'บทกวีชั่วชีวิต' เพราะชีวิตช่างเปราะบาง ความรักถึงสำคัญ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“รอดูทีเดียวดีกว่า มาอาทิตย์ละตอน ดูแล้วคาใจ” เสียงตอบรับจากเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ที่พยายามอดทนรอให้ซีรีส์เรื่องโปรดจบแล้วค่อยดูรวดเดียว เราเลยตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า พฤติกรรมของคนสมัยใหม่ที่ต่อต้านความเชื่อคร่ำครึ แต่นิยมชวนกันไปดูดวงมากขึ้น เป็นเพราะเราอยากรู้ตอนหน้าของชีวิต เหมือนกับไม่อยากรอตอนต่อไปในอาทิตย์หน้า ของซีรีส์เรื่องที่ยังไม่จบหรือเปล่า

ความคิดนี้ ชวนให้เราคิดถึงหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง ที่ว่าด้วยทั้งชีวิต เรายังต้องเขียนบันทึกในแต่ละวันไปเรื่อย ๆ พอถึงตอนจบ เรากลับไม่มีโอกาสอ่านมันเสียแล้ว อย่าง บทกวีชั่วชีวิต หนังสือรวมการ์ตูนเรื่องสั้น 5 เรื่องของ สะอาด ประกอบไปด้วย ตื่น, คืน 8 ปี, บทกวีชั่วชีวิต, ดวงจิตโฟโต้, หมาโง่ที่รัก เหล่าตัวละครที่ราวกับว่าหลุดออกมาจากชีวิตประจำวัน และเรื่องราวที่ฉาบไว้ด้วยความน่าเบื่อของชีวิต แต่กลับน่าสนใจเพราะการมีชีวิตที่น่าเบื่อแบบนั้นแหละ

ไม่รู้เพราะความตั้งใจของสะอาดหรือเปล่า ทุกครั้งที่ได้อ่าน คล้ายกับว่า มีคนกำลังเปิดซาวนด์แทร็กให้กับหนังสือเล่มนี้ เหมือนกับกำลังดูหนังสักเรื่องอยู่เลย 

งั้นคราวนี้ลองมาฟังเสียงที่เราได้ยินแว่ว ๆ ระหว่างอ่านคอลัมน์ Playread สัปดาห์นี้ไปพลาง เผื่อหนังสือเล่มนี้ จะได้ติด Playlist หนังสือเล่มโปรดของใครสักคน

อย่าลืมเปิดฟังระหว่างอ่านบทความ

เผื่อสักวัน จะกลายเป็นเรื่องดี ๆ

“สนใจใช้บริการเครื่องลบความทรงจำเฮงซวยมั้ยครับ”

คำถามจากชายสวมสูทดำ ยื่นอุปกรณ์ลบความทรงจำ เหมือนในภาพยนตร์ Men In Black ถาม พุด ชายหนุ่มบอกเซอร์ลายหัวใจ นอนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนจะรู้ตัวว่าอยู่ในฝัน ที่มีกาเมหล้า ถนนลาดพร้าวที่รถไม่ติด และฝนรสชาเขียว

ฝันนี้คงเป็นฝันที่ดีของพุดทีเดียว นอกจากสิ่งที่อยากได้ในชีวิตจริงมาปรากฏอยู่ในฝันแล้ว บุคคลที่พุดอยากเจอ ก็มารวมอยู่ที่นี่หมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เพื่อนที่เสียชีวิตตั้งแต่ตอนเด็ก ยายที่เป็นโรคอัลไซเมอร์แต่กลับจำพุดได้ รวมไปถึงแฟนเก่าที่พึ่งแต่งงานไป

ดูท่า หนังสือรวมการ์ตูนเรื่องสั้น ที่เขียนไว้ท้ายเล่ม “ว่าด้วยการเติบโต ผ่านความอ่อนหวานขมปร่า ของความรักและความทรงจำ” เล่มนี้ อยากให้เราเริ่มอ่าน ด้วยการรู้จัก ความฝัน ก่อนที่จะตื่นไปเจอความจริง

