สวมVR รักษาความป่วยไข้ในโลกอนาคตผ่านเลนส์ Metaverse ของ 'หมอเจษฎ์' - Decode
Reading Time: 3 minutes

Metaverse ถือเป็นก้าวสำคัญของหลายวงการ เช่น ศิลปะ อสังหาริมทรัพย์และรวมถึงการแพทย์ด้วย เราเคยเห็นการรักษาด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ สู่อิทธิพลของ Metaverse ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า Metaverse จะสร้างการพัฒนาให้กับวงการแพทย์ได้อย่างไร

De/code พูดคุยกับ นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ถึงประเด็นอนาคตของวงการแพทย์จาก Metaverse เราเห็นการพัฒนาอะไรบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย

บทบาทของแพทย์จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง หาก Metaverse เข้ามามีบทบาท?

ตอนนี้เราพยายามทำนโยบายเรื่อง Health Station ให้ทุกสถานที่สามารถวัดความดัน วัดอุณหภูมิ วัดการเต้นของหัวใจ แล้วก็วัดข้อมูลต่าง ๆ ออกซิเจนในเลือดได้ เพื่อที่ให้รู้ว่าคนนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

ถ้าเราลองจับอะไรหลาย ๆ อย่างใน Metaverse มารวมกัน เช่น ผมทำ Metaverse ของคนในอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีเซนเตอร์อยู่ตรงนี้ แล้วทุกคนสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่กับตัวเอง แล้วข้อมูลทั้งหมดมันเข้ามาเป็น Data Center ทำให้เกิดการวิเคราะห์ว่า คนนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคตหรือเปล่า ถ้าตรงนี้สามารถจัดการได้ ก็จะช่วยในการเก็บข้อมูลทำให้ลดความเจ็บป่วยในอนาคต

แล้วตอนนี้ได้มีการวางแผนกันบ้างหรือยัง?

เรากำลังวางแผน Data Center ในเรื่องของการทำ Health Station โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมี Smart Watch ถ้าทุกคนต้องมีผมถือว่าล้มเหลวแล้ว สมมุติเรามีประชากรที่เราดูแลประมาณ 6 หมื่นคนของโรงพยาบาลมหาราช เราจะทำยังไงให้เขาสามารถวัดความดันได้สามเดือนครั้ง วัดอุณหภูมิออกซิเจน ดูการเต้นของหัวใจว่าผิดจังหวะไหม แล้วโยนข้อมูลทุกอย่างมาที่ Data Center วิเคราะห์ว่าคนนี้ผิดปกติหรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้คนนี้เกิดโรคในอนาคต

โดยการที่เราจะเอาข้อมูลของคนไข้เข้ามาในระบบแล้วเชื่อมต่อข้อมูลกัน เพื่อให้เกิด Smart Health ซึ่งจริง ๆ เรากำลังจะทำกับกลุ่มที่เรียกว่า Valaverse เราสามารถสร้างอาคารของโรงพยาบาล (เสมือนจริง) เข้ามาแล้วก็มาคุยกันได้

ตอนนี้ Metaverse ช่วยให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในการที่จะผ่าตัดได้ดีขึ้น เช่น ทางทีม มทส. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) เขาทำระบบที่เป็นการจำลองผ่าคลอดลูกด้วยระบบ 3D ผ่านแว่น VR ตอนนี้ยังคงเห็นแค่ในมุมมองการศึกษาของแพทย์”

โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่เริ่มใช้ Metaverse มาเป็นตัวพัฒนาเทคโนโลยีในวงการแพทย์ เช่น

ด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการบำบัดความกลัว Prolonged Exposure Therapy เพื่อให้ได้เผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเอง เช่น การเผชิญกับการกลัวความสูง หรือการกลัวสัตว์ต่าง ๆ ผ่านทางโลกเสมือนจริงเพื่อรักษาอาการวิตกกังวล ด้วยการให้คนไข้สวมแว่นตา VR ให้อยู่กับสถานการณ์จำลองในโลกเสมือน โดยมีนักบำบัดคอยควบคุมดูแลอยู่

ด้านการศึกษาทางการแพทย์ เทคโนโลยีของ Oculus ถูกนำมาใช้ที่ UConn Health ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัตในฟาร์มิงตัน รัฐคอนเนตทิคัต เพื่อฝึกอบรมผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ นักการศึกษาได้ร่วมมือกับ PrecisionOS ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ของแคนาดาที่ให้บริการการฝึกอบรม VR และศึกษาด้านศัลยกรรมกระดูก เมื่อสวมชุดหูฟัง Oculus Quest ผู้อยู่สวมสามารถเห็นภาพสามมิติในการดำเนินการตามขั้นตอนการผ่าตัดต่าง ๆ เช่น การปักหมุดที่กระดูกหัก เนื่องจากขั้นตอนดำเนินการแบบเสมือนจริง ระบบจะช่วยให้นักเรียนสามารถรู้ข้อผิดพลาด และรับข้อเสนอแนะจากคณาจารย์เพื่อนำไปใช้ในการรักษาร่างกายคนจริง ๆ

จำลองการรักษาในโลกเสมือน

ตอนนี้สิ่งที่เราเจอในคนไข้มะเร็งเต้านมช่วงโควิด คนไข้ไม่อยากเดินทางมาที่โรงพยาบาล เราจะทำยังไงให้มันเป็นการสื่อสารรับส่งข้อมูลทางไกล เช่น ผมอยู่โรงพยาบาลมหาราชที่อยู่บน Metaverse คนไข้ต้องการรับยาหรือคนไข้ต้องการปรึกษาแพทย์เดิมต่อเนื่อง คนไข้เข้ามาใน Metaverse คุยกับแพทย์ ผมเองก็ยังเชื่อว่าประชาชนจะชอบแบบนี้มากกว่าด้วยซ้ำ หากโรคที่เขาเป็นมั่นคงอยู่แล้ว แค่ต้องรับยาต่อเนื่องไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แล้วทุกคนสามารถตรวจเองที่บ้านได้หมด เหมือนเรานั่งวิดีโอคอลกัน คุณเจาะเลือดแล้วส่งมาทาง lab แล้วสามารถเข้าไปดูได้ถ้าทุกอย่างเชื่อมกันได้

ตอนนี้ไปโรงพยาบาลรัฐบาล คุยกับหมอยังไม่ได้อ้าปากเลย คุยไม่ถึงนาทีรอกันมาเกือบวัน ผมว่ามันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการเข้าถึงการรักษา

หากคนอยู่ในจังหวัดห่างไกล ที่ต้องใช้เวลาเข้าตัวอำเภอเมือง 3-4 ชั่วโมง และมีความอันตรายในการเดินทาง หากคนไข้ต้องผ่าตัด แล้วได้พูดคุยกับหมอมาก่อน ได้รับการตรวจค่าในร่างกายต่าง ๆ หลังจากนั้นก็แค่มาเข้ารับการผ่าตัดจากเดิมที่ต้องไปหลายวัน ก็อาจเหลือเพียงวันเดียว ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น และลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐ

Metaverse ในประเทศไทยไปถึงไหนแล้ว

ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ตอนนี้มีแค่เพิ่มทักษะในการผ่าตัดของแพทย์ เราอาจเคยได้ยินว่าอาจารย์ใหญ่ที่ต้องผ่าตอนเราเป็นนักเรียนแพทย์ ซึ่งตรงนี้มันยังอยู่ในโลกของความเป็นจริงอยู่ มีข้อดีคือได้ฝึกกับคนจริง แต่ว่าข้อเสียคือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

อย่างที่หมอเจษฎ์ได้กล่าวข้างต้น โดยผู้เขียนจะยกตัวอย่างเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำ Metaverse มาปรับใช้เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีการจัดทำ VR จำลองสถานการณ์การคลอดในห้องคลอด ในงานเปิดตัว Velaverse เพื่อให้แพทย์ได้เรียนรู้วิธีการคลอดก่อนที่จะปฏิบัติจริง และสามารถวางแผนก่อนการปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากการคลอด นอกจากนี้ยังไม่ใช่แค่เพียงเคสปกติ แต่ยังรวมถึงเคสที่คลอดยากด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้แพทย์ได้ทดลองคลอด และสามารถวางแผนการคลอดก่อนคลอดจริงได้ เพื่อลดความผิดพลาดจากการคลอด

ข้อเสียจากการรักษาด้วย Metaverse

คงจะต้องระวังเรื่องของการยืนยันตัวตนให้ดี เพราะใน Metaverse ไม่ต้องระบุตัวตนว่าเราเป็นใคร เพราะฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าในเรื่องของการแพทย์กับ Metaverse จะต้องหาจุดที่มันเชื่อมกันลงตัว

โดยการยืนยันความน่าเชื่อถือต้องยืนยันทั้งสองฝ่าย สมมุติผมคุยกันสามคน ผมจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่ผมคุยด้วย เขาคือใคร แล้วปัญหาที่เขามีจริงหรือเปล่า ปัญหาก็คือ Metaverse กำลังจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้หรือเปล่า เพราะถ้าคุยแล้วมันเกิดการแลกข้อมูลกันจริง อาจจะด้วยระบบบล็อกเชน หรือระบบอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยได้ ทำให้การคุยกันเป็นเรื่องจริง ซึ่งผมไม่แน่ใจจะขัดกับ Metaverse ในช่วงแรกหรือเปล่า ที่เราจะเป็นใครก็ได้

Smart Hospital ของไทยในยุค Metaverse

จริง ๆ กระทรวงสาธารณสุข ชอบคำว่า Smart Hospital มากในการพรีเซนต์อะไรให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่าย โรงพยาบาลรัฐบาลมีเยอะมากทั่วประเทศไทย ถ้าเราปรับให้ประชาชนเข้าถึงได้ อยากเห็นกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวง DE ร่วมกันทำนวัตกรรม เช่น หมอพร้อม เราได้ยินมาตั้งแต่จองวัคซีนยากจนกระทั่งแอปพลิเคชันหมอพร้อม ที่กำลังจะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศไทยในเรื่องของสุขภาพ ข้อดีที่ผ่านมาในช่วงของโควิด มันทำให้กระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อมูลเรื่องสุขภาพของประชาชนค่อนข้างเยอะ ทีนี้จะเอาไปต่อยอดยังไง อันนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างที่หมอเจษฎ์ได้กล่าวมาข้างต้นที่กระทรวงสาธารณสุขมักพูดเกี่ยวกับเรื่อง Smart Hospital อยู่บ่อยครั้ง เช่น กระทรวงสาธารณสุขกับธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันพัฒนา “MOPH Connect” พัฒนาในรูปแบบของ Chatbot ที่เป็น Line Official Account โดยมีทั้งหมด 6 ฟังก์ชัน ได้แก่

1.จองคิวล่วงหน้าก่อนไปโรงพยาบาล

2.โทรฉุกเฉิน 1669 และส่งพิกัดแจ้งเหตุ 

3.ค้นหาที่ตั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิก หรือร้านขายยา 

4. ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลด้วยตัวเอง 

5. บริจาคเงินให้โรงพยาบาลต่าง ๆ

6. ความรู้เรื่องยาและความรู้สุขภาพ 

ฟังก์ชันข้างต้นมีความน่าสนใจอย่างมาก ทำให้ตัวผู้เขียนเองสนใจอยากลองใช้ แต่พอกด @MOPH Connect ในแอปพลิเคชัน Line กลับขึ้นเป็น @หมอพร้อม ซึ่งฟังก์ชันในนั้นกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ฟังก์ชันที่กล่าวมาไม่มีอยู่ใน @MOPH Connect แม้แต่นิดเดียว

สิ่งนี้แสดงถึงความไม่รอดถึงฝั่งฝันเรื่อง Smart Hospital ของกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่แม้จะมีโครงการดี ๆ แต่กลับปล่อยให้หายไปหรือถูกแทนที่ด้วยสิ่งอื่น อีกทั้งเราจะเห็นประเทศไทยมีโครงการที่เกี่ยวกับ Smart Hospital มากมายนับไม่ถ้วน ทั้งหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานประจำจังหวัด หรือเอกชนเองก็ตาม

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครที่ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ซึ่งหากเราเปรียบเทียบฟังก์ชันของทั้งสองแอปพลิเคชัน มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก แม้สเกลผู้ใช้อาจจะต่างกัน แต่หากรวมให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าหรือเปล่า เช่น ถ้าโรงพยาบาลไม่ว่าจะที่ไหน สามารถรู้ข้อมูลของคนไข้คนนั้นแบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องคอยทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน

และเมื่อพูดถึงการพัฒนาที่มี Metaverse เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ทำให้ผู้เขียนนึกภาพไม่ออกเลยว่า กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เวลามากแค่ไหน ถึงจะสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การแพทย์ใน Metaverse” ให้เกิดขึ้นจริงได้ในประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลจาก: การขับเคลื่อนวงการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี Metaverse