'สมชาย ปรีชาศิลปกุล' มองอ่างแก้ว เห็นยอดตึกรัฐสภา แขนขารัฐประหารและชนชั้นนำ - Decode
Reading Time: 2 minutes

นัยสำคัญของการลุกขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์ของคณาจารย์ 3 ท่าน ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ถูกเสนอชื่อเป็นอธิการบดีคนต่อไป ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงเจตจำนงในการแสดงแนวทางและวิสัยทัศน์ของการบริหาร ลึกลงไปในเนื้อหาบทปราศรัยของอาจารย์แต่ละท่านคือคำถามต่อระบอบอำนาจเก่าที่ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมไทย

De/code ชวน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นอธิการบดีในครั้งนี้ ถึงความสำคัญของการออกมาร่วมต่อสู้กับประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อกะเทาะเปลือกที่หุ้มปัญหาในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปจนถึงปริมณฑลของสังคมไทย เพราะทางออกของเรื่องนี้คือการนำมาคุยกันอย่างเปิดเผยไม่ปกปิด

โปร่งใส ตรวจสอบได้ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์

ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของการสรรหาอธิการบดี มช. เริ่มจากบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอและเรียกร้องให้สภาพนักงานเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์และเปิดโอกาสให้มีการหยั่งเสียงในการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ทางสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปฏิเสธ สะท้อนการวัดกำลัง”ภายใน” ยกแรก!

กระทั่งสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแสดงวิสัยทัศน์ ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีแคนดิเดตว่าที่ผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนใหม่ ตอบรับเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ 3 คนประกอบด้วย ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ก่อนจะมีการเรียกร้องให้หยั่งเสียงก่อนการสรรหาอธิการบดีคนต่อไป การหยั่งเสียงซึ่งเป็นระบบที่ชี้ให้เห็นถึงตัวบุคคล ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย จำเป็นที่จะต้องมีเสียงมาจากประชาคม ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ไม่ใช่เพียงคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเท่านั้น อาจารย์สมชาย กล่าวย้ำด้วยว่า ระบบที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ เป็นเหมือนกันทั่วประเทศ และควรจะปรับเปลี่ยนเสียที

ความจำเป็นอีกประการหนึ่งของการแสดงวิสัยทัศน์สำหรับผู้ที่จะขึ้นมารับตำแหน่งอธิการบดี คือการเข้ามากำหนดทิศทางให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการทำงานแต่ละสาขาวิชามากขึ้น

ที่สำคัญคือทำให้มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของบุคลากรมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่บุคลากรทุกตำแหน่งก็มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนามหาวิทยาลัยมาด้วยกัน การหยั่งเสียงเพื่อสรรหาอธิการบดี จึงเป็นการให้บุคลากรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก คนที่พวกเขาคิดว่าจะได้รับการดูแลและสวัสดิการที่ดีขึ้นในแต่ละวาระ

นอกจากนี้อาจารย์สมชายก็ไม่ได้เห็นถึงความเสียหายใด ๆ ในการที่ผู้ถูกเสนอชื่อทุกคนต้องแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ นอกจากในระดับมหาวิทยาลัยหรือในภาคสังคมอื่น ๆ ก็มีการแสดงวิสัยทัศน์เช่นเดียวกัน ทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงทิศทางในการขึ้นมาบริหาร รวมถึงผู้บริหารได้รวมใครลงไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมที่ตัวเองเป็นผู้นำหรือไม่ รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มีการหยั่งเสียง ก่อนที่จะเลือกอธิการบดีคนต่อไป เพื่อจับทิศทางของประชาคม ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทุกคน

ไม่ว่าจะเหตุการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือสถานการณ์ในสังคมไทย อดที่จะคิดไม่ได้ว่า การที่ผู้บริหารไม่ออกมาแสดงแนวคิดที่จะบริหารสังคมนั้น แท้จริงแล้วกลัวอะไรผ่านการแสดงวิสัยทัศน์กันแน่

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของการแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์และการหยั่งเสียงประชาคมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากหน่วยงานชั้นบนของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด กิจกรรมเหล่านี้ถูกจัดขึ้นโดยองค์กรหลายภาคส่วนของนักศึกษา ก่อนหน้านี้ทางอาจารย์ได้มีการติดต่อไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสภามหาวิทยาลัยและสภาพนักงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่คำตอบที่ได้รับ คือการบ่ายเบี่ยงถึงหน้าที่กันไปมาของแต่ละองค์กร ที่ควรจะรับผิดชอบภารกิจนี้

เพราะที่สุดแล้ว การที่ผู้บริหารได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าประชาคม ไม่ต่างอะไรกับการแสดงเจตจำนงที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ต่อหน้าประชาคม ที่จะเป็นหลักประกันต่อบุคลากรและหลักที่มั่นคงต่อการรับตำแหน่งนั่นเอง

อธิการบดี: การสืบทอดอำนาจ แขนขารัฐประหารและรับใช้ชนชั้นนำ ?

สถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาของระบบเสรีนิยมใหม่เพียงอย่างเดียว แต่กลับถูกสนับสนุนด้วยระบอบเผด็จการตลอดมา ภายใต้การแข่งขันที่เร่งรัดเพื่อเอาปริมาณบทความวิจัย เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศถูกลิดรอนเสรีภาพออกไปด้วยเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบจนเป็นเหตุให้คณะรัฐประหาร ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามายึดอำนาจนั้น กลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่เอื้อให้การยึดอำนาจในครั้งนั้นมีความชอบธรรมในสายตาสังคมมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่เป็นจุดเริ่มต้นต่อการจำกัดเสรีภาพในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งรัฐประหารเมื่อปี 2557 ระบบมหาวิทยาลัยในไทยก็ถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ สิ่งที่พบเห็น ณ ช่วงเวลานั้น คือการที่ผู้บริหารในหลายมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนต่อคณะรัฐประหารไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

อาจารย์สมชายแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุในการสนับสนุนไว้สองข้อ หนึ่งคือเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับคณะรัฐประหาร เมื่อปี 2557 มีการเสนอชื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายคนเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อไปแก้ร่างกฎหมายของคณะรัฐประหารชุดนี้ให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจอีกที รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายปัญญาชนที่อยู่ฝ่ายรัฐประหารให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

มองให้ลึกลงไป อธิการบดีท่านใดที่รับตำแหน่งนี้ไปด้วย ก็จะได้รับเงินทั้ง 2 ทาง และสองเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้บริหารนั้น ๆ

เมื่อมองปัญหาเรื่องของการสืบทอดอำนาจในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือตำแหน่งอธิการบดี ก็จะพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ ที่ไม่ได้เปิดรับการหยั่งเสียงและจัดหากรรมการมาพิจารณากันเอง ความสัมพันธ์ของตำแหน่งอธิการบดีและคณะรัฐประหาร จึงเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญในการเอื้อผลประโยชน์กันไปมา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นสถานที่หลักในการทำกิจกรรมทางการเมืองในภาคเหนือ อาจารย์สมชายชี้ให้เห็นว่านอกจากมหาวิทยาลัยจะไม่ได้ปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองสำหรับนักศึกษาของตน เอาเข้าจริงแล้วอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยเองเสียมากกว่า ที่ชี้เป้าให้รัฐสามารถคุกคามนักศึกษาของตนได้

เพราะฉะนั้นแล้ว 1 ความฝัน ที่อาจารย์สมชาย ได้ปราศรัยในการแสดงวิสัยทัศน์ไป คือต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ยึดมั่นในภูมิปัญญาและเคารพต่อระบอบประชาธิปไตย ตำแหน่งอธิการบดีจำเป็นที่จะต้องเห็นแก่ประชาคมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการไม่เอื้อต่อระบอบเผด็จการหรือคณะรัฐประหาร เช่นนั้นมหาวิทยาลัยจึงจะมีความเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ด้วยการยอมรับความเห็นต่าง

มูลค่า Scopus กับการตีราคาบุคลากรในรั้ว ” มหา’ลัย ” เป็นโรงงานอุตสาหกรรม

อาจารย์สมชาย ได้ยกตัวอย่างหนึ่งของการกำหนดทิศทางที่ผิดลู่ผิดทางซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อย่างการพยายามไต่อันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ด้วยแนวนโยบายที่ผลักดันและกดดันให้เหล่าคณาจารย์ต้องตีพิมพ์บทความวิชาการลงในวารสารวิชาการภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า Scopus เพื่อให้ได้คะแนนในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่สูงขึ้น

“ผมคิดว่านี่มันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น การตีพิมพ์บทความวิชาการลงใน Scopus เนี่ยครับ มันอาจจะได้ผลในสายงานวิทยาศาสตร์ กลับกันในองค์ความรู้ของสังคมศาสตร์ บทความเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำเป็นเวลานาน”

ปัญหาที่เกิดจากการเร่งให้เกิดบทความวิชาการจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้เลื่อนลำดับมหาวิทยาลัยโลก ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียงที่เดียว แนวนโยบายนี้ยังคงใช้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ยังมีประเด็นเรื่องการให้ผู้ที่จะจบปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในไทย จำเป็นที่จะต้องได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Scopus เสียก่อนจึงจะจบได้ รวมถึงมีการจ้างชาวต่างชาติ ในการเข้ามาเขียนบทความเพื่อการตีพิมพ์นี้เพื่อเพิ่มผลงานให้กับมหาวิทยาลัย

“มันไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในโลกหรอกครับ ที่กระทำการเช่นนี้ สมมติว่าคุณเรียนจบแล้ว ส่งวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว แต่ถ้าคุณยังไม่ได้ส่งบทความไปตีพิมพ์ หากยังไม่ได้ลงตีพิมพ์อีก ถือว่าคุณก็ยังไม่จบ ซึ่งกระบวนการตั้งแต่การทำไปจนถึงการอนุมัติมันใช้เวลานานมาก หลังจากบทความถูกตีพิมพ์แล้วใครกันอีกที่จะได้อ่านบทความเหล่านั้น”

อาจารย์เสนอความคิดเห็นในอีกมุมว่า ยังมีคนจำนวนมากติงถึงการลงบทความในวารสาร Scopus ไม่ได้ถูกใช้ในเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ในทางหนึ่ง วารสาร Scopus ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้วยเหมือนกัน

จากการที่ผู้บริหารเร่งรัดให้เกิดการแข่งขันแบบเสรีนิยมใหม่มากจนเกินไป ทำให้คุณค่าของบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัยจากการเรียนรู้ กลับเป็นการสร้างผลงานเพื่อนำไปประเมินผลจัดอันดับ และถูกตีค่าเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ ปัญหานี้จึงต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้กลับมาเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้มากกว่าการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าและการบริการ

จากอ่างแก้วถึงเจ้าพระยา จารีตเก่าครอบงำ ฝังลึก

“ปัญหาที่สามารถมองเห็นได้ในเหตุการณ์ครั้งนี้ คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่ต่างกัน”

อาจารย์สมชายให้ความเห็น ถึงเรื่องที่เกิดในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสังคมไทย นั่นคือเรื่องของจารีตเก่าที่เข้ามาครอบงำและฝังลึกในสังคมไทยมาโดยตลอด

“เรามักจะพบว่าในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม การเข้ามาดำรงตำแหน่งในหลาย ๆ ครั้งเนี่ย เข้ามาโดยกระบวนการที่มันผิดกติกา แต่มันก็จะมีกฎหมายรองรับไว้ แต่เราก็จะพบว่ากระบวนการเหล่านั้นมันมีลักษณะในรูปแบบของพิธีกรรมเสียมากกว่า โดยที่เราก็จะรู้กันว่าคนที่เข้าไปอยู่องค์กรนี้ต้องเป็นคนของใคร”

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างของการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถ้าหากว่าใครที่ทำงานอยู่ในองค์กรเอกชน มีผลงาน มีฝีมือ แต่ทิศทางการทำงานนั้นสวนทางหรืออยู่คนละฝั่งกับรัฐบาล ก็จะถูกปัดตกไปโดยปริยาย เช่นเดียวกันกับสถานการณ์การสรรหาอธิการบดี ที่มีกระบวนการแต่ก็เป็นกระบวนการที่ไม่เปิดกว้างเท่าไหร่นัก ท้ายที่สุดประชาคมก็จะได้กลุ่มคนที่เราพอจะคาดเดาได้ว่าเป็นใคร มีลักษณะแบบไหน

ถ้าหากมองในภาพรวมของสังคมไทยก็จะพบเจอกระบวนการแบบนี้ร่วมอยู่ด้วย อาจจะมาในชื่อของคอร์รัปชันบ้าง ใต้โต๊ะบ้าง เด็กพี่…บ้าง การลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้จึงเป็นการย้ำเตือนกับสังคมไทยอีกครั้ง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเราก็ไม่ควรจะชินชากับมัน แต่ต้องตั้งคำถามและส่งไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดการเรื่องนี้ ในฐานะที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกัน

หลังกำแพงพังทลาย สังคมเปิดรับความเห็นต่าง

จากคำปราศรัยของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ถึงการทำลายกำแพงทางความคิด 5 กำแพง De/code ได้นำคำถามนี้มาถามอาจารย์สมชาย ว่ากำแพงใดบ้างที่อาจารย์สมชายอยากทำลายและถ้ากำแพงนั้นพังลงเราจะได้พบเจอกับอะไร

กำแพงแรกที่ควรจะต้องทำลายมีชื่อว่า การปิดกั้นแสดงความคิดเห็น อาจารย์เชื่อว่าสังคมที่จะเจริญงอกงามต้องเปิดรับความเห็นต่างที่จะนำไปสู่การถกเถียงเพื่อการพัฒนา เพราะนี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในประชาคมได้มากขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกัน

กำแพงที่สองคือ ความไม่โปร่งใสในระบบมหาวิทยาลัย ควรจะทำให้ทุกหน่วยงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จากทุกภาคส่วนในประชาคม อาจารย์กล่าวว่า ประชาคมมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียง นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรเพียงเท่านั้น ทว่ามหาวิทยาลัยได้ลืมชุมชนท้องถิ่น อย่างการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา ที่เชียงใหม่มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยได้เข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้างในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อของจังหวัดนี้ มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องเปิดรับเรื่องเหล่านี้ด้วย

กำแพงสุดท้ายคือกำแพงทิศทางของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนในการไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลกอย่างหน้ามืดตามัว การทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเพื่ออันดับเหล่านี้นอกจากจะไม่คุ้มค่า เราควรจะมองไปที่ความหลากหลายและแตกต่างของสาขาวิชาความรู้ ว่าแต่ละสาขาจะสามารถพัฒนาและประเมินวัดผลตัวเองอย่างไรให้สอดคล้องเฉพาะกับสาขาของตน

สิ่งที่อาจารย์สมชายพูดมามีความเหมือนกับ การลดอำนาจของศูนย์กลางและเพิ่มการกระจายอำนาจให้แต่ละสาขาวิชาหรือหน่วยงานได้มีสิทธิ์ในการออกแบบทิศทางของตนเองมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องและตอบรับกับผู้ที่อยู่ในหน่วยงานนั้นจริง ๆ เพราะการสร้างชุดประเมินชุดหนึ่งมาวัดประเมินทุกสาขา ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการให้ปลาและกบไปแข่งวิ่งทางไกลกับม้า อีกทั้งการบริหารงานแบบ Top – Down ก็ไม่ได้สอดคล้องและตอบโจทย์กับการบริหารงานการศึกษานัก

หลังจากเปิดโหวตการหยั่งเสียงโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ทัศนัย ได้รับคะแนนการหยั่งเสียงมากที่สุด จำนวน 516 คะแนนจากทั้งหมด 1,375 คะแนน ทั้งนี้ คะแนนที่ปรากฏอาจไม่ได้เป็นตัวยืนยันคำตอบทั้งหมด เพราะยังคงต้องรอคอยคำตอบสุดท้าย จากคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ว่าใคร จะได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนต่อไป ซึ่งก็คงนิยามแพ้/ชนะครั้งนี้ได้ยาก เพราะเพียงแค่ยกแรก! ก็สร้างแรงกระเพื่อมไปไกลกว่าอ่างแก้วแล้ว

ใครจะ “วิน” อาจจะไม่สำคัญไปกว่า กำแพงทางความคิดที่ค่อย ๆ พังทลายลง