ความอ่อนหวานขมปร่าที่สะอาดอยากให้เราเห็น ในตอนที่ชื่อว่า ตื่น คงเป็นตัวเราเองที่สวมบทบาทเป็นพุด ชายหนุ่มผมเผ้ารุงรัง ไม่ได้มีชีวิตที่เป็นดั่งใจนัก อย่าว่าแต่ Lucky in game หรือ Lucky in love เลย แค่วัน ๆ หนึ่ง ให้ตัวเองไม่พบเจอ Bad luck ก็ยากพออยู่แล้ว ก็คงไม่แปลก ที่พุดคงอยากให้ความฝันนี้ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ

คำถามคือ ถ้าเป็นเรา เราอยากจะตื่นมั้ย ? ถ้าหากได้ไปอยู่ในฝันดีขนาดนั้น เราอยากจะลบความทรงจำเฮงซวยอยู่หรือไม่ ? ถ้าเรื่องราวเหล่านั้นเคยทำให้หัวใจนุ่มฟูขนาดนี้

“ไม่เอาค่ะ อยากเก็บไว้ให้เร้าใจ เผื่อสักวันนึงมันจะกลายเป็นเรื่องดี ๆ” คำตอบจากฝน แฟนเก่าของพุดกับคำถามขายตรงของชายสูทดำ ก่อนที่จะหายตัวไป แล้วก็ฉายภาพ ในวันที่เรื่องราวเฮงซวยในปัจจุบัน คือการไม่มีอยู่ของเรื่องราวที่ดีในอดีต จู่ ๆ เสียงนกร้องในความฝัน เปลี่ยนเป็นเสียงที่ปลุกให้พุดตื่นขึ้นในห้องเช่าเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไม่ได้บอกต่อว่า ชีวิตของพุด ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ชีวิตคงเป็นดั่งบทกวี ที่ยังเขียนค้าง ๆ คา ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ …

เทพเจ้าบาสฯ กล้วยทอดแมน และคุณจำปี หลักฐานในการมีอยู่ของชีวิต

ในวันที่กระแส ’การไม่นับถือศาสนา’ เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก ทว่า หลายคนในวัยเด็กคงมี เทพเจ้าที่ตัวเองกราบบูชาและขอพรอยู่เป็นประจำ จะเป็นเทพเจ้าไส้กรอก เทพธิดารองเท้าแก้ว หรือเทพองค์ใดก็ตาม เช่นเดียวกับเทพเจ้าบาสฯ ในตอนที่ชื่อว่า คืน 8 ปี สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จ๊อกและแนท กับความฝันในการพาทีมบาสเกตบอลของโรงเรียนไปถึงระดับประเทศ

ช่วงกลางของ บทกวีชั่วชีวิต พาเราไปเจอกับตัวเราในวัยเด็ก วัยที่ยังไม่มีการตั้งคำถามและมีภาระมาทำลายความฝัน ขณะเดียวกัน ก็เล่าภาพปัจจุบัน ในตอนที่เรากลับกลายเป็นคนไม่กล้าฝันไปเสียแล้ว ทุกการลงมือทำตามความฝัน เริ่มไม่ได้ผล แต่กลับได้แผลมากขึ้น

ไม่ต่างจาก กมลเมตร นักวาดการ์ตูนชื่อดังแต่ยอดขายล้มเหลวไม่เป็นท่า ที่เหลือบไปเห็นการ์ตูนของ จ๊าบใจ นักวาดคนโปรดสมัยเด็ก เธอหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้งและหัวเราะเหมือนได้เจอเพื่อนเก่าไม่ได้เจอกันมานาน เธอออกตามหานักวาดคนโปรดสมัยเด็ก ที่ปัจจุบันเกษียณจากวงการการ์ตูนไปแล้ว คล้ายกับว่าการได้เจอไอดอล คงจะช่วยเติมไฟในใจเธอได้

เรามักจะมีใครหรืออะไรสักอย่าง เป็นที่พึ่งพาทางจิตใจ ให้เราเชื่อว่า เราจะไปถึงความฝันเหล่านั้นได้ ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงฝัน หรือทำตามความฝันสำเร็จก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องให้ล้มเหลวอีก

“ความฝัน มักจะมีส่วนประกอบของ ความหวัง ไม่มากก็น้อย และความฝันที่ไปไม่ถึงปลายทาง เราเรียกสิ่งนั้นว่า ความผิดหวัง”

พอเราเริ่มดีลกับมันได้สักระยะ ความผิดหวังก็ดูจะทำร้ายเราไม่ได้อย่างเคย แต่กลับเป็นตอม่อขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางสี่แยกของชีวิต ทำให้การจราจรติดขัดทั้งวันแต่ก็ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต เหมือนสิ่งที่ เพียง พนักงานและทายาทของร้าน ดวงจิตโฟโต้ ถามคุณจำปี ต้นไม้หน้าร้านอัดรูป ธุรกิจของครอบครัว

ช่วงกลางของหนังสือให้ความรู้สึกเหมือนช่วงกลางปี ความน่าเบื่อของชีวิตจะปรากฏให้เราเห็นอยู่บ่อย ๆ บางทีก็อาจจะให้เราเห็นความหวังเป็นเนือง ๆ บางทีก็ทำให้เราไม่กล้าจะใช้ชีวิตเลย

“บางครั้งที่ชีวิตดูน่าเบื่อ ก็เพราะเรามองที่ปลายทางจนเกินไป” จ็อก แนท กมลเนตรและเพียง น่าจะพยายามบอกเราอย่างนั้น

การอวยพรจากเทพเจ้าบาสฯ พรที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการมีความทรงจำที่ยอดเยี่ยมกับเพื่อนร่วมทีม ที่ซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตายมาด้วยกัน การไปพบลุงจ๊าบใจของกมลเนตร ทำให้ได้อ่านงานเขียนชิ้นใหม่ของนักวาดคนโปรดสมัยเด็กอย่าง กล้วยทอดแมน ผ่านถุงกล้วยแขกที่ลุงขาย และทำให้รู้ว่า แท้จริงเธอไม่ได้ต้องการจะเป็นนักเขียนที่โด่งดัง เธอแค่อยากให้การวาดรูปเป็นความสุขของเธอและหลาย ๆ คน เรื่องน่าเบื่ออย่างการต่อล้อต่อเถียงกับพ่อที่ป่วยของเพียง ทำให้เธอเห็นความรักที่พ่อและแม่มีให้เธอตั้งแต่ยังไม่เกิด เธอจึงได้รู้ว่า หลังจากนี้ควรใช้เลนส์ไหนในการโฟกัสชีวิต เพื่อให้ได้ภาพที่เธออยากจะให้ชีวิต เป็นแบบที่เธอต้องการ

ความฝันในช่วงกลางเล่ม คือความรักที่มอบให้กับสิ่งที่ตัวเองชอบ มันไม่ง่ายเลยที่จะใช้ชีวิตแบบฝันไกล ในประเทศที่ลิดรอนความฝันแบบนี้ เราค่อนข้างเห็นต่างกับหลายคนที่กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ ว่าเนื้อหาทางการเมืองเบาไปเมื่อเทียบกับเล่มอื่น ๆ กลับกัน เพราะความฝันที่ไม่สามารถเติบโตในดินยี่ห้อประเทศนี้ ผ่านเรื่องราวของตัวละครต่างหาก ที่ทำให้เรารู้สึกว่า สะอาด ยังคงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านช่องสี่เหลี่ยมในหนังสือของเขาอยู่เสมอ

ไม่งั้น เราอาจจะได้เห็นแนทสามารถรักษาหมอนรองเข่าได้ โดยมีรัฐสวัสดิการมารองรับ ไม่ต้องควักเงินทางบ้านมากมาย เราคงได้เห็นอาชีพสร้างสรรค์อย่างนักวาดการ์ตูน ได้รับการยอมรับที่หลากหลายมากขึ้น และเราคงได้เห็นคน ๆ หนึ่งมีชีวิตแบบที่ได้ใช้ชีวิตมากขึ้นเช่นกัน ความหนักหนาทางการเมืองในเล่มนี้ มันเล่าให้เรารู้สึกใกล้ตัว จนเราเผลอลืมตัวไปก็ได้

