หญิงสูงวัยอายุราว ๆ หกสิบกว่าปีคนนั้น ยืนรอเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาอยู่ด้านหน้าอาคารจนกระทั่งได้พบกับ เอก-เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เมื่อพูดคุยซักถามปัญหากันแล้ว เธอร่ำไห้ออกมาด้วยความอัดอั้น บอกว่าเดินทางมาถึงที่นี่เพราะต้องการจะแจ้งเรื่องคนหาย
“คุณป้าบอกว่า ‘จะมาแจ้งตัวเองหาย’ ผมก็งงว่ามันคืออะไร พอพูดเสร็จก็ร้องห่มร้องไห้อีก หลังจากปลอบใจจนดีขึ้นแล้วจึงบอกว่า ตั้งใจจะมาแจ้งว่าตัวเองหาย เพราะว่าถ้าลูกหลานมาตามหาจะได้รู้ว่าแม่ไปอยู่ไหน เพราะหลังจากแจ้งเรื่องกับเราแล้ว แกตั้งใจว่าจะไปฆ่าตัวตาย”
บั้นปลายที่ไร้ทางเลือก ผลพวงจากความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง
เรื่องราวของคุณป้าที่มาแจ้งว่า “ตัวเองหาย” ฟังแล้วคล้ายเป็นพล็อตหนังสะท้อนสังคม แต่นอกจากจะไม่ใช่พล็อตหนังแล้ว เรื่องจริงเรื่องนี้กลับไม่ได้มีตอนจบแบบ Happy Ending เมื่อพูดคุยซักถามรายละเอียดในชีวิตของคุณป้าแล้ว จึงพบว่าเธออาศัยอยู่กับครอบครัวของลูกชายในห้องเช่าเล็ก ๆ ครั้นลูกมีหลานจนห้องเช่าเริ่มแออัดเกินกว่าจะอยู่กันได้ เธอจึงขอแยกออกมาเช่าห้องอยู่ใกล้ ๆ ลูกชาย ยามเศรษฐกิจยังดีอยู่ทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่เมื่อลูกชายเริ่มเครียดจากครอบครัวและการเงินที่ตึงตัว จะเริ่มบ่นกระทบกระแทกว่าแม่เป็นภาระ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คุณป้าเดินทางมาแจ้งว่าตัวเองหายที่มูลนิธิกระจกเงา
เมื่อหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ฟังปัญหาแล้ว จึงวิเคราะห์ว่ามูลเหตุของปัญหานี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เพราะการต้องพึ่งพาเรื่องเงินทองจากลูกทั้งหมดแล้วถูกลำเลิกบุญคุณ ทำให้แม่ผู้ชรารู้สึกขาดไร้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนคับแค้นใจ
เขาจึงเสนอความช่วยเหลือเพื่อเป็นหนทางสร้างรายได้ให้แก่คุณป้า โดยการให้นำเอาข้าวของที่เป็นพวกเสื้อผ้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา ให้นำไปขายตลาดนัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณป้ารับข้อเสนอนั้นและดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้ดี จนกระทั่งสามารถต่อยอดนำเงินที่สะสมจากการตั้งต้นตรงนี้ ไปซื้อรถเข็นและอุปกรณ์ในการทำข้าวเกรียบปากหม้อ ทำเป็นอาชีพเพื่อหารายได้จุนเจือตัวเองอย่างที่ตั้งใจ
“จนผ่านไปพักใหญ่แกโทรมาบอกว่า ‘ตอนนี้ป้าเหนื่อยมาก ยืนขายของทุกวัน’ แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้น เริ่มมีเงินเก็บหมื่นกว่าบาท แต่ชีวิตจริงไม่ได้เหมือนในละคร ผมก็นึกว่าขายข้าวเกรียบปากหม้อแล้ว สบายแล้ว แต่ปัญหาผู้สูงอายุมีมากกว่านั้น พอยืนขายไปซักเดือนสองเดือน แกยืนไม่ไหวขาเริ่มบวม กลายเป็นว่าทำไม่ได้แล้ว ชีวิตกลับมาเป็นแบบเดิมเพราะร่างกายทำงานไม่ไหว แกไม่ใช่วัยทำงานแล้ว คือทำงานได้ แต่ทำงานหนักยืนสามสี่ชั่วโมงเพื่อขายของ ล้างเก็บ เข็นรถ ทำไม่ได้แล้ว ต้องวนกลับมาที่ครอบครัว เพราะผู้สูงอายุเขาเอาตัวรอดไม่ได้”
แม้เรื่องราวของคุณป้าจะดูเหมือนไม่มีทางออก แต่เธอยังโชคดีที่มีครอบครัวคอยดูแล ในขณะที่ภาพใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่ในปี 2565 และจะกลายเป็นสังคมสูงวัยเข้มข้นในปี 2573 โดยมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึง 26.9% ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ จำนวนคนชราที่ทวีสูงขึ้นทุกขณะกลับดูผกผันกับชีวิตในบั้นปลายที่ไม่มีทางเลือกมากนัก หากจะหันไปพึ่งสวัสดิการของรัฐซึ่งมีเบี้ยยังชีพรายเดือนเพียง 600-1,000 บาท ลดหลั่นตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น เอกมีความเห็นว่า
“เอาแค่นั่งรถไปหาหมอ ถามว่าคนแก่จะเดินขึ้นรถเมล์ได้ไหม แล้วถ้าต้องไปรอคิวโรงพยาบาลตีสี่ตีห้า ต้องนั่งแท็กซี่ล่ะ ต้นทุนไปโรงพยาบาลก็สามสี่ร้อยแล้ว 600 ต่อเดือนจะพอไหม นี่คือโจทย์ที่เกิดขึ้นว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุปลดล็อกทางเศรษฐกิจได้ ปลดล็อกทางสุขภาพได้ ปลดล็อคปัจจัยพื้นฐานอย่างน้อยเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคได้”
กรณีศึกษาที่เอกได้ยกมาเล่า เป็นเพียงหนึ่งในยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทย เพราะสิ่งที่มูลนิธิกระจกเงาต้องรับมือโดยตรงคือเรื่องของการสูญหาย โดยพบว่าปัญหาการพลัดหลงหรือสูญหายของผู้สูงอายุนับวันจะมีอุบัติการณ์ที่ซับซ้อนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมูลเหตุที่ทำให้เกิดการสูญหาย มีทั้งที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกรณีตัวอย่างของคุณป้าต้นเรื่อง และปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้รับความใส่ใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ควร ในขณะที่ความรุนแรงและปริมาณของผู้สูงอายุที่สูญหายด้วยสาเหตุนี้มีแนวโน้มที่น่าวิตกมากขึ้นทุกที
รัฐมองคนชราเป็นทรัพยากรบุคคลอยู่หรือไม่
“ส่วนใหญ่เคสที่เราเจอมักไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือบำบัดรักษาโรคสมองเสื่อมหรืออาการหลงลืม เหมือนคนมองว่า อ๋อ..แกเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ แก่แล้ว พอถามว่าเคยพาไปตรวจวินิจฉัยหรือพบแพทย์ไหม ปรากฏว่าไม่ค่อยมีใครเข้าสู่ระบบ ส่วนใหญ่มักเป็นการดูแลตามสภาพ ดังนั้นมันไม่เหมือนกับความเจ็บป่วยทางกายในประเภทอื่น ๆ สมมติเป็นความดัน เบาหวาน แล้วมีอาการในระดับที่หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แบบนี้ลูกหลานก็จะพาเข้าสู่การรักษาพยาบาล มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่พอเป็นลักษณะของโรคสมองเสื่อมแล้ว มันเหมือนกับเป็นโรคที่อยู่ในความคุ้นชิน”
เอกเล่าถึงอุบัติการณ์การหายตัวไปของผู้สูงอายุ โดยชี้ให้เห็นเหตุปัจจัยของเรื่องนี้ว่า แม้การหายตัวไปของผู้สูงอายุ มักเป็นการหายตัวไปในลักษณะของการพลัดหลงออกจากบ้านเป็นเรื่องหลัก แต่ในปัจจุบันที่ระบบสาธารณสุขดีขึ้น ทั้งการรักษาพยาบาล การดูแลความเจ็บป่วย ทำให้อัตราการมีชีวิตที่ยืนยาวของผู้คนเพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะที่สมองกลับมีความเสื่อมไปตามกาลเวลา
เมื่อบวกกับการที่เราได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีอัตราการเกิดน้อยลง ประชากรสูงวัยมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น สัดส่วนของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจึงเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราของการพลัดหลงสูญหายจึงมากขึ้นไปตามสัดส่วน ความน่ากังวลคือการที่โรคนี้ยังไม่ได้รับการรักษาอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งสวัสดิภาพของผู้สูงอายุเอง ครอบครัวโดยเฉพาะผู้ที่ดูแลใกล้ชิด รวมทั้งผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ต้องนำมาจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ
เมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมจะมีอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลข้างเคียงของโรคที่สร้างผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมาก ทั้งความก้าวร้าวฉุนเฉียว เอาแต่ใจ รวมทั้งภาวะหลงลืมซึ่งเป็นอาการที่ชัดเจนของโรค จนกระทั่งเกิดการพลัดหลงสูญหาย หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่าคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหานี้ คือลูกหรือญาติที่เป็นคนดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หลายคนที่ถึงกับเกิดภาวะซึมเศร้า เครียด และโดนตัดสินจากทั้งครอบครัวและชุมชนซึ่งไม่เข้าใจมูลเหตุของปัญหา
“คนที่ดูแลจะรู้สึกเป็นตราบาปที่ปล่อยให้พ่อแม่หายไป ในขณะที่ญาติพี่น้องซึ่งไม่เคยดูแล ไม่มาสนใจเลยอาจมาพูดว่า
‘ดูแลยังไง ให้พ่อแม่หาย’
สังคมไม่เข้าใจ แล้วความเข้าใจของคนในชุมชนก็มีปัญหาเพราะไม่เข้าใจพฤติกรรมของโรค คนย่อมคิดไปว่า ลูกบ้านนี้ทำไมปล่อยพ่อแม่ออกมาเดิน นอกจากนี้พฤติกรรมที่เกิดขึ้นบางทีมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยเช่น ชอบไปเด็ดใบไม้บ้านคนอื่น ไปหยิบของเขามา คนมองว่าทำไมไม่ดูแลพ่อแม่ตัวเอง แต่ว่าในความเป็นจริงมันห้ามไม่ได้ กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันในครอบครัว สร้างความกดดัน ความรุนแรงในครอบครัว ทีนี้ลูกหลานบางบ้านทำกรงขังเลย พอขังปุ๊บชาวบ้านก็บอกว่า ‘ขังพ่อแม่’ อีกโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง นี่คือการที่เราไม่ได้เรียนรู้อาการของโรคสมองเสื่อม จึงกลายเป็นภาวะที่ไม่เข้าใจและไม่รู้จะช่วยกันดูแลยังไง”
เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เอกจึงมุ่งไปที่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือการทำงานเพื่อรับมือกับปัญหาการสูญหายของผู้สูงอายุในเชิงป้องกัน โดยเขาแสดงความเห็นว่าหากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว เทียบกันระหว่างงานป้องกันกับงานตามแก้ปัญหา งานป้องกันใช้งบประมาณที่น้อยกว่ามาก รวมทั้งช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับครอบครัวและสังคมในวงกว้างได้ด้วย
“สมมติคนแก่หลงเข้าไปในป่า เกณฑ์คนมา 200 คน เพื่อตามหา อาหารข้าวปลาของคนสองร้อยคน สรรพกำลังของคนทุกหน่วยในการไปตามหา 5-7 วัน เอาคนมาโรยตัวตามหน้าผา ถ้ามีแหล่งน้ำเอานักประดาน้ำมา หรือต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจ นี่คือต้นทุนที่เกิดขึ้น ถ้าเราพูดในทางเศรษฐศาสตร์ การตามแก้ปัญหาทีหลังมีต้นทุนมหาศาลมาก
ในขณะที่ถ้าเรามองในการทำงานเชิงป้องกัน มันถูกกว่ากันเยอะเลย แต่ในความเป็นจริงโรคนี้กลับไม่ได้เข้าสู่การป้องกันหรือบำบัดรักษา ทำให้เราไม่สามารถรู้ข้อมูลได้ รวมทั้งตัวลูกหลานที่ดูแล ถ้าเข้าใจโรคและอารมณ์คนป่วย จะรู้ว่าต้องดูแลยังไง รวมทั้งความใส่ใจของคนในชุมชน ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เราพบคือผู้สูงอายุหลายคนหายไปหลายรอบจนกลายเป็นความเคยชินของคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ควรมีมาตรการว่าในการพลัดหลงไปแต่ละครั้ง อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะได้ตัวกลับมา หรือกลับมาได้เองอย่างปลอดภัย เพราะว่ามันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้
ภาวะสมองเสื่อม หลงลืม รวมทั้งมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ นอกจากการพลัดหลงสูญหาย จากประสบการณ์ของหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ มูลนิธิกระจกเงา พบว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้บางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งจากผู้สูงอายุด้วยกัน และคนที่อายุน้อยกว่า โดยส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย ไม่ใช่การดำเนินคดี ที่น่าหดหู่คือเรื่องนี้มักจับได้เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบซึ่งหน้า โดยไม่สามารถรู้ได้ว่าในยามที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพังจะเคยเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนหน้านี้
“มีเคสหนึ่งที่ผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงหายตัวไป แล้วพอคุยละเอียดลงไปทำให้รู้ว่ามีบางคนชอบมาเดินผ่านหน้าบ้าน คือบ้านในต่างจังหวัดไม่ได้มีรั้วแน่นหนา ในขณะที่คนก่อเหตุมักจะมาเดินผ่านประจำ คือก่อนหน้านี้เราไม่รู้เลยว่าเคยเกิดเหตุหรือไม่ แล้วผู้สูงอายุแกอาจจะป่วยหรือมีอาการทางจิตเวช เลยสื่อสารไม่ได้ว่าเกิดอะไรกับแกบ้าง
“มีบางเคสที่เราสงสัยว่าอาจไม่ได้หายไปด้วยตัวเอง อาจเป็นการฆาตกรรมรึเปล่า เพราะมีหลายเคสนะที่เราปิดไม่ลงเช่น ผู้สูงอายุคนหนึ่งที่ขับรถเข้าไปในป่า แล้วรถไปหยุดอยู่ในป่าเลย หาร่างไม่เจอ หายไปหลายเดือน เราระดมค้นหาจนไปเจอศพแกไปอยู่ในร่องน้ำ มีเรื่องชวนคิดว่าแกหลงลืมจนขับรถตรง ๆๆๆ เข้าไปในป่า ไม่ถอยไม่เลี้ยวอะไรเลยเหรอ หรือเป็นการจัดฉาก แกอยู่คนเดียว แกมีเงินติดตัว แต่ตอนเจอ เงินนั้นไม่อยู่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือหากเป็นการฆาตกรรม กรณีการสูญหายของผู้สูงอายุในลักษณะนี้ กลับไม่ค่อยถูกอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ หรือมีการส่งตรวจทางนิติวิทยาเท่าที่ควรจะเป็น เลยทำให้ปัญหาของผู้สูงอายุกลายเป็นความคลุมเครือในหลาย ๆ มิติ”
จนมาจบที่ความไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่
เอกสรุปเรื่องนี้โดยเขาย้ำว่าถ้าพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว รัฐเองลงทุนกับกลุ่มประชากรผู้สูงอายุหรือไม่ เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐอาจมองว่าควรลงทุนกับวัยเด็กหรือวัยแรงงาน จึงทุ่มทั้งสรรพกำลังและงบประมาณลงไป ในขณะที่ผู้สูงอายุถูกตีค่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว เป็นประชากรที่อาจจะไม่ได้มีผลตอบแทนทางภาษีอากร จึงถูกมองว่าเป็นภาระ เขาตั้งคำถามให้เราทุกคนฉุกคิดว่า หากต่อไปเมื่อเราต้องเป็นประชากรผู้สูงอายุ สิ่งที่ควรตั้งโจทย์กลับไปที่รัฐอาจเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคน แต่ที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ความไม่เท่าเทียมยังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้แต่กลุ่มของคนที่ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม มีกิจกรรมกลุ่มบำบัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดี แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้นในวงจำกัด ในกลุ่มของคนชั้นกลาง กลุ่มคนที่มีเวลาและทรัพยากรในการเข้าถึงได้
อย่าทำเรื่องผิดปกติ ให้เป็นเรื่องปกติ
“การเป็นคนธรรมดามันยาก มันเหมือนกับว่าเราไม่สามารถจะเดินไปบนโรงพัก เดินไปหาหน่วยงานราชการ เพื่อจะบอกว่าลูกหายหรือพ่อแม่เราหาย ต้องการความยุติธรรม ต้องการการสืบสวนติดตาม มันเหมือนต้องใช้พลังคู่ขนาน จากเอ็นจีโอ จากมูลนิธิ จากสื่อมวลชน จากเส้นสายอะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นคนธรรมดามันเหนื่อย แล้วเสียงมันเบามาก เราได้ใบแจ้งความกลับมาใบเดียว ไม่มีกระบวนการติดตามหา ไม่ได้รู้สึกว่าถูกให้ความสำคัญ มันกลายไปที่เรื่องคุณค่าของคนอีกแล้ว ถ้าคุณไม่ใช่คนดัง มีสถานภาพทางสังคม กระบวนการมันล่าช้า แต่เรื่องจะเร็วก็ต่อเมื่อเป็นข่าว ต้องออกโหนกระแส จนกลายเป็นว่าถ้าไม่ทำสิ่งนี้ กระบวนการมันจะไม่เกิดขึ้นเลย ประชาชนเลยเรียนรู้ว่า งั้นต้องทำแบบนี้ เพราะคำพูดประชาชนมันไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ”
นอกจากประชาชนคนธรรมดาจะไม่มีอำนาจในการผลักดัน ให้เกิดกระบวนการตามหาผู้สูญหายที่มีประสิทธิภาพแล้ว เอกยังชี้ให้เห็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการทำงานที่ซับซ้อนของภาครัฐ เขายกตัวอย่างเช่น ในกรณีมีผู้สูงอายุพลัดหลงเร่ร่อนอยู่ตามถนน เมื่อแจ้งเรื่องไปยังกรมใดกรมหนึ่งของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง กลับพบว่าถูกโยนไปให้อีกหน่วยงานหนึ่ง หรือหากผู้สูงอายุเป็นเพศใดเพศหนึ่ง การรับผิดชอบเคสนั้น ๆ ต้องมีการหา “เจ้าภาพ” ที่ถูกโยนกลองไปมา ที่สุดแล้วเขาต้องประสานกับนักข่าวที่สนิทกัน หรือคนรู้จักในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะเกิดกระบวนการติดตามหรือรับเรื่องที่รวดเร็วขึ้น เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นความผิดปกติและบกพร่องของโครงสร้างรัฐอย่างชัดเจน
เขาเสนอความเห็นว่า หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ ควรตระหนักว่าประเทศไทยมีโครงสร้างขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล อบต. องค์กรพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ภาครัฐที่รับผิดชอบในงานส่วนของผู้สูงอายุอาจต้องเข้าไปเสริมสร้างหน่วยงานท้องถิ่นเหล่านี้ ให้พวกเขาอยู่ในอัตราที่ดูแลตำบลหรือเทศบาลนั้น ๆ ยิ่งหากเป็นกลไกของผู้นำชุมชนที่มาด้วยการเลือกตั้ง วิธีจัดการกับปัญหายิ่งรวดเร็วทั้งกำลังคนและงบประมาณ ที่สุดแล้วคือกลไกของการกระจายอำนาจออกไปจากส่วนกลาง รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของหน้างาน ให้ความสำคัญกับการดูแลเคสผู้สูญหาย การป้องกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มากกว่างานรณรงค์หรือจัดรางวัลประจำปีแก่ผู้สูงอายุดีเด่นอย่างที่เคยทุ่มงบประมาณกันผ่านมา
เมื่อตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า จากการทำงานคลุกคลีกับปัญหาคนสูญหายมายาวนาน เขาอยากสะท้อนสิ่งใดคืนกลับไปสู่สังคม เอกตอบว่าทั้งกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่สูญหาย มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือคนกลุ่มนี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ยากจน