'นิวอ่าวกุ้ง' ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจเสาพระภูมิ เมื่อการพัฒนาไม่จำเป็นต้องอยู่ขั้วตรงข้ามกับการอนุรักษ์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หาดเลน ปะการังเขากวาง กัลปังหาแดง และประมงพื้นบ้าน คือคำนิยามแบบสั้นเพื่อให้เห็นภาพรวม ของอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ย้อนกลับไปเมื่อราว พ.ศ. 2562 ภาพข่าวปะการังเขากวางที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง กำลังจะถูกทำลาย แต่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว กระแสข่าวของการอนุรักษ์นี้กลับเงียบหายไป ทว่า การดำเนินการก่อสร้าง ‘อ่าวกุ้งมารีน่า’ ที่ชาวบ้านและนักวิชาการยังกังวลว่า การก่อสร้างท่าเรือยอร์ชในครั้งนี้ จะทำลายระบบนิเวศและธรรมชาติของอ่าวกุ้ง ยังดำเนินต่อไปอย่างเงียบ ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ภายใต้ตัวละครที่หลากหลายและคิดต่างกัน ทั้งชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการสร้างขุดลอกร่องน้ำเพื่อสร้างมารีน่า และชาวบ้านที่กังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา กรมเจ้าท่าและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่มีบทบาทในฐานะผู้เล่น รวมถึงนักวิชาการที่มาร่วมหาทางออกให้กับชุมชน

เหตุใด เมื่อเกิดโครงการพัฒนาในพื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้ การพัฒนาถึงสวนทางกับการอนุรักษ์เสมอ

De/code ลงพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านทั้ง 2 กลุ่ม และร่วมเข้าฟังและพูดคุยกับนักวิชาการในวงเสวนา ”อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” การพัฒนาที่จะเกิดในพื้นที่อ่าวกุ้งควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ใครคือคนที่ควรนิยามการพัฒนาอ่าวกุ้ง และพื้นที่อ่าวกุ้งมีความสำคัญอย่างไร ในวันที่การพัฒนาไม่จำเป็นต้องสวนทางกับการอนุรักษ์

เมื่อเกิดร่องน้ำ(ทิพย์)

“ปัญหาก็คือ มันมีการพยายามจะทำให้ร่องน้ำตรงนี้มีอยู่จริง” เสียงบอกเล่าจาก พิเชษฐ์ ปานดำ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์อ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต กำลังชี้การมีอยู่ของร่องน้ำ ซึ่งเป็นทั้งจุดกำเนิดและบทสรุป ของความขัดแย้งของการพัฒนาและการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้น บนอ่าวกุ้ง

ความสำคัญของการขุดลอกร่องน้ำ ที่ต้องการจะให้เป็นร่องน้ำที่มีอยู่แต่เดิม เพราะการขุดลอกร่องน้ำในจังหวัดภูเก็ตจำเป็นที่จะต้องเป็นร่องน้ำ ‘เก่า’ เท่านั้น ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการต่อสู้ของการให้คำนิยามร่องน้ำ เพื่อที่จะขุดลอกร่องน้ำได้กว้างขึ้น ทั้งเพื่อการสร้างมารีน่าและการใช้ประโยชน์อื่น ๆ หากร่องน้ำที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกกำหนดให้เป็นร่องน้ำเดิม ปัญหาของการนิยามนี้ จะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานไปทั่วประเทศ เหมือนกับเขื่อนทะเลที่เราพบเห็นกันทั่วประเทศ ที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่มานักต่อนัก

ในมุมมองของกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างมารีน่าอ่าวกุ้ง หรือที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มอนุรักษ์อ่าวกุ้งฯ การขุดลอกร่องน้ำเพื่อสร้างมารีน่า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่ถูกทำลายและพื้นที่ทำมาหากินของอาชีพประมงพื้นบ้าน

พื้นที่อ่าวกุ้ง ใน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต อยู่เชื่อมต่อระหว่างช่องแคบมะละกา และช่องแคบอันดามัน ในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ อ่าวกุ้งมีพื้นที่ทุ่งปะการังเขากวางบนเกาะเฮ และกัลปังหาแดงกระจายตัวอยู่โดยรอบ รวมแล้วเป็นพื้นที่กว่า 547 ไร่

นอกจากนี้ พื้นที่ในบริเวณอ่าวกุ้ง ยังล้อมรอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ทั้ง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต ซึ่งมีระบบนิเวศป่าดิบชื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์

ในแง่ของเชิงชีววิทยา อ่าวกุ้งมีพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ ด้านหน้าเป็นหาดเลนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือที่เราจะคุ้นอีกชื่อของป่าชายเลนว่าเป็นอนุบาลสัตว์น้ำ การมีอยู่ของป่าชายเลน เป็นจุดถ่วงดุลของระบบนิเวศในอ่าวกุ้ง ที่นอกจากจะเป็นที่กำเนิดสัตว์น้ำเล็ก สัตว์น้ำเหล่านี้ยังเป็นอาหารให้กับสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด ทั้งปูม้า ปลา หมึกสาย(หมึกโวยวาย) และอื่น ๆ ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจของชาวประมงในพื้นที่ พื้นที่หาดเลนจึงเป็นเหมือนส่วนต้นของห่วงโซ่อาหารทั่วทั้งอ่าวกุ้ง

“คือการพัฒนามันต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน การพัฒนาที่หวังว่าจะให้เม็ดเงินเข้ามาอย่างเดียว แต่ธรรมชาติที่หายไป มันก็ส่งผลกระทบต่อคนทั้งเกาะเหมือนกัน ไม่ได้แค่สร้างความเสียหายกับพวกผมอย่างเดียว” ประดิษฐ์ พุมเกษ หัวหน้ากล่มอนุรักษ์อ่าวกุ้งฯ ให้ความคิดเห็นของการพัฒนาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างที่นั่งเรือเพื่อดูสภาพแวดล้อมโดยรวมของอ่าวกุ้ง

ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการขุดลอกร่องน้ำและการก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า ในมุมมองของประดิษฐ์ คือการที่ธรรมชาติแถบนั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากตะกอนดิน ฝุ่น ที่คลุ้งหนัก หากมีการก่อสร้างมารีน่า

คุณลองคิดดูสิว่า ขนาดฝุ่น pm 2.5 เรายังหายใจกันลำบากเลย สัตว์น้ำในทะเล ทั้งปู ปลา ปะการัง ต่าง ๆ มันปรับตัวกันไม่ไหวหรอก

ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงที่ทำกินในบริเวณนี้ ที่จะไม่มีสัตว์ทะเลให้จับ

ประดิษฐ์ ยังกล่าวถึงปัญหาที่จะเกิดกับชาวประมงตัวเล็ก ที่จะส่งผลต่อภาพใหญ่ในภูเก็ต คือการที่บริเวณอ่าวกุ้ง ก็เป็นอีกจุดที่โรงแรมต่าง ๆ มารับซื้อวัตถุดิบไป หากสูญเสียพื้นที่บริเวณอ่าวกุ้งไป ผลกระทบในครั้งนี้ จะสะเทือนไปทั้งภูเก็ตอย่างแน่นอน

การขุดลอกร่องน้ำที่ความยาว 1,200 เมตร ร่องน้ำลึก 2 เมตร ด้านนอกกว้าง 30 เมตร ด้านในที่ติดชายฝั่งกว้าง 15 เมตร ชาวบ้านหลายคนให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากทางเจ้าท่าต้องการจะขุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านเป็นหลักล่ะก็ ความกว้างและความยาวขนาดนี้คงจะไม่ใช่เพื่อสำหรับ เรือหางยาวหรือเรือประมงที่ชาวบ้านใช้ออกไปจับปลาในทุกวัน

นอกจากนี้ ชาวบ้านพร้อมนักวิชาการ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อดูสภาพแวดล้อมโดยตรงในบริเวณที่จะมีการขุดลอกร่องน้ำ โดยอ้างว่าเป็นร่องน้ำเก่า ยังพบว่ามีสร้างพื้นที่ให้เป็นร่องน้ำ ทั้งการตัดไม้ชายเลนในแถบนั้น ซึ่งมีอายุหลัก 50 ปีขึ้นไป รวมถึงพบคราบดำจากการป้ายยา ที่จะทำให้ต้นไม้เหล่านี้ตายลง

ชุดข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อ่าวกุ้งฯ ได้รับการร่วมมือจากนักวิชาการจากภาคีหลายมหาวิทยาลัยในภาคใต้เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นต้น ยิ่งทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดถึงการพัฒนา ที่ข้อมูลทางวิชาการยังค้านว่า การพัฒนาในครั้งนี้ อาจจะเกิดข้อเสียมากกว่าข้อดี ทั้งเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศและธรรมชาติโดยรอบและที่ทางทำกินของชาวบ้าน

การตั้งคำถามต่อ โครงการขุดลอกร่องน้ำโดยกรมเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ตนั้น ยิ่งชัดเจนและซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อเกิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดชาวบ้าน ชาวประมง รวมถึงประชาชนในพื้นที่กว่า 180 ชีวิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลป่าคลอก ถึงแนวทางในการขุดลอกร่องน้ำและเสนอมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา

เมื่อเสียงของการพัฒนากำลังถูกช่วงชิงกันไปมาโดย ประชากรส่วนใหญ่ จากประชาชนในพื้นที่ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป การพัฒนาแบบไหนที่จะเหมาะสมต่ออ่าวกุ้งในอนาคตกันแน่

แลกไป แลกมา อ่าวกุ้งได้อะไร?

ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำในครั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มนี้เห็นว่าการขุดลอกร่องน้ำ จะเป็นประโยชน์กับชุมชนมากกว่า เนื่องจากทางเข้าออกที่เรือประมงใช้กันในทุกวันนี้ เป็นเขตน้ำตื้น ทำให้การออกไปสู่ทะเลไม่สะดวกนัก เมื่อเวลาน้ำลดจะต้องลงไปไกล ถึงจะออกเรือได้ การขุดลอกร่องน้ำในบริเวณ ’ท่าเล’ จะทำให้ย่นระยะเวลาในการเข้าออกทะเล ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

เฉด พันธุ์ทิพย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านอ่าวกุ้ง ในฐานะผู้นำของฝั่งที่เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำในครั้งนี้ กล่าวว่า มีชาวบ้านอีก 200 กว่าคน สนับสนุนให้ขุดลอกร่องน้ำแห่งนี้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นความต้องการของคนเพียงไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ผู้ใหญ่บ้านเฉด เล่าให้ฟังต่อว่า ตนก็เลยไปทำเรื่องต่อเทศบาล เพื่อที่ทำโครงการขุดลอกร่องน้ำนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากทางเข้าออกเรือนี้ได้ 24 ชั่วโมง

ถึงแม้ว่าที่ดินที่จะทำการขุดลอกร่องน้ำนั้นจะเป็นที่ดินของเอกชนทั้งหมด ทว่า ยังมีที่ดินตอนบนที่ติดกับชายฝั่งบางส่วนที่เป็นที่ดินของชาวบ้าน “ท่าเรือนี้(ท่าเล) เป็นท่าเรือที่ใช้มาแต่โบราณ ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า” ข้อมูลที่ผู้ใหญ่บ้านให้มาเพิ่มเติม คือท่าเล เป็นจุดที่กำลังจะทำการขุดลอกร่องน้ำ และท่าคลอง คือจุดที่ชาวบ้านใช้จอดเรือกันอยู่ในปัจจุบัน

