เคียว-เบ็ด-ถัง-กะละมัง-กุบ และข้าวของอีก 10 อย่างเป็นคำอธิบายไวยากรณ์ของแม่อุ้ยติ๊บได้ดีที่สุด
เป็นครั้งที่เท่าไร ไม่ได้นับที่ฉันยืนมองฝาไม้มอซอ รุงรังไปด้วยสัมภาระ
เป็นครั้งนี้ที่กดชัตเตอร์รัวไปสองสามรูป ตั้งใจว่าจะกลับกรุงเทพฯไปวาดรูปนี้ส่งให้แม่อุ้ยซะหน่อย
เป็นอีกครั้งที่ฉันนึกถึง ฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม
วรรณกรรมแห่งฤดูกาลของความยากไร้ และการพรากจาก
“บ่ไปตางใดก๋า”
“หื้อลูกหื้อหลานมันไปเต๊อะ” แม่อุ้ยตอบไม่เต็มเสียง ชี้ไปทางฝาชีที่ครอบในขันโตก
ในรูปนามของความโดดเดี่ยวในบ้านไม้เก่า ๆ ซึ่งทุกตารางนิ้วคือจุดชั่วคราวที่ถาวรของตะปูเบอร์ 3 ที่แม่อุ้ยติ๊บโปรดปรานแม้มันจะถูกย้ายไปโน้นมานี่ บางตัวโค้งคำนับแล้วคำนับเล่าก็ยินดีที่จะรับหน้าที่แขวนสิ่งที่จะลืมไม่ได้ อย่างน้อย ๆ ก็งอบที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับลมฝนยามนี้ ฉันครุ่นคิดสมัยแม่อุ้ยฉันยังมีชีวิตอยู่แม่อุ้ยติ๊บคือเพื่อนที่ดีที่สุด แกคงทนดูความไม่สมประกอบของงอบไม่ได้คงจะหาวิธีซ่อมจนได้ แย่กว่าก็ตรงที่แม่อุ้ยติ๊บแกอยู่คนเดียวมา 10 กว่าปีนับแต่สามีแกจากไป นานทีปีหนลูกหลานถึงจะกลับมา “บ้าน”
บ้านที่ถูกควบคุมจากภายนอกโดยโลกของทุนนิยม มันแยกพื้นที่ใน “บ้าน” ออกจาก “ที่ทำงาน” เหมือนกันกับที่แม่อุ้ยติ๊บอยู่บ้านแต่ลูกหลานต้องไปทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ “บ้าน” จึงกลายเป็นพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคม โดยรูปนามของความเป็นเพศแม่เป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและดำเนินไปด้วยกฎของความรักและอาทร ขณะที่พื้นที่ในโรงงานและที่ทำงานก็เป็นพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ ดำเนินไปด้วยกฎของการแข่งขันพันผูกด้วยเงินตราอย่างแนบแน่น
แค่…มันให้ผลตอบแทนเป็นการพลัดพราก ยากไร้ ผลิตซ้ำ และแยกเราออกจาก “บ้าน” ซะจนไม่เป็นส่วนหนึ่งของความอบอุ่นในโลกแห่งทุนนิยมและการทำงานที่ไร้หัวใจ
ลำนำของคนบ้านนอกคอกนา จึงเป็นเรื่องราวที่จับต้องได้ของฟ้าบ่กั้น ที่เลือกตัวแทน “อำนาจ” ในสังคมกับผู้ถูกกดขี่ได้ถูกฝาถูกตัว
ระหว่าง หม่อมราชวงศ์กับอินถา
ระหว่าง หมอกับสามีภรรยายากไร้
ระหว่าง ปลัดอำเภอกับนาค นางงาม
ระหว่าง เศรษฐีบุญลูกสิบเมียสามกับชาวไร่ตัวคนเดียว
ในท้วงทำนองของความตลกร้ายและบาดแผลที่ซึมลึกทาบทับชีวิตคน 99% ของประเทศนี้ที่ลืมตาอ้าปากก็โอดโอย อ่อนแรง บางจังหวะก็โบยตีตัวเองในรูปนามของ “ความดี” ที่วัดกันที่แต้มบุญ อย่างในตอน ชาวไร่เบี้ย
ชายชราทำไร่ไถ่เก็บถั่วเหลือง ข้าวโพดตลอดปีตลอดชาติได้สามสิบ สี่สิบถัง เกือบพอคุ้มค่าดอกของนาย เพียงเพราะคนในครอบครัวป่วยไข้ครั้งเดียวลุงถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เงินสักบาทไม่มีติดบ้าน ซมซานไปขอกู้กับเศรษฐี 500 บาท คิดดอกเบี้ยเป็นถั่วร้อยละห้าถัง แม้ตัวเองจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเศรษฐีบุญเขากลับยกปัญหาให้เป็นเรื่องของบุญกรรมที่ทำมาตามความเชื่อที่สอนสั่ง
