สงครามกับความรัก ในแนวรบยูเครน - Decode
Reading Time: 3 minutes

เมื่อสงครามกำลังพรากคนรักไปจากเธอ

24 กุมภาพันธ์ 2022 ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า เลิฟ เนตรชนก พรหมขาว หญิงไทยอายุ 31 ปี กำลังเดินทางไปทำงานตามปกติ เธอย้ายมาอยู่ที่ประเทศยูเครนกับสามี เพื่อหวังจะสร้างความมั่นคงด้วยกันที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ เข้าสู่เดือนที่ 5 แล้วทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งเสียงระเบิดลูกแรกดังขึ้น

“เพื่อนโทรมาบอกว่ามันระเบิดสนามบินเขาโจมตีแล้ว เครื่องบินทิ้งระเบิดบินเข้ามาแล้ว พอเราเห็นและได้ยินเสียง เราก็รีบวิ่งกลับมาที่บ้าน”

บรรยากาศภายในกรุงเคียฟของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ตามคำบอกเล่าของเนตรชนก คนยูเครนประมาทกันจนเกินไป พวกเขาไม่เคยคาดคิดว่ารัสเซียจะกล้าบุกประเทศของพวกเขาอย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้

“คนยูเครนคิดว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว มันยืดเยื้อมีการปะทะกันตามชายแดนตลอด แต่อย่างไรสงครามใหญ่มันไม่เกิดหรอก ถ้าเรากับสามีตัดสินใจออกไปตุรกีตั้งแต่ตอนนั้น คงไม่ต้องมานั่งติดแหง็กอยู่ตรงนี้”

25 กุมภาพันธ์ 2022 เนตรชนกและสามีเก็บสัมภาระเท่าที่พอจะขนไปได้ และทิ้งทรัพย์สินจากน้ำพักน้ำแรงของทั้งสองไว้เบื้องหลัง ทั้งคู่กระโจนขึ้นรถไฟที่เบียดเสียดไปด้วยผู้คนที่หนีความตาย มุ่งหน้าสู่เมืองลวิวเมืองทางตะวันตกของยูเครน ที่มีชายแดนติดกับประเทศโปแลนด์ หนึ่งในเมืองที่ปลอดภัยที่สุดตอนนี้

ชีวิตของเธอและสามีไปสุดทางได้เพียงเท่านี้ เมื่อรัฐบาลยูเครนออกกฎหมายห้ามผู้ชายยูเครนทุกคนเดินทางออกจากประเทศ เนตรชนกต้องเลือกระหว่างการเอาชีวิตรอดกับความรัก

“เราทิ้งเขาไม่ได้ ความรักให้อธิบายออกมาเป็นคำพูดมันยากนะ แต่ถ้าวันนี้เราอยู่เมืองไทยเราคงต้องนั่งคิดถึงเขาทุกวัน ว่าสามีเราจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร เราอยากอยู่เคียงข้างเขา การอยู่เคียงข้างกันและจับมือกัน จะเป็นกำลังใจให้กันมากกว่าที่เราจะอยู่ห่างกัน”

เนตรชนกปฏิเสธการเดินทางกลับประเทศไทย ตามความช่วยเหลือของสถานทูตไทย เธอกล่าวกับเราอย่างหนักแน่นว่าตัดสินใจอย่างที่ดีที่สุดแล้ว ที่เลือกอยู่เคียงข้างสามีชาวยูเครน ความรักของพวกเขาเพิ่งผ่านพิธีการแต่งงานมา 5 เดือน  ฝ่ายชายทุ่มนำเงินทั้งหมดไปซื้ออะพาร์ตเมนต์ไว้สำหรับอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ยังไม่ทันได้เข้าอยู่ สงครามก็ดับฝันที่วาดไว้ของทั้งคู่จนหมดสิ้น เหตุการณ์นี้กระทบต่อจิตใจสามีของเนตรชนกอย่างรุนแรง

“มันหนักเหมือนกันนะกับสิ่งที่เจอ สามีเราปกติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว พอเขามาเจอเหตุการณ์แบบนี้มันหนักสำหรับเขา เราต้องกลายเป็นคนที่เข้มแข็งให้มากที่สุด เพื่อที่จะปลอบโยนเขา ตอนนี้ถ้าเขาถูกเรียกตัวไปเป็นทหาร เขาคงต้องพลีชีพแน่นอน เพราะจิตใจเขาเริ่มพูดถึงเรื่องไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว”

โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เนตรชนกและสามีได้รับการช่วยเหลือจากคนไทยในยูเครน ให้มาพักอาศัยในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งร่วมกับอีกหนึ่งครอบครัว เธอเล่าสถานการณ์ความเป็นไปตอนนี้ในยูเครนให้ฟังว่า

“ในยูเครนไม่หลงเหลือพื้นที่ไหนที่จะปลอดภัย เสียงไซเรนพร้อมที่จะดังอยู่ตลอด และเมื่อได้ยินเสียง เราต้องรีบลงไปข้างล่าง เพื่อไปหลบอยู่ในหลุมหลบภัย และตอนนี้คนยังคงทยอยอพยพมาจากทางฝั่งตะวันออกอยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้เรายังได้รับข่าวว่า รัสเซียมีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ตรงบริเวณทางรถไฟ”

หากสักวันหนึ่งสงครามสิ้นสุดลง เธอและสามีวางแผนว่าจะหาทางกลับมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะว่าตอนนี้สามีของเธอถอดใจกับการอยู่ในประเทศแห่งนี้ ความสงบสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเหล่าผู้คนที่ผ่านความหวาดกลัวจากสงคราม

“ต่อให้ยูเครนชนะสงครามครั้งนี้ เขาก็ไม่อยากที่จะอยู่ที่นี่แล้ว เขาต้องการความสงบและเขามองว่าประเทศไทยให้สิ่งนี้กับเขาได้”

แต่ความฝันของสามีเธอค่อย ๆ ริบหรี่ เมื่อไม่อาจคาดเดาได้เลยว่ากองทัพยูเครนจะเรียกตัวเข้ากองทัพเมื่อใด

“สงครามของจริงมันโหดร้าย เหมือนกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ เราผิดหวังในคนสั่งการสงครามครั้งนี้ว่า คุณจะทำลายเมืองทำลายประเทศนี้ แต่พอคุณทำลายไม่ได้ คุณก็ใช้อาวุธร้ายแรง มาโจมตีจุดที่ประชาชนอาศัยอยู่ เพื่อกดดันรัฐบาลยูเครนให้ยอมแพ้ มันคือโศกนาฏกรรม

“สงครามมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งเชียร์กันเหมือนฟุตบอล มันไม่ใช่เรื่องที่ฝั่งหนึ่งเชียร์ยูเครน อีกฝั่งเชียร์รัสเซีย เราเห็นมากับตาแล้วว่า สงครามที่เกิดขึ้น มันคือความสูญเสียมันคือสิ่งที่น่าสลดใจ

“แต่เราไม่เคยคิดว่าตัวเองตัดสินใจผิดที่เลือกเดินทางมาที่นี่ การที่เราได้รักได้แต่งงานกับแฟน คือสิ่งน่ายินดีที่ทางเดินชีวิตเราได้แต่งงานกับคนที่เรารัก”  

18 ปีรักในยูเครน

เสียงคนยูเครนตะโกนร้อง “ยูเครนจงเจริญ” พวกเขาต่างตบเท้าเดินกันเต็มถนน ผสมกับภาพเศษซากปรักหักพังของเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยสงบสุข ควันไฟพวยพุ่งอยู่บนเศษซากเหล่านั้น

แม้จะยังไม่พบภาพหรือเสียงร่ำไห้หมดหวังของชาวยูเครน จากคลิปวิดีโอที่ ยิว  ดวงกมล ส่งมา วันนี้ชาวยูเครนยังมีความหวังว่าพวกเขาจะพบสันติสุขที่ปลายทางของสงคราม แต่การเดิมพันกับสงครามที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้น เป็นเรื่องยากเกินคาดเดา

ดวงกมลเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในเมือง Dnipro ตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศยูเครน เธออาศัยอยู่ที่นี่ได้ 18 ปีแล้ว พร้อมกับสามีและลูกสาวอีก 2 คน สำหรับเธอการอพยพออกมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“การอพยพออกไปมีค่าใช้จ่ายที่สูง ลูกเรายังเด็กถ้าจะขับรถออกไปก็อันตราย และถ้าน้ำมันหมดเราต้องไปต่อแถวยาวมากเพื่อจะเติมน้ำมัน มันมีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งถนนหลายเส้นก็ปิด”

ดวงกมลอยู่ด้วยความหวังเฉกเช่นเดียวกันกับคนยูเครนคนอื่น เป็นความหวังที่มองโลกว่ามนุษย์ด้วยกันคงไม่โหดร้ายต่อกันไปมากกว่านี้ 

“ลึก ๆ ในใจทุกคนกลัวแต่ไม่มีใครพูดออกมา ทุกคนพร้อมจะสู้กับรัสเซีย ไม่ยอมไปเป็นรัสเซีย เมืองที่เราอยู่คนร้อยละ 80 พูดภาษารัสเซียกัน  คนยูเครนเคยบอกว่าถึงพวกเราจะพูดภาษารัสเซียแต่เราเป็นคนยูเครน ปูตินไม่ต้องมาคิดแทนว่าพวกเราว่าอยากจะไปเป็นคนรัสเซีย

และเหมือนดังที่เนตรชนกบอกกับเราในตอนต้น ก่อนการเกิดขึ้นของสงคราม คนยูเครนแทบไม่มีใครเชื่อว่าสงครามจะหนักขนาดนี้ จึงไม่มีการกักตุนน้ำและอาหาร 

“ถ้าพูดถึงสงครามพวกเราชินกันแล้ว เพราะมันมีสงครามอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งมาแปดปี เขายิงกันทุกวัน ออกข่าวบ้างไม่ออกข่าวบ้าง แต่สู้รบเกือบทุกวัน คนส่วนใหญ่เลยคิดว่าถ้ามีสงครามก็คงอยู่ที่ตรงเขตที่เขาขัดเแย้งกัน”

และเมื่อไม่ได้มีการเตรียมพร้อม สถานการณ์ความเป็นอยู่ภายใต้สงครามจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก รายได้ของครอบครัวดวงกมลเท่ากับศูนย์ ร้านค้าตอนนี้รับชำระเงินแต่เพียงเงินสดเท่านั้น และการมีเงินอยู่ในบัตร ATM ก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างยากลำบาก

“ตู้เอทีเอ็มเงินหมดเกือบทุกตู้ บางตู้ที่มีเงินคนต่อแถวเยอะมาก และจำกัดวงเงินห้ามกดเกิน 3,000 ฮรีฟเนีย เมื่อสองวันก่อนเราไปยืนรอกดเงินสองชั่วโมง ได้มา 3,000 คนหลังจากเราเขากดได้แค่ 2,000 เพราะเงินจะหมดตู้แล้ว

“ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก ลูกไม่ได้ไปโรงเรียนทุกอย่างปิดหมด เศรษฐกิจล่มสลาย ความสุขของคนที่เคยมีก็ไม่มี บางคนบ้านแตกสาแหรกขาด ถ้าสามีเราต้องไปเป็นทหารมันคือสิ่งที่ปวดใจ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกไหม” 

สำหรับครอบครัวดวงกมลตอนนี้ กำลังใจที่มีให้ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“เราต้องเรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้เพราะว่าเรายังมีลูกสาว ต้องแสดงให้เขาเห็นว่า เราเข้มแข็ง สู้ ไม่กลัว เขาจะได้เข้มแข็งไปกับเรา คนยูเครนเขาก็หวังว่าทุกอย่างจะจบในเร็ว ๆ นี้ แต่มันได้แค่หวังเพราะเราไม่รู้เลยว่าจะจบลงเมื่อใด”

และอย่างที่เราเห็นในข่าวสาร เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัสเซียไม่สามารถบุกและยึดครองประเทศยูเครนได้อย่างง่ายดายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านจากชาวยูเครน ดวงกมลก็เป็นส่วนหนึ่งเข้าช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ และถูกส่งตัวมาที่เมือง Dnipro ที่เธออาศัยอยู่ โดยการทำอาหารไปให้ทหารเหล่านั้น

“18 ปีที่อยู่ยูเครน ประเทศแห่งนี้ผูกพันกับเรามาก เรามีบ้านมีครอบครัวที่อบอุ่น ที่จริงแล้วยูเครนเป็นประเทศที่สงบสุขมีประชาธิปไตย เรารักประเทศนี้และคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน

“ยังหวังลึก ๆ ว่าจะเจรจากันหาทางออกได้ แต่ถ้าหมดหนทางจริง ๆ คนยูเครนคงจะต้องสู้กันให้ถึงที่สุดแบบไม่กลัวตาย”

ตอนนี้จากข้อมูลของเนตรชนก มีผู้หญิงไทยอย่างน้อย 21 คน ที่ยังคงติดอยู่ในประเทศยูเครน เพราะไม่สามารถละทิ้งครอบครัวได้ ความรักเป็นสิ่งงดงามและยิ่งใหญ่ สงครามเป็นสิ่งที่บดทำลายทั้งชีวิตและจิตใจของผู้คน

แต่สำหรับคนยูเครนในตอนนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าพวกเขาเหลือเพียงความรักกำลังใจ และความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในการเข้าต่อสู้กับสงครามที่พวกเขาด้อยกว่าในกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ดังที่เพื่อนบ้านคนหนึ่งของดวงกมล ส่งสารข้ามแดนไกลมาถึงเราว่า

“Меня зовут Мазуренко Ольга. Я Украинка и очень горжусь этим. Наш президент  настоящий лидер, он лучший. Наши Вооруженные силы- лучшие! Я и моя семья верим в победу! Верим в президента! Мы победим! Слава Украине!”
“ฉันชื่อมาซูเรนโก โอลก้า ฉันเป็นคนยูเครนและภูมิใจกับมันมาก ตอนนี้ประธานาธิบดีของเราเป็นผู้นำที่แท้จริง เขาเป็นคนที่ดีที่สุด กองทัพของเราดีที่สุด! ฉันและครอบครัวเชื่อในชัยชนะ! เราเชื่อในประธานาธิบดี! เราจะชนะ! ยูเครนจะรุ่งโรจน์!”

แต่ ! ก็ใช่ว่าคนยูเครนทุกคนจะมีสภาพจิตใจและร่างกายที่พร้อมกับการสู้รบในครั้งนี้ โดยในระหว่างที่เรากำลังเขียนบทความชิ้นนี้เสร็จลง เนตรชนกส่งข้อความมาบอกเราว่า

“เขากำลังจะจับสามีเราไปเป็นทหาร ตอนนี้เขากำลังบังคับทุกคน”

“หนูพูดกับสามีคำหนึ่งว่า ถ้าหากจะเกิดอะไรขึ้นตายก็ตายด้วยกันนะ  ถ้าจะออกจากประเทศนี้ไม่ได้ก็จะอยู่ด้วยกันทั้งสองคนแบบนี้ แต่จริง ๆ สามีเราเขาก็ไม่เคยรั้งเราไว้ ถ้าหนูได้ก้าวออกไป ถ้าทิ้งเขาเราคิดว่าเขาคงฆ่าตัวตาย เพราะด้วยสภาวะที่เขากำลังเผชิญ”

แม้สงครามจะเป็นเรื่องที่ใครหลายคนพยายามวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผล ทั้งจากฝั่งที่พยายามวิเคราะห์และสร้างความเข้าใจว่าทำไม วลาดีมีร์ ปูติน  ประธานาธิบดีรัสเซียถึงเลือกบุกยูเครน หรือทั้งจากฝั่งตะวันตกที่พยายามพายูเครนเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิก “นาโต” อันจะเกิดทั้งผลดีและผลเสียที่จะตามมาดังที่หลายคนอธิบาย

สาเหตุมีมากมายสำหรับใช้อธิบายการเกิดขึ้นของสงคราม แต่ผลลัพธ์ของสงครามนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว คือความสูญเสียและความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยุติสงคราม