ปฏิรูปแวดวงวิชาการ ตอน 1 : มหาวิทยาลัยประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายรู้ เรากำลังดื่มอะไรเข้าไป ? - Decode
Reading Time: 2 minutes

สู่ดินแดนแห่งต้นกำเนิดปัญญา “มหาวิทยาลัย” พื้นที่ของคำตอบ (โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งคำถามหรือสังเกตเห็น) นั่นคือมหาวิทยาลัย สถานที่ที่เปรียบอุปมาเหมือนบ่อน้ำบำบัดความกระหายใคร่รู้ของปัญญาชน หากมหาวิทยาลัยประดุจบ่อน้ำ แล้วเรากำลังดื่มน้ำแบบไหนกันอยู่? ถอดรหัสจากบทสนทนากับอาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพท่านหนึ่ง

อาจารย์จบป.เอกสำเร็จรูป ประหยัด รวดเร็ว ตรงปก?

ในปัจจุบันทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอก ของอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ถูกตัดลดงบลงไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ต้องห่วง มหาวิทยาลัยได้แก้ไขปัญหานี้ ด้วยการไปจองตัวนักศึกษาปริญญาเอก จากทั้งในและต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อเตรียมมาบรรจุสอนนักศึกษาเจ้าของค่าเทอมอย่างทันท่วงที

วิธีการนี้จึงสามารถเลือกสเปกอาจารย์ได้ตรงสาย แม่นยำ ราวกับออกจากแค็ตตาล็อก ประหยัดงบประมาณ และเวลาที่ต้องใช้ในการส่งอาจารย์คนหนึ่งเรียนต่อ แถมการันตีว่าได้คนที่เรียนจบกลับมาแน่นอน win-win ทุกฝ่าย นศ.ได้คนจบตรงสาย มหาวิทยาลัยประหยัดงบประมาณ ดีงามยังกับเจออาหารสำเร็จรูปตรงปก

แล้วปัญหาอยู่ตรงไหนของระบบ

ปัญหาคือเมื่อมหาวิทยาลัยเลือกที่จะตัดทุนการศึกษาให้อาจารย์ของตน แล้วไปจ้างคนนอกที่เรียนจบกลับมา ชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า เราจะได้คนแบบไหนมาสอนในมหาวิทยาลัย?  คนที่สามารถเรียนจบปริญญาเอกด้วยทุนตัวเองซึ่งต้องใช้เงินหลักล้าน ทำไมถึงตัดสินใจมารับเงินเดือนหลักหมื่น

นอกจากนี้อย่าว่าแต่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาราคาแพงได้หรือไม่ คนส่วนใหญ่ในประเทศยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเงินหลักล้านไปเรียนต่อ โดยไม่ใช้ทุนกู้ยืม นี่คือการผูกขาดการผลิตความรู้ไว้เพียงแค่คนกลุ่มเดียวบนยอดพีระมิด ที่มีต้นทุนมากกว่าคนอื่นทางเศรษฐกิจ

ความหลากหลายของมุมมองและความเข้าใจในปัญหาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ จะถูกสะท้อนผ่านงานวิชาการของพวกเขา และสิ่งที่สอนนิสิต นักศึกษามากน้อยแค่ไหน การตัดทุนการศึกษาให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้กระทบเพียงตัวของอาจารย์เหล่านั้น แต่กำลังจำกัดความหลากหลายทางชนชั้น มุมมอง ประสบการณ์ มิติความคิด ในการสร้างชุดความรู้ให้แก่ของผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย

ทุนวิจัยเซนเซอร์ เราเลือกอะไรได้บ้างจากตัวเลือกที่ถูกจำกัด

ก้าวแห่งการเติบโตทางวิชาการนั้นขึ้นอยู่กับผลงานวิจัยเป็นอย่างมาก เมื่อมีข้อจำกัดในเรื่องการทำวิจัยที่ต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทุนส่วนตัวของตัวเองได้ การจะมีโอกาสได้ทำวิจัยหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการเลือกเสนอหัวข้อที่จะมีโอกาสผ่านการพิจารณาตั้งแต่แรก

กรอบที่ครอบทับทิศทางองค์ความรู้เหล่านี้ จึงเป็นเสมือนไส้กรองที่คอยกรองแยกชุดข้อมูลที่เราจะได้รับรู้ ตัดตอนความหลากหลายของคำถาม และการหาคำตอบไปตั้งแต่ก้าวแรก 

ไม่มีงานวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สามารถมีคีย์เวิร์ดสำคัญอย่าง “เผด็จการ” ลอดผ่านออกมาได้เลย ไม่ว่าจะในแง่มุมไหนก็ตาม มิหนำซ้ำยังมีกรอบล้อมว่างานวิจัยเหล่านั้นจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย

การเชือดไก่ให้ลิงดู กรณีศึกษางานวิจัยของ อ.ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่งานวิจัยของ อ.ณัฐพล ใจจริง ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างขึ้นมาในแวดวงวิชาการ ในหมู่นักวิชาการ มีทั้งความรู้สึกที่ต้อง “เซนเซอร์ตัวเอง” กันมากขึ้น และรู้สึกไม่พอใจด้วยเช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากนักวิชาการในประเทศไทย ยังพบว่ามีการห้ามนักวิชาการจากต่างประเทศบางท่าน เข้าประเทศไทยแล้วในตอนนี้

เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมนำไปสู่การขอทุนวิจัยในหัวข้อที่ “สุ่มเสี่ยง” ยากขึ้น โดยหากจะขอทุนเพื่อทำงานวิจัยในประเด็นที่แหลมคม ก็จะต้องเป็นการขอจากแหล่งทุนต่างประเทศ และต้องตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการสร้างกำแพงภาษากีดกันคนจำนวนหนึ่งออกไป จากองค์ความรู้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราอาจไม่ได้เห็นงานวิจัยฉบับภาษาไทยที่ช่วยตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศของเราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ โดยไร้ระบอบเผด็จการครอบงำไปอีกหลายปี และต่อให้มีงานวิชาการลอดผ่านออกมาได้ กระบวนการผลิตขั้นตอนต่อไปก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร

ระบบการตีพิมพ์งานวิจัย ไส้กรองชั้นสุดท้ายที่เต็มไปด้วยช่องโหว่

เมื่อการตีพิมพ์งานวิจัยสำคัญต่อการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปขนาดนี้ แน่นอนว่าย่อมมีการพูดคุยว่า แหล่งตีพิมพ์ที่ไหนตรวจสอบละเอียดเข้มข้น แหล่งตีพิมพ์ที่ไหนที่เข้มข้นน้อยกว่า ระบบเส้นสายและการอุปถัมภ์เหล่านี้เหมือนมือที่คอยถ่างให้เกิดช่องว่างในชั้นกรอง คำถามชวนสงสัยจึงไม่ใช่เพียงแต่คุณภาพของงานวิจัย ที่ผ่านมาตรฐานเหล่านั้นออกมาเท่านั้น แต่ชวนให้ตั้งคำถามไปถึงคุณภาพของตำแหน่ง  ชื่อย่อนำหน้าของผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากตารางงานสอนที่อัดแน่น อาจารย์มหาวิทยาลัยยังต้องเร่งทำผลงานวิจัยและชิ้นงานเขียนออกมาให้มี “จำนวน” เท่ากับที่ปรากฏในสัญญาจ้าง ด้วยอัตราเงินเดือนที่ไม่ได้หวือหวา แน่นอนว่าในหลาย ๆ ครั้งผู้ทรงคุณวุฒิของเราหลายท่าน ก็รับงานจากสถาบันองค์ความรู้ภายนอกด้วยเช่นกัน ทั้งงานสอน งานวิจัย งานนอกมหาวิทยาลัย ไหนจะชีวิตส่วนตัวอีก พวกเขาบางคนจึงต้องมีตัวช่วย โดยเครื่องมือนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ไม่มีใครพูดถึงนั่นก็คือ มือปืน

มือปืน / ซุ้มมือปืน คือชื่อเล่นของคนที่รับทำงานวิจัย หรือช่วยงานวิจัยให้กับบรรดาอาจารย์ที่มีงานล้นมือ การตกลงกันนั้นมีตั้งแต่แลกเปลี่ยนเป็นตัวเงิน หรืออาจปรากฏชื่อเป็นส่วนหนึ่งของรูปเล่มวิจัยบนหน้าปก หรือคำขอบคุณบรรทัดเล็ก ๆ ตรงบทนำ มีสัญญาแลกเปลี่ยนเขียนกันกำกับไว้ชัดเจน

สิ่งนี้ยังไม่น่ากังวล (หากไม่ได้มองในแง่มุมของจรรยาบรรณวิชาชีพ) เท่ากับการไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีหลักฐานการจ้างงาน แต่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือการกดทับเชิงอำนาจเพื่อให้คนอื่นทำงานวิจัยให้ตัวเอง

ในหลาย ๆ ครั้งนักศึกษาป.โท ที่มีความรู้ความสามารถต้องตกที่นั่งเป็นผู้ช่วยวิจัย โดยไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาปากเปล่า แต่ไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้ และยังพบกรณีที่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (Sexual Expliotation) ระหว่างตัวอาจารย์และผู้ช่วยวิจัย ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการร้องเรียนอีกด้วย เพราะอนาคตและโอกาสว่าจะเรียนจบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอาจารย์เจ้าของงานวิจัยนั่นเอง

นี่คือที่มาขององค์ความรู้ที่หลั่งไหลดุจสายน้ำ จากต้นธารที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย  ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดผูกขาด แต่อาจได้มาด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ชวนตั้งคำถามในคุณภาพ และขาดความหลากหลายในมุมมองต่อสังคมของตัวผู้ผลิตเอง

แน่นอนว่าการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยรัฐเหล่านี้ ควรที่จะเปิดเผยในทางสาธารณะและถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนเอกสารการใช้งบประมาณประจำปี หรือแม้แต่ตัวรายงานต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ขณะนี้แม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ก็ยังคงเป็นข้อมูลที่ปิดเงียบ ไม่ลงรายละเอียด หรือปิดกั้นการเข้าถึงอยู่ดี

ชวนอ่านบทความปฏิรูปแวดวงวิชาการ ตอน 2: เมื่อความเคลื่อนไหวปรากฏ เราต้องการความขบถในแวดวงวิชาการ มากกว่าทุกครั้ง