มองปรัชญาการเฉลี่ยทรัพย์สินผ่านซีรีส์ Money Heist - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ซีรีส์ Money Heist หรือทรชนคนปล้นโลกเป็นซีรีส์ที่มีผู้ที่ติดตามจำนวนมหาศาลทั้งโลกตะวันตกรวมถึงประเทศไทย เริ่มฉายในปี 2020 จนในที่สุดในช่วงปลายปี 2021 ซีรีส์ก็มาถึงบทสรุปในซีซั่นที่ 5 ถือว่าเป็นสิ้นสุดภาพยนตร์การปล้นที่มีคนติดตามมากที่สุดในรอบหลาย 10 ปีทีเดียว แน่นอนที่สุดว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงแค่หนังแอ็คชั่นที่เน้นการถ่ายทำถึงฉากการออกสู้จากการปะทะต่อสู้ แต่ได้พูดถึงปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่ง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การวางแผนรวมถึงหลักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งและแนวคิดการจัดการทรัพยากร

ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับภาพยนตร์การปล้นครั้งนี้คือการฉายให้เห็นความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ในระบบทุนนิยม ความมั่งคั่งที่เกิดจากการปล้นชิงจากคนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็กลายเป็นความมั่งคั่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อโลกมนุษย์ใบนี้ เมื่อออกจากกำแพงสูงทาง ออกจากป้อมปราการที่คนรวยสร้างไว้ เพื่อปกป้องทรัพย์สินของเขาที่ไม่สามารถใช้ได้หมดในชั่วอายุจากคนข้างนอกป้อมปราการนั้น ในภาพยนตร์ได้พูดถึงแผนการปล้นครั้งใหญ่ 2 ครั้งก็คือการปล้นโรงกษาปณ์แห่งสเปน ผ่านหลักการที่ว่ามันคือการปล้นเงินที่ยังไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของไม่มีใครเดือดร้อนกับเงินนี้ ส่วนครั้งที่ 2 คือการปล้นที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด คือการปล้นทองคำจากธนาคารกลางแห่งประเทศสเปน ในบทความนี้จะชวนทุกท่านตั้งคำถามและเชื่อมโยงไปถึงหลักการการเฉลี่ยทรัพย์สินของผู้คนในสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในภาพยนตร์นี้

การปล้นเป็นอาชญากรรมของคนจนเท่านั้น

เมื่อคุณปล้นธนาคารอหรือทรัพย์สินของคนรวยมาเพื่อนำสู่การใช้ชีวิตของคุณ คุณก็อาจจะกลายเป็นอาชญากรที่มีค่าหัวราคาแพง เป็นคนขี้โกงแต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณเป็นคนมั่งคั่งที่ปล้นชีวิตของผู้คน 99% ทั้งชีวิต เป็นการปล้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าคุณปล้นทรัพย์สินเหล่านั้นนำไปพิทักษ์ความมั่งคั่งของคุณให้มากขึ้น เหลือเพียงเศษเล็กน้อยโยนกลับมาให้คนจน สิ่งเหล่านี้คุณอาจจะได้รับการยกย่องในฐานะนักลงทุนผู้สร้างงาน ในฐานะนักบุญหรือเศรษฐีใจดี นับเป็นคือความย้อนแย้งลำดับที่ 1 บทสนทนาสำคัญที่เราจะเห็นจากซีรีย์ Money Heist ก็คือ “คุณคิดว่าพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกเหรอที่ปล้นธนาคารกลางสเปน” ภาพยนตร์ฉายให้เห็นว่าทองคำมากมายของรัฐบาลสเปนนี้ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาหรือว่าเกิดขึ้นมาจากสูญญากาศและมันเกิดก็ได้มาจากการปล้นชิงชาติใต้อาณานิคมก่อนหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น “คิดว่าธนาคารกลางของทุกประเทศไม่เคยถูกปล้นหรืออย่างไร” ในความเป็นจริงแล้วมีเจ้าสัวเศรษฐีนายทุนเดินเข้าทางประตูหน้าได้สนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติไม่นานนักรัฐบาลก็มีนโยบายออกมา คนเหล่านี้สามารถปล้นธนาคารกลางได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายพวกเขาขนเงินพันล้านหลักหมื่นล้านออกทางประตูหน้าโดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติแทบทุกประเทศเดินลงมาเปิดประตูให้ด้วย ทั้งหมดนี้คือนโยบายพยุงเศรษฐกิจของแต่ละประเทศภายใต้คำใหญ่ๆว่าด้วยการกระตุ้นการลงทุน การรักษางานและงบประมาณมากมายของแต่ละประเทศ สินเชื่อจำนวนมากมายที่รัฐบาลเป็นคนจัดหาให้ก็กลับเข้าไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

“พวกเขาปล้นธนาคารกลางชาติแทบทุกชาติโดยมีกฎหมายได้ความมั่งคั่งแล้วก็มั่งคั่งมากขึ้นไป”

ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศถูกทิ้งไว้ให้อยู่กับความสิ้นหวังความยากจนประสบกับความยากลำบากที่จะเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นแทบทุกประเทศ

พวกเราถูกทำให้ตรึงใจกับอาชญากรรมของคนจน การประหัตประหารกันระหว่างคนจนด้วยกันความโหดเหี้ยมของคนจน ความสิ้นหวังดูคล้ายสัตว์ป่าของคนจน เมื่อพวกเขาก่อการปล้นหรือขโมย ขณะเดียวกันพวกเราก็มองไม่เห็นความเลือดเย็นไร้หัวใจที่ฆ่าพวกเราให้ตายทั้งเป็นทุกวันทุกชั่วโมงทุกวินาทีโดยกลุ่มคนมั่งคั่งในสังคมที่ทำได้อย่างชอบธรรมที่สุด 

ถ้าคนรวยต้องเสียสละโดยการจ่ายภาษีมากกว่าคนอื่นทำให้พวกเขาเดือดร้อนจริงหรือ ?

“ทองคำนี้เป็นทองคำที่ไม่มีใครเคยใช้มันฝังอยู่ในตู้นิรภัยที่ฝังลึกลงไปมันถูกอ้างว่า ทุกคนเป็นเจ้าของไม่มีใครเคยใช้มัน”  หนึ่งในบทสนทนาสำคัญจากการปล้นทองคำในธนาคารกลางสเปนชวนให้ผมไปคิดตามต่อไปว่ามันคงมีทรัพย์สินความมั่งคั่งในโลกใบนี้อีกมากมายที่มันฟังดูว่าเป็นเรื่องสำคัญนักหนา ความมั่งคั่งที่ถูกซ่อนไว้อยู่ใต้ตู้นิรภัยความมั่งคั่งที่ดูศักดิ์สิทธิ์ ความมั่งคั่งที่ไม่สามารถล่วงละเมิดได้ ความมั่งคั่งที่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและชนชั้นนำทางการเมืองใช้ทรัพยากรอีกมากมายในการรักษาความมั่งคั่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย นโยบาย กลไกการปราบปรามอย่าง คุก ศาล ทหาร ตำรวจ ยังไม่นับรวมกลไกทางอุดมการณ์ ที่ทำงานในความคิดของผู้คน ให้ผู้คนยอมรับถึงความเหลื่อมล้ำมากมายมหาศาลภายใต้ความมั่งคั่งอันมหาศาลไม่น้อยไปกว่ากันเช่นกัน

แต่เป็นเรื่องที่น่าตลกเพราะมันคือความมั่งคั่งที่ไม่เคยเป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย แม้แต่ผู้ถือครองเอง เพราะความมั่งคั่งนั้นกลับทำให้กำแพงต้องสูงมากขึ้น กลับทำให้การปราบปรามโหดร้ายมากขึ้น เป็นความมั่งคั่งที่เหมือนทองคำในธนาคารกลางสเปนที่เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางจิตวิทยาของระบบทุนนิยมและไม่มีใครเคยใช้มัน ผมอยากชวนให้ทุกท่านคิดกลับกันถึงสิ่งที่สำคัญว่า หากเราเก็บภาษีทรัพย์สินของกลุ่มที่มีความมั่งคั่งมากมายมหาศาลทรัพย์สินเกินกว่า 400 ล้านบาทขึ้นไปเพียง 2 หรือ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมันคือเงินที่นอกจากว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ที่หามาเอง แต่ได้จากการปล้นชิงอย่างชอบธรรมจากผู้อื่นที่ทุกข์ทน สำคัญกว่านั้นยังเป็นเงินในส่วนที่พวกเขาไม่เคยใช้ เราสามารถนำทรัพย์สินส่วนนี้ที่ไม่มีใครเคยใช้ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับใคร เฉลี่ยกลับมาสู่ประชาชนทุกคนอย่างเท่ากัน นอกจากจากคนรวยจะไม่เดือดร้อนอะไรแล้วกำแพงบ้านกำแพงทางสังคมก็จะเตี้ยและผู้คนก็คงสามารถใช้ชีวิตอย่างเสมอภาคและสมศักดิ์ศรีมากขึ้น

มายาคติเก็บภาษีสูง นักลงทุนหนี

เมื่อพูดถึงการปล้นคงดูน่ากลัวแต่ถ้าเทียบกันง่าย ๆไว้แล้วมันก็คือการเก็บภาษีในความมั่งคั่งที่มีมากเกินไปความมั่งคั่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อใครเลยกลับคืนมาสู่สังคม ถ้าพูดเช่นนั้นกลุ่มคนมั่งคั่งก็คงจะอ้างว่า การเก็บภาษีสูงพวกเขาจะย้ายฐานการผลิต สุดท้ายประเทศก็จะสูญเสียงานสูญเสียการลงทุนสูญเสียการบริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นคำขู่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวสำหรับการดึงดูดการลงทุน ไม่เช่นนั้นประเทศที่เก็บภาษีในสัดส่วนที่สูงมากกว่าไทยก็คงไม่มีใครที่จะมาลงทุน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด เหตุผลสำคัญคือลักษณะธุรกิจของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง-ความหลากหลายทางธุรกิจก็ย่อมจะหายไป การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ ๆก็ย่อมถูกจำกัด เมื่อทุกอย่างถูกเริ่มต้นว่าต้องได้เงินมากที่สุด ในทางกลับกันถ้าสังคมปลูกฝังคุณค่าว่า ความมั่งคั่งที่ล้นเกินไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดและกลับกลายเป็นโทษแก่สังคม แต่เหตุใดประเทศอย่างสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์กที่เก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งมากกว่าไทย สามารถนวัตกรรมและเกิดธุรกิจใหม่ ๆได้ ? คำตอบสำคัญคือ เมื่อสังคมมีความเสมอภาค เป้าหมายของการทำธุรกิจมิใช่การได้กำไรสูงสุดอีกต่อไป ลักษณะธุรกิจของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง-ความหลากหลายทางธุรกิจก็ย่อมจะหายไป การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆก็ย่อมถูกจำกัด เมื่อทุกอย่างถูกเริ่มต้นว่าต้องได้เงินมากที่สุด ในทางกลับกันถ้าสังคมปลูกฝังคุณค่าว่า ความมั่งคั่งที่ล้นเกินไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดและกลับกลายเป็นโทษแก่สังคม

บทสรุปสำคัญที่เราได้จากการชมทรชนคนปล้นโลกหรือ Money Heist คือการถามย้อนสู่สังคมของเราว่า เราจะเชื่อหรือไม่บ้านในสังคมเดียวกันสังคมที่จำเป็นต้องมีการอบรมดูแลระหว่างกันมากกว่าสังคมที่ก่อกำแพงสูง คลังทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่ไม่เคยใช้ไว้ในห้องนิรภัยมันจะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำแพงบ้านของเราเตี้ยลง และเกิดความไว้ใจระหว่างกันมากขึ้น ทรัพย์สินและความมั่งคั่งถูกนำมาเฉลี่ยใหม่ให้ทุกคนฐานะสวัสดิการที่ทั่วถึงและเท่าเทียมเพื่อยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน