การเรียนรู้ไม่เท่ากับการศึกษา บทสนทนาที่เริ่มจากนิยามการศึกษากับ 'ธีรภัทร รื่นศิริ' - Decode
Reading Time: 2 minutes

หากพูดถึงปัญหาของสังคมไทย หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดคือเรื่องของการศึกษา แม้จะมีการพยายามแก้ไขปัญหามาหลายต่อหลายครั้ง แต่ดูไม่เป็นที่พอใจของสังคม

ปัญหาการศึกษามีประเด็นยิบย่อยนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เรื่องบุคลากร การจัดการเวลา ไปจนถึงกระบวนการคิดซึ่งมีผู้ชี้ประเด็นจำนวนมาก ธีรภัทร รื่นศิริ คือหนึ่งในบรรดาผู้ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว

ธีรภัทรเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจในประเด็นปรัชญาการศึกษา หลายครั้งเขาเขียนโพสต์ลงในแฟนเพจ Facebook ส่วนตัวชื่อว่า “ผมเป็นคนจริงจังเกินไปสินะครับ” เพื่อพูดถึงแนวคิดเบื้องหลังการศึกษาบางประการที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการบ้าน ไปจนถึงการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม

เรื่องของการศึกษานั้น ธีรภัทรยอมรับว่ามีหลากมิติ ทั้งปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของความคิดอย่างการจัดการ ไปจนถึงตัวนิยามการศึกษาของสังคม ซึ่งหลายครั้งละเลยมิติการทำงานร่วมกันของทั้งสังคม ซึ่งเป็นมิติสำคัญของการศึกษา

การศึกษาเป็นหน้าที่ของทั้งสังคม

เราเรียนไปทำไม? หลายคนคงตอบทันทีว่าเรียนไปเพื่อใช้ทำงานในอนาคต การศึกษาเป็นทางผ่านไปสู่การทำงาน ในมิติดังกล่าวนี้การศึกษาจึงเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ธีรภัทรไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว สำหรับเขาการศึกษาจริง ๆ มีความหมายในเชิงของการสร้างเพื่อนพลเมือง มากกว่าการออกไปทำงานทางเศรษฐกิจ

“สำหรับผมการศึกษาไม่ใช่เรื่องของเด็กที่พยายามจะตั้งใจเรียนหรือครูที่ตั้งใจสอน ไม่ใช่เรื่องของสองคนนี้เท่านั้น แต่การศึกษาเป็นความร่วมมือของทั้งสังคมเพื่อที่จะทำให้คนเป็นผู้ใหญ่”

ธีรภัทรกล่าวว่าเราสามารถเห็นสองประเด็นจากการนิยามดังกล่าวคือ การศึกษามีมิติของการร่วมมือกัน และมิติของการพัฒนาตัวเอง โดยธีรภัทรยังได้พยายามต่อถึงมิติของการร่วมมือกันของสังคม

“ลองจินตนาการถึงสังคมที่เชิดชูคนหนีภาษีได้ว่าเป็นคนฉลาด กับสังคมที่เชิดชูว่าการเสียภาษีเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติ ด้วยเรื่องพวกนี้ทำให้เด็กสองคนที่มาจากคนละสังคมมีท่าทีต่อเรื่องจำนวนมากแตกต่างกัน มันอาจจะเป็นคำหรือท่าทีเล็ก ๆ แต่เมื่อท่าทีเหล่านี้มาจากทั่วทุกสารทิศของสังคม มันทำให้เกิดการศึกษาแบบหนึ่ง หรือการที่คุณอยู่ในสังคมที่คอยบอกว่าถ้าเป็นผู้หญิงต้องผูกโบว์สีขาว และถ้าเป็นผู้ชายต้องตัดผมทรงนักเรียน

“สังคมนี้ขัดขวางการคิดวิพากษ์ โดยเฉพาะไม่ได้พยายามโน้มน้าวให้เราเชื่อว่าการผูกโบว์สีขาวเป็นสิ่งที่ดี หรือทรงผมนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษา แต่บังคับให้เชื่อ คุณก็จะมีนิสัยมีท่าทีว่าต่อให้เป็นคำสั่งไร้สาระหรือไร้เหตุผลแค่ไหน ก็ทำ ๆ ไปเหอะจะได้ไม่มีปัญหา”

ในส่วนของมิติการพัฒนาตัวเอง ธีรภัทรได้ขยายความว่าการพัฒนานั้น ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเพื่อประโยชน์ในมุมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นมุมการเติบโตทางความคิด โดยเฉพาะในเรื่องการมีท่าทีที่ตั้งคำถาม และมีความสามารถในการเรียนรู้อยู่ตลอด แม้แต่ในขณะที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่

“การศึกษาพยายามจะผลักเราเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่พยายามที่จะเรียนรู้เรื่องราวทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตไปจนถึงอนาคต”

ซึ่งการศึกษาในสองมิตินี้ ในส่วนแรกคงจะไม่มีข้อสงสัยเสียเท่าไหร่ แต่สำหรับในส่วนหลังหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าหากไม่เรียนเพื่อไปทำงาน แล้วสุดท้ายเราจะเรียนไปเพื่ออะไร

ปัญหาการศึกษาในมิติด้านพัฒนาการ

“ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ทุกระดับชั้นของการศึกษามองว่าตัวเองเป็นทางผ่านสู่การศึกษาขั้นต่อไป”

ธีรภัทรอธิบายเพื่อขยายความปัญหาเกี่ยวกับมิติด้านพัฒนาการ

“หากเราสังเกตเด็กอนุบาล เด็กประถม คำถามที่ทุกคนพยายามจะตอบ คือต่อไปเด็กพวกนี้จะไปเข้ามัธยมที่ไหน พออยู่ ม.ต้นคำถามคือ เด็กพวกนี้จะเข้าสายวิทย์หรือสายศิลป์ พออยู่ ม.ปลายหรือ ปวช. คำถามคือจะไปเรียนต่ออะไร ถ้าเป็น ปวช.ก็จะถามว่าจะไปต่อ ปวส.ไหมหรือทำงานเลย ถ้าเป็น ม.ปลายก็ถามว่าจะไปเรียนมหา’ลัยอะไร พอจบมาก็ต้องคิดว่าจะทำงานหรือจะไปเรียนต่อดี”

การศึกษาในมิตินี้จึงมีลักษณะเป็นขั้นบันได แต่ไม่ใช่ขั้นบันไดของความคิด หากแต่เป็นขั้นบันไดเพื่อที่จะออกไปสู่โลกสังคมแห่งการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากนิยามมิตินี้ของธีรภัทรค่อนข้างมาก

หากแต่ธีรภัทรไม่ได้มีปัญหากับการมองมิติทางด้านเศรษฐกิจ เขาชี้ว่าท่าทีเช่นนี้นั้นมีปัญหาก็ต่อเมื่อ การพยายามจะทำตัวเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่โลกภายนอกไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่มีวันที่จะเหมือนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

“การศึกษาแบบนี้ เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เป็นการเตรียมพร้อมไปสู่อะไรบางอย่างข้างนอก การศึกษาไม่ได้มองว่าตัวมันเองเป็นความเป็นจริงอะไรบางอย่าง ผลก็คือหลาย ๆ เรื่องที่เราไม่มีวันทำกับคนข้างห้องเรียน เราทำกับเด็กที่เรียนหนังสือ อย่างเรื่องของการให้เกรดเป็นต้น”

ช่วงปี 2564 ธีรภัทรได้เขียนวิพากษ์เรื่องของการให้คะแนนและเกรด ลงแฟนเพจส่วนตัวเป็นระยะ เขาพยายามชี้ว่าการให้เกรดนั้นไม่สมเหตุสมผล แม้แต่ในความหมายของการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับโลกภายนอก และในการสนทนาครั้งนี้ก็เช่นกัน ธีรภัทรได้ชี้ว่าการให้คะแนนและเกรดหลายครั้ง ไม่ได้สะท้อนภาพของสังคมที่เป็นจริง เพียงแต่สะท้อนภาพสังคมในความคิดของผู้สอนเสียมากกว่า

“ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องเกรดที่ไม่มีวันเกิดขึ้นในชีวิตจริงแน่ ๆ คืออาจารย์บางคนเชื่อว่าเด็กไม่ควรจะได้คะแนนเต็มกันทุกคน หนึ่งในวิธีการที่เขาทำคือ เด็กประเมินกันเองว่าในกลุ่มนี้ใครควรจะได้ 10 เต็ม 10 ใครควรจะได้ 5 เต็ม 10 บ้างก็พยายามจะเรียงลำดับเด็กแล้วบอกว่าคนที่ได้ 10% บนสุดได้รางวัลนี้ คนที่ได้ 10% ต่อมาได้รางวัลเท่านี้เหมือนกับการขึ้นเงินเดือน”

สำหรับกรณีนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่การแข่งขัน ซึ่งธีรภัทรไม่เห็นด้วย

“เวลาทำงานจริงทรัพยากรบางอย่างมันไม่จำกัด อย่างคำชมก็ไม่ได้จำกัดว่าหัวหน้าจะชมลูกน้องได้แค่สามคำต่อปี ต้องเลือกว่าสามคนไหนควรจะได้คำชม เกรดก็คล้าย ๆ คำชมนั่นแหละ จริง ๆ แล้วมันเป็นทรัพยากรที่ไม่จำกัด มันเป็นไปได้ที่เด็กทั้งห้องจะได้ A หมดเลย (และก็เป็นไปได้ที่จะได้ F หมดเลย) เหมือนเป็นไปได้ที่ผู้จัดการจะด่าหรือจะชมทุกคนในทีมได้”

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าธีรภัทรไม่เห็นด้วยกับการที่การศึกษามีมิติของการแข่งขันอยู่ แต่เขาเห็นว่าการตัดเกรดในบางกรณีอย่างการตัดเกรดอิงกลุ่มไม่ได้มีประโยชน์ต่อการศึกษาเสียเท่าไหร่

“ไม่เชิงมองว่าไม่ควรจะแข่ง แต่ผมมองว่าการแข่งมันไม่เกี่ยวกับการศึกษา คือเกรดสามารถมีประโยชน์ในทางการศึกษาได้ เช่น เกรดสามารถเป็นตัวบอกเด็กได้ว่าเขาทำได้หรือยัง อย่างผมตั้งโจทย์ในวิชาปรัชญาการศึกษาให้เด็กคิดว่า ถ้าจะมีคนโจมตีข้อคิดเห็นของคุณ เขาจะโจมตีที่ตรงไหน แล้วคุณจะแก้ต่างข้อคิดเห็นของคุณและโน้มน้าวให้คนที่โจมตีมองว่าคำอธิบายของคุณดีกว่าได้ยังไง ถ้าผมตั้งโจทย์แบบนี้แล้วบอกว่าใครทำได้เอาเกรด A ไปเลย เกรดก็จะมีประโยชน์ในการบอกเด็กว่าทำได้หรือยัง และเกรดยังช่วยในการบอกเด็กได้ว่าเขาถนัดอะไร และควรจะพัฒนาไปทางไหนต่อได้”

ซึ่งเมื่อเกรดหลุดพ้นจากมิติทางด้านการศึกษากลายเป็นการแข่งขัน เกรดก็ไม่ได้มีประโยชน์ขนาดนั้น

“เวลาเกรดเป็นเรื่องของการแข่งขัน มันไม่ชัดแล้วว่ามีประโยชน์อะไรในการศึกษา จะมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหรือเปล่าผมไม่ชัวร์ ถ้ามีก็คือเกรดเป็นการบอกคุณภาพของคุณให้ว่าที่นายจ้างรู้ว่าคุณได้เอกี่ตัว หรืออาจจะมีประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากร กรณีเวลาเลือกให้ทุนได้เพียงแค่คนเดียว ซึ่งเรื่องพวกนี้สำคัญนะ แต่ถ้าในมุมของการศึกษามันไม่ควรจะสำคัญ”

เมื่อการเรียนรู้ ไม่เท่ากับการศึกษา

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นการศึกษาในนิยามของธีรภัทรนั้น มีมิติอยู่สองมิติคือมิติการร่วมมือกัน และมิติของพัฒนาการ ซึ่งในมิติหลังดูจะชวนให้หลายคนสงสัยมิใช่น้อย เพราะพัฒนาการที่ได้จากการศึกษาของธีรภัทรนั้น เป็นพัฒนาการที่มุ่งเน้นในเรื่องของความคิดมากกว่ามิติทางด้านเศรษฐกิจ

ในทางด้านเศรษฐกิจเป็นมิติทั่วไปที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ การศึกษาคือการเตรียมตัวไปสู่การทำงานในโลกภายนอก และนำไปสู่ประเด็นเรื่องต่อไปคือเรื่องของการเรียนรู้

การเรียนรู้โดยทั่วไปนั้น เรามักจะคิดว่ามีความหมายพ้องกับการศึกษา ชนิดที่ใช้แทนกันได้ หากแต่ธีรภัทรได้พยายามบ่งชี้ว่าการเรียนรู้นั้นขาดมิติบางอย่างที่มีในการศึกษาไป ซึ่งนั้นก็คือการร่วมมือกันของสังคม

“การเรียนรู้เป็นการทำให้ตัวเองพัฒนามากขึ้น มันขาดมิติของการร่วมมือกันของสังคม ซึ่งการเรียนรู้มีประโยชน์ แต่มันเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของการศึกษา”

การเข้าใจสับสนระหว่างการเรียนรู้กับการศึกษานั้นสะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดที่สุด ในการสั่งการบ้านชนิดที่ธีรภัทรเรียกว่าผู้สอนคิดว่าการให้การบ้านคือการสอน

“อาจารย์เชื่อว่าการให้การบ้านเด็กคือการสอน สมมติว่าอาจารย์คนหนึ่งบอกให้ไปทำหนังสั้น โดยที่คุณไม่ได้เรียนภาพยนตร์ และอาจารย์ก็ไม่ได้สอนอะไรเกี่ยวกับการทำหนัง พองานเสร็จก็เคลมว่าคุณเรียนรู้ ซึ่งใช่มันเกิดการเรียนรู้แต่ไม่ได้เกิดการศึกษา แบบนี้ถ้าเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ ๆ แล้วสั่งทำอะไรแบบนี้ การดำรงอยู่ของอาจารย์ในแบบนี้อย่างดีที่สุดคือไม่มีประโยชน์ แต่เลวร้ายที่สุดอาจจะเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้เสียเอง”

ในแง่นี้การเรียนรู้จึงไม่เท่ากับการศึกษา ทั้งสองอาจจะเกี่ยวพันในเรื่องของการพัฒนาบุคคล แต่มิติทางสังคมนั้นแตกต่างกัน และเป็นเหตุผลว่าทำไมสำหรับหลาย ๆ คนระบบการศึกษาจึงยังจำเป็นอยู่ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคมที่ต้องทำงานร่วมกัน ขณะที่การเรียนรู้อาจจะสามารถทำคนเดียวก็ได้ และหากการศึกษาที่ขาดมิติทางด้านสังคมไปก็คงจะขาดอะไรไปบางอย่าง เหมือนที่ธีรภัทรได้กล่าวปิดท้ายบทสนทนาด้วยเรื่องของผัดกะเพรา

“การศึกษาที่มีเพียงการเรียนรู้ เหมือนพูดว่าข้าวผัดกะเพราไก่คือเอาข้าวมาผัดกับกะเพรากับไก่ มันข้ามน้ำมันพริกกระเทียมไป มันไม่ผิดแต่พอมันขาดรายละเอียดอื่น ๆ ทำให้สิ่งนี้ไม่สมบูรณ์ การศึกษาก็เช่นกัน ถ้ามองเป็นการเรียนรู้เฉย ๆ เด็กอาจจะตัดต่อวิดีโอได้ แต่ถ้าเราร่วมมือกัน มันควรที่เด็กจะตัดต่อวิดีโอได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นแบบนั้น”