การได้อ่านนิทานสักเรื่องเชื่อว่าคงเป็นความสุขอย่างหนึ่งในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน ผู้เขียนเองยังจดจำช่วงเวลาอันตื่นตาตื่นใจนั้นได้เป็นอย่างดี กระต่ายกับเต่าในนิทานของอีสปยังคงเป็นเรื่องเล่าสอนชีวิตไม่ให้ประมาทมาจนถึงทุกวันนี้ หรือเรื่องลูกหมูสามตัว ที่ก็จำได้ว่าตอนอ่านพร้อมกับเพื่อน ๆ เราต่างเเย่งกันเป็นลูกหมูตัวที่ตนชื่นชอบอย่างสนุกสนาน
มาวันนี้นิทานในสังคมไทยมีรสชาติใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือนิทาน 8 เล่ม ภายใต้โปรเจกต์ “นิทานวาดหวัง” ที่มาพร้อมสโลแกน “ใฝ่ฝันถึงสิทธิ เสรีภาพ และอนาคตที่ดีกว่าของสังคมไทย” ดูจะเป็นนิทานที่สร้างทั้งรสชาติถูกใจเเละขมปร่าเเก่คนในสังคมพร้อม ๆ กัน
ภาณุวัฒน์ หนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หนังสือชุดนี้ สร้างค่านิยมของเด็กที่ตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง เคารพในความเสมอภาคของมนุษย์ มีจิตสาธารณะ เเละไม่อยู่เฉยต่อความอยุติธรม”
ขณะที่ดรุวรรณ โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงข้อสรุปจากการประชุมพิจารณาหนังสือนิทานวาดหวังเมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาว่านิทานวาดหวัง มี 3 เล่มที่เป็นประโยชน์เเละควรสนับสนุน ส่วนอีก 5 เล่ม มีเนื้อหาเข้าข่ายควรระวังเพราะอาจนำไปสู่การปลูกฝังความขัดเเย้งเเละรุนเเรง
เพื่อขยายพรมเเดนความเห็นต่อนิทานไทยให้กว้างขึ้น Decode จึงจับเข่าพูดคุยกับ “สองขา” นามปากกาของ “หมอน-ศรีสมร โซเฟร” ผู้ริเริ่มโปรเจกต์นิทานวาดหวัง เเละ “ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา” นักวิจารณ์หนังสือและวรรณกรรมไทย ทั้งสองอาจมีจุดยืนต่อนิทานวาดหวังต่างกัน เเต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันคือการหวังให้หนังสือนิทานไทยก้าวไปสู่ความหลากหลายที่สร้างสรรค์มากขึ้น
นิทานไทยในวัยเด็ก
ย้อนไปในวัยเด็กหนังสือนิทานเล่มไหนกันที่ได้อ่าน นิทานสิงสาราสัตว์ของอีสป นิทานสอนคุณธรรมในแบบเรียน หรือนิทานสีขาวของอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
สำหรับสองขา คำตอบของเธอคือ “นิทานร้อยบรรทัดซึ่งเป็นหนังสือที่บรรจุอยู่ในแบบเรียน นิทานเหล่านั้นส่งเสริมให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเป็นเด็กดี กตัญญู เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กรุ่นนั้นท่องกันได้หมด ส่วนนิทานอื่น ๆ ก็มีนิทานอีสป นิทานปลาบู่ทอง สังข์ทอง ส่วนตัวมองว่านิทานอย่างหลังนี้ ด้านหนึ่งมันก็แอบโหดนะ นางยักษ์เลี้ยงสังข์ทองมาอย่างดีแต่พระสังข์ยังไม่ไยดีเลย”
“นอกจากนี้ยังมีนิทานต่างชาติอีกจำนวนหนึ่ง แต่ว่ากันตามตรงจะหานิทานไทยที่มันโดดเด่นขึ้นมา เหมือนโดราเอมอน มิกกี้เมาส์ มันหายากนะ ยิ่งนิทานของนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ
ในรอบสิบปี มันมีนิทานอะไรของเราที่ปังขึ้นมาไหม พอพูดปุ๊ปแล้วเด็กไทยรู้จัก ของไทยมันไม่มีอะไรปัง ๆ”
ด้าน ผศ. ธเนศ ระบุว่าหนังสือนิทานที่ตนจดจำและชื่นชอบในสมัยทศวรรษที่ 2510 มีอยู่สองเรื่องเด่น ๆ คือ “นกกางเขน” และ “ไก่ดื้อ”
“เรื่องนกกางเขนพูดถึงครอบครัวนกกับบ้านหลังหนึ่งซึ่งโปรยอาหารให้นกกิน แม่นกสอนให้ลูกรักกัน มีฉากที่นกตัวหนึ่งติดกับดักนายพราน ตรงนี้มันสะเทือนใจ ส่วนเรื่องไก่ดื้อ แม่ไก่หลุดจากกรง ถูกรถชนตาย เจ้าของกลับมาร้องไห้เสียใจ ทั้งสองเล่มต่างมีแง่มุมที่สอนชีวิต เล่มนกกางเขนสอนให้เตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญโลกความเป็นจริง โลกที่มีทั้งคนใจดีและใจร้าย รวมถึงประเด็นที่ชีวิตมนุษย์มีการพรากจากกัน ส่วนเรื่องไก่ดื้อสะท้อนถึงด้านที่อันตรายของเทคโนโลยี และการเพลิดเพลินกับเสรีภาพที่ได้ มันแฝงนัยยะทางสังคม ภัยจากการที่เมืองเริ่มโต”
เสริมจิตนาการ สอนคติธรรม ปลูกฝังความรักชาติ
ไม่ว่าจะอ่านนิทานเล่มใด เชื่อว่าตอนเป็นเด็กหลายคนแทบไม่เคยนั่งแกะว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารหรือปลูกฝังอะไรแก่เรา นอกจากความบันเทิง สนุก และตื่นตาตื่นใจแล้ว อาจมีข้อคิดสอนใจท้ายเรื่องบ้าง กระนั้นก็ใช่ว่านิทานจะแข็งทื่อแต่เพียงเอาสนุก เพราะระหว่างบรรทัดหรือข้างหลังภาพสวย ๆ ล้วนแต่แต่งแต้มความคิด อุดมการณ์ หรือคติธรรมให้เด็ก ๆ ซึมซับไปในตัว เช่นที่ ผศ.ธเนศ ให้ความเห็นว่า
“ศิลปะประยุกต์ย่อมไม่บริสุทธิ์อยู่แล้ว ผมเชื่อว่ามันไม่ซื่อใสหรอก คนที่แต่งเขาก็มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นคติธรรม อุดมการณ์ หรือความคิดความเชื่อก็แล้วแต่คน”
“มองนิทานกว้าง ๆ ในเชิงวิชาการ การเล่านิทานก็อยู่คู่กับมนุษย์มานาน จุดประสงค์แรกก็เรื่องบันเทิงเพราะมนุษย์จำลองความรักโลภโกรธหลงออกมาในรูปนิทาน สองคือเป็นการแสดงออกทางจินตนาการเพื่อตอบข้อสงสัยของมนุษย์ อาจเล่าออกมาในรูปแบบเปรียบเปรยเพื่อตอบคำถามหรือเปิดโลกทางความคิด ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องประกอบศรัทธาในศาสนา อย่างนิทานชาดกเป็นตัวอย่างที่ดี สุดท้ายใช้สอนคติธรรมและเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมของสังคม”
“นิทานอาจปลูกฝังความเป็นไทยด้วย แต่ความเป็นไทยก็ขึ้นอยู่ว่าใครเป็นคนพูด ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ของชาติ ยกตัวอย่างนิทานจีนเรื่องลุงโง่ย้ายภูเขา เนื้อเรื่องคือลุงคนหนึ่งไม่อยากเดินอ้อมภูเขา จึงขุดดินเพื่อย้ายภูเขาแทน ลุงอีกคนผ่านมาเห็นก็ตำหนิว่าจะย้ายได้ยังไง โง่หรือเปล่า แต่ลุงคนแรกก็บอกว่าถึงไม่สำเร็จในรุ่นตัวเองเดี๋ยวก็สำเร็จในรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ ได้ ความพิเศษของนิทานคือเหมาเจ๋อตุงหยิบมาใช้ปลูกจิตสำนึกคนจีนให้ทำอะไรทำให้ถึงที่สุด อย่างเช่นถ้าจะเปลี่ยนแปลงประเทศจีนไปสู่คอมมิวนิสต์ก็ต้องทำให้ถึงที่สุดถึงจะสำเร็จ”
นอกจากนี้ ผศ.ธเนศ ยังชี้ชวนให้เห็นว่าที่ผ่านมาในไทยเองก็มีความพยายามจะปลูกฝังอุดมการณ์แก่ผู้อ่าน “นิตยสารเสรีภาพซึ่งแสดงความเป็นไทย ความเจริญในช่วงยุคสงครามเย็น มีหน้าหนึ่งที่ให้พื้นที่กับการ์ตูนภาพ ซึ่งเนื้อหาจะไปในแง่ตอกย้ำว่าคอมมิวนิสต์เป็นผีร้าย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ปลุกผีคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นที่อ่านก็จินตนาการว่าคอมมิวนิสต์มันน่ากลัว ดังนั้นไม่ว่าใครมีอำนาจก็จะใช้นิทานปลูกฝัง สร้างอุดมการณ์ มันก็จะแฝงความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไว้”
แตกต่างออกไปในแบบ “สองขา”
นิทานไทยส่วนมากจะคงแนว “เสริมจินตนาการ สอนคติธรรม ปลูกฝังความรักชาติ” เช่นที่กล่าวไปแล้ว แต่สำหรับ “สองขา” เลือกต่างออกไป ประสบการณ์เขียนหนังสือนิทาน 160 กว่าเล่ม ทำให้เธอพยายามมองหามุมที่สดใหม่และไปไกลกว่าเรื่องเหล่านั้น
เธอให้ความเห็นว่า “จริง ๆ มันโอเคนะ สำหรับการเขียนนิทานตามกระแส เพราะประเด็นเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนตัวมองว่าอาจต้องมีความหลากหลายมากขึ้นมั้ย ไม่ใช่นิทาน 90% เป็นนิทานแนวนั้นหมดเลย ถ้ามีแนวอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา แนวนี้ 10% แนวนู้น 20% และแนวอื่น ๆ อีก มันก็จะได้เกิดความงอกงาม งอกเงย นิทานหนึ่งเล่ม เปิดหน้าต่างหนึ่งบาน อาจช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ หรือส่งเสริมทักษะ หรือช่วยเปิดความคิด เปิดคำถาม ทำให้เด็กเปิดโลกกว้างขึ้นเพื่อกลับมารู้จักตัวเองมากขึ้น เป็นการ empower เด็กไปในตัว ส่วนเล่มไหนเปิดอ่านแล้วเด็กไม่ชอบ เขาก็คงวางไม่อยากอ่านต่อเอง”
“และโดยปกตินิทานก็เหมือนหนังสืออื่น ๆ มันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรือเหมาะหรือดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงเวลาได้ สำหรับตัวเรานั้นเป็นคนเขียนที่หลากหลายแนว แนวไหน ประเด็นไหนที่มีคนเขียนแล้ว ก็จะไม่พยายามทำซ้ำ แต่จะทดลองแนวใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ มาเพิ่ม ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ชีวะ วิธีคิด การสร้างความมั่นใจแก่เด็ก บางเรื่องก็ต้องการสื่อกับพ่อแม่มากกว่าเด็กอีก”
สองขายังเผยอีกว่าหนังสือนิทานบางเล่มก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก อย่างเรื่อง “ดอกไม้บนภูเขา” ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในร้อยหนังสือไทยที่เด็กไทยควรอ่าน ก็บันดาลใจเด็กหลายคนให้ได้เป็นครู
“บางคนทักมาบอกว่าเมื่อก่อนเขาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบมาก เกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นครู จนวันนี้เขาได้เป็นครูแล้วจริง ๆ หรือคนเป็นกะเหรี่ยงก็เขียนว่าไม่คิดเลยว่าจะมีคนเขียนถึงกะเหรี่ยงโดยไม่สงสาร ตัวละครในเรื่องซึ่งบันทึกมาจากความจริงก็ได้เป็นครูเหมือนกัน”
ก้าวเล็ก ๆ เพื่อพื้นที่ความหลากหลายใหม่
ความพยายามสร้างสรรค์นิทานแนวใหม่ ๆ ของสองขาไม่ได้หยุดนิ่งแต่เพียง 160 กว่าเล่มที่เขียนไป อย่างที่ทราบกันว่าเธอคือผู้ริเริ่มโปรเจกต์นิทานวาดหวังที่ชวนเหล่านักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมมาร่วมผลิตนิทานออกมา 8 เล่ม นับเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่สร้างกระแสพูดถึงในสังคมได้ไม่น้อย
โดยสองขาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์ดังกล่าวว่า “ความตั้งใจตั้งต้นมาจากความอยากและความเชื่อ ความอยากแรกคืออยากให้บางเรื่องที่เคยเขียนได้โลดแล่นสู่สายตาเด็ก ๆ ทำออกมาเป็นนิทานภาพ ความอยากต่อมาคืออยากบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อให้เกิดเสียงใหม่ ๆ ขึ้นมา เพราะเห็นว่าเมืองไทยในช่วงนี้มีเสียงแห่งความโกรธ ความเกรี้ยวกราด และขัดแย้งกันเยอะ ส่วนความเชื่อ
คือหลายคนพูดกันว่าเด็กไทยไม่มีความฝัน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าพวกเขามี บางเรื่องที่เขียนจึงอยากจุดประกายความฝันให้กับเด็ก ๆ เหมือนที่ตัวเราเองก็เคยได้รับในตอนเด็ก”