ภายใต้ความกังวลของหลายฝ่าย ถ้าหากขุดลอกร่องน้ำตรงนี้สำเร็จ ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้จริงหรือไม่ ผู้ใหญ่บ้านเฉดให้ข้อมูลว่า “ถ้าหากเขาขุดเสร็จแล้ว เขาก็สามารถบริจาคที่หรืออุทิศที่ดิน เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ ชาวบ้านจะได้ใช้ด้วย” การอุทิศที่ดินคือการที่เจ้าของที่ดินหรือพื้นที่เหล่านั้น ทำการบริจาคพื้นที่บางส่วน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ กล่าวคือ คนอื่น ๆ ก็สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเฉดให้การยืนยันว่า มีการไปคุยกับทางเอกชนเพื่อที่จะขอใช้พื้นที่ร่วมด้วยแล้ว

การพัฒนา บางทีมันจำเป็นต้องมีการสูญเสียบ้าง

กิตติชัย มาเห็ม หนึ่งในชาวบ้านอ่าวกุ้ง ถึงแม้ว่ากิตติจะไม่ได้เป็นชาวบ้านอ่าวกุ้งโดยกำเนิดและพึ่งมาแต่งงานกับคนในชุมชน จนเป็นเขยที่อ่าวกุ้ง สิ่งที่กิตติชัยมอง นอกเหนือจากความสะดวกสบายที่ชาวบ้านฝั่งที่เห็นด้วยจะได้ใช้ คือโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นกว่าเดิม หากมีการขุดลอกร่องน้ำและมีการสร้างมารีน่าอ่าวกุ้ง

กิตติชัย กล่าวว่า การสร้างร่องน้ำนี้จะทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นชาวประมง มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเมืองเพื่อหางานทำในด้านบริการเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของคนภูเก็ต การมีมารีน่า จะทำให้ชาวบ้านสามารถทำงานได้ใกล้บ้านขึ้น โดยกิตติชัยมองว่า นอกเหนือจากการที่ชาวบ้านจะได้ไปทำงานที่มารีน่าแล้ว พื้นที่ตรงนั้นก็จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอีกทีหนึ่งด้วยเช่นกัน

สิ่งที่กิตติชัยเสนอ คือการทำให้พื้นที่อ่าวกุ้ง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อที่ให้บริเวณอ่าวกุ้ง มีมูลค่ามากกว่าที่เป็น ชาวบ้านกว่าครึ่งที่เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำ และการสร้างมารีน่า ก็จะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้เช่นกัน กิตติยังเชื่อว่า การอนุรักษ์พื้นที่อ่าวกุ้ง จะทำให้มีแค่เพียงกลุ่มคนที่คัดค้านการขุดลอกร่องน้ำและสร้างมารีน่า ได้ประโยชน์ไปเพียงกลุ่มเดียว

ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องแลกมากับการพัฒนาในรูปแบบนี้ ตามที่กิตติชัยได้กล่าวมา ก็อาจจะต้องแลกมาด้วย อาชีพดั้งเดิมของชุมชน สภาพแวดล้อม รวมถึงธรรมชาติต่าง ๆ ในอ่าวกุ้ง เป็นรูปแบบของการพัฒนาที่จะต้องให้ชุมชนก้าวไปข้างหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางสังคมที่มีการพลวัตอยู่ตลอดเวลา แล้วพื้นที่บริเวณอ่าวกุ้ง เหมาะสมกับการที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน ในวันที่โควิดได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนแบบพลิกฝ่ามือ ภูเก็ตในยุคโควิดและหลังจากนี้ ควรจะเก็บรักษาและจัดการ ‘อัญมณีแห่งท้องทะเล’ ชิ้นนี้อย่างไรในอนาคต

เพราะการพัฒนาไม่ได้มีนิยามเดียว

ความกังวลใจต่อการขุดลอกร่องน้ำที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในอ่าวกุ้ง ยิ่งเป็นที่น่ากังวลใจ เมื่ออ่าวกุ้งไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่อ่าวกุ้ง ยังล้อมมีพื้นที่ติดกับอ่าวพังงาและทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยทั้งสิ้น

ฉะนั้นแล้วการพิจารณาความเสียหายรอบด้านที่จะเกิดขึ้นกับที่อ่าวกุ้ง นอกจากจะต้องคิดมิติของความเสียหายทั้งผู้คน พื้นที่ ธรรมชาติ และสัตว์ต่าง ๆ ในบริเวณแล้ว ยังต้องคำนวณถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ใกล้เคียงต่าง ๆ ด้วย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ตัวแทนคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (พื้นที่ร่วมป่าคลอก) ตลอดจน บุคลากร ประชาชนในพื้นที่อ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการ “อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อที่จะแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ต่าง ๆ จากภาคีที่เกี่ยวข้องรวบรวมไว้

De/code ได้หยิบยกเนื้อหาบางช่วง เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัญมณีแห่งท้องทะเลชิ้นนี้ เราควรเก็บรักษาและพัฒนามันอย่างไร

อาจารย์ไม่เชื่อในการเปลี่ยน แต่เชื่อในเรื่องของการปรับมากกว่า

อาจารย์สายสนิท พงศ์สุวรรณ  คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวระหว่างสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนวันงานเสวนาฯ

การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตนั้น อาจารย์สายสนิทมีความเชื่อว่า จากเดิมที่เน้นเศรษฐกิจในเชิงท่องเที่ยว เม็ดเงินที่เข้ามาสู่ในเกาะเกิดจากการใช้สอยของนักท่องเที่ยว

อาจารย์นิยามว่า รูปแบบเศรษฐกิจแบบนี้ เป็นรูปแบบเศรษฐกิจแบบเสาพระภูมิ คือเศรษฐกิจที่พึ่งรายได้ในรูปแบบเดียว ยิ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า ภูเก็ต จะต้องปรับเปลี่ยนจากรูปแบบของเศรษฐกิจแบบเสาพระภูมิหรือเศรษฐกิจขาเดียวนี้ให้มีความหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวชุมชน การประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมสินค้าประจำจังหวัด อาทิ เคย เป็นต้น  เพื่อที่จะพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ให้มากขึ้น

“การปรับเปลี่ยนหรือการพัฒนาที่ว่าในครั้งนี้ ใช่ว่าภูเก็ตจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ว่าการสร้างเศรษฐกิจในจังหวัด ทำอย่างไรให้มันมีความมั่นคงมากขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยวให้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ตรงนี้คือโจทย์ของภูเก็ตมากกว่า” อาจารย์สายสนิท กล่าว

อาจารย์สายสนิทยังกล่าวเสริมว่า ยิ่งในช่วงโควิด ภูเก็ตมีภูมิคุ้มกันที่ดีอย่างหนึ่งคือ ผู้คนหันหน้าเข้าสู่ทะเลกันมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ในภูเก็ต ยิ่งชัดเจนว่า หากเรายังไม่รักษาพื้นที่อ่าวกุ้ง ที่เคยเป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวภูเก็ตที่หลังพิงฝามาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากนี้เราจะเหลือทางเลือกลดน้อยลงไปอีก

การพิจารณาอย่างรอบด้านที่การพัฒนาในอ่าวกุ้งจะต้องใส่ลงใปในสูตรการคำนวณนี้ด้วย คือแนวคิดของระบบนิเวศบริการ (Ecological service) ดร.อาภา หวังเกียรติ รองคณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอไว้ในงานเสวนา

