ผิดไหมที่ห่างไกลศาสนาในสายตาพส. - Decode
Reading Time: 3 minutes

ทุกวันนี้มีข้อเท็จจริงที่ว่ายิ่งสังคมพัฒนา การนับถือศาสนาจะน้อยลง ซึ่งเหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรืออาจจะเป็นเพราะศาสนาไม่ตอบโจทย์ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

ทว่าในช่วงเดือนกันยายน 2564 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองได้กลายเป็นกระแสสังคม เกิดการพูดถึงในวงกว้าง ทำให้พระมหาไพรวัลย์มีผู้ติดตามหลักล้านในเวลาชั่วข้ามคืน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่สร้างความสงสัยและคำถามจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องบทบาทในยุคสมัยที่คนเริ่มออกห่างจากศาสนามากขึ้น เพื่อตอบคำถามนี้ ทาง De/code ได้ติดต่อสัมภาษณ์พระมหาไพรวัลย์ แล้วก็ได้คำตอบของคำถามทั้งมุมมองด้านสังคมและศาสนา รวมทั้งแผนการในอนาคต ซึ่งพระมหาไพรวัลย์บอกว่าไม่ได้วางแผนอะไรไว้

“ไม่ได้วางแผนไกล นี่อาจจะเป็นข้อเสียก็ได้ เป็นคนที่ไม่ชอบคาดหวังอะไรที่มันเยอะ ชอบทำงานสนุกไปวัน ๆ นิสัยเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ชอบทำสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ ถ้าคิดไกลนี่ปวดหัวไม่อยากคิด เราเป็นพระเล็ก ๆ รูปหนึ่ง ไม่อยากหวัง” แล้วอะไรคือบทบาทของพระสงฆ์และเบื้องหลังกระแสพส. ในทัศนะของพระรูปนี้

เบื้องหลังพส.ทะลุแมส

สำหรับกระแสของพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองที่เกิดขึ้นนั้น หากดูจากยอดวิวและการติดเทรนด์ทวิตเตอร์แล้ว คงจะสร้างความเข้าใจไปได้ว่าคนรุ่นใหม่สนใจศาสนามากยิ่งขึ้น แต่เมื่อไปดูในรายละเอียด ก็อาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว

จาก Facebook Live พระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปอง แม้จะมีคนดูหลักแสน แต่ส่วนมากเป็นการเข้าไปหยอกล้อกับพระสงฆ์ทั้งสองเสียมากกว่าที่จะฟังธรรมะ แม้กระทั่งผู้ไลฟ์สดก็ยังรู้ในจุดนี้ เห็นได้จากการที่พระมหาสมปองกล่าวในทำนองว่าหากมีสาระเกินไปคนก็จะหายหมด

การเป็นกระแสของพส.ทั้งสอง จึงดูจะไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นการวางตัวของพระสงฆ์ทั้งสองรูปเสียมากกว่าที่ดึงดูดให้มีคนเข้าไปดูเป็นจำนวนมาก

“จริง ๆ เพิ่งมีกระแสคนมารู้จักเมื่อไม่กี่อาทิตย์นี้เอง เป็นกระแสเพราะว่าคนสนใจ ทุกวันจะมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดความสนใจคน แล้วเราไปเอาอันนั้นมาพูดมาโพสต์ มันก็ดึงคนมาได้โดยเฉพาะวัยรุ่น เอาศัพท์แสงเขามา เอาคำฮิต ๆ เช่น ต๊าชมาก ที่ในแวดวงวัยรุ่นเขารู้กันแล้ว”

ซึ่งการได้รับกระแสสังคมในครั้งนี้ สำหรับพระมหาไพรวัลย์ถือว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตก็ว่าได้ โดยเมื่อถามถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่พระมหาไพรวัลย์เป็นที่นิยม ท่านตอบทันทีโดยไม่ลังเลว่าดีใจ และมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้พื้นที่ในการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น

ดีใจ ไม่ได้ดีใจในความแมส ดีใจว่าเรามีพื้นที่มากขึ้น อาตมาว่าพระทุกรูปที่ท่านทำงานด้านการเผยแพร่ ท่านก็อยากจะเป็นที่รู้จักของคน อยากมีพื้นที่ให้คนสนใจ คนมาถาม มาสัมภาษณ์ มีพื้นที่ไลฟ์สดแล้วคนดูเป็นหมื่น คนฟังเป็นแสน อาตมาว่า อาตมาได้มาถึงจุดที่อาตมาอยากถึงแล้ว ต่อไปนี้ก็คือ การทำหน้าที่รักษาพื้นที่ต่อไป ในการเอาพื้นที่ที่มีอยู่ตรงนี้เผยแพร่ให้มากขึ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

การแมสของพระมหาไพรวัลย์ที่เกิดขึ้นโดยรวม เหตุผลจริง ๆ จึงเรียบง่าย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงมิติบางอย่างที่ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะวิธีคิดด้านบทบาทของพระสงฆ์และศาสนาในเมืองไทยในเวลาที่คนไม่นับถือศาสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ช่องว่างของ “คำถาม” กับการเพิ่มขึ้นของ “คนไม่นับถือศาสนา”

แม้รัฐไทยจะออกตัวสนับสนุนทุกศาสนาโดยพร้อมหน้า แต่ศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติในทางพฤตินัย คงหนีไม่พ้นศาสนาพุทธ การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธทำให้เด็กที่เกิดมาในประเทศไทยจะได้เรียนวิชาพุทธศาสนาโดยถ้วนหน้า

หากแต่ในช่วงหลายปีมานี้ กลับมีคนที่ประกาศตนว่าไม่นับถือศาสนามากยิ่งขึ้น พระมหาไพรวัลย์มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเรื่องที่ปกติมากโดยเฉพาะกับในสังคมปัจจุบัน มีมิติอย่างอื่นที่ถูกให้ความใส่ใจมากขึ้น ไม่ว่าจะหลักเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งศาสนามักจะไม่ค่อยตอบโจทย์

“เป็นเรื่องปกติ ทั่วโลกคนไม่มีศาสนาเยอะขึ้นเพราะรู้สึกว่าศาสนามันเอาท์ มันไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิต ที่เขาต้องการจะชูเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความเป็นปัจเจก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนหันมาเคารพตัวเองมากขึ้น แล้วมันเรียกร้องการเคารพตัวเองพร้อมกับเรียกร้องการเคารพระหว่างกันด้วย

“คำสอนทางศาสนาบางอย่างไม่สอนเรื่องพวกนี้ มันไม่สอนให้คนเห็นศักยภาพความเป็นมนุษย์ มันยังมีคำสอนบางประเภทที่ยังฟังดูเหยียดอยู่ เช่น เรื่องเหยียดเพศสภาพ เรื่องเพศผู้หญิงบ้าง เรื่องเพศที่สามบ้าง อย่างกรณีศาสนาพุทธคนก็จะมองว่าทำไมศาสนาให้พื้นที่กับนักบวชที่เป็นผู้ชาย ไม่ให้พื้นที่แก่ผู้หญิง หรือค่านิยมแบบเรื่องบวชเพื่อทดแทนบุญคุณ เขาก็เริ่มจากการตั้งคำถามตรงนี้”

ทว่าขณะเดียวกัน แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง แต่พระมหาไพรวัลย์ก็ยังตระหนักว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังนับถือศาสนาอยู่

เมื่อถามว่าถ้าหากปัจจุบันพระมหาไพรวัลย์ ไม่ได้มีบทบาทในฐานะพระสงฆ์ แต่เป็นคนธรรมดา แล้วพระมหาไพรวัลย์จะนับถือศาสนาหรือไม่

“แล้วแต่บริบทด้วยนะ ถ้าเราไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้มีวิธีคิดแบบที่เป็นอยู่แบบนี้ เราก็นับถือเหมือนกับที่พ่อแม่นับถือ วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่จริง ๆ ไม่ได้ตั้งคำถามขนาดนั้น นับถือศาสนาก็นับถือเพราะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ดูแล้วก็อาจจะนับถือศาสนาอยู่ และไม่ได้มองศาสนาในแบบที่มองอยู่ตอนนี้”

คำกล่าวของพระมหาไพรวัลย์ไม่ได้แค่กำลังบอกว่า ถึงสังคมไทยกำลังจะมีผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นแต่โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงนับถือศาสนาอยู่ โดยเป็นการนับถือตาม ๆ กันมา สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาในสังคมไทยนั่นก็คือการเลื่อนสถานะและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อพระมหาไพรวัลย์กล่าวถึงสาเหตุที่ตนได้มาบวชเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์

“คนสมัยโบราณเขาจะนิยมให้ลูกบวชเรียน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เกเรหน่อย ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออายุประมาณสิบสี่ สิบห้า ถ้าไม่ได้ถูกอบรมดี มันก็เสี่ยงที่เด็กจะไปติดเพื่อน ติดยา สมัยก่อนการบวชเรียนเป็นช่องทางหนึ่งให้เด็กพัฒนาคุณภาพชีวิต เราก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่บ้านก็ค่อนข้างมีฐานะยากจน ก็บวชดีกว่าได้เรียนด้วย”

แต่นั่นไม่ได้เปลี่ยนข้อสังเกตของพระมหาไพรวัลย์ที่ว่าคนกำลังนับถือศาสนาน้อยลงโดยเฉพาะเมื่อศาสนามีความห่างไกลจากผู้คนมากยิ่งขึ้น

“ (ที่คนไม่นับถือศาสนามากขึ้น) เป็นเรื่องของบทบาทคณะสงฆ์ที่ห่างไกลกับสังคม ทำให้คนรู้สึกว่าคณะสงฆ์ไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม เวลามีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม คณะสงฆ์ไม่มีแอคชั่น ไม่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยเลย โดยอ้างว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ หรือพระสงฆ์ควรจะอยู่เหนือการเมือง คนก็รู้สึกว่าพุทธศาสนาไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา คนรุ่นใหม่ก็ไปหาที่ยึดเหนียวอื่นที่อาจจะไม่ใช่ศาสนา”

ศาสนาห่างไกล “คน” เลี่ยงไม่ได้ต้องปรับตัว

เมื่อถามถึงบทบาทของศาสนาซึ่งห่างไกลจากผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ พระมหาไพรวัลย์ได้กล่าวว่า ศาสนาต้องยอมปรับตัว เรียนรู้จากมุมมองมิติอื่นมากขึ้น

“ศาสนาจะปรับตัวได้ก็ต่อเมื่อศาสนาเรียนรู้วิธีคิดของคนในมิติอื่น ๆ ศาสตร์อื่น ๆ ศาสนาต้องรู้ก่อนว่าคนในปัจจุบันเขาคิดยังไงกัน เขาเคารพคุณค่าในเรื่องของอะไร ข้อเสียของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งก็คือ พุทธศาสนาชอบคิดว่าคำสอนของตนนั้นดีแล้ว ไม่สนใจศาสนาคือพวกคนบาป มองอย่างนี้ก็ทำให้ศาสนาไม่เกิดการพัฒนา”

ทั้งนี้ พระมหาไพรวัลย์ ได้เน้นย้ำว่าการปรับตัวจะเริ่มขึ้นได้ ต่อเมื่อศาสนามองเห็นเหตุผลของการหันหลังให้กับศาสนา ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีศาสนา

“ศาสนาต้องมองว่าทำไมคนรุ่นใหม่หันหลังให้เรา ทำไมคนรุ่นใหม่เขาสนใจปัญหาเรื่องเสรีภาพ ปัญหาสิทธิมนุษยชน มันสำคัญยังไง ถ้าศาสนาเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในศาสตร์อื่น ๆ บ้าง มันก็จะทำให้ศาสนาปรับตัวได้ หรือพยายามที่จะหาแง่คิดหรือวิธีการที่เป็นหลักคำสอนบางอย่าง เพื่อที่จะให้มันสอดคล้องกับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่”

สำหรับพระมหาไพรวัลย์ การสอนศาสนาที่ดีที่สุดนั้นต้องมีจิตวิทยา โดยเฉพาะกับกรณีค่ายธรรมะ

“บางโรงเรียนเขาจะบังคับให้เด็กเข้าค่ายคุณธรรม ค่ายพุทธบุตร โรงเรียนจะบังคับว่าถ้าไม่ไปก็จะไม่ได้เกรด ปัญหาของค่ายธรรมะหลาย ๆ ที่คือ สอนไม่ถูกทาง บางค่ายไปเอาระบบ SOTUS มาใช้ทำโทษเด็ก ให้เด็กคาบรองเท้า ให้เด็กคาบจานข้าว ขู่เด็กให้กลัวบ้าง เอาเรื่องการคลอดลูก ภาพการฆ่าสัตว์ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับจิตวิทยาในการสอนเด็ก เด็กก็มีภาพจำว่าธรรมะเป็นเรื่องของการลงโทษ”

โลกของการเปิดกว้างและความเท่าเทียม

“พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกคนเกิดมาจากมดลูกเหมือนกัน (พระพุทธเจ้าใช้คำว่าโยนี) สมัยก่อนศาสนาพราหมณ์เขาถือว่าพวกพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม ในขณะที่วรรณะอื่นอาจเกิดจากมือหรือเท้าบ้าง แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าพูดไว้ชัดเจนเลยว่า ทุกวรรณะเกิดจากที่เดียวกัน คือเกิดมาจากโยนีของมารดา เป็นการพูดตรง ๆ ชัดเลยว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน”

เมื่อถามถึงกรณีของ LGBTQ+ พระมหาไพรวัลย์ได้เน้นย้ำว่า คนกลุ่มนี้ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในมุมมองของพุทธศาสนา

“พุทธศาสนาแม้จะพูดเรื่องกรรมในอดีตชาติยังไง แต่ที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าสอนว่า เราเกิดมาเพื่อพัฒนากรรม มนุษย์แตกต่างกันเพราะกรรม แต่กรรมไม่ได้หมายถึงกรรมในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการกระทำในปัจจุบันด้วย ความดี ความเลว มันแยกเพศสภาพเหรอ ? ผู้หญิงทำชั่วมากกว่าผู้ชายเหรอ ? LGBT ทำชั่วมากกว่าคนอีกสองเพศเหรอ ? มันก็ไม่ใช่ นั่นคือหลักการ ถ้าเราเห็นว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ภายใต้การเข้าถึงธรรมะ ก็ไม่ต้องแบ่งแยกว่าเขาเป็น LGBT”

นอกเหนือจากคำสอนแล้ว พระมหาไพรวัลย์ยังมองอีกว่า พระสงฆ์ก็ควรจะเปลี่ยนบทบาทของตนเองด้วยเช่นกัน

บทบาทพระสงฆ์และการร่วมทุกข์สุขกับคนในสังคม

พระสงฆ์ในมุมมองของพุทธศาสนานั้น เป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายพยายามจะละทางโลกเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น โดยในทางพุทธศาสนาเถรวาทจะมุ่งเน้นมิติของการช่วยตัวเองให้รอดเสียก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่นหรือสังคม ซึ่งพระมหาไพรวัลย์มองว่ามิตินี้ควรจะคงเอาไว้ แต่ก็ต้องชูมิติอื่นขึ้นมาด้วย ซึ่งก็คือการกระทำเพื่อสังคม

“พระสงฆ์ควรออกจากวัดให้มากขึ้น คนยุคก่อนจะมีภาพพระสงฆ์บวชแล้วต้องปฏิบัติธรรม ซึ่งใช่ นั่นเป็นหน้าที่ที่พระควรจะทำ แต่พระสงฆ์ควรจะไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่มหาชนหมู่มาก ไม่ได้บอกให้เที่ยวไปเพื่อตัวเอง เพื่อความสุขของตัวเอง แน่นอนความสุขของตัวเองมันต้องมาเป็นที่ตั้ง พระก็ต้องปฏิบัติเพื่อตัวเอง แต่ที่สุดแล้วการปฏิบัตินั่นต้องเกื้อกูลแก่คนหมู่มากด้วย คุณต้องไปช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ใช่โควิดระบาด คนอื่นเดือดร้อนแต่คุณอยู่ในวัดสบาย ถ้าคุณไม่ออกไปเยี่ยม ไม่ออกไปดูชาวบ้าน คุณจะไม่รู้ว่าชาวบ้านประสบทุกข์อย่างไร

“คุณสอนอริยสัจ 4 คุณก็สอนแค่การดับทุกข์ส่วนตัว แต่คุณไม่เข้าใจว่าความทุกข์เชิงสังคมเป็นยังไง ชาวบ้านเขาเจอความเหลื่อมล้ำ เขาเข้าไม่ถึงการศึกษา ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับการเยียวยา พวกนี้กลายเป็นความทุกข์ได้ยังไง ถ้าไม่สนใจก็ยากจะเข้าใจ”

นอกจากการที่ต้องออกจากวัด พบปะกับชุมชนมากยิ่งขึ้น พระสงฆ์ยังควรจะเป็นที่พึ่งและรับฟังคนอีกด้วย โดยพระมหาไพรวัลย์ได้ยกกรณีของพระพุทธเจ้าว่าเป็นนักเยียวยาจิตใจคนสำคัญ

“พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักเยียวยาจิตใจคน คนที่สังคมขับไล่ไสส่งหลาย ๆ เรื่องในธรรมบทอย่าง พระนางปฏาจารา หรือเรื่องนางกีสาโคตมี คนอื่นมองผู้หญิงสองคนนี้ว่าเป็นบ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่มองอย่างนั้น รับฟังความทุกข์ของคน เข้าใจว่าคนเจอความทุกข์ที่ต่างกัน หน้าที่ของนักบวชในศาสนาคือเยียวยาคน เป็นเพื่อนกับเขาในขณะที่คนอื่นไม่เป็นเพื่อนเขา ที่พระพุทธเจ้าทำก็คือเป็นเพื่อนกับคนเหล่านั้น”

นั่นเป็นเหตุผลของการที่พระมหาไพรวัลย์ได้พยายามเข้าหาสังคมมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นที่นิยม โดยที่บางครั้งการเป็นที่นิยมอาจจะเหน็ดเหนื่อยเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับพระมหาไพรวัลย์กลับมองว่าความสุขที่ได้รับจากความเหน็ดเหนื่อยนั้นก็คงเป็นการได้เห็นผู้อื่นมีความสุข