“ทั้งบ้านมีเท่านี้” สาธุ ชายชรายกธนบัตรขึ้นเหนือหัว แกรู้แน่แก่ใจเดี๋ยวนี้ว่าตัวเองได้ตกนรกแล้วตั้งแต่ชาตินี้ที่ทุกคำมีความหมายระหว่างบรรทัดที่บาดลึกถึงจิตวิญญาณความเป็นคน
ไม่ว่าจะยากจนข้นแค้นถึงขั้นลูกเมียต้องกินรำกินแกลบเหมือนหมูเหมือนอูฐ ในตอน “คนหมู” ฟ้าบ่กั้นก็เปิดฉากความสลดหดหู่นั้นออกมาด้วยภาษาถิ่นที่บาดลึก “โลกโว้ย เมียของกูเป็นหมู ลูกของกูเป็นอูฐ ฮ่า ๆๆๆ ”เสียงตะโกนซ้ำซาก และหัวเราะดังติดต่อกันไป และค่อย ๆ แห้งลงทุกที จนแทบหายไปกับลมหนาวเฮือกสุดท้ายที่อู้มาเมื่อค่อนรุ่ง ยามใดลูกเมียลำบาก แต่คนเป็น “พ่อ” ปฏิเสธความจริงตรงหน้าหนำซ้ำยังพยายามหนีความเจ็บปวด ผลักไสให้ลูกเมียตัวเองเป็นหมู เป็นอูฐ จะได้ไม่ต้องรู้สึกทรมานไปมากกว่านี้ เมื่อไร้ศักดิ์ศรีก็ไร้อำนาจไปด้วยก็น่าอดสูพอกัน กระดานไฟ เป็นอีกตอนที่สะท้อนความย้อนแย้งของความเป็นมนุษย์ที่วิ่งเข้าหาของบางอย่างมากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง มันเป็นความจริงว่าเราต่างเป็นผลผลิตของทุนนิยมและอำนาจนิยมที่แฝงฝังในสังคมไทย แม้ในยามที่มนุษย์สิ้นหวัง ผู้คนกลับวิ่งเข้าหาศรัทธาสิ่งของมากกว่า “คน” ทั้ง ๆ ที่ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้สร้างคนขึ้นมา แต่คนสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อจะขี่คอกันเอง” ก่อนจะหัวเราะเต็มเสียง พาให้เมียหัวเราะโง่ตามบ้าง นี่แหละชีวิตคนธรรมดา ๆ ที่เลวร้ายพอกัน รายละเอียดต่างกันเล็กน้อยแค่ไวยากรณ์ของคนธรรมดามีค่าแค่สองร้อย หรือศักดิ์ศรีมีค่าเท่าแมงขี้ควายและอาหารหมูเท่านั้นเองหรือ
บ้างก็โดดเดี่ยว แยกห่างอย่างแม่อุ้ย หลายชีวิตจึงมีราคาของความเป็นคนที่ต้องแลกกับลูกเมียหรืออาหารคนครบสามมื้อ อย่างน้อยก็ผ่านชั่วโมงนี้ไปให้รอดก่อน “น้าหาข้าวแกงราคาไม่เกิน 25 มันหายากไปทุกวัน ๆ แล้วนะ” คำยืนยันของน้าสมคิด คนไร้บ้านที่รับสภาพชีวิตที่แสนแพงในเมืองศิวิไลซ์ เชื่อไหมว่าขนาดคนไร้บ้านไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการข้าวฟรี! แต่ต้องการมีศักดิ์ศรียืนด้วยลำแข้งของตัวเอ ฉันเลยไม่แปลกใจที่ไทยมุงทุกทีที่ใกล้ “วันหวยออก” เพราะชีวิตมันต้องฟลุ๊คเท่านั้น! ถึงจะได้สิ่งที่หลงใหลใฝ่ฝันหรืออย่างน้อยก็ได้สิ่งที่ต้องแลกมาสักอย่าง
ก็ฉันแล้วหนึ่ง “รับโอนมั้ยคะ” ฉันกดเลขตามโดยไม่ขัดเขิน
“ธกส.แม่นบ่” แม่ค้าถามย้ำ “พี่มีอยู่บัญชีเดียว”
หน้านาก็ทำนาที่นาด้วง จ.เลย นาล่ม ข้าวเปลือกถูกก็มาขายหวยในเมืองกรุงหอบผ้าหอบผ่อนมาอยู่เป็นเดือน ๆ
“แล้วยังค้างหนี้ธกส.อยู่มั้ย” ฉันนึกสงสัย
“รอพักชำระหนี้ลูกเดียว” พูดไม่เต็มเสียง
“ชีวิตต้องสู้ แต่โดนสู้กลับเหมือนกัน” แวบแรกฉันคิดว่า เธอขายฝันให้ฉันในราคาหลักร้อย
แต่ลำพังตัวเธอเองไม่มีวี่แววว่าจะปลดหนี้ได้ในรุ่นพ่อรุ่นแม่
รวยวันนี้…ล้วนมายา ข้าวปลาและหนี้สิของจริง
หนังสือ: ฟ้าบ่กั้น
นักเขียน: ลาว คำหอม
สำนักพิมพ์: สมมติ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี