จ่ายค่าชดเชยเป็นความเงียบงัน การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของสหภาพไทรอัมพ์ฯ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เ_ี้ย!…มึงได้กำไรแล้วมึงก็ไป ตอนที่รู้ว่าโรงงานปิดมันคือความโกรธ โรงงานเราทุกปีตัวเลขขาดทุน แต่คนที่ได้กำไรคือบริษัทแม่ ดังนั้นเวลาตรวจสอบคนเขาจะมองว่า ก็บริษัทมันขาดทุน มันไม่แปลกที่เขาจะลอยแพคุณ บางคนเห็นใจนายจ้างในสภาวะแบบนี้ แต่ที่เขามองไม่เห็น คือกำไรที่ตกไปอยู่กับบริษัทแม่ มึงได้กำไรแล้ว กำไรที่พวกฉันช่วยสร้าง ฉันทำให้คุณมีรถเบนซ์นั่ง สามารถทำให้คุณเป็นผู้ทรงอิทธิพลในฮ่องกง มันเหมือนกับการที่กูเสียตัวให้มึง แล้วมึงก็ทิ้งกูไป”

11 มีนาคม 2564 บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ผู้รับจ้างผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์ เช่น Victoria Secret, Torrid  ดำเนินการโดยนางสาวมัน ชี แองเจล่า เลา (Angie Lau) และนางสาวมัน ยิน เอมิลี่ เลา (Emily Lau) เจ้าของบริษัทชาวฮ่องกง ได้ปิดกิจการลอยแพพนักงานกว่า 1,388 คน

27 ธันวาคม 2564 เวลาผ่านไปกว่า 9 เดือนแล้ว พนักงานทั้ง 1,388 คน ยังไร้วี่แววที่จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจากนายจ้างชาวฮ่องกง ไม่มีการติดต่อกลับมา ไม่มีการส่งตัวแทนมาเจรจาพูดคุย ความเงียบคือค่าชดเชยอย่างเดียวที่พวกเขาได้รับ

โดยหนึ่งในพนักงานของบริษัท บริลเลียนท์ฯ ได้ตั้งข้อสงสัยถึงการเลิกจ้างปิดโรงงานครั้งนี้ว่า  นายจ้างชาวฮ่องกงทั้ง 2 เข้าเทกโอเวอร์บริษัท บอดี้แฟชั่น(เดิม) ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และใช้ชื่อใหม่ว่า บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด เพื่อใช้ในการรับจ้างผลิตชุดชั้นในให้แบรนด์ดังต่าง ๆ  โดยเธอเลือกโรงงานแห่งนี้เพราะว่า พนักงานส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในการตัดเย็บงานระดับพรีเมียม แต่เมื่อสินค้าเริ่มติดตลาด ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานการผลิตที่มีฝีมือมาก อีกทั้งพนักงานในโรงงานส่วนใหญ่ก็มีอายุเกิน 40 ปี ทำให้ไม่สามารถแข่งขันผลิตสินค้าในเชิงปริมาณได้

โดยข้อมูลงบกำไรขาดทุนปี 2563 บริษัท บริลเลียนท์ฯ มีผลขาดทุน  644,421,331 บาท ในขณะที่บริษัทแม่ Clover Group International Limited นั้น เราไม่พบข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่ปรากฏออกมา

การต่อสู้ของพนักงานบริษัทบริลเลียนท์ฯ ในนามกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ  สหภาพที่ผ่านการต่อสู้เจรจากับนายจ้าง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของลูกจ้างมาอย่างยาวนาน เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาในครั้งนี้ อาจเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในนามไทรอัมพ์ฯ แต่มันจะไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย ในนามของแรงงานประเทศแห่งนี้แน่นอน 

ไม่มีอะไรร่วงหล่นลงมาจากฟ้า มีแต่แรงงานเท่านั้นที่แลกมันมา

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 โดยผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เป็นนายจ้างชาวเยอรมัน โดยบริษัทไทรอัมพ์ฯ เริ่มต้นทำธุรกิจจัดจำหน่ายชุดชั้นในภายใต้แบรนด์ไทรอัมพ์ เริ่มแรกเดิมทีมีออฟฟิศอยู่ที่สีลม ก่อนขยายกิจการมาเปิดโรงงานผลิตที่ จ.สมุทรปราการ ภายใต้ชื่อบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผลิตชุดชั้นในให้แบรนด์ไทรอัมพ์

จนกระทั่งถึงปี 2559 บริษัทไทรอัมพ์ฯ ขายกิจการบอดี้ แฟชั่นฯ ให้กับนายทุนชื่อโรเบิร์ต อึ้ง นักธุรกิจชาวสิงคโปร์  ที่มีถิ่นพำนักอยู่ที่ฮ่องกง ผู้มีทรัพย์สินติดอันดับมากที่สุดในสิงคโปร์ ในยุคนี้บริษัทเริ่มมีการรับออเดอร์ผลิตชุดชั้นในให้ยี่ห้อต่าง ๆ แต่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจในปี 2562 นายโรเบิร์ต อึ้ง ขายกิจการบอดี้ แฟชั่นฯ ให้แก่นางสาวมัน ชี แองเจล่า เลา (Angie Lau) และนางสาวมัน ยิน เอมิลี่ เลา (Emily Lau) ชาวฮ่องกง และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด โดยเธอทั้ง 2 ให้เหตุผลการเข้าซื้อบริษัทแก่ลูกจ้างของเธอว่า

“เขาบอกว่าฝีมือการเย็บของพนักงานเรามีคุณภาพ เหมาะแก่การทำงานพรีเมียม แต่พอเขาได้สิ่งที่ต้องการ แบรนด์ของเขาเริ่มติดตลาด ลูกค้าให้การยอมรับ เขาก็พร้อมที่จะหาที่ผลิตใหม่ทันที”

เสียงจากวาด วาสนา  คงหินตั้ง รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เราพูดคุยกับเธอ และแกนนำสหภาพแรงงานอีก 2 คนคือ บัน จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ, เตือนใจ แวงคำ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในวันที่พนักงานจากบริษัท บริลเลียนท์ฯ มารับเช็คเงินเยียวยาจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

“เงินเยียวยาส่วนนี้มันเกิดขึ้นจากการที่คนงานออกไปเรียกร้อง”

เตือนใจ เลขาธิการสหภาพแรงงานฯ เล่าให้เราฟังในระหว่างพิธีรับมอบเช็ค ที่นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ลงมารับมอบเช็กด้วยตนเอง โดยในงานดังกล่าวทางกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน พยายามชี้ให้เห็นว่าเงินส่วนนี้ คือเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยเหลือแรงงานทั้ง 1,388 คน แต่ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มองว่า ถ้าพวกเขาไม่ออกมาเรียกร้อง ก็ไม่มีทางที่จะได้รับเงินหลักพันบาทก้อนนี้

“ทุกสิ่งได้มาจากการต่อสู้ไม่ใช่การร้องขอ ต้องลงมือทำไม่มีอะไรร่วงหล่นลงมาจากฟ้า”

บัน ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าว โดย ณ ปัจจุบันบันมีคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน. ติดตัวจากการออกไปเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งเธอยังมีครอบครัว มีลูกที่ต้องส่งเสียดูแล ทั้งยังได้ของแถมจากการเป็นแรงงานทำงานมาทั้งชีวิต ด้วยโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ความเสี่ยงของแรงงานเช่นเธอต้องแลกด้วย ร่างกาย อิสรภาพ สภาพจิตใจ และครึ่งชีวิตที่สูญเสียไป นับตั้งแต่วันที่นายจ้างลอยแพเธอ

เมื่อนายจ้างลอยแพ จึงหวังพึ่งรัฐช่วยดูแล

“เราเป็นแค่ลูกจ้าง ไม่มีปัญญาข้ามน้ำข้ามทะเลไปตามตัวนายจ้างกลับมาได้ จึงหวังพึ่งรัฐบาล  แต่รัฐไม่เคยทำอะไรให้เราเลย อ้างเพียงว่าศาลตัดสินแล้ว เหมือนโยนความรับผิดชอบให้คนงานว่า  ‘คุณก็ไปตามเอาเองสิ ผมตัดสินให้คุณแล้วไงว่าคุณชนะ’”

วาด รองประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวถึงเหตุผลสำคัญว่า ทำไมพวกเธอถึงออกมาเรียกร้องอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือพวกเธอ โดยทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ได้ออกข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อดังนี้

  1. ขอให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการนำเงินงบประมาณกลางจำนวน 242,689,862.71 บาท มาจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยการเลิกจ้างงาน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โบนัสและเบี้ยขยันให้กับลูกจ้าง
  2. ขอให้นายกรัฐมนตรี ติดตามนายจ้างมารับผิดชอบนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนรัฐบาล เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชนทุกคน
  3. ขอให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามกฎหมายอาญาอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างให้นายจ้างรายอื่นดำเนินการเช่นนี้กับประชาชน
  4. ขอให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการหามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุน และหนีปล่อยลอยแพลูกจ้างเช่นนี้

“มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไปมีข้อจำกัดกับนักลงทุนมาก เขาจะไม่มาลงทุนในประเทศไทย”

คือสิ่งที่พวกเธอตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้รับคำตอบจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน 

“แล้วทำไมถึงต้องเสี่ยงที่จะออกมาเรียกร้อง? ทั้งที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย” เราถาม

เตือนใจ เลขาธิการสหภาพแรงงานฯ ตอบว่า

“นี่คือหนึ่งในข้อเรียกร้องที่แรงงานพึงมีพึงได้ เราพร้อมที่จะเสี่ยงคุ้มที่จะเสี่ยง การเสี่ยงครั้งนี้ มันไม่ได้เป็นการเสี่ยงเพื่อคนงานบริลเลียนท์ฯ เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังเสี่ยงเพื่อแรงงานทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบ เราอยากจะทำเหตุการณ์ในครั้งนี้ เอาไว้ให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับแรงงานทั้งประเทศ”

แต่ผลตอบรับที่ได้รับจากรัฐบาลกลายเป็นว่า รัฐมองพวกเธอเป็นกลุ่มก่อความวุ่นวาย มีการดำเนินคดี และมองว่าพวกเธอออกมาด้วยเหตุผลทางการเมือง มิใช่เหตุผลทางปากท้องความอยู่รอด

“ถ้ารัฐเป็นของประชาชนจริง ๆ วันนี้ประชาชนเดือดร้อนไปขอความช่วยเหลือ แต่คุณกับให้คดีความกับเขาเป็นการตอบแทน เคยคิดบ้างไหมว่าเขาจะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้คดี รัฐไม่ได้อยู่ข้างประชาชน มีแต่จะกดประชาชนให้ลำบากขึ้น จนขึ้น เพื่อที่จะได้ปกครองง่าย”

บัน ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าว แต่เตือนใจ เลขาธิการสหภาพแรงงานฯ ไม่เห็นด้วยว่า รัฐจะต้องมาอยู่ข้างประชาชน

“รัฐไม่จำเป็นต้องมาเข้าข้างประชาชนหรอก แค่คุณบังคับใช้กฎหมายที่คุณร่างขึ้นมา ให้มันตรงกับที่คุณเขียนขึ้นมา ไม่ต้องว่าจะมาเข้าข้างคนงานหรือนายทุน ในเมื่อกฎหมายมันมีอยู่แล้ว สิ่งที่แรงงานจะได้รับมันมีอยู่แล้ว คนงานอย่างเราเชื่อว่าภาครัฐทำได้”

เป็นลูกจ้างต้องเสี่ยงกับอะไร?

“เสี่ยงทุกคนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ลูกจ้างก็เสี่ยงชีวิตตั้งแต่การเดินทางมาทำงาน และการทำงานในโรงงานเสี่ยงเป็นโรคและเป็นจริง ๆ เพราะในโรงงานมันมีทั้งฝุ่น รวมทั้งการนั่งนาน ๆ เราจะเป็นกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทกันเยอะ ค่าตอบแทนที่ได้รับมันไม่ได้มากพอให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นด้วยซ้ำ เสี่ยงต่างกันนายทุนเสี่ยงทุนหายแต่ชีวิตเขายังอยู่ แต่คนงานเสี่ยงตายอย่างเดียว

วาด รองประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าว ดังนั้นหลักประกันเพื่อความมั่นคงในชีวิตของแรงงานจึงเป็นสิ่งขาดไปไม่ได้ ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มองว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ควรมีหลักประกันที่ไปด้วยกันได้กับการใช้ชีวิตจริง ให้กับลูกจ้างที่ต้องตกงาน 

“ตกงานตอนอายุ 50 ปีมันลำบากนะ ลูกก็ต้องส่งเรียน ตอนนี้อาศัยถุงยังชีพประทังชีวิต เงินชดเชยจากการเลิกจ้างจึงสำคัญกับชีวิตเรามาก เพราะว่ามันคือทุนชีวิตให้เราพอมีเวลาที่จะไปทำงาน หาเงินมาหมุนได้” 

บัน ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวถึงความลำบากที่ตัวเองเผชิญหลังตกงาน เธอกล่าวว่านายทุนบางคนมองแรงงานเหมือนไม่ใช่คนด้วยกัน แต่คือเครื่องจักรที่ผลิตเงินเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง สำหรับเธอสิ่งนี้คือความโหดร้ายของระบบทุนที่หวังแต่ผลกำไร และควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่ทุนตัวเองเพียงอย่างเดียว

“แต่แรงงานคือเอาชีวิตไปเสี่ยง การที่คุณบอกว่าเป็นแรงงานไม่เห็นเสี่ยงอะไรเลย คือคุณกำลังเห็นคนไม่ใช่คน เพราะว่าเราเสี่ยงทุกอย่าง และไม่ใช่แค่เราแต่คือครอบครัว ถ้าเราเป็นอะไรไป ยังมีคนที่รอเราอยู่ข้างหลังอีกกี่คน”

เสียงจากบัน ในวันที่เธอยังคงต้องดิ้นรน ก้าวผ่านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับชีวิตแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และเงินชดเชยตามกฎหมายที่เธอควรได้รับคือความหวังเดียว

ความรู้สึกในวันที่ถูกเลิกจ้าง

“ เ_ี้ย…มึงได้กำไรแล้วมึงก็ไป มันคือความโกรธ มึงได้กำไรแล้ว กำไรที่พวกฉันช่วยสร้าง ฉันทำให้คุณมีรถเบนซ์นั่ง สามารถทำให้คุณเป็นผู้ทรงอิทธิพลในฮ่องกง มันเหมือนกับการที่กูเสียตัวให้มึงแล้ว แล้วมึงก็ทิ้งกูไป” วาด รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

“ใจหาย…คิดนะว่าเขาจะปิดกิจการ เพราะมันเริ่มมีสัญญาณที่เขาเทกโอเวอร์โรงงานเรามาเรื่อย ๆ แต่ยังคิดเข้าข้างตัวเองว่า เขาน่าจะดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็เขาบอกว่ามีออร์เดอร์เยอะ มีฐานการผลิตหลายประเทศ เช้ามาไปทำงานประตูโรงงานปิด เคยได้ยินแต่เพลงร้องประตูโรงงานปิดแล้วตัวเรา (เพลงคนหนังเหนียว-คาราบาว) หลาย ๆ คนที่เขาไม่คิดว่าจะปิดกิจการ กอดคอกันร้องไห้วันนั้น” เตือนใจ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

“คิดว่าโรงงานที่เราอยู่มา 20 กว่าปีมั่นคง กะว่าจะอยู่จนเกษียณ มันคืออนาคตของเราที่ฝากเขาไว้ วันที่โรงงานปิดมันเคว้งคว้าง รายรับไม่มีแต่รายจ่ายเท่าเดิม และเราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา คุณจะทิ้งฉันไปก็ไม่ให้ทุนฉันเลย มันต่างกันกับวันที่เขามา เขาให้คำสัญญา แต่วันที่เขาจากไป เขาไปโดยไม่โบกมือลา โลกมันไม่ได้โหดร้ายหรอก มันโหดร้ายที่คนปฏิบัตินี่แหละ” บัน ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

เงินหลักแสนบาทสำหรับลูกจ้างทั้ง 1,388 คน มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะกับแรงงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากค่านิยมของสถานประกอบการในไทย มักเลือกไม่รับคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หากเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะในระดับปฏิบัติการ

ดังนั้นเงินชดเชยส่วนนี้คือเงินต่อชีวิต เงินทุนที่จะนำไปตั้งตัวให้ชีวิตได้เดินต่อ แต่การนำงบประมาณกลางออกมาใช้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเงินส่วนนี้คือเงินที่เกิดข้อพิพาทกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รัฐอาจจะมองว่านอกเหนือความรับผิดชอบ แต่ในวันที่นายจ้างไม่อยู่แล้ว รัฐบาลคือความหวังเดียวที่พวกเขาร้องขออยากให้ช่วย แต่ในเมื่อเราอยู่ในรัฐที่ต้องร้องตะโกนเมื่อเดือดร้อน ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมฯ กล่าวกับเราในตอนท้ายว่า

“ตอนนี้เราสู้แบบหลังพิงฝา ต้องเดินหน้าอย่างเดียว เมื่อรัฐมนตรีแรงงานไม่เสนอเรื่องนี้เข้ามติ ครม. เราจะผลักดันให้เขาชงเข้าไปให้ได้เอง”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
ข้อมูลบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด
ลูกจ้างหญิงผู้ผลิตชุดชั้นใน Victoria’s Secret ครวญถูกนายจ้างชักดาบเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย
Clover Group International