การกลับบ้านของหัวหน้าฮง และตะกร้าพักใจที่ทุนนิยมมอบให้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เธอเคยรู้สึกตัวเล็กราวกับว่าวันจันทร์และการทำงานในเมืองใหญ่เป็นเรื่องหนักหนากับชีวิตไหม เคยรู้สึกแยกขาดโดดเดี่ยว ตัวคนเดียวไล่ตามฝันและความสำเร็จในกรุงเทพต่อไปราวกับไม่มีที่สิ้นสุดหรือเปล่า ถ้าเธอรู้สึกเช่นนั้นเราคือเพื่อนกัน

ผู้เขียนในวัยเดียงสาต่อความฝันและความสัมพันธ์ของทุนนิยม รู้สึกอ่อนล้ากับเมืองหลวงจึงหอบตัวตนกลับบ้านต่างจังหวัด ผู้เขียนโชคดีที่เลือกได้ว่าจะอยู่หรือไป ถ้าเลือกสู้ต่อความซึมเศร้าป่วยไข้ทางใจคงตามมา เหมือนเพื่อนวัยไร้เดียงสาอีกหลายคนที่เผชิญอยู่ในเมืองนี้

การกลับบ้านของหัวหน้าฮงจากซีรีส์เกาหลี Hometown Cha Cha Cha เป็นภาพแทนชีวิตอันสงบสุขของคนเกาหลีที่เชื่อมโยงได้กับคนไทย แม้กระแสของเรื่องนี้จะซาลง แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของหัวหน้าฮงและทุนนิยมในเกาหลียังคงติดอยู่ในความสงสัยของผู้เขียนเป็นอย่างมาก การกลับบ้านของคนไทยสวยงามสงบสุขเหมือนพระเอกในเรื่องจริงหรือ

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจของเรื่องนี้ไม่ใช่ความงามของชีวิตในต่างจังหวัด แต่เป็นบาดแผลที่ทุนนิยมทำร้ายพระเอกจนพ่ายแพ้ ความผิดพลาดของระบบทำให้ปัจเจกรู้สึกผิด แบกรับเป็นภาระของตน เพราะงานและความสำเร็จที่ระบบมอบให้นั้นผูกโยงกับตัวตนของเขาอย่างแยกไม่ขาดจนเกือบตัดสินใจจบชีวิต หัวหน้าฮงเหมือนคนไทยหลายคนที่รู้สึกเจ็บปวด ซึมเศร้า ติดกับดักของระบบที่ขูดรีดโหดร้าย และหลายคนไม่สามารถเลือกใช้ชีวิตสงบสุขแบบพระเอกในเรื่องได้

อะไรคือความเหมือนในบริบททางสังคมที่ต่างกันของไทยและเกาหลี De/code พูดคุยกับอาจารย์รับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงตะกร้าอีกใบที่ทุนนิยมมอบให้เราอยู่ร่วมกับระบบได้อย่างสงบ

ชีวิตคนเกาหลีใต้อยู่ในตลาดแรงงานเยอะมาก แต่คนกลับรู้สึกแปลกแยกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองทำ เกิดวัฒนธรรมนรกเกาหลีของคนรุ่นใหม่ วัฒนธรรมช่างแม่ง วัฒนธรรมที่ไม่สนใจอะไรแล้ว มันคือเครื่องมือของทุนนิยมที่ทำให้เรารู้สึก ช่างแม่ง มันเกินกำลังที่เราจะทำอะไรได้ ทุนนิยมสามารถทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ จนเรารู้สึกว่าเราต้องการดูแลตัวเองก่อนอย่างอื่น พอเกิดความรู้สึกแบบนี้จึงยากมากที่คนจะรวมตัวกัน เรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม กลายเป็นว่าทุกคนกระจัดกระจายเพราะต้องการเยียวยาตัวเอง ซึ่งไม่ผิดเลย นี่คือผลที่ทำให้เรารู้สึกช้ำ รู้สึกล้า รู้สึกว่าโลกนี้ใหญ่เกินกว่าที่เราจะจัดการได้ และง่ายที่สุดคือฉันหาทางเยียวยาตัวเองก่อนค่อยไปจัดการอย่างอื่นทีหลัง อ.รับขวัญกล่าว

ฉันเองก็รู้สึกเช่นนั้น เหนื่อยล้าเกินกว่าจะเยียวยารักษาโลก การงาน ร่างกายและจิตใจในเมืองนี้ ฉันเก็บของใส่กระเป๋ากลับบ้าน กลับไปพร้อมคำถามในใจว่าที่เราแพ้แล้วหรือ เราสู้ไม่ไหว ใจไปต่อไม่ได้ กลับบ้านครั้งนี้เราคือแพ้สินะ

ต่างจังหวัดมีจังหวะที่ชีวิตช้าลง ฉันมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวได้ เล่นกับหมา ยิ้มกับธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ไม่มีค่าฝุ่นละออง มีรายได้น้อยหน่อย แต่ยังพอกินหมูกระทะได้ หรือนี่คือความสุขที่เราควรจะเป็น สำหรับฟันเฟืองที่เหนื่อยล้าในระบบนี้

“มันเป็นความสัมพันธ์ที่ทุนนิยมตั้งใจทำให้เกิดขึ้น”

ทุนนิยมบอกว่ามีตะกร้ารองรับสำหรับคนที่ไม่ชอบแข่งขัน ถ้าคุณไม่ชอบเมืองหลวง ความเร็ววุ่นวายแบบนั้น ไม่เป็นไรคุณมาเดินช้า ๆ ข้างนอกนี้ก็ได้ แต่ไม่ได้จัดการโครงสร้างเละเทะนั้นเลย กลับเป็นการสร้างกระจาดรองรับเพิ่มขึ้น ทำให้คนไม่โกรธ ไม่ลุกขึ้นมาส่งเสียง ไม่รวมตัวกัน คนที่ทำได้ก็แยกไปเพราะคุณเลือกได้

ความสัมพันธ์ที่ต่อรองกับปัจเจกว่าถ้าคุณอยากอยู่อย่างสงบ ก็ไม่ได้ทำตามความต้องการ แต่คุณก็มีความสุขนะ ไม่ต้องรู้สึกเสียดาย เป็นขี้แพ้ แต่คุณสามารถมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ได้

ตรรกะการมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ (Cruel Optimism) หรือการมองบวกที่โหดร้าย เป็นกลไกหนึ่งของทุนนิยมที่พยายามทำให้เรามีความสุข เห็นความสวยงามกับสิ่งเล็กที่จะไม่แตะโครงสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรกับทุนนิยมเลย ในขณะเดียวกันความโหดร้ายของมันไม่ได้ทำให้เราได้ทำทุกอย่างที่เราอยากทำ แต่เป็นเราค่อย ๆ ปรับตัวเราจนอยู่ได้ และถ้าคุณเป็นมนุษย์ที่มีความสุขในสังคมทุนนิยม เขาก็ชอบ เพราะทุนนิยมไม่ชอบคนซึมเศร้า ไม่ชอบคนโกรธ ไม่ชอบคนเกรี้ยวกราดปากจัด ทุนนิยมชอบคนมีความสุข  อ.รับขวัญกล่าว

ทุนนิยมฉลาดจัง แค่ฉันอยากพักและเลิกคบกับมันสักครู่ มันยังเตรียมพื้นที่รองรับไว้ไม่ให้ฉันกลายเป็นทรัพยากรที่เสียไป ไม่โกรธเกรี้ยวว่าร้าย แต่พาไปทุ่งดอกไม้ Enjoy tiny things จนลืมว่ามันยังทำร้ายเราอยู่ทุกอณูรูขุมขน

การมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ จนลืมโครงสร้างกดทับเป็นสิ่งที่หลายคนจดจำว่าคือการมองโลกบวก ชีวิตที่วุ่นวายยุ่งเหยิงนี้เปลี่ยนแปลงได้แค่มุมมองของปัจเจก ดอกไม้ใบหญ้า ความงามจากธรรมชาติที่ชนบทมอบให้ทำให้คนส่วนใหญ่สบายใจและโหยหา

ความสุขอยู่ใกล้ตัวแค่นี้ เราจะต้องการอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปทำไมอีก ปรับเลนส์มองโลกนิดหน่อยคุณก็อยู่กับโลกทุนนิยมนี้ได้โดยลืมไปว่าคุณและใครอีกหลายคนกำลังโดนขูดรีด สุขนิยมที่แท้จริงเริ่มได้ที่เรา ไม่ต้องเรียกร้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

ทุนนิยมทำให้เราอ่อนแออย่างไรบ้าง

ความอ่อนแอที่ทุนนิยมทำมีทั้งระดับกายภาพ ระดับที่ฝังในร่างกายเรา และระดับความคิดที่ทำให้เราอ่อนแอ จนเรารู้สึกว่าเราไม่ต้องไปยุ่ง ไปทำอะไรกับมัน ปล่อยให้มันเป็นไป และเราพยายามเอาตัวเองให้รอดในระบบนี้ไปเรื่อย ๆ ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความเหนื่อย แต่สิ่งที่แลกมาคือ คุณอ่อนแอเพราะทำตามฝันไม่ได้ รู้สึกว่าเราไม่มีพลังเรียกร้องสิ่งที่เราต้องการ เราโดนขโมยเวลา ขโมยความฝันไปตลอดเวลา

ความอ่อนแออีกแบบที่เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ คือความอ่อนแอที่เรารู้สึกตัวเล็กมากเลยในสังคมนี้ ทุกอย่างรอบตัวดูใหญ่ การเมือง ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ และเราเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง จึงง่ายกว่าที่เราจะไม่สนใจ เลือกจะกลับมามองแค่ตัวเอง เป็นเรื่องเดียวกับ (Self-care) เวลาเหลือแค่ดูแลตัวเองก็เหนื่อยแล้วจะให้ฉันออกไปต่อสู้อะไรอีก  อ.รับขวัญกล่าว

ฉันตัวเล็กเกินไปจะสนใจอะไรใหญ่ ๆ ที่โลกเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง ศตวรรษที่ 21 พูดถึงการกลับมาเยียวยาตัวเองเยอะมาก เกาหลีมีหนังสือปลอบประโลม บอกเราว่าไม่เป็นไรที่จะช่างแม่ง ปล่อยผ่านความยากทั้งหลายที่โลกคาดหวังจากเรา หนึ่งในสาเหตุร่วมที่หนังสือประเภทนี้ได้รับความนิยมในสังคมเกาหลีเพราะทุนนิยมทำให้ปัจเจกกลายเป็นหน่วยย่อย สหภาพแรงงานอ่อนแอ เกาหลีใช้สื่อบันเทิงเสียดสีระบบทุนนิยม ด่าตรง ๆ จนเป็นกระแสทั่วโลกหลายเรื่อง เช่น Burning, Parasite และ Squid Game กระแสดังกล่าวสะท้อนความขัดแย้งของระบบทุนกับมนุษย์ที่ไปต่อไม่ได้ ปรากฏการณ์สื่อเกาหลีเช่นนี้จะนำไปสู่การลุกขึ้นสู้กับระบบทุนได้หรือไม่ ฉันถามอ.รับขวัญ

สื่อเกาหลีพูดถึงทุนนิยมอย่างตรงไปตรงมาค่อนข้างมาก สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ มันถูกจัดการอย่างไรเมื่อเราพูดแล้วว่ามันแย่ มันทำร้ายเรา ทำให้เราเป็นคนจน ไม่มีชีวิตดีเท่าคนอื่น แล้วไงต่อ หรือมันเป็นเพียงแค่พื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนพูดเรื่องนี้แล้ว มีคนเข้าใจเราแล้ว เป็นเพียงระดับการดูแลเยียวยาตัวเอง (Self-care) หรือเปล่า หรือกลายเป็นเครื่องมือของทุนนิยม หรือที่จริงแล้วทุนนิยมต้องการให้คนรู้สึกว่ามีคนพูดแทนฉันแล้ว แต่ไม่ได้แตะโครงสร้าง ไม่ได้จินตนาการถึงเกมแบบใหม่ สังคมแบบใหม่

สังคมแบบใหม่ในนิยามของอ.รับขวัญ คือสังคมที่เราไม่ต้องทนทุกข์จำยอม และต่อสู้เพื่อเอาชนะระบบ แต่เป็นสังคมที่เราจินตนาการถึงความเท่าเทียม สังคมอุดมความฝัน ในประเทศรัฐสวัสดิการที่เราไม่เคยสัมผัส

“เราว่าสื่อเกาหลียังคงไม่ไปถึงตรงนั้น อเมริกาก็ใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือด่าทุนนิยมผ่านหนัง ทางจบของเรื่องมักจบแบบฮีโร่ เป็นตัวละครปัจเจกคนหนึ่งที่สามารถเอาชนะระบบได้ ซึ่งความเป็นจริงไม่มี ทำไม่ได้ หรือกลับไปตั้งคำถามว่าเห็นไหมการต่อสู้กับระบบมันเหนื่อย และต้องสูญเสียอะไรมากเลย เพราะฉะนั้นเธอกลับไปอยู่แบบเดิมดีกว่า” อ.รับขวัญกล่าว

หัวหน้าฮงเป็นหนึ่งในภาพแทนปัจเจกที่ออกจากเมืองใหญ่ ถ้าหัวหน้าฮงเป็นคนไทยในความขัดแย้งของทุน เขาจะหนีออกไปได้ไหม

“การกลับชนบทของไทยคือต้นทุน กลุ่มคนที่อพยพย้ายถิ่นมากทม. เพื่อชีวิตที่ดีกว่า คำอธิบายว่าถ้าคนกลุ่มนี้เหนื่อยแล้วกลับบ้าน เขามีอะไรให้กลับไปหรือไม่” 

ต้นทุนของคนที่อยากกลับต่างจังหวัดหมายถึงถิ่นอาศัยและโอกาสทำมาหากิน ช่วงหนึ่งมีกระแสชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ ย้ายไปทำธุรกิจขนาดเล็กที่ต่างจังหวัด พวกเขาบอกว่าที่นั่นสบายใจ ทำเงินได้พออยู่พอกิน แต่สำหรับคนที่ขายที่ขายนาหวังหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในเมืองหลวง ต้นทุนเหล่านั้นพอไหมสำหรับเขา

“คนอีสานจำนวนมากที่อพยพมากทม.ช่วงปี 2532-2540 ขายที่ขายนาย้ายถิ่นมากทม. เราสังเกตกระบวนการเพลงลูกทุ่งที่ผลิตซ้ำภาพความสวยงามของชนบท ให้ตัวแทนคนอีสานที่มาทำงานในเมืองหลวงร้องเพลงส่งเสียงนี้ว่าไม่มีที่ไหนสวยงามกว่าบ้านเราหรอก กทม.เป็นที่นอน แต่ไม่ใช่บ้าน บ้านของเราอยู่ที่ต่างจังหวัด

“อะไรเหล่านี้มันย้อนแย้งกัน หนึ่งพวกเขามีต้นทุนให้กลับไปหรือไม่  ในขณะเดียวกันสื่อก็พยายาม Romanticise ราวกับว่ามันกลับไปได้ มันยิ่งเป็นการกันเขาออกจากเมือง เพราะกทม.ไม่ใช่บ้านของเธอ กทม.มันน่ากลัว เธอมีที่สวยงามรออยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีจริง ๆ เหรอที่จะกลับไป หรือกลับไปแล้วคุณจะมีชีวิตอยู่รอดจริงเหรอ ในฐานะแรงงานรายวัน คนที่สามารถเลือกได้ก็ยังมีอภิสิทธิ์ เพราะมีหลายคนที่ไม่มีแม้แต่ทางเลือก ไม่แม้แต่จะเลือกได้ว่าจะกลับไป เพราะมันอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่พอ”  อ.รับขวัญกล่าว

แม้แต่การเลือกหันหลังให้เมืองหลวง มุ่งสู่ชนบทหาสุขนิยมตามแบบโฆษณายังเป็นความเหลื่อมล้ำของคนไทย ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกได้ แค่จินตนาการถึงทางเลือกยังเป็นไปไม่ได้ในคนไม่มีต้นทุน การอดทนอยู่เป็นฟันเฟืองในเมืองใหญ่ ใช้ชีวิตที่ไม่ชอบ ติดกับดักความป่วยไข้ทางใจที่สวนทางกับความเจริญในเมืองนี้เป็นตัวเลือกเดียวของใครหลายคนที่ยังอยู่

ตะกร้าอีกใบในทุ่งดอกไม้ที่ทุนนิยมมอบให้ ใจร้ายหลอกลวงไม่แพ้ภาพทุนนิยมเดิมที่เราคุ้นชิน ปัจเจกผู้อ่อนแอควรทำอย่างไรเพื่ออยู่กับทุนนิยมอย่างสงบและรื้อถอนมันไปในขณะเดียวกัน ฉันถามอ.รับขวัญ

การเยียวยาตัวเองที่ทุนนิยมโยนให้ยังจำเป็น แต่การเยียวยาตัวเองไปตลอดชีวิตไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เราจะทำอย่างไรให้เยียวยาตัวเองไปพร้อม ๆ กับการคิดถึงคนอื่น และสังคมที่เราอยู่ไปด้วยได้อย่างไร มันยากมาก ๆ ทุนนิยมมันทำร้ายเราถึงระดับรูขุมขนจนไม่สามารถเห็นทางเลือกอื่นได้ ถ้าเราจะสู้กับระบบที่ทำให้เราแตกแยกเป็นปัจเจก เราก็ต้องสู้กลับด้วยการรวมตัว

กระบวนการที่ใส่ใจในระดับที่มากกว่าปัจเจกนั้นสำคัญ การพูดถึงร่างกายของคนทั้งสังคมเดียวกันนั้นสำคัญ ไม่ใช่แค่ร่างกายของเราคนเดียว ทางแก้สำหรับเราคือต้องรื้อระบบ ต้องสู้กับทุนนิยม เราไม่มีทางชนะทุนนิยมได้ถ้าเรายังสู้อยู่ในเกมนี้ กฎที่ออกแบบมาว่าคุณจะไม่ชนะ  อ.รับขวัญทิ้งท้าย

เอาล่ะ ปัจเจกทั้งหลาย แม้เนื้อตัวเปล่าเปลือยที่อ่อนแรงจากการขูดรีดนี้ยังต้องการตะกร้าการเยียวยาที่ทุนนิยมมอบให้ ชวนพึงระลึกไว้ว่ามันหลอกลวง เดินเล่นในทุ่งดอกไม้แล้วก่นด่ารื้อถอนมันไปพร้อมกันเถอะพวกเรา