“ตอนจะลงมือทำก็ไปชวนคนจากหลากหลายบทบาทมาร่วม โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเขียนนิทานแต่มีพลังดี ๆ เราติดต่อไปประมาณ 20 กว่าคน ตอนให้เขียนก็บอกว่าเขียนเรื่องอะไรก็ได้ บางคนเขียนเรื่องไฟป่า บางคนเขียนเรื่องแมวกับเจ้าของ จากนั้นก็ไปชวนเพื่อนที่เป็นนักบัญชีมาช่วยดูแลเอกสารบัญชีต่าง ๆ กำไรที่ได้ก็ตั้งใจจะส่งมอบให้แก่มูลนิธิต่าง ๆ อย่างมูลนิธิกระจกเงา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่มเส้นด้าย ซึ่งตอนนี้ก็ได้มอบให้เเล้ว ส่วนตอนทำงานก็มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือทุกคนไม่ได้รู้จักกันเลย พูดคุยกันผ่านไลน์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความวาดหวังที่จะทำหนังสือที่มีความหลากหลาย เพื่อส่งเสียงเชิงบวก วาดหวังที่จะส่งความหวังให้สังคม ก็นับว่าเป็นการรวมพลังกันหวังว่ามันจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น”
“และแม้หลายเรื่องคนอาจจะมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ส่วนตัวมองว่ามันเป็นการบันทึกเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา และคิดว่าประเด็นทางสังคม เสรีภาพ การอยู่ร่วมกันในความต่าง มันเป็นสิ่งดี ๆ เราเป็นประเทศที่ประกาศว่าเป็นประชาธิปไตย อะไรทำนองนี้มันคือคุณค่าของมนุษย์ ของคนคนหนึ่งและสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก
เรานำมาทำเป็นหนังสือเด็กแบบนี้ซึ่งไม่มีเนื้อหาตรงไหนที่โหดร้าย ไม่มีเลือด ที่สำคัญก็หวังให้เป็นสื่อที่พ่อแม่ใช้พูดคุยกับลูกได้ด้วย”
คงกล่าวต่อได้ว่านิทานอันร้อยเรียงจากพลังของคนที่เธอเชื้อเชิญ “สองขา” กำลังวาดหวังให้ความหลากหลายใหม่เกิดขึ้นในวงการนิทานไทย เธอยืนยันอย่างขันแข็งว่านับจากนี้ต่อไปอยากเห็นนิทานหรือหนังสือเด็ก ทดลองนั่น ทดลองนี่ ทดลองอะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
“เราเชื่อว่าคนเขียนหนังสือเด็ก อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะเป็นคนรักหนังสือ รักเด็ก และมีความปรารถนาดีต่อสังคมประมาณหนึ่ง จึงอยากจะบอกว่าออกมาช่วยกันพิทักษ์สิทธิการอ่านของเด็ก อย่าให้มีใครต้องมาชี้นิ้วกำกับว่าเด็กต้องอ่านแค่สิบเล่ม ยี่สิบเล่มนั้นอย่างเดียว มันไม่ใช่”
ด้าน ผศ.ธเนศ ทิ้งท้ายว่า “คิดว่านักเขียนทุกท่านสามารถเขียนอะไรได้ตามอิสระ แต่จะปลูกฝังความคิด ปลูกฝังความเชื่อ ก็อาจต้องปลูกฝังเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เห็นด้วยกับการใช้นิทานปลูกฝังเสรีภาพให้กล้าคิดกล้าทำ การเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออก แต่ก็อยากให้ทุกอย่างไปด้วยกันทั้งหมด ตั้งแต่เสรีภาพ หน้าที่ และศีลธรรม”
น่าสนใจว่าต่อแต่นี้ หนังสือนิทานควรคงไว้ในกรอบแห่งจินตนาการ คติธรรม และความรักชาติ อันคือแบบแผนที่เป็นมา ควรก้าวออกไปสร้างดินแดนอันอิสระและหลากหลายทางความคิดแก่เด็กที่กำลังเติบโตเฉกเช่นที่นิทานวาดหวังพยายามทำ หรือควรรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพเเละศีลธรรมเช่นที่ ผศ.ธเนศ เเนะนำ ถึงที่สุดแล้วผู้ตัดสินซึ่งทรงพลังที่สุดก็คือคนในสังคม หากมติมหาชนเห็นชอบกับวิถีใด วิถีนั้นก็ย่อมดำรงต่อไป แต่หากมหาชนเสื่อมความนิยมต่อสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นก็จะค่อย ๆ ถูกแปรเปลี่ยน ลดลง หรือหายไปในที่สุด