เมื่อเราจะมองผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่าวกุ้งแล้ว นอกจากปัญหาจากสิ่งที่สายตาเราสามารถมองเห็นได้ชัดเจน อย่าง บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) ผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำหรือการก่อสร้างมารีน่าจะทำให้ระบบนิเวศของอ่าวกุ้งเสียหาย ทั้งปะการังเขากวางและกัลปังหาแดงที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อีกทั้งสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรือบริการด้านการสนับสนุน(Supporting services) ที่การพัฒนาครั้งนี้อาจจะทำลายระบบห่วงโซ่อาหารของอ่าวกุ้งก็เป็นได้

อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงด้านอื่น ๆ ที่เรา(มักจะ)มองไม่เห็นอีกด้วย เช่น บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural services) ผลกระทบจากความเสียหายต่อธรรมชาติ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้าน ในการที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน จากเดิมที่พื้นที่ทำกินอยู่ใกล้บ้าน ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำประมง 

ซ้ำร้ายปัญหานี้ยังไม่จบลงที่ชาวประมงที่อ่าวกุ้งเท่านั้น จังหวัดภูเก็ตอาจจะสูญเสียพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารในทะเล โรงแรมหรือการท่องเที่ยวต่าง ๆ อาจจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น นักท่องเที่ยวก็ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเช่นกัน รวมถึงการท่องเที่ยวและพื้นที่อื่น ๆ ที่ใกล้เคียงอย่าง อ่าวพังงา ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

เพราะฉะนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้น หากอ่าวกุ้งหายไป มันจะไม่จบแค่ในบริเวณนี้อย่างแน่นอน ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาของชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่คนภูเก็ตต้องตระหนักถึง หรืออาจจะต้องคนทั้งประเทศเลยด้วยซ้ำ

ก่อนเข้าร่วมงานเสวนา สื่อมวลชน ได้ร่วมพูดคุยกับ ผศ.ดร. ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร. ดวงรัตน์ กล่าวถึงความสำคัญที่มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญในการร่วมมือกับชุมชนหรือภาคประชาสังคม ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตความรู้ ท่ามกลางพื้นที่ความขัดแย้งที่ว่าด้วยการพัฒนา ไม่เพียงแต่ในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก็ควรจะมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือกับภาคประชาชน เช่นเดียวกับงานเสวนาวิชาการแบบนี้ที่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาพื้นที่ของตนด้วยเช่นกัน

ข้อพิพาทของอ่าวกุ้งนั้น จะจบลงเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ ภายใต้ทางออกที่เหมาะสมกับอ่าวกุ้ง ควรจะเป็นการสร้างมารีน่า เศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยว หรือการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งสำคัญ คือการที่พื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้ ต้องได้รับการพิจารณาในการพัฒนา อย่างรอบด้านและเป็นธรรม 

การพัฒนาที่แต่ละฝ่าย ต่างแสดงความคิดเห็น การอนุรักษ์ที่ดูเหมือนจะอยู่คนละฝั่งมุม แท้จริงแล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะการพัฒนาก็ควรจะรักษาพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเช่นกัน ในขณะเดียวกันการอนุรักษ์อาจจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบหนึ่งก็ได้

หรือจริง ๆ มันเป็นการพัฒนาทั้งคู่ เพียงแต่มันควรมีหลายทางเลือกให้คนภูเก็ต ที่ยั่งยืนกว่าการพัฒนาแบบเดิม ๆ แต่ใช้ศักยภาพของฐานทรัพยากรเป็นตัวหนุน เป็นการปรับตัวของคนภูเก็ตและตัวอย่างแก่ทั่วประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสังคมโลก

อย่ารอให้ธรรมชาติที่เราเห็นจนชินชา กลายเป็นสิ่งแปลกตา ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่ง ปะการัง’เขากวาง’ อาจจะเหลือแค่ภาพถ่าย ให้เราได้รับรู้ความสวยงามไม่ต่างจาก ‘เขาสมัน’

ทั้งที่วันนี้ เราสามารถรักษาธรรมชาติเหล่านี้ไว้ได้ ตอนมันยังไม่สูญพันธุ์