทน อยากได้วันละ 3 คน มากกว่านี้อ้วก น้อยกว่านี้ก็อยู่ลำบาก”
ถ้าเราโยนฝาครอบตามกรอบศีลธรรมออกไปก่อน ภายใต้ประโยคนี้ของหมอนวด วัย 23 ปี การบริการทางเพศ ก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่มีทั้งเหนื่อย และความต้องการอยู่รอด เพื่อปากท้องของครอบครัวมิใช่หรือ?
“ไม่มีใครอยากโดนเลือก ทุกคนอย่างเป็นฝ่ายเลือกด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเมื่อมันจำเป็นจะให้ทำยังไงได้”
คำพูดจากผู้จัดการอาบอบนวดแห่งหนึ่ง ช่วง 2 ปี หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 40 เขาว่า
“เข้ามาวงการนี้แล้วออกยาก”
เขาย้ำชัดในเจตนาว่าถ้าเลือกได้ใครจะอยากเข้ามา อาชีพหมอนวดไม่ใช่สบาย เพียงแต่มันไม่ต้องตากแดด อยู่ในที่หรูหรา หาเงินได้ 60,000 – 100,000 บาท มองตัวเลขแล้วตาลุกวาว ในโลกที่เราไม่อาจหลีกหนีจากระบบทุนนิยม เกือบทุกกิจกรรมมีแต่ “ค่า” เรื่องพื้นฐานอย่างการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เต็มไปด้วย “ค่า”
เมื่อรัชดาคือถนนที่เต็มไปด้วยงานและเงิน จึงไม่ควรเป็นเรื่องแปลกที่หนุ่มสาววัยแรงงานที่นั่น จะถูกกดต่ำด้วยมาตรวัดของคุณงามความดี เพราะภายใต้แสงสีที่สะท้อนเข้าตาในทุกค่ำคืน ยังมีอีกหลายชีวิตที่เขาและเธอต้องดูแล
1 มิ.ย. 65 ไฟเขียวสว่างขึ้นแล้ว หลังโควิดทำ ศบค. สั่งปิดสถานบันเทิงยาวนานกินเวลา 2 ปีกว่า ชีพจรของถนนรัชดาภิเษกคงกลับมาส่องสว่างยามค่ำคืนอีกครั้ง แต่เนื้อหนังของถนนเส้นนี้ยังคงถูกกดค่าด้อยศักดิ์ศรีไม่ต่างกับเมื่อ 20 ปีก่อน
แม้สังคมจะมองเห็นและสนทนาด้วยความเข้าใจเขาและเธอมากกว่าที่เคย แต่ในแง่ของกฎหมาย อันเป็นกรอบกติกาใหญ่ และความเข้าใจของคนในฝ่ายรัฐ ยังคงไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขา เห็นชัดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นช่วงโควิด สถานบันเทิงถูกปิดเป็นด่านแรก ถูกเปิดเป็นด่านสุดท้าย นั่นกินความหมายว่าเขาและเธอภายใต้แสงสีก็อยู่แบบไม่มีงาน ต้องดิ้นรนบนความจริงที่ว่าการเยียวยาไปไม่ถึง เพราะไม่ได้ถูกนับว่าเป็นแรงงานคนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ
ยังเหมือนเดิม ยังไงก็ยังอย่างนั้น เวลาไม่เคยเปลี่ยนฉัน ท่อนนี้จากเพลงของวงบอดี้สแลม แว่วเข้ามาในหัวเราอีกแล้ว
ที่ว่าง สำหรับแสงหลายเฉดสี
หลายครั้งที่เปลือกนอกอันฉูดฉาด ถูกฉาบทับด้วยพันธนาการของขนบเก่ากาล มันกดทับตัวตนเรากดทับแสงของเรามากน้อยแตกต่างกันไป อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจคิดว่า เราต่างมีแสงสว่างในตัวเองมีแต่เรื่องราวของแสงที่สังคมผลักไสให้อยู่ในซอกหลืบเท่านั้น แต่ไม่ใช่!
ช่วงท้ายของหนังสือเล่มนี้จบลงตรงแสงสว่างบนเวทีแค็ตวอล์ก เรื่องราวของ ลูกหมี ในยุคที่เธอเริ่มเข้าวงการนางแบบได้เพียง 3 ปี กับชั่วโมงบินบนเวทีราว 500 โชว์ คงพอทำให้ประมาณการได้ว่า เธอคือดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งยุคสมัย ดับแสงตัวเองในวงการกีฬาบาสเกตบอล
แล้วหันหน้ามาเปล่งประกายในเวทีแฟชั่นโชว์ ส่วนหนึ่งเพราะมันทำเงินได้มากกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเวลาที่สูญเสียไป แทบไม่มีเวลาได้ใช้เงินที่ตั้งหน้าตั้งตากอบโกยมา มิหนำซ้ำชื่อเสียงที่ได้มาพร้อมเงินทองถูกแลกมาด้วย ความรักที่พูดถึงทีไรเป็นต้นน้ำตาคลอ
เบื้องหลังของแสงมีเงาซ่อนอยู่อีกมุมเสมอ แสงที่สว่างจ้าก็ใช่ว่าจะเต็มไปด้วยความสุข เราต่างมีเฉดแสงที่ตัวเองปรารถนา
จากหญิงสาวขายบริการ , หนุ่ม-สาวย่านเซ็นเตอร์พอยต์ ถึง หญิงสาวบนเวทีแฟชั่น ปลายทางของแสงคือที่ทางที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างในชีวิตของเราแต่ละคน
ผ่านมากี่สิบปีมันยังคงเป็นอย่างนั้น เรื่องเรียบง่ายที่อธิบายยากสำหรับบางคนบางกลุ่ม การได้ฟังเรื่องสั้นจากบทสนทนาของพี่หนึ่ง วรพจน์ ในหนังสือเล่มชวนให้ย้ำความจริงที่ว่า
เวลายังคงเดินหน้าไปไม่หยุด แต่แสงสว่างของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยถูกเบียดบังกดทับไม่ต่างจากเดิม
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
หนังสือ: เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง
นักเขียน: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
สำนักพิมพ์: สมมติ