ชั่วชีวิตที่ยังเขียนบทกวีไม่จบ สะอาด คงต้องการบอกให้เรา อย่าลืมตัวตนในวัยเด็ก ที่ความฝันไม่มีกรอบมาครอบไว้ เรื่องน่าเบื่อที่ชื่อว่าชีวิต คงมีใครหรืออะไรสักอย่าง มาทำเรื่องน่าเบื่อด้วยกันจนกลายเป็นเรื่องสนุกก็ได้

ชีวิตคงเป็นดั่งบทกวี ที่บางทีปัดฝุ่นหยิบขึ้นมาอ่าน ก็เผลอยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว …

เพราะชีวิตช่างเปราะบาง เช่นนั้นถึงสวยงาม

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับการจากลา สิ่งที่แม่บอกว่าเราต้องเจอมันไปตลอดชีวิต”

ความในใจของภู หลังจากไอ้เข้ หมาและเพื่อนคนแรกในชีวิต จากไปด้วยโรคลำไส้ เรื่องสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ชื่อว่า หมาโง่ที่รัก หลังจากตื่นและเติบโต ผ่านความฝันและความทรงจำของตัวละคร ราวกับว่า เราคงจะยังไม่เข้าใจคำว่าชีวิต ถ้าเรายังไม่รู้จักการจากลา

ตั้งแต่ไอ้เข้ตาย ภูก็กลายเป็นคนไม่ผูกมัดกับอะไรทั้งสิ้น เพราะการจากลาครั้งเก่า ทำให้รู้ว่าตัดไฟแต่ต้นลม ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าเดิม ภูกลับมาอยู่กับแม่หลังจากเรียนจบ หลังจากที่รู้ว่าแม่เป็นมะเร็ง ผลจากการไม่ดูแลตัวเองและจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่แม่ ผู้ไม่เกรงกลัวสิ่งใดแม้กระทั่งมะเร็ง ชวนลูกชายไปดื่มเบียร์ ที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย

เดาว่าก็คงเป็นเบียร์ตลาดทั่วไป จำพวกตระกูลเสือไม่ก็สัตว์ประจำชาติ แต่ถ้าหากเป็นเรา เราก็คงเลือกอย่างที่แม่ภูทำ เพราะถ้ารู้ว่าคงอยู่ได้อีกไม่นาน การได้รินเหล้าในวงเล่ากับคนใกล้ตัว ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเหมือนกัน

“ฉันมีเรื่องจะบอกแก จริง ๆ ฉันไม่ใช่ซิงเกิลมัมหรอก ฉันรับแกมาเลี้ยงหลังจากฉันเสียแฟนและลูกจากอุบัติเหตุไป”

“ผมรู้อยู่แล้ว เคยอ่านจากไดอารี่แม่ตอนเด็ก ๆ”

“แล้วแม่เคยผิดหวังบ้างมั้ย ที่ตัดสินใจแบบนั้น”

“แล้วแกผิดหวังหรือเปล่าหล่ะ…”

บทสนทนาของสองแม่ลูก ชวนให้เราคิดถึงคนที่เวลา พาเข้ามาและจากไปในชีวิต เราเคยคาดหวังอะไรกับความสัมพันธ์ไหนบ้างมั้ย หรือเราเคยทำให้ใครผิดหวังบ้างหรือเปล่า

แม่เล่าให้ภูฟังว่า ทำไมถึงเลี้ยงหมาไว้เต็มบ้าน ทั้ง ๆ ที่ตัวเองยังป่วยอยู่ แต่เพราะช่วงที่ภูยังมีไอเข้ คือช่วงที่ภูดูมีชีวิตมากที่สุด แม่หวังว่า เพื่อนซี้สี่ขาเหล่านี้ จะทำให้แม่ หมดห่วงเดียวที่ยังเหลือในชีวิตได้ นั่นคือการที่ลูกชาย ยอมรับการจากลา สิ่งธรรมดาของชีวิต แล้วใช้ชีวิตอย่างที่มันควรเป็น

“เฉพาะคนมีชีวิตอยู่เท่านั้นแหละภู ที่จะมีสิทธิ์เศร้า” หลังจากนั้นไม่นาน แม่ก็ได้จากไป

เราใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ซื้อหนังสือเล่มนี้มา พยายามเข้าใจบทสนทนาไม่เกิน 20 ช่อง แท้จริงแล้วไม่ใช่ว่า เราผิดหวังหรือเคยทำให้ใครผิดหวัง หรือกล่าวอย่างโรมานซ์ ว่าความเศร้าคือเครื่องยืนยันว่าเรายังหายใจอยู่ ทั้ง ๆ ที่บางที ความเศร้าก็ไม่ทำให้เราอยากหายใจต่อเหมือนกัน

ชีวิตไม่ได้ต่างอะไรจากฟองสบู่ เพียงลมพัดก็พร้อมแตกสลาย ชีวิตช่างเปราะบาง ไม่ได้แข็งแรงอย่างที่เราคิด แต่เพราะความเปราะบางนั้นแหละ ที่ทำให้เราได้เห็นความรัก ที่ซ่อนอยู่ในความทรงจำของชีวิต ทั้งความรักในบาสเกตบอล ความรักต่อเพื่อนฝูง ความรักต่อสิ่งที่ชอบ หรือความรักต่อการจากลา 

เช่นนั้นแหละ ชีวิตที่น่าเบื่อและเปราะบาง ก็ดูจะสวยงามขึ้นมาได้บ้าง

ถึงแม้ตัวละครแต่ละตัว จะไม่ได้ปรากฏให้เราเห็นกันข้ามเรื่อง ให้ดูเหมือนกับอยู่ในจักรวาลเดียวกัน กลับกัน สิ่งที่ทำให้ การจากไปของไอ้เข้ กลายเป็นสาเหตุของน้ำตาที่ไหล คือตัวละครเหล่านี้ เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ที่วนเวียนอยู่ในชีวิตเรามาโดยตลอดตามแต่ละในช่วงวัย หรือกระทั่งเรามองเห็นตัวเราเอง ทับซ้อนกับตัวละครด้วยซ้ำ เป็นบางอย่างในมุมเล็กของจิตใจ ที่อาจจะลืมหรือจำได้แม่น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้

การใช้การตัดสินใจแบบคนธรรมดามีทั้งสำเร็จและล้มเหลว วิวทัศน์ที่รายล้อมด้วยตึกรามบ้านช่องแบบไทย ๆ ทำให้หลายแง่คิดในเรื่องเหล่านี้ มีการซ้อนทับของความทรงจำซึ่งกันและกัน บ้างก็เกิดรอยยิ้ม บ้างก็มีน้ำตา บ้างก็เกิดความรู้สึกผิด ที่การกระทำในอดีตทำให้ชีวิต ไม่ได้มีฉากจบแบบ Happy Ending เหมือนอย่างในหนังสือ

คำว่า บทกวีชั่วชีวิต ที่สะอาดใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ดูท่า คงไม่ได้เป็นอารมณ์ชั่ววูบ ทุกบทกวียังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครรู้ตอนจบของแต่ละตอน รู้เพียงแค่ว่าเราได้เติบโตและเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว นั่นคงเป็นความน่าเบื่อของชีวิต ที่รอคอยให้ค้นเจอความน่าสนใจเข้าสักวัน เหมือนที่เรายังรอคอย ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’ หนังสือเล่มใหม่ของสะอาด ที่กำลังจะออกในปลายเดือนมีนาคมนี้ เช่นกัน

หากกล่าวว่า ไม่ขอช้าง ไม่ขอม้า แต่ขอลาไปก่อน จะดูเป็นมุขถมเถที่ใช้จบพิธีการบางอย่างเกินไปไหม หรือควรเขียนไรม์ (rhyme) สัก 4 บาร์ แทนกวีบทหนึ่งของผู้เขียน จะดูเป็นการจากลาที่พกรอยยิ้ม มากกว่ากัน

ชีวิตคงเป็นดั่งบทกวี ที่เรายังต้องเขียนมันต่อไป …

“บทกวีชั่วชีวิต เปรียบชีวิตเป็นบทกวี

ดวงดารา พระอาทิตย์ สุดจะคิดคำเท่าที่มี

บรรจงเขียน บรรเลงเพลง อยากให้เป็นหน้ากระดาษที่ดี

ไม่ต่างอะไรกับบทความนี้ ถึงเวลาต้องจบลง สักที”

หนังสือ: บทกวีชั่วชีวิต
นักเขียน: สะอาด
สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์ไก่3

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี