เข้าตุลาฯ ฝนมาฟ้าคะนอง มรสุมลูกเดียวก็พัดพาประชาชนให้จมน้ำโดยไม่ทันตั้งตัว
หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว เสียงร่ำไห้ดังระงมยิ่งกว่าเสียงสวดมนต์
จนกว่า…เราจะมี “ร่ม” ประชาธิปไตยปกป้องจากฝนห่าฟ้าคะนอง
จนกว่า…ฟ้าใหม่จะมาถึง 14 ตุลาฯ 48 ปีที่สงครามประชาชนชนะ ! เป็นครั้งแรก และครั้งเดียวใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ “แค่อยากเห็นชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้น กรรมกรมีค่าแรงเพิ่มขึ้น เรียนจบมามีงานทำ นี่คือความหวังพื้นฐานของเราในเวลานั้น” แต่ดูเหมือนรอยต่อแห่งยุคสมัยไม่ได้พาเราไปไกลจากจุดเดิม
ผ่านไปกี่ปีเกือบทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ปลุกเร้าคนหนุ่มสาวให้” ตาสว่าง” แล้วตาสว่างอีก
“จนกว่าเราจะพบกันอีก” วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อคนหนุ่มสาวในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นผลผลิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปเรียนที่ออสเตรเลียกว่า 2 ปี ก่อนจะเดินทางกลับ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลพลเรือนถูกยึดอำนาจและรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม บริหารประเทศ เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเผยแพร่ในสังคมไทยมากขึ้นซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน โดยในช่วงเวลานั้นกุหลาบก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากแนวคิดสังคมนิยมจากออสเตรเลีย เมื่อกลับมาจากออสเตรเลีย กุหลาบได้ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษเป็นนิตยสารที่เผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมในระยะ 2493-2495 “จนกว่าเราจะพบกันอีก” เป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พิมพ์ครั้งแรกในปี 2493 และกลับมาตีพิมพ์ใหม่และกลายเป็นที่สนใจในหมู่ชนคนหนุ่มสาวในช่วงสามปีทองของฝ่ายซ้าย 2516 – 2519 จนถึงเวลานี้ที่ “เยาวรุ่น” คนรุ่นนี้ 2564 เริ่มอ่อนแรงและสิ้นหวัง “ให้มันจบที่รุ่นเรา”
“ใช่” แต่เธอยังยืนยันการดำรงอยู่ในแบบ “มีชีวิตที่ไม่ได้อยู่ไปวัน ๆ” เธอยอมแลก “อนาคต” กับ “ประชาธิปไตยที่เบ่งบาน ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของอำนาจจริง ๆ” เหมือนเธอเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยที่ไม่ได้เกิดจากการประสบการณ์ผ่านการอ่านหนังสือ 14 ตุลา 6 ตุลา แต่มีประสบการณ์ตรงกับภาระหน้าที่ทางสังคมในฐานะคนที่ต้องอยู่ในยุคสมัยนี้
ฉันได้พบกับแนนซี่ โดยไม่บังเอิญซะแล้ว !
เหมือนโกเมศได้เจอแนนซี่ เฮนเดอร์สัน ที่เมลเบิร์น แรกทีเดียวแนนซี่เปิดเผยให้เห็นทุกเหลี่ยมมุมอย่างตรงไปตรงมาแทงทะลุถึงสามัญสำนึก ในฉากตอนที่โกเมศบอกเล่าความเป็นอยู่และฐานะที่มั่นคั่งสมบูรณ์ของเขาในเมืองไทยