การหายไปของ 'หะยีสุหลง' การผูกขาดพื้นที่ความทรงจำ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

หลายวันมานี้ผู้เขียนจำเป็นต้องสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของหะยีสุหลง อับดุลการเดร์ โต๊ะมีนา ชาวปัตตานีผู้มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาเกือบเจ็ดสิบปีที่แล้วและเป็นที่รู้จักกันจากการที่เขาได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อเพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ให้กับรัฐบาลในเวลานั้น และต่อมาถูกดำเนินคดีในข้อหายั่วยุให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง หลังจากพ้นเรือนจำออกมาได้ไม่นาน เขาถูกเรียกไปรายงานตัวกับนายตำรวจระดับสูง แล้วหลังจากนั้นก็หายสาบสูญไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2497

มีผู้ศึกษาและเขียนถึงเรื่องราวของหะยีสุหลงจำนวนไม่น้อย แต่กระนั้นก็น่าสนใจว่ายังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย แต่กระนั้นก็มีหลายคนตัดสินใจไปแล้วว่าเขาเป็นกบฏ ในขณะที่ผู้คนในพื้นที่ต่างยกย่องเขาให้เป็นวีรบุรุษ เช่นเดียวกันกับอีกหลายเรื่องราวที่ข้อกล่าวหาของการเป็นกบฏกลายเป็นประตูกั้นทำให้การถกเถียงเรื่องของหะยีสุหลง “ไปไม่สุด” เพราะติดอยู่กับเพดานว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่เท่านั้น

ในขณะที่การพูดเรื่องหะยีสุหลงแม้จะไม่ง่าย แต่อย่างน้อยผู้คนในสังคมก็ยังพอจะพูดถึงเรื่องของเขาได้ มีนักวิชาการและผู้สนใจศึกษาเรื่องราวและเขียนถึงเรื่องของหะยีสุหลงเอาไว้ไม่น้อย รวมไปถึงสื่อที่นำเรื่องราวไปถ่ายทอดต่อ ผลของการพูดถึงเรื่องราวของหะยีสุหลงทำให้ในระยะหลัง หะยีสุหลงกลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับเรื่องการบังคับสูญหาย จะเห็นได้ว่าในการรณรงค์ต่อต้านการอุ้มหายมักมีการหยิบยกกรณีของหะยีสุหลงมาเป็นตัวแทนของปัญหานี้เสมอ ๆ ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งที่สนใจเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้รู้จักชื่อนี้ค่อนข้างดีพอสมควร หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยิน โดยเฉพาะในวันที่ปัญหาการอุ้มหายยังเป็นภัยใกล้ตัวและมีผู้ถูกอุ้มหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา การอุ้มหายจึงกลายเป็นปัญหาร่วมของอดีตและปัจจุบัน และตราบใดที่ยังมีเรื่องเช่นนี้ ชื่อของหะยีสุหลงที่ถูกทำให้หายไปเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีที่แล้วก็จะยังคงอยู่คู่กับความทรงจำของสังคมไปเรื่อย ๆ

แต่เรื่องของหะยีสุหลงไม่ได้เป็นแต่เพียงเรื่องของคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย แต่ยังมีเรื่องใหญ่ด้วยคือข้อเรียกร้อง 7 ประการของเขา ซึ่งก็พูดได้เช่นกันว่าจนถึงวันนี้ก็ยังพูดกันได้แบบไม่ “ทะลุ”

ยังมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่แทบจะลืมเลือนกันไป นั่นก็คือเมื่อ 13 สิงหาคม 2497 นั้นหะยีสุหลงไม่ได้หายไปเพียงลำพัง แต่ที่หายไปพร้อมกันยังมีบุคคลอีกสามคน หนึ่งในนั้นคือบุตรชายคนโต นายอาหมัด โต๊ะมีนา ที่ถูกเลือกให้เป็นผู้ร่วมทางเพื่อจะให้ไปทำหน้าที่ล่ามเพราะคนอื่น ๆ มีปัญหาในการสื่อสารเป็นภาษาไทย ส่วนอีกสองคนคือวัน อิสมาน บิน อาหมัด กับหะยีเจ๊ะอิสเฮาะ บินเจ๊ะยูโซ๊ะ ชื่อของผู้สูญหายอีกสามรายนี้แทบจะไม่ได้ถูกกล่าวขวัญถึง ในความทรงจำร่วมสมัยของสังคมเรื่องราวของพวกเขาแทบจะไม่มีตัวตน แม้แต่ในหนังสือที่เกี่ยวกับหะยีสุหลงโดยตรงก็มีข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลทั้งสามค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะวัน อิสมาน บิน อาหมัด กับหะยีเจ๊ะอิสเฮาะ บินเจ๊ะยูโซ๊ะ แม้แต่ญาติของหะยีสุหลงเองก็ยังแสดงความแปลกใจที่พวกเขาได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก ในการจัดงานรำลึกหะยีสุหลงครั้งหนึ่งนั้น ครอบครัวโต๊ะมีนาได้เชิญลูกหลานรุ่นหลัง ๆ ของผู้ที่หายรายอื่นไปร่วมวง แต่ก็พบว่า ข้อมูลที่ออกมาเกี่ยวกับพวกเขามีอยู่น้อยนิด ทายาทรุ่นหลัง ๆ บอกเล่าได้ไม่มาก แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยากเล่า มันเป็นเพราะในความทรงจำของพวกเขาแทบไม่มีเรื่องราวของบุคคลเหล่านั้น แม้บางคนอาจจะมีแต่ก็มีอย่างจำกัด ในบางกรณีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยความบังเอิญแต่เป็นเพราะความตั้งใจ

จากการพูดคุยกับทายาทรุ่นหลังของทั้งสองคนผู้เขียนพบว่า พวกเขาบางคนเพิ่งรับรู้ข้อเท็จจริงว่าคนที่หายไปเกี่ยวข้องกับครอบครัวของตนเองก็เมื่อไม่นานมานี้เอง ในขณะที่ปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลของอีกบางรายนั้นชัดเจนว่ามาจากเจตนาของญาติผู้ใหญ่ที่ไม่ปรารถนาจะหวนกลับไปหาเรื่องราวนี้อีก

อันที่จริงเรื่องการค้นหาข้อมูลผ่านความทรงจำของผู้คนที่อยู่ในยุคสมัยของหะยีสุหลงนั้น ในเวลานี้ก็ถือว่ายากเย็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว เพราะถ้าคิดคำนวณตามความเป็นไปได้ก็จะพบว่า ผู้ที่พอจะเคยพบปะหรืออยู่ในยุคสมัยนั้นและความทรงจำยังไม่เล่นตลกไปเสียก่อน มักจะเป็นคนในวัยแปดสิบหรือใกล้แปดสิบขึ้นไปทั้งสิ้น จากการพูดคุยกับหลาย ๆ คนที่มีญาติผู้ใหญ่ในพื้นที่พบว่า ผู้คนในวัยนี้ที่รู้จักหะยีสุหลงเป็นอย่างดีหลายรายต่างอำลาไปแล้ว และไม่ใช่เฉพาะกรณีหะยีสุหลง กับอีกหลาย ๆ กรณีก็เช่นกัน พูดง่าย ๆ ว่าจำนวนแหล่งข้อมูลที่เป็น oral history หรือเป็นพยานของเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงก่อนหน้านี้กำลังหดเล็กลงไปเรื่อย ๆ

อันที่จริงแม้ไม่มีความพยายามจะทำให้เรื่องราวหดหายไป แต่ความสนใจต่อเรื่องราวเหล่านี้ย่อมลดลงตามกาลเวลาเพราะผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน อย่างเช่นเหตุการณ์ตากใบซึ่งผ่านมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ความสนใจต่อเรื่องนี้ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และหากไม่ใช่เพราะกระแสความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เรื่องนี้ก็คงจะเบาบางลงไปเร็วกว่าที่เห็น แม้เราจะเชื่อกันว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในยุคสมัยที่มีการจดบันทึกอย่างดีไม่ว่าในรูปแบบของเอกสารหรือภาพนิ่งรวมทั้งภาพเคลื่อนไหว ผู้เขียนพบว่าเริ่มมีความสับสนเกิดขึ้น หลายคนนำข้อมูลเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะมาผสมผสานกันไปแล้วก็มี ในขณะที่การพูดถึงเรื่องนี้มีข้อจำกัดอย่างชัดเจนชนิดที่นักวิจัยในพื้นที่คนหนึ่งเอ่ยปากว่า การจะเก็บข้อมูลเรื่องตากใบจะต้องรออีกอีกหลายปีเนื่องจากความสดใหม่ของเหตุการณ์ทำให้ผู้เกี่ยวข้องบางฝ่ายไม่ยินดีให้มีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่ผ่านมาตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเคยพยายามจะจัดงานเมื่อครบรอบเหตุการณ์ แต่พวกเขามักถูก “ปราม” โดย “ผู้ใหญ่” ในพื้นที่เสมอ จริงอยู่ ไม่มีการห้ามจัดงาน แต่พวกเขาจะได้รับคำแนะนำให้ทำในรูปแบบของการ “ทำบุญ” ให้ผู้ล่วงลับไม่ใช่การจัดเสวนาเพื่อพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นการลดขนาดของการจัดงานให้เหลือเพียงการทำบุญอุทิศให้กับผู้เสียชีวิตก็คือการลดแง่มุมของปัญหาให้เหลือเป็นเพียงเรื่องของการรำลึกถึงผู้จากไปโดยไม่แตะต้องสาเหตุ ลักษณะเช่นนี้ทำให้คนที่มีบาดแผลอยู่แล้วยิ่งไม่ต้องการรื้อฟื้นเรื่องราวขึ้นมาพูดถึงอีก

ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ไม่เพียงต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากประสบการณ์ แต่ยังมีความรู้สึกผสมผสานไปกับความหวั่นเกรงว่าตนเองหรือลูกหลานจะโดดเดี่ยวเพราะไม่เป็นที่ต้อนรับของชุมชน เนื่องจากไม่ใช่ว่าทุกคนจะทนแรงเสียดทานกับการมีภาพว่าตนเองสมาคมกับคนที่เป็นที่เพ่งเล็งหรือสายสัมพันธ์กับจนท.รัฐมีปัญหา ดังนั้นแม้กับเหตุการณ์ตากใบ ผู้เขียนก็เชื่อว่ามาถึงวันนี้ การจะหาครอบครัวผู้เกี่ยวข้องให้พูดเรื่องนี้ก็เริ่มยากขึ้นทุกขณะ

อันที่จริงน่าเชื่อได้ว่ามีเรื่องราวไม่น้อยที่ถูกกลบหายไปพร้อมกับความทรงจำเพราะเจ้าของจงใจทอดทิ้ง ผู้เขียนรู้จักนักสะสมของเก่าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่สะสมเสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่ได้มาผ่านการเสาะแสวงหาของเก่าผ่านการบอกต่อ ในชุดข้าวของที่เขาสะสมมีผ้าและข้าวของเครื่องใช้อย่างอื่น ๆ จากอดีตที่รวมความแล้วในวันนี้ล้วนแล้วแต่สนนราคาแพงลิบทั้งสิ้น นับเป็นงานอดิเรกที่ต้องใช้ทุนหนักมาก แต่ข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่เขาถ่ายทอดก็คือ ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาทุกอย่างได้ดังที่ต้องการ เขาเล่าว่า ผู้คนที่ไล่ล่าของเก่าต่างรู้กันว่า มีของหลายชิ้นโดยเฉพาะที่เป็นของในครอบครองของคนในสามจังหวัดใต้ที่บัดนี้ตกไปอยู่ในมือของนักสะสมนอกประเทศโดยเฉพาะแถวเพื่อนบ้านใกล้เคียงไปแล้วและด้วยความตั้งใจของเจ้าของ ผู้เขียนยังเคยได้ยินว่า บางครอบครัวที่มีสิ่งของมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ได้พยายามเก็บงำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ไม่ปล่อยออกมา คาดว่าหากจะสงวนพื้นที่ความทรงจำของพวกเขาเอาไว้โดยที่ไม่ถูก “ปรับ” เสียใหม่เพื่อไม่ให้แย้งกับวาทกรรมหลัก ก็จะต้องเก็บของเหล่านั้นไว้เอง ดังนั้นเราจะพบว่าเจ้าของสถานที่สำคัญบางแห่งยินดีที่จะปล่อยให้ที่ทางของตนเองเสื่อมโทรมลงไปหากไร้ทายาทที่สนใจดูแล โดยที่ไม่มอบให้กับหน่วยงานด้านของเก่า แต่อีกด้านก็เป็นไปได้ด้วยว่า บางคนกริ่งเกรงว่าเมื่อเปิดออกมาแล้วจะทำให้สังคมเห็นความเชื่อมโยงของพวกเขากับสิ่งที่รัฐและวาทกรรมกระแสหลักมองว่าเป็นผู้ต่อต้านรัฐ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแต่ความทรงจำอันเนื่องมาจากการถูกริบหรือทำลายข้าวของในบ้านยังคงอยู่

เรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้หรือปาตานีในช่วงหลังโดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฐไทยสมัยใหม่จึงมีบางส่วนที่เล่าขานกันเองและกลายเป็นความทรงจำในพื้นที่ที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรจำนวนไม่มาก มันดูคล้ายกับว่า การมีบันทึกบางอย่างอาจกลายเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เป็นคุณประโยชน์ สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนเองมีคำถามกับตัวเองอยู่เหมือนกันจากการทำงานในพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งพยายามสนับสนุนให้ผู้คนได้ถ่ายทอดความคิดผ่านงานเขียนและพบว่า การเขียนกลายเป็นทักษะที่หาได้ไม่ง่ายในพื้นที่นี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่ไม่ใช่ผลพวงของความสับสนหรือข้อจำกัดในเรื่องภาษาเพียงอย่างเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เป็นผลพลอยได้ของการอยู่ในวังวนของการ “ไม่บันทึก” มาอย่างยาวนาน ผู้เขียนพบว่าหลายครั้งที่แนะนำบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้ทำบันทึกเรื่องราวของพวกเขา โดยเฉพาะเรื่องของการละเมิดสิทธิแต่ก็พบว่า ในที่สุดเรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะบันทึกเรื่องราวแม้ว่าทักษะเรื่องการเขียนจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะสะสม ซึ่งในแง่นี้มันทำให้เกิดจุดอ่อนในเรื่องของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพราะในวิถีสมัยใหม่ การต่อสู้เช่นนี้ต้องมีข้อมูลหลักฐานการอ้างอิงที่ชัดเจน

ในบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ช่วงหลายปีที่คลุกคลีถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่นี้ มีหลายครั้งที่ผู้เขียนจะต้องได้พบกับผู้คนที่ “เลือก” บอกเล่า บอกเล่าเฉพาะบางเรื่องราวหรือบางแง่มุมที่เชื่อว่าไม่นำเภทภัยมาสู่ตัวเอง และแม้จะเปิดเผยแต่การเปิดเผยเรื่องราวของพวกเขานั้นมีดีกรีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าผู้ฟังเป็นใคร มันเป็นยุทธวิธีของคนที่จะต้อง “อยู่” ให้ได้ในสถานการณ์ที่เป็นรองและการสยบยอมเป็นความคาดหวังจากผู้มีอำนาจ

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้การบอกเล่าเรื่องราวหลายอย่างไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ แม้แต่กับคนในพื้นที่เดียวกัน
ในบรรดากลุ่มคนที่เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีเมื่อปี 2518 ผู้ที่ผู้เขียนได้คุยด้วยบางคนบอกเล่าเอาไว้ว่า พวกเขาจำได้ว่าในการชุมนุมหนนั้นอาจจะถือได้ว่าเป็นหนแรกก็ว่าได้ที่มีผู้นำเอาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ออกมาพูดในที่สาธารณะต่อหน้าคนหมู่มาก จากข้อมูลของหลายคนระบุว่ามีอุสตาสหรือครูสอนศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันดีในเวลานั้นบางคนนำเรื่องราวในอดีตออกมาบอกเล่า มันเป็น “ประวัติศาสตร์” ฉบับที่หลายคนบอกว่าเพิ่งจะเคยได้ยิน และแน่นอนว่าย่อมแตกต่างจากตำราประวัติศาสตร์ไทย นี่เป็นชุดความทรงจำที่ไม่ได้รับการยอมรับ

ผู้เขียนเคยเห็นอาการคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นนอกสามจังหวัดภาคใต้เช่นกัน พื้นที่เก็บของเก่าบางแห่งที่ไม่ใช่ของทางการมีข้าวของที่เป็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ “กบฏ” หรือผู้แพ้เก็บงำเอาไว้ เพราะว่าประวัติศาสตร์ไทยไม่มีพื้นที่ให้กับเรื่องราวเหล่านี้ และในสังคมที่สันติภาพเกิดจากการปราบปราม ประวัติศาสตร์ก็สะท้อนลักษณะอาการผู้ชนะกินรวบ ความทรงจำถูกผูกขาดด้วยวาทกรรมแบบที่ผู้ชนะต้องการ

แต่เวลานี้เรากำลังพยายามสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ปัญหาคือเราจะสร้างแบบไหน หากดูตัวอย่างในที่อื่นบางแห่งจะพบว่า วิธีการของพวกเขาคือการเริ่มต้นที่การเปิดพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง ถ้าไปเที่ยวสกอตแลนด์ เราจะพบมัคคุเทศก์ชาวสกอตต์ที่บอกเล่าเรื่องราวของวีรบุรุษในท้องที่ที่ต่อต้านอังกฤษได้อย่างไม่ต้องเซนเซอร์ตัวเอง ในมินดาเนาเราจะพบว่า กฏหมายพื้นฐานที่เป็นที่มาของการให้อำนาจปกครองตนเองแก่กลุ่มมุสลิมโมโรในมินดาเนานั้น เริ่มต้นวรรคแรกด้วยการยอมรับประวัติศาสตร์ของโมโรในมินดาเนาเอาไว้อย่างแจ่มชัด ความขัดแย้งในเรื่องที่มีที่มาจากการบดบังตัวตนควรเริ่มที่การปลดปล่อยการผูกขาดพื้นที่ความทรงจำหรือไม่ ไม่เช่นนั้นการปรองดองที่แท้จริงย่อมไม่เกิด