มิวเซียมสายตายาว - Decode
Reading Time: 3 minutes

คุณยายของ หงษ์-กาญจนา จีโน ล่วงลับไปแล้ว แต่ความทรงจำทุกเรื่องราวระหว่างเธอกับคุณยายยังฝังแน่นในใจ มีอีกหลายสิ่งที่อยากทำร่วมกัน เรื่องนี้ตกตะกอนอยู่ในใจเธอเรื่อยมา จนกระทั่งมีโอกาสได้เห็นโครงการหนึ่งของมิวเซียมสยาม (Museum Siam) หรือสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ชื่อโครงการ “มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมผู้สูงวัย” (Farsighted Museum : Sighting forward to Aging Society) ซึ่งเปิดรับข้อเสนอผลงานและไอเดียต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย หงษ์รู้สึกว่าโอกาสที่จะได้ทำบางอย่างเพื่อระลึกถึงคุณยายได้เดินทางมาถึงแล้ว เธอตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการพร้อมกับกลุ่มเพื่อน ๆ ศิลปินอิสระ และได้รับคัดเลือกเข้ารอบเป็นหนึ่งใน 10 ทีม โครงการของเธอชื่อว่า “กล่องพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”

“เมื่อก่อนเคยดูแลคุณยายก่อนที่จะเสีย ช่วงนั้นคุณยายจะนอนอยู่บ้านเฉย ๆ ตอนนั้นอยากพาคุณยายไปเที่ยวที่นู่นที่นี่ เคยคิดว่าอยากวีดิโอคอล หรือถ้าพาคุณยายไปจุดนั้นได้จริงจะดีมาก พอเห็นโครงการนี้ปุ๊บเลยจุดประกายความคิดของตัวเองเมื่อก่อนนี้ขึ้นมา”

พิพิธภัณฑ์เพื่อคนสูงวัย พิพิธภัณฑ์เพื่อเราทุกคน

กล่องพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้ป่วยติดเตียง มีลักษณะเป็นกล่องไม้ทรงบ้านขนาดย่อม มีหูหิ้วด้านบนเพื่อเคลื่อนย้ายได้สะดวก ภายในจะบรรจุวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้งาน โดยเฉพาะแว่น VR Headset เพื่อให้ผู้สูงวัยได้สวมเพื่อเปิดรับประสบการณ์เสมือนจริง (Virtual reality) วิธีการใช้งานของแว่นต้องทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อชมสถานที่ต่าง ๆ ในรูปแบบสตรีมมิ่ง เมื่อดูจากช่วงอายุของหงษ์และเพื่อนที่อยู่ในวัย 24 ปี ทั้งทีม อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่มาพบกันอย่างลงตัวระหว่างเทคโนโลยีและวัฒนธรรม และยังเป็นการผสมผสานไลฟ์สไตล์ของคนเจน Z เพื่อรองรับความต้องการของคนยุค Boomer ได้อย่างพอดี

“ไอเดียเรื่องนี้เกิดขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี VRHS เพราะว่าเมื่อก่อน VR จะมีราคาสูง เราปรับมาเป็น VRHS มีกล่องที่คล้าย ๆ กล้อง พอใช้โทรศัพท์เสียบเข้าไปปุ๊บ จะทำให้เราสามารถดูได้ทุกที่และสะดวกมากขึ้น เรทราคาทุกอย่างก็จะลดลง คิดว่าเหมาะสมกับยุคนี้ เลยลองเขียนโครงการส่งไปกับเพื่อน พอผ่านมาถึงรอบสุดท้ายแล้ว จึงได้ลองทดลองทำค่ะ”

นอกจากมีความทรงจำที่อ่อนโยนถึงคุณยาย มีทีมเพื่อนที่ใจตรงกัน หงษ์ยังทำงานกับพิพิธภัณฑ์ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เธอสามารถทดลองและเผยแพร่กล่องพิพิธภัณฑ์นี้ ให้กับ 30 ครอบครัวของคนเชียงใหม่ที่มีผู้สูงวัยติดเตียงได้ทดลองใช้ฟรี โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงผ่านแว่นวีอาร์ ได้เห็น วัด บ้าน คุ้ม จากศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาฯ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่แถมไปในกล่องพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้สูงวัยที่นอนติดเตียง ได้ร่วมทำกับลูก ๆ หลาน ๆ เพื่อเพิ่มสายสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยในครอบครัว

“ในกล่องไม่ได้มีแค่ VR แต่ใส่ความกระจุกกระจิกของวัตถุเพื่อย้อนความทรงจำด้วย เราเลยสร้างผงหอม(คล้าย ๆ ถุงบุหงา) ที่ระลึกถึงเทศกาลใส่ขันดอก เพราะจะมีวัดหนึ่งในนั้นคือ วัดเจดีย์หลวง แต่ก่อนคนเชียงใหม่เขาจะใส่ขันดอกกัน ถ้าคุณตาคุณยายได้กลิ่นบรรยากาศของเทศกาลพวกนี้ เขาน่าจะระลึกความทรงจำได้ นอกจากนี้ก็มีโมเดลกระดาษ เป็นของเล่นไว้สำหรับเด็ก ตอนนั้นคิดว่าอยากให้เด็กมีส่วนร่วมกับกล่องนี้ด้วย เด็กช่วยทำและมามีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ โมเดลได้ต้นแบบมาจากทางศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นโมเดลอุโบสถทรงเชียงแสน ทรงล้านนา นำมาประกอบฟอร์มง่าย ๆ ให้เด็กสามารถพับเล่นได้”

งานของหงษ์และเพื่อน คือการทำความตั้งใจของหน่วยงานผู้ให้ทุนสำเร็จเป็นรูปธรรม ชนน์ชนก พลสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ของมิวเซียมสยาม ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น บอกเล่าถึงจุดประสงค์ของการทำโครงการนี้ว่า ด้วยจุดยืนของมิวเซียมสยามนั้น ต้องการที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุมกว้างขวาง และเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงวัย ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงงานเรียนรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมามันจะเป็นในลักษณะของโปรแกรมพัฒนาผู้ชม การทำ Audience Development มักจะเน้นไปที่กลุ่มครอบครัว หรือเด็กวัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีแนวคิดว่าเรื่องการศึกษาเรียนรู้น่าจะเน้นในวัยที่กำลังเติบโต ดังนั้นเองแนวคิดที่จะเน้นไปยังกลุ่มผู้สูงวัยจึงค่อนข้างน้อย

“เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้วงการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ไปโดยทำอะไรเพื่อคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง จึงนึกถึงการทำงานวิจัยในเชิง Action research คืออยากให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทำงานจริง ๆ เราไม่ได้ต้องการเนื้อหาทางวิชาการขนาดนั้น แต่เราอยากมี Pilot project ที่ช่วยให้คนทำงานตระหนักว่า ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เราน่าจะทำงานกับเขาได้ เราจึงเปิดโปรแกรมที่เป็นการสนับสนุนทุน อยากทำให้เปิดกว้าง ไม่เฉพาะคนที่ทำงานพิพิธภัณฑ์ หรือเป็น Museum Maker เท่านั้นที่จะมาร่วมโครงการ”

มองการณ์ไกลเพื่อสังคมผู้สูงวัย

สิ่งที่ชนน์ชนกมุ่งหวังไปไกลเกินกว่าที่เธอคาด มีหลายทีมเข้าร่วมกับโครงการมิวเซียมสยามสายตายาว ที่แสดงให้เห็นถึงมิติของการอยู่ร่วมกันของคนหลากวัยในสังคม และพลังในการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น

เธอยกตัวอย่างโครงการ “ฒ. ผู้เฒ่าเล่านิทาน” เป็นผลงานของศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง สังกัดศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยออกแบบให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กนักเรียนอนุบาล 200 กว่าคน กับผู้ใหญ่ในศูนย์ฯ ราว 40 กว่าคน แต่เมื่อติดขัดด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดโครงการไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่ปรากฏว่าผู้สูงวัยในโครงการสามารถประยุกต์วิธีการทำงาน เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ โดยเปลี่ยนจากการมาพบกันเป็นการใช้แพลตฟอร์มวิทยุกระจายเสียงของหมู่บ้าน

“เรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงพ่อแม่เราที่อยู่ต่างจังหวัด เขาก็ฟังวิทยุจริง ซึ่งเราคิดว่าหลายโพรเจกสนับสนุนหรือศึกษากลุ่มคนผู้สูงอายุในสังคมเมือง แต่โพรเจกนี้ได้เปิดโอกาสให้เขาได้มาทำงาน ซึ่งน่าจะได้ต้นแบบของการใช้งานและวิธีการที่จะสื่อสารไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัด ภูมิภาค ส่วนตัวประทับใจในการที่ทุกคนปรับเปลี่ยนงานเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ ทำให้เราได้คิดว่าส่วนใหญ่จังหวัดหรือพื้นที่ที่มีมิวเซียม มักเป็นพื้นที่ในลักษณะที่มีความเป็นเมืองมาก ๆ บางจังหวัดอาจจะไม่มีด้วยซ้ำ แต่โครงการนี้ทำให้เราเห็นโอกาส และวิธีปรับการทำงานให้เข้ากับท้องถิ่น”

อีกโครงการหนึ่งที่เข้าไปสำรวจความต้องการของผู้สูงวัยอย่างละเอียด คือโครงการ “ของจัดแสดงแบบไหน รุ่นใหญ่ชอบ” (Display Design for The Elderly) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาสิต ลีนิวา และอาจารย์กฤติยา ปิยะอรุณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป้าหมายของโครงการเน้นไปที่การรับรู้ (Perception) ของผู้สูงวัยที่มีต่อของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือดิสเพลย์ ว่าการจัดแสดงแบบไหนที่ดึงดูดและน่าสนใจสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงวัย

โดยทีมวิจัยใช้กรอบการประเมิน 3 ข้อ คือการได้ความรู้ ความรู้สึกตื่นตัวอย่างมีส่วนร่วม และการซึมซับได้อย่าน่าสนใจ โดยทีมได้เลือกดิสเพลย์ไว้ 21 ชิ้น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ จัดแสดงวัตถุ, จัดแสดงบอร์ดข้อมูล, สื่อมัลติมีเดีย, ดิสเพลย์แบบผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วม (Interactive) และการจัดแสดงแบบฉากจำลอง โดยเลือกพิพิธภัณฑ์เหรียญของกรมธนารักษ์เป็นสถานที่ทำโครงการนำร่อง เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีดิสเพลย์ค่อนข้างครบทุกหมวดหมู่ โดยนอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มวัยรุ่นที่เข้าชมด้วย

“เราพบผลการศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้สูงวัยและกลุ่มวัยรุ่นได้ดูทั้ง 21 ดิสเพลย์ เมื่อนำคะแนนทั้งหมดที่ให้กลุ่มเป้าหมายประเมินมารวมกัน ผู้สูงวัยจะชอบแบบ Interactive เป็นอันดับหนึ่ง เขาจะชอบวัตถุที่ใช้จัดแสดงจริง ๆ ชอบเหรียญ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มันจะมีดิสเพลย์หนึ่งที่เป็นจอตั้งอยู่ตรงกลาง แล้วมีสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งจะมีวัสดุประเภทโลหะ เงิน ทอง อะลูมิเนียม พวกนี้ แล้วลองให้ผสมกันหนึ่งคู่ แล้วดูว่าจะได้เหรียญอะไร อันนี้เขาสนใจ ประหลาดใจเข้าไปอีก เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับวัยรุ่น ความชอบตรงกันเป๊ะเลย วัยรุ่นก็ชอบดิสเพลย์นี้เป็นอันดับหนึ่งเหมือนกัน” อาจารย์ภาษิตกล่าว

นอกจากชอบของจัดแสดงที่สามารถมีส่วนร่วมด้วยแล้ว ผู้สูงวัยยังชอบดิสเพลย์แบบฉากจำลองเป็นอันดับสอง เช่น ฉากจำลองตลาดในสมัยอยุธยา ส่วนอันดับสามคือดิสเพลย์ที่เป็นมัลติมีเดีย อันดับสี่คือการจัดแสดงแบบวัตถุ ส่วนอันสุดท้ายคือบอร์ดจัดแสดง ผลการศึกษานี้ทำให้รู้ถึงความสนใจและความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย เกี่ยวกับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

นอกจากนี้ในประเด็นของอารยสถาปัตย์ (universal design) หรือการออกแบบการจัดแสดงอาคารให้รองรับคนทุกกลุ่มในสังคม อาจารย์ภาษิตได้ค้นพบข้อกังวลและความต้องการของผู้สูงวัย ที่เป็นประโยชน์ในการปรับใช้กับงานพิพิธภัณฑ์ในประเด็นอารยสถาปัตย์ต่อไป

“สิ่งที่เราพบระหว่างทางคือผู้สูงวัยมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องสายตา บางอันมองไม่เห็น ยิ่งดิสเพลย์ที่เป็นเหรียญด้วย บางอันความน่าสนอยู่ที่ปี พ.ศ.บนเหรียญ เขาก็ไม่เห็น สมมติเป็นโมเดลที่ย่อส่วน เขาจะไม่ชอบ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของจุดที่ค่อนข้างมืด เขาจะบอกว่ามืดเกินไป คือไม่ใช่จุดที่เป็นอันตราย แต่ความรู้สึกของผู้สูงวัยจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หรือบางคนรู้สึกเรื่องพื้นต่างระดับระหว่างห้อง ไฟมันจะมืด ๆ หน่อย เขาจะกลัว แล้วก็เรื่องพื้นผิวที่ลื่นก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมทั้งเรื่องบันไดที่จะกังวลหากชันหรือไม่มีราวจับ”

ทุกผลการศึกษาของผู้ร่วมโครงการมิวเซียมสยามสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมผู้สูงวัย จึงกลายเป็นข้อค้นพบการเรียนรู้ และการสำรวจมิติความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม การเริ่มต้นให้คุณค่ากับประชากรสูงวัย ซึ่งเป็นปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทย โดยขณะที่โครงการมิวเซียมสยามสายตายาวฯ ได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ลุล่วงไปแล้ว ตั้งแต่เริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการเมื่อปลายปี 2563 ทำการคัดเลือกผลงานจำนวน 10 โครงการและดำเนินงานผ่านมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงกระบวนการของงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ภายใต้ชื่องานการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ 2021 “มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย” Farsighted Museum: Sighting forward to Aging Society ผ่านช่องทาง Facebook Live : Museum Siam และ ZOOM

โดยทุกวงสัมมนาล้วนเป็นนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในสังคมสูงวัยรวมทั้งแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย ซึ่งกลายเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในสังคม

จังหวะก้าวต่อไปของมิวเซียมสยาม ซึ่งเป็น “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ” จะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายต่อไปอย่างไร จะเชื่อมโยงประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้เกิดการเรียนรู้และสื่อสารกันอย่างภราดรภาพได้มากแค่ไหน ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ ได้สรุปถึงโครงการมิวเซียมสยามสายตายาวฯ ในภาพรวมว่า ทำให้ได้มองเห็นว่าสังคมให้คุณค่ากับผู้สูงวัยในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติที่สำคัญคือการให้เกียรติในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรของสังคม ในการเก็บความรู้และความทรงจำ เพราะหากปราศจากทรัพยากรบุคคลในส่วนนี้สังคมอาจจะขาดช่วงไป ทำให้หลงลืม สูญหาย และขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่า

“หลายโครงการแสดงแง่มุมตรงนี้ให้เห็น เช่น เรื่องพิพิธภัณฑ์เมืองโคราชหรือบันทึกเรื่องชาติพันธุ์ของคนมุสลิมที่บางกอกน้อย ในมิติของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย พิธีกรรม ชาติพันธุ์ ความเป็นชุมชนในสยาม ที่ผลัดเปลี่ยนกันมา หรือการคิดว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหนในการรองรับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย เราคิดถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ในการทำให้ชีวิตเขาเชื่อมโยงกับคนรุ่นเยาว์ได้ หรือขนาดที่ว่าคนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจะพาเขาออกจากบ้านยังไง โครงการนี้ทำให้เราเห็นว่าไปได้ไกลกว่าที่เราคิด ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่จำกัดอีกต่อไปแล้ว เพราะกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์อีกต่อไปแล้ว แต่ไปได้ไกลมากกว่าที่เราคิดมาก”