เรือเล็กควรออกจากฝั่ง "การเมืองเก่า” - Decode
Reading Time: 2 minutes

มองการเมืองภาคใต้จากสายตา “ผู้แพ้” ศึกเลือกตั้งซ่อมสงขลาที่พรรคประชาธิปัตย์เฉือนชนะพรรคพลังประชารัฐ มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และสายตามองอย่างแปะป้ายของคนนอกพื้นที่ “จะเลือกอีกกี่ครั้งก็ได้เหมือนเดิม” “เสาไฟฟ้าลงก็ได้เป็น” เพราะที่นี่คือพื้นที่หัวหาดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมืองหลวงของการเมืองเก่า เป็นแบบนั้นจริงหรือ ? พูดคุยกับธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 จังหวัดสงขลา พรรคก้าวไกล ไอคอนของความมุ่งหมายที่ต้องการจะ ‘disrupt’ การเมืองในบ้านเกิดของตัวเอง

เลือกไปเถอะอย่างไร การเมืองภาคใต้ก็ไม่เปลี่ยน ?

พรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่เพิ่งจะลงหลักปักธงได้ไม่กี่สิบปีนี้เอง อย่างคุณชวน หลีกภัยเป็นผู้แทนสมัยแรกในปี 2512 กว่าประชาธิปัตย์จะกินพื้นที่ภาคใต้ได้ทั้งหมดก็ปี 2534 ใช้เวลาถึง 22 ปี ชุดความคิดแบบของก้าวไกลเพิ่งมีอายุมาได้แค่ 2 ปีเท่านั้นเอง มันไม่เปลี่ยนในปีสองปีนี้แน่ แต่มันจะเปลี่ยน ทุกอย่างไม่มีอะไรไม่เปลี่ยน อย่างน้อยสิ่งที่ปักธงในพื้นที่ได้ คือมีการหาเสียงด้วยการพูดถึงนโยบายแล้ว ไม่ใช่แค่ใครเป็นคนของพรรคไหน หรือยึดโยงกันแค่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น

คนใต้เปลี่ยน…เปลี่ยนไปเลือกพลังประชารัฐ

สิ่งที่เราทำได้คือเชื่อมั่นในความคิดของเรา เชื่อมั่นในตัวประชาชน ถ้าสุดท้ายแล้วเราปักธงความคิดไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของประชาชน เป็นความผิดของเราเองที่ทำงานหนักไม่พอ แน่นอนกระแสของความคิดในเชิงอนุรักษนิยมยังคุกรุ่นอยู่ แต่จะบอกว่าชุดความคิดนั้นเป็นตัวแทนของคนใต้ทั้งหมดก็คงไม่ถูก เพราะตั้งแต่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ เราได้เห็นกระแสการตื่นตัวของคนในพื้นที่หลายกลุ่ม ที่ไปสั่นคลอนสมดุลทางการเมืองที่วนได้ประโยชน์กันอยู่ไม่กี่กลุ่มให้สั่นคลอน เราไม่ได้บอกว่าการเมืองแบบของพรรคเรามันใหม่ เพราะมันคือสิ่งที่ควรเป็นอยู่แล้วตั้งแต่ต้นต่างหาก

จากนี้ไปสิ่งที่เราหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ เวลาต่อจากนี้จะเป็นตัวพิสูจน์กับประชาชนว่าเราตั้งใจกับปัญหาที่เรารับปากว่าจะแก้จริงรึเปล่า ถ้าเรามองดูรอบ ๆ ท้องถิ่นตรงนี้มันมีแต่ทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล อย่างด่านสะเดา ด่านที่ทำรายได้มากที่สุดในประเทศ มีผู้คนสัญจรไปมาตลอดเวลา ถนนหนทางที่ใช้พังเป็นหลุมเป็นบ่อ เม็ดเงินสะพัดไม่รู้เท่าไหร่ แต่คำถามสำคัญคือคนพื้นที่ได้อะไรบ้าง นี่ต่างหากที่สำคัญ

อย่างเรื่องด่านใหม่ที่จะมาเปิดเพิ่มต่อจากด่านสะเดา โครงการมาแล้ว ทำถนนกันใหญ่โต แต่ที่เปิดไม่ได้ทุกวันนี้เพราะอีกฝั่งของประเทศมาเลเซียทางออกของด่านที่ไทยสร้างดันไปติดกับค่ายทหาร แล้วใครเขาจะให้คุณเปิดด่าน เนี่ย ไม่ใช่ไม่มีข้อมูล ทำไมถึงไม่คุยกันก่อนสร้าง ปัญหามันคืออะไร

ดีลจบ ระบบอุปถัมภ์ กับปมปัญหาใหญ่

ผมเรียกปัญหานี้ว่า การมีสมดุลทางเศรษฐกิจการเมือง สมดุลนี้มันนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้พื้นที่เราไม่ขยับไปไหน มันดีลกันจบไปแล้ว ดีลกันบนเงื่อนไขที่ไม่ได้มีประชาชนในสมการ เอางบเอาโครงการมาลงในพื้นที่โดยไม่ได้ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน ไร้ทิศทาง ผมคิดว่าในภาคใต้ของเราทั้งภาคเป็นแบบนั้น

คำสาปภาคใต้ ทำลายระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัญหาแบบนี้ไปที่ไหนก็เจอ เหมือง เขื่อน โรงงานไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาธิปไตยอ่อนแอ ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นี่ไม่ใช่คำสาปที่เกิดขึ้นกับภาคใต้เท่านั้น เราต้องสร้างท้องถิ่นที่มัน ‘Healthy’ ไม่ใช่แค่เรื่องที่ใช้งบประมาณมหาศาลอย่างสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือด่านใหม่ แต่เป็นตั้งแต่เรื่องน้ำที่เราดื่ม ข้าวที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ นี่คือปัญหาที่ทั้งประเทศมีร่วมกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับภาคใต้ แปลว่าเราแก้ปัญหานี้เหมือนที่อื่นได้เหมือนกัน

การทำลายสมดุลทางการเมืองที่เขาดีลกันมาแล้วลงตัว ทำลายระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ระบบนี้เวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับประชาชนเขาก็จะช่วยเกื้อหนุนกัน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการตามระบบหรือกฎหมาย เช่นรถขนไม้ยางโดนจับ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ก็จะไปคุยกับตำรวจให้ แต่เราไม่เคยใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วอย่างกรรมาธิการ เช่น ให้กรรมาธิการเปิดข้อมูลศึกษาว่าธุรกิจไม้ยางมันต้องขนไม้ยางเท่าไหร่ถึงจะได้กำไรคุ้มทุน จะได้ไม่ต้องโดนตำรวจจับให้เป็นบุญคุณกับผู้มีอำนาจต้องมาเคลียร์ตำรวจให้

หรืออย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม พอมีปัญหาที ชาวบ้านร้องเรียนที ส.ส.ก็ไปตกลงคุยกับนายทุนที โดยที่ประชาชนไม่เคยรู้ว่าเขาไปตกลงอะไรกัน แต่ถ้าเราใช้กลไกกรรมาธิการเรียกหน่วยงานข้าราชการ เรียกนายทุน เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องปิดบังข้อมูลชาวบ้านหรือไม่ตบทรัพย์นักธุรกิจที่ไหน นี่คือสิ่งที่การเมืองควรจะเป็นอยู่แล้วแต่ไม่ได้เป็น

“จะแพ้อีกสักสิบปีก็ไม่เป็นไร ขอให้เราได้เอาความคิดนี้เข้าไปคุยกับบ้านของเราเอง”

‘รื้อสร้าง’ ความเชื่อชุดเก่า เริ่มจาก ‘เลิกกลัว’

คนบางคนที่เขาหวังดีกับเราก็จะบอกว่าเสียดาย เราอยู่ผิดพรรค แต่สำหรับเรามันเป็นการรื้อสร้าง ต้องเลิกกลัว แสดงตัวออกมาให้ชัด อุดมการณ์เราตรงกับพรรค เราเชื่อในวิธีวิถีแบบนี้

อย่ากลัวที่จะเผชิญกับพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย นี่เป็นวิธีแรกที่เราจะรื้อสร้างความเชื่อเดิม ๆ ได้ สิ่งที่สองคือความอดทนอดกลั้น สิ่งที่รอเราอยู่คือความเห็นที่แตกต่างจากเราในหลากหลายรูปแบบ เราจะต้องรับฟังให้มากและอยู่ร่วมกันให้ได้ สิ่งที่สามคือความมุ่งมั่น กล้าที่จะปักธงทางความคิด ถกเถียง แลกเปลี่ยน อย่ากลัว ไม่ใช่แค่กับการเมือง การจะให้คนลุกขึ้นมารื้อสร้างสิ่งต่าง ๆ แม้แต่กับตัวเราเองก็ต้องอาศัยสามข้อนี้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ไปไหนเลย

ผมเชื่อว่าการรื้อสร้างเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ ต่อให้วันหนึ่งพรรคก้าวไกลเก็บพื้นที่ภาคใต้ได้ทั้งภาค ในอนาคตก็จะมีพรรคอื่น ๆ มาท้าทายชุดความคิดของเรา นี่คือเรื่องธรรมชาติไม่แปลกอะไร และสังคมมันจะไปข้างหน้าเรื่อย ๆ แต่ที่แปลกก็คือการที่คุณพยายามยื้อยุดให้สังคมมันอยู่ที่เดิม ไล่ปิดปากคนที่พยายามรื้อสร้างวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เป็นอยู่ แบบนี้ต่างหากที่ไม่ปรกติ แบบนี้ต่างหากที่ป่วย การขัดขวางกระบวนการรื้อสร้างของสังคมต่างหากที่เป็นการฝืนกฎของธรรมชาติ