10 ปี อาหรับสปริง: คลื่นประชาธิปไตยหรือเผด็จการย้อนรอย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 1 ทศวรรษของคลื่นเหตุการณ์ทางการเมือง ที่สั่นสะเทือนและเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก เหตุการณ์นั้นถูกเรียกขานกันในนามที่รู้จักกันดีว่า “อาหรับสปริง”

ณ ช่วงประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 2011 ที่ประชาชนในภูมิภาคดังกล่าว พากันลุกฮือขึ้นมาประท้วงรัฐและเรียกร้องประชาธิปไตย ทั่วโลกพากันจับตาการอุบัติขึ้นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นักสังเกตการณ์ นักการทูต และสื่อมวลชนต่างตื่นเต้น เพราะไม่มีใครคาดคิดว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง (MENA) ที่เคยถูกตราหน้าว่าจะไม่มีวันเห็นแสงสว่างของประชาธิปไตย (เพราะถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการและผู้นำที่คอร์รัปชันมายาวนานหลายทศวรรษ) จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้

นักวิชาการบางคนจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่าคือ “คลื่นลูกที่ 4 ของประชาธิปไตย” ตามหลังคลื่นลูกที่หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1828-1926 (แถบยุโรปตะวันตก), คลื่นลูกที่สองช่วงค.ศ. 1943-62 (อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น ฯลฯ) และคลื่นลูกที่สามช่วงค.ศ. 1974-1989 (กรีซ โปรตุเกส สเปน ละตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก)

อย่างไรก็ตามผ่านไป 1 ทศวรรษแล้ว หลังจากที่ประชาชนตูนีเซียสามารถขับไล่ประธานิบดีเบน อาลี ที่ปกครองประเทศยาวนานถึง 24 ปี, คลื่นประชาชนในอียิปต์สามารถทำให้ฮอสนี มูบารัคที่ครองอำนาจร่วม 3 ทศวรรษต้องลงจากอำนาจ และการแทรกแซงของมหาอำนาจต่างชาติ ช่วยปลดปล่อยชาวลิเบียจากการปกครองของมูอัมมาร์ กัดดาฟี

วันนี้แต่ละประเทศที่ผ่านเหตุการณ์อาหรับสปริง ต่างพัฒนากันไปคนละทิศคนละทาง หลายประเทศเผชิญกับสงครามกลางเมือง เช่น ซีเรียและเยเมน บางประเทศอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว บางประเทศกลับไปปกครองแบบเผด็จการอีกครั้ง ที่ชัดเจนที่สุดคืออียิปต์

ดูจะมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนผ่านอย่างค่อนข้างราบรื่น และประสบความสำเร็จ คือตูนีเซียที่สามารถสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา เป็นกติกาทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ เปิดพื้นที่ของเสรีภาพ และสร้างสังคมที่ความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าประเทศจะยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและช่องว่างทางสังคม รวมถึงอัตราการว่างงาน แต่ประชาธิปไตยก็ไม่สะดุดหยุดลง

อะไรคือบทเรียนความสำเร็จของตูนีเซีย และความล้มเหลวของประเทศอื่น ๆ ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่งานวิจัยในระยะหลังต่างชี้ตรงกันว่าปัจจัยสำคัญที่สุด ที่อธิบายเส้นทางที่แตกต่างและระหกระเหินของแต่ละประเทศ

คือความเข้มแข็ง (และอ่อนแอ) ของสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ ตุลาการ พรรคการเมือง องค์กรประชาสังคมทั้งช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติประชาชน

ผมจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 ประเทศที่เหมือนหนังคนละม้วน แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ประเทศตูนีเซียกับอียิปต์

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ตูนีเซียและอียิปต์ถือว่าเริ่มต้นด้วยชัยชนะของประชาชน โดยไม่ต้องอาศัยการแทรกแซงจากมหาอำนาจต่างชาติ การเดินขบวนประท้วงของประชาชนเรือนแสนใจกลางเมือง ซึ่งผู้คนมาจากหลากหลายความคิดและอาชีพ มาร่วมกันด้วยน้ำหนึ่งใจเดียวเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อหยุดยั้งระบอบการปกครองที่ผู้นำใช้อำนาจเอื้อพวกพ้องของตน คอร์รัปชัน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ จนคนส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ

ณ จุดวิกฤติที่ผู้นำอย่างเบน อาลี และมูบารัค กำลังเผชิญหน้ากับคลื่นผู้ประท้วง นักการเมืองจำนวนหนึ่งในพรรคของทั้งสองคนเริ่มถอนการสนับสนุน แต่จุดชี้ขาดชะตากรรมของผู้นำทั้งสองเกิดขึ้นเมื่อกองทัพ ซึ่งเป็นเสาหลักค้ำจุนอำนาจมาอย่างยาวนาน ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นเสาค้ำยันอำนาจ และนั่นคือจุดสิ้นสุดของระบอบเบน อาลี และฮอสนี มูบารัค

นั่นคือ จุดเริ่มต้นของความหวัง

แต่การโค่นล้มระบอบเผด็จการ เป็นเพียงจุดนับหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ความท้าทายที่ยากกว่า คือช่วงหลังจากนั้น ซึ่งอียิปต์ล้มเหลว แต่ตูนีเซียทำได้สำเร็จ

หากจะให้สรุปความสำเร็จของตูนีเซีย เราอาจสรุปได้ว่ามันมาจาก 2 ปัจจัยประกอบกัน เสมือนเป็นจิ๊กซอว์ 2 ชิ้นที่ต่อภาพการเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่น ปัจจัยแรกคือ ความเป็นทหารอาชีพและอุดมการณ์ของกองทัพ ส่วนปัจจัยที่สองคือ ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

กองทัพตูนีเซียก่อตัวขึ้นมาในทางประวัติศาสตร์ ภายใต้ระบอบการปกครองของพลเรือน และกองทัพถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีความเป็นทหารอาชีพ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ปกครอง ผู้นำตูนีเซียเน้นใช้ตำรวจและฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน และรักษาอำนาจของตนเอง ในขณะที่ทหารรักษาระยะห่างกับรัฐบาล และพัฒนาความเป็นสถาบันของตน ในฐานะกองทัพอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

นอกจากนั้นกองทัพตูนีเซีย ยังไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ใด ๆ ความเป็นทหารอาชีพและการรักษาระยะห่างกับผู้นำรัฐบาลนี้ กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภาวะวิกฤต เมื่อเบน อาลี ถูกท้าทายจากประชาชนเรือนแสน เขาออกคำสั่งให้กองทัพปราบปรามผู้ประท้วง แต่ผู้นำกองทัพนิ่งเฉย ไม่ทำตามคำสั่ง

เบน อาลีจึงต้องเลือกใช้ตำรวจในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนแทน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกองทัพออกมาหยุดยั้งตำรวจไม่ให้ทำร้ายประชาชน ทั้งยังส่งสัญญาณให้เบน อาลี รู้ว่าทหารจะไม่ปกป้องเขาให้อยู่ในบัลลังก์อำนาจอีกต่อไป กระทั่งเสนอดีลให้เบน อาลี ลี้ภัยออกนอกประเทศได้ หากยอมลงจากตำแหน่ง

งานวิจัยบางชิ้นที่ได้ไปสัมภาษณ์ทหารตูนีเซียในช่วงอาหรับสปริง ยังเปิดเผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่าเหตุใด ทหารจึงขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งของผู้นำเผด็จการ

ประการแรก ทหารชั้นผู้น้อยหลายคนกล่าวว่า พวกเขารู้สึกเห็นอกเห็นใจและ “มีใจ” ให้กับผู้ประท้วงเพราะมาจากชนชั้นล่างของสังคมเหมือน ๆ กัน พวกทหารระดับล่างจึงเข้าใจว่า ประชาชนยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างไร มีชีวิตที่ต้องดิ้นรนอย่างไรบ้างภายใต้การปกครองของเบน อาลี

ประการที่สองเป็นเหตุผลด้านอุดมการณ์ โดยบรรดานายทหารทั้งระดับล่างและระดับสูงกล่าวว่า พวกเขาถือว่าภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของกองทัพ อยู่เหนือผลประโยชน์ของผู้นำรัฐบาล ที่พวกเขาไม่ยอมรับคำสั่งออกไปสังหารประชาชน เพราะพวกเขามองว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำและเสียหาย และทำให้ประชาชนรังเกียจทหาร

ฉะนั้น เราอาจสรุปได้ว่าความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มืออาชีพ การไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บวกกับอัตลักษณ์และอุดมการณ์ของทหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพ ไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ทั้งในช่วงวิกฤตและหลังจากนั้น จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของตูนีเซียเป็นไปอย่างราบรื่น

ส่วนจิ๊กซอว์ตัวที่สอง คือ ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและพรรคฝ่ายค้าน โดยบรรดานักเคลื่อนไหวและนักการเมืองฝ่ายค้านที่คัดค้านการปกครองของเบน อาลี มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนอาหรับสปริงแล้ว แต่ละกลุ่มรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มีบทบาทมาก สหภาพแรงงานที่แข็งแรง กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและทนายหัวก้าวหน้า และที่สำคัญคือกลุ่มเยาวชนที่ก็มีบทบาทมาก

นอกจากนั้น อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือ องค์กรและพรรคการเมืองในแนวอิสลาม ที่มีลักษณะไม่สุดโต่ง เรียกได้ว่าฝ่ายที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนั้น มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงพอสมควร ตั้งแต่ช่วงก่อนอาปรับสปริง แม้ว่าจะถูกจับตาและปราบปรามจากรัฐบาลมาตลอด แต่พวกเขาก็หาช่องทางในการเคลื่อนไหวอย่างพลิกแพลง โดยไม่ยอมหยุดหรือล้มเลิกการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พลังของกลุ่มเหล่านี้นี่เองที่ไหลมารวมกันใน “การปฏิวัติดอกมะลิ” และช่วยประคับประคองให้ประชาธิปไตยที่เยาว์วัยของตูนีเซียค่อย ๆ ผลิดอกออกใบ และบทบาทอันโดดเด่นของภาคประชาสังคมดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี ค.ศ. 2015

จิ๊กซอว์ทั้ง 2 ตัวที่ตูนีเซียมีนั้น ขาดหายไปในอียิปต์ กองทัพอียิปต์เป็นกองทัพที่มีอำนาจมหาศาล และมีบทบาททางการเมืองมากว่า 70 ปี ทั้งยังมีอาณาจักรธุรกิจของตัวเองอย่างกว้างขวาง ในช่วงวิกฤตอาหรับสปริง กองทัพเลือก “เท” มูบารัคซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน แต่ยังคงรักษาอำนาจของตนไว้อย่างเหนียวแน่น

และในที่สุดก็กลับมายึดอำนาจทางการเมืองในปี ค.ศ. 2013 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดประชามติที่ไม่เสรี ควบคุมสื่อ จับนักการเมืองและนักกิจกรรมที่ต่อต้านกองทัพติดคุกจำนวนมาก ยุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง และสุดท้ายผู้นำรัฐประหาร คือนายพลอัล-ซีซี ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งจนชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่อง 2 สมัย ประสบความสำเร็จในการ “แปลงกาย” จากผู้นำรัฐประหารมาเป็นผู้นำจากการเลือกตั้ง และอยู่ในอำนาจมาถึงปัจจุบันโดยไม่ยอมลงจากอำนาจ

นอกจากยึดติดกับอำนาจแล้ว นายพลอัล-ซีซี ยังแก้รัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตน เข้าควบคุมฝ่ายตุลาการ เพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุม ออกกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน เพื่อทำให้พลังประชาธิปไตยอ่อนแอ ซึ่งภาคประชาสังคมในอียิปต์นั้นอ่อนแออยู่แล้ว หากเปรียบเทียบกับตูนีเซีย ขาดการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง ขาดการทำงานต่อเนื่อง และขาดการทำงานร่วมกัน ซึ่งความแตกแยกในฝ่ายประชาชนหลังอาหรับสปริงนี่เอง ที่เป็นเหตุให้กองทัพนำมาเป็นข้ออ้างกลับเข้ามายึดอำนาจในที่สุด

เส้นทางที่ต่างกันของทั้งสองประเทศ จึงเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ และเป็นผลจากการมีปัจจัยเชิงสถาบันทางการเมืองที่แตกต่าง หากลองประยุกต์ปัจจัยดังกล่าว มาพิจารณาความล้มเหลวของประชาธิปไตยในประเทศไทย เราคงจะมองเห็นภาพได้ชัดขึ้นทีเดียวว่าเหตุใด นักสังเกตการณ์บางท่านจึงกล่าวว่า ประเทศอียิปต์คือคู่แฝดทางการเมืองของประเทศไทย

กล่าวมาถึงจุดนี้ ต้องเตือนไว้ด้วยว่า เส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยในตูนีเซียนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยความล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์โควิด และการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ในที่สุดประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายได้ตัดสินใจปลดนายกฯ ออกจากตำแหน่ง และระงับการประชุมรัฐสภาเป็นการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อคลายความไม่พอใจของประชาชน และเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม แต่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดี เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ 

วิกฤตการเมืองล่าสุดนี้กำลังเป็นบททดสอบตูนีเซีย – ประเทศต้นกำเนิดประชาธิปไตยของโลกอาหรับเมื่อ 10 ปีก่อน ว่ามันยังจะสามารถเป็น “ประภาคาร” ของประชาธิปไตยในภูมิภาค หรือมันจะกลายเป็นเรือที่ล่มกลางทะเล ณ จุดนี้ บทบาทของกองทัพ พรรคการเมืองและภาคประชาสังคม คือสิ่งที่เราต้องจับตามองว่า จะช่วยโอบอุ้มให้มรดกความสำเร็จของอาหรับสปริงเดินไปต่อได้หรือไม่