ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
เมื่อ Sam Harris นักเขียนหนังสือขายดีและเจ้าของรายการพอดแคสต์ (Podcast) ชื่อดัง โพสต์ถามผู้ติดตามเขาที่มีร่วมล้านห้าแสนคนว่า พวกเขาอยากให้ชวนใครไปคุยเรื่องสงครามในยูเครน ก็มีผู้ตอบรับอย่างกว้างขวางกว่า 3,700 คำตอบ มีการเสนอชื่อผู้รู้เรื่องรัสเซียและยูเครนกันล้นหลามพร้อมแสดงความคาดหวังว่าอยากได้ยินบทสนทนาในประเด็นใดบ้าง สังเกตได้ว่า คนที่พวกเขาส่วนใหญ่ต้องการ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญประเทศอื่นที่เห็นว่า มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ข้อน่าสังเกตอีกอย่างคือ หลายคนบอกว่า พวกเขายังต้องการคำอธิบายประเด็นพื้นฐานของความขัดแย้งหนนี้ นั่นคืออะไรเป็นสาเหตุให้รัสเซียตัดสินใจส่งกำลังบุกเข้าไปในประเทศอื่น ดูจากอาการเช่นนี้แสดงว่าพวกเขาต้องการคำอธิบายที่ทะลวงผ่านวาทกรรมของรัสเซียซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ จะเป็นเพราะยากจะเข้าใจได้ หรือไม่น่าเชื่อถือก็แล้วแต่
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในโลกของการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน เรากลับไม่ได้เห็นสื่ออย่างในรัสเซียมีบทบาทในการตอบคำถามเหล่านี้ให้กับผู้คนในสังคมโลก ตรงกันข้าม เรากลับได้เห็นการที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปสั่งบล็อกสื่อรัสเซียซึ่งในโลกของการสื่อสารปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าแปลก อียูมีข้อวิตกว่า
สื่อรัสเซียจะครอบงำความคิดของผู้รับสาร มันเป็นเรื่องที่จะเป็นไปได้หรือ
ถ้าพิจารณาพฤติกรรมของผู้รับข่าวสาร โดยดูจากโลกโซเชียลมีเดีย เราจะพบว่าคนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีความตระหนักรู้มากกว่าที่เคยเชื่อกัน บทสนทนาในสังคมโซเชียลมีเดียนั้นก้าวข้ามการรายงานของสื่อไปค่อนข้างไกล ผู้คนที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกันแลกเปลี่ยนกันข้ามพรมแดนโดยที่พวกเขาสามารถใช้ข้อมูลจากแหล่ง open source ต่าง ๆ นำมาอ้างอิง เปรียบเทียบ มีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่พร้อมจะเอาความรู้ของตัวเองออกมาแลกเปลี่ยน ยิ่งทำให้มีข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นอีกมาก ถ้าเราติดตามอ่านมากพอจะพบว่า แม้แต่รายละเอียดเช่น ทหารรัสเซียใช้คลื่นวิทยุอะไรบ้างในการสื่อสารกันก็ยังมีผู้โพสต์เอาไว้ เมื่อมีคนโพสต์ภาพรถบรรทุกลำเลียงยุทโธปกรณ์ของรัสเซียติดหล่มโคลนท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บในยูเครน ก็มี “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เคยทำงานในซูดานไปให้ความเห็นว่า รถคันนั้นใช้ยางล้อที่ผลิตในจีน เป็นของเลียนแบบยางมิชลินแต่คุณภาพจำกัดทำให้การรับน้ำหนักทำได้ไม่ดีพอ ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอาการร่วมด้วยช่วยกันที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของผู้สื่อสารผ่านโซเชียลแพลตฟอร์ม
แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่หลุดโผล่ออกมาเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องเท็จหรือเรื่องที่ยากจะพิสูจน์ความถูกต้องได้ และมันมีมากมายเสียจนไม่อาจจะปักใจเชื่ออันใดอันหนึ่งได้ ข้อมูลที่ผิดพลาดโดยเจตนาก็คือมาจากการร่วมด้วยช่วยให้เขว แต่ก็มีข้อมูลอีกกลุ่มที่ยังฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเท็จเสียทีเดียวเพราะยังยืนยันไม่ได้ ดังนั้นภายใต้สภาพที่ทุกคนกระหายข้อมูล พวกเขาก็พบว่ามันยังมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่เข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ แต่ถูกแช่แน่นิ่งอยู่เพื่อรอการยืนยัน และเราจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ผู้ติดตามข้อมูลจำนวนมากพร้อมจะตั้งข้อกังขา แต่พวกเขาก็พร้อมจะเข้าไปช่วยกันตรวจสอบและรอการยืนยันข้อมูล นับเป็นพฤติกรรมความความอดทนที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันนอกเหนือไปจากความระมัดระวังกับข้อมูลต่าง ๆ
ในภาวะสงครามไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็ต้องการเขย่าความมั่นใจของอีกฝ่ายหนึ่งไปพร้อม ๆ กับการเรียกขวัญกำลังใจคนของฝ่ายตัวเอง แสวงหาแนวร่วมหรือลดทอนพลังเครือข่ายฝ่ายตรงข้าม จุดอ่อนฝ่ายตรงข้ามจะถูกนำมาเปิดเผยและขยายผล เน้นการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ฝ่ายตนเองมีความชอบธรรม ปกปิดข้อมูลฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่าต้องมาจากทั้งสองฝ่าย แต่ผู้เขียนมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ในสงครามหนนี้ คะแนนความน่าเชื่อถือของข้อมูลฝ่ายรัสเซียดูจะได้ต่ำกว่าฝ่ายยูเครน ส่วนหนึ่งน่าจะมันมาจากความพยายามที่มากเกินไปของฝ่ายรัสเซียในเรื่องการสื่อสารเหมือนกับว่าการได้พูดอยู่คนเดียว โดยไม่มีใครเถียงได้จะทำให้คนฟังเชื่อ
ทางฝั่งยูเครนไม่ใช่ว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปหมดทุกเรื่อง ยกตัวอย่างตัวเลขของทหารรัสเซียที่สูญเสียในการบุกยูเครนหนนี้ ทางการยูเครนบอกว่าทหารรัสเซียตายไปแล้วกว่าสี่พันคน สื่อบางรายบอกว่าราวสองพัน รัสเซียเพิ่งจะออกมายอมรับในวันสองวันนี้เองแต่ตัวเลขก็ไม่ถึงห้าร้อย ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้รับสารมีช่องทางไม่มากในอันที่จะตรวจสอบ กับข้อมูลที่มีที่มาด้านเดียวเช่นนี้ เราจะพบว่าผู้คนเลือกที่จะเชื่อตามความรับรู้และประสบการณ์ส่วนตัว และความรู้สึกว่าการกระทำของใครมีเหตุผลมากกว่ากัน
ประเด็นน่าคิดคือเรื่องความสมเหตุสมผลของการทำสงครามของรัสเซียมีผลต่อความน่าเชื่อถือในเรื่องข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ของพวกเขาแค่ไหน สหภาพยุโรปหรืออียูและสหรัฐฯ เรียกสงครามหนนี้ว่า unprovoked คือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ถูกกระตุ้น ประเด็นสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ก็คือ ความรู้สึกถูกปิดล้อมของรัสเซียจากกรณีนาโต้ที่ขยายสมาชิกภาพเข้าไปประชิดรัสเซียเป็นหัวใจสำคัญ อีกด้านเราจะได้คำอธิบายเรื่องความคิดในเรื่องของความเป็นรัสเซีย ฟีโอนา ฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียของสหรัฐฯ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปและรัสเซียของสภาความมั่นคงสหรัฐฯ อธิบายความคิดปูตินว่า การทำให้พื้นที่รอบ ๆ เป็นดินแดนในเขตอิทธิพลของตนเองที่สามารถสั่งได้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคง มันคือการพยายามปกป้องอาณาบริเวณในจินตนาการของตนเองที่อยู่นอกเหนือแผนที่ปัจจุบันแต่เป็นภาพทับซ้อนอาณาจักรรัสเซียในอดีตที่อยู่พ้นเลยความเป็นสหภาพโซเวียตเสียด้วยซ้ำ
ปูตินมองว่า ยูเครนก็คือคนรัสเซีย จึงเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า ความเป็นชาติของยูเครนเป็นสิ่งที่เพิ่งสมมุติขึ้นในช่วงปฏิวัติบอลเชวิคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหลายคนชี้ว่า ไม่ว่าจะรู้สึกหวั่นวิตกแค่ไหนมันก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นส่งกำลังรุกเข้าประเทศอื่น รัสเซียควรมีวิธีการอื่นในการจัดการภัยอันนี้ และพวกเขาต่างมองว่าคำอธิบายนี้เบาโหวงเกินไปจนไร้น้ำหนัก
ความไม่น่าเชื่อถือของคำพูดของผู้นำรัสเซียถ่ายเทไปที่สื่อรัสเซียด้วย เพราะคำอธิบายวิธีคิดแบบนี้ของผู้นำ กลายเป็นคำอธิบายแบบเดียวที่เห็นกันในสื่อหลักของรัสเซียจนไม่มีช่องว่างให้กับคำบอกเล่าแบบอื่น
นอกจากนี้ รัสเซียนั้นได้ชื่อว่ามีกลไกในเรื่องการชวนเชื่อขนาดใหญ่เป็นระบบที่วางไว้อย่างดี แสดงให้เห็นว่าทางการให้ความสำคัญกับการควบคุมข้อมูลข่าวสาร อีกด้านหนึ่งก็มีข้อเท็จจริงว่าประเทศนี้มีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายงานเรื่องสื่อมีเสรีภาพน้อยมีปรากฎให้เห็นจากหลากหลายแหล่งข้อมูล เช่น องค์กรที่มอนิเตอร์เสรีภาพสื่ออย่าง Reporters Without Borders หรือ RSF จัดให้รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 150 จากที่มีทั้งหมด 180 อันดับ
กับการรายงานข่าวการบุกยูเครน สื่อรัสเซียโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักถูกตำหนิอย่างมาก รายงานของเดอะไทมส์บอกว่า สื่อรัสเซียแทบจะไม่ให้ข้อมูลเลยว่า ในยูเครนเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากถูกบุก ไม่มีภาพผลพวงของสงครามให้เห็น จะมีก็แต่สิ่งที่ทางการรัสเซียบอก สื่อกระแสหลักของรัสเซียเรียกการบุกยูเครนว่า “ปฏิบัติการทางทหาร” หลีกเลี่ยงคำว่า “บุก” หรือคำว่า “สงคราม” ซึ่งเท่ากับรับเอาวาทกรรมของทางการมาใช้เต็ม ๆ บางทีก็มีการบิดข้อเท็จจริง เช่น รายงานของ RIA NEWS ระบุว่าทหารยูเครนละทิ้งที่มั่นเป็นจำนวนมาก หน่วยรักษาชายแดนก็ไม่ต่อต้านรัสเซียแต่อย่างใด เนื้อหาอีกอย่างที่สื่อรัสเซียมักจะย้ำก็คือทหารรัสเซียไม่ยึดพลเรือนเป็นเป้าหมาย เช่น รายงานใน TASS ที่บอกว่า ทหารรัสเซียไม่ต้องการโจมตีเมืองต่าง ๆ เพียงแค่ต้องการกำจัดศักยภาพทางการทหารของยูเครนเท่านั้น ดังนั้นพลเรือนไม่ต้องวิตกว่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ของรัสเซียก็อ้างคำพูดของประธานาธิบดีปูตินว่า ทหารยูเครนเอาชาวบ้านเป็นโล่ แถมขนย้ายอาวุธเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ข่าวบอกว่าไม่มีการแสดงมีการหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใด แต่อีกด้านบรรดากลุ่มที่มอนิเตอร์การสู้รบต่างรายงานตัวเลขความสูญเสียของพลเรือนยูเครนทั้งสิ้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติประจำยูเครนระบุว่าระหว่าง 24 ก.พ. ถึง 2 มี.ค. มีพลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว 802 คน ยังไม่นับที่ผลัดที่อยู่อีกจำนวนมาก
ในขณะที่ในเรื่องของเหตุผลในการทำสงครามนั้น สื่อรัสเซียก็อ้างว่า รัฐบาลยูเครนเป็นเผด็จการที่รัสเซียจะต้องลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือปลดปล่อยยูเครนจากลัทธินาซี ไทมส์บอกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่แปลกเพราะไม่มีหลักฐานว่ารัฐบาลยูเครนส่งเสริมแนวคิดนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีกลับเป็นคนที่มีเชื้อสายยิว แถมยังสูญเสียสมาชิกในครอบครัวในเหตุการณ์ปราบปรามชาวยิวในยุโรปหรือฮอโลคอสต์อีกด้วย เดอะการ์เดียนเป็นอีกรายที่บอกว่า เนื้อหารายงานของสื่อหลักทั้งหลายของรัสเซียเน้นคำอธิบายของทางการเท่านั้น เช่น เรื่องการที่รัสเซียจะเข้าไปเป็นผู้ “ปลดปล่อย” ยูเครน ให้ภาพว่าชาวยูเครนตั้งตารอทหารรัสเซียไปช่วย การยกเอาวาทกรรมของรัฐบาลและผู้นำมาอธิบายการทำสงครามหนนี้โดยไม่มีข้อมูลโต้แย้งอื่นใด ทำให้สื่อรัสเซียพบว่าความน่าเชื่อถือของตนเองพลอยหายวับไปด้วย มันกลายเป็นว่า สื่อหลักของรัสเซียถูกมองเป็นกลไกของรัฐและในยามนี้คือเป็นกลไกสงคราม และหมดโอกาสในอันที่จะเป็นผู้เล่นที่จริงจังในโลกของการสื่อสาร
ถามว่าสื่อรัสเซียมีทางเลือกหรือไม่ ก็ค่อนข้างชัดเจนเช่นกันว่าน่าจะไม่มีทางเลือก ข่าวระบุว่ารัฐบาลสั่งห้ามสื่อใช้คำว่า “สงคราม” ให้ใช้คำว่า “ปฏิบัติการทางทหาร” ใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นกบฎ Reporters without borders หรือ RSF ระบุว่า Roscomnadzor อันเป็นองค์กรควบคุมสื่อของรัสเซียได้ประกาศเตือนบรรดาสื่อมวลชนว่า พวกเขาจะต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวทางการเท่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นอาจจะถูกลงโทษฐานเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดได้ เสียงเตือนนี้ออกมาได้ไม่นาน ในวันที่หกของการบุกยูเครน ทางการรัสเซียก็ทำตามคำขู่คือบล็อกสื่อไปสองรายในฐานที่ “เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” คือ Dozhd TV กับวิทยุ Ekho Moskvy ซึ่งมอสโกไทมส์รายงานว่าเป็นสื่ออิสระและอยู่มานาน ถ้าดูจากข้อมูลในรายงานของเดอะ การ์เดียน สื่ออย่าง Dozhd TV หรือเว็บไซต์ที่นสพ.รายนี้ยกชื่อมาอีกรายที่ถือเป็นสื่ออิสระชื่อเมดูซา ต่างถูกทางการรัสเซียตีตราว่าเป็น foreign agent เพราะพวกเขาพยายามจะดำรงความแตกต่างและเป็นอิสระเอาไว้ ข่าวของการ์เดียนระบุด้วยว่า ภายในองค์กรสื่อ RT ซึ่งล่าสุดถูกยูทูบและเฟซบุ๊ก บล็อกไปเรียบร้อยจากในช่วงแรกที่แค่ปลดจากการหารายได้จากแพลตฟอร์มนั้น ขณะนี้กำลังปั่นป่วนเพราะพนักงานเตรียมอำลาหลายคน
พฤติกรรมการควบคุมสื่ออย่างแน่นหนามีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของสื่อรัสเซีย มันทำให้พวกเขาถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกชวนเชื่อ และหลังจากที่อียูออกมาตรการบล็อกสื่อรัสเซีย เอพีรายงานว่า เจ้าของโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ออกมาตรการตามมา สื่อรัสเซียหลายรายถูกบล็อกในยูทูบ และอีกหลายแพลตฟอร์ม เกิดการตอบโต้กันระหว่าง Roskomnadzor องค์กรควบคุมสื่อของรัสเซียกับเฟซบุ๊ก มีการประกาศว่าจะจำกัดการเข้าถึง เฟซบุ๊กในรัสเซีย ตามข่าวของอัลจาซีรา คือรัสเซียขอให้เฟซบุ๊กยกเลิกเงื่อนไขข้อจำกัดที่ทำกับสื่อหลักสี่รายของรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึง RIA News Agency โดยเฉพาะขอให้ยกเลิกฟังก์ชันการตรวจสอบหรือ fact checking รวมทั้งการ lebel เนื้อหาของสื่อทั้งสี่ราย แต่เมื่อเฟซบุ๊กไม่ทำตาม รัสเซียจึงประกาศว่าจะจำกัดการเข้าถึงเฟซบุ๊ก
อันที่จริงรัสเซียอาจจะไม่เดือดร้อนมากนักกับการที่สื่อหลักโดนบล็อก เอพีรายงานไว้ว่าเครือข่ายข้อมูลข่าวสารอันใหญ่โตในสังกัดของทางการรัสเซียมีหนทางในการปล่อยข้อมูลผ่านกลุ่ม องค์กร แม้แต่บุคคลจำนวนมากจนยากที่จะตามรับมือได้หมด เป็นระบบที่รัสเซียวางเอาไว้อย่างหนาแน่นและกว้างขวางก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันสำหรับโลกภายนอก ก็มีความเป็นห่วงผู้ใช้ทั่วไปในรัสเซียเพราะว่ามีคนจำนวนไม่น้อยใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่แสดงออกว่า ไม่เห็นด้วยกับการบุกยูเครน การตอบโต้กันด้วยการจำกัดการเข้าถึงจึงมีผลทั้งสองด้านและเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง
อีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนขอนอกเรื่องตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาณของการใช้สื่อที่รู้สึกว่าเพื่อให้เป็นเครื่องมือของการลงโทษทางสังคม
RTE News ที่เป็นสื่อสาธารณะของไอร์แลนด์ได้สัมภาษณ์สดทูตรัสเซีย Yuri Filatov โดยผู้ดำเนินรายการ David McCullagh มันเป็นบทสัมภาษณ์ที่ ได้รับการกล่าวขวัญถึงพอประมาณ และสำหรับคนที่ติดตามข่าวรัสเซีย/ยูเครนบางคนอาจจะเป็นความสะใจเพราะมันเป็นการรุกไล่ทูตรัสเซียจนแทบจะตอบคำถามอันใดไม่ได้ คำถามของผู้สัมภาษณ์รวมไปถึงที่ว่า เหตุใดไอร์แลนด์ต้องให้ทูตผู้นี้อยู่ในประเทศต่อไปในเมื่อเขาเป็น apologist for slaughter คือเป็นผู้ช่วยปกป้องหรือแก้ตัวให้กับการเข่นฆ่าสังหาร บทสัมภาษณ์นี้แน่นอนว่าได้รับทั้งคำชมและเสียงด่า คนที่ชมคือรู้สึกว่าต้องมีสื่อเช่นนี้ไล่ล่าคนที่พวกเขาเห็นว่าเข้าข้างหรือสนับสนุนคนทำผิดจะทำให้เกิดความละอายในสิ่งที่กระทำ ในขณะที่คนที่ด่าส่วนหนึ่งรู้สึกว่าทูตรัสเซียไม่ได้โอกาสในอันที่จะตอบคำถามอย่างเต็มที่เพราะถูกตัดบทตลอดเวลา และเห็นว่าควรปล่อยให้เขาพูดให้เต็มที่แล้วคนฟังจะคิดได้เอง บทสนทนานี้จบด้วยคำพูดผู้ดำเนินรายการที่ปิดท้ายว่า “และนั่นคือทูตรัสเซียประจำไอร์แลนด์ อย่างน้อยก็ในตอนนี้” (for now, at least) นับว่าเป็นบทสัมภาษณ์สไตล์แข็งกร้าวซึ่งผู้ชมต่างประเทศคุ้นชินกันจากรายการอย่างเช่น HARDtalk
อันที่จริงเรื่องของท่าทีอาจไม่เท่ากับเรื่องของเนื้อหา โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดโอกาสให้แหล่งข่าวได้ตอบอย่างจริงจังตามหลักการให้ความเป็นธรรมกับแหล่งข่าวและการให้ข้อมูลกับผู้รับข่าว หากไม่ได้โอกาสตอบอย่างจริงจัง บทสัมภาษณ์นั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นการลากแหล่งข่าวมา “สับ” กลางอากาศเพื่อความสะใจของคนดู ในเรื่องของการสัมภาษณ์สดที่ผู้เขียนเคยร่ำเรียนมา ผู้สัมภาษณ์สดมีหน้าที่ดึงเอาข้อมูลออกมาจากแหล่งข่าว นี่เป็นงานหลัก สิ่งที่ไม่ควรทำคือปล่อยให้แหล่งข่าว “น้ำท่วมทุ่ง” จนหาประเด็นไม่ได้ ต้องพยายามตบการสัมภาษณ์ให้เข้าเรื่อง และต้องไม่ปล่อยให้มีการกล่าวหาผู้คนหรือแก้ตัวซ้ำซากและโดยไม่มีหลักฐานหรือไม่มีฝ่ายที่ถูกกล่าวหามาตอบโต้ ในกรณีที่หาคู่กรณีมาแก้ต่างไม่ได้ พิธีกรหรือผู้สัมภาษณ์ต้องทำหน้าที่ “ถ่วงดุล” ด้วยคำถาม แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่ได้คำตอบที่มีความหมายใด ๆ แต่ด้วยวิธีนี้ย่อมช่วยให้บทสัมภาษณ์นั้น ๆ เป็นการให้ข้อมูลกับผู้รับสารมากขึ้น อย่างน้อยให้รู้ว่าประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันนั้นอยู่ที่ใด
ประเด็นคือในขณะที่กลุ่มประเทศอย่างอียูบล็อกสื่อรัสเซียเพราะถือว่าทำตัวเป็นส่วนขยายของรัฐบาล เผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อและปกปิดความจริง อีกด้านหนึ่งสื่อที่ไม่ใช่ของรัสเซียก็น่าที่จะต้องยึดมั่นกับเรื่องของการให้ข้อมูลสังคมเช่นเดียวกัน ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อหลักควรยึดมั่นในเรื่องการให้ข้อมูล
ส่วนเรื่องของการตอบโต้ในสงครามข้อมูลข่าวสารด้วยการบล็อกสื่อนั้น ทำให้มีคำถามตามมาว่าคาดหวังผลอะไร อย่างไรก็ตาม การบล็อกสื่อ ขณะนี้ยังคงเป็นมาตรการที่จำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศอียู สหรัฐฯ ยังไม่ได้กระโดดเข้าร่วมวง สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยในเรื่องการแสดงออกค่อนข้างมาก แม้แต่เรื่อง hate speech หรือประทุษวาจา สหรัฐฯ ก็ยังไม่กำหนดเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย ปล่อยให้ผู้คนแสวงหาคำตอบที่ใช่กันเอาเองด้วยการสนับสนุนให้มีการแสดงออกอย่างเต็มที่ เป็นวิธีคิดอีกอย่างที่ต่างกันออกไปจากอียูที่มีข้อห้ามอย่างชัดเจน
แต่ถึงแม้ไม่บล็อกสื่อรัสเซีย ในห้วงเวลาแบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่าน้อยคนจะยึดถือเนื้อหาสื่อรัสเซียจริงจัง ทุกวันนี้เราได้เห็นความระแวดระวังของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเรื่องของข้อมูลอย่างชัดเจนในแทบจะทุกบทสนทนาตั้งแต่วันที่รัสเซียบุกยูเครน อาจจะเรียกได้ว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้งานมาอย่างสม่ำเสมอต่างมีประสบการณ์ในเรื่องการรับมือข้อมูลข่าวสารพอสมควรจนยากจะหลอกได้ง่าย ๆ และการที่ผู้คนจำนวนมากเข้าไปเสนอความเห็นกับ Sam Harris ว่าต้องการให้เชิญผู้เชี่ยวชาญอิสระไปให้ข้อมูลก็ตอกย้ำประเด็นที่ว่า เรื่องของข้อมูลต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ หากดูพฤติกรรมของสื่อรวมไปถึงการมีพฤติกรรมของรัฐบาลในการควบคุมสื่อ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อตัวสื่อเองให้หมดความน่าเชื่อถือ กรณีของสื่อรัสเซียกับการรายงานข่าวการบุกยูเครนตอกย้ำบทเรียนที่เป็นของรัฐบาลและผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะในเรื่องผลเสียของการควบคุมสื่อ เพราะข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือจึงจะมีคุณค่า การเสนอข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือก็ไม่ต่างจากการขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และมันก็คือการลงทุนที่สูญเปล่านั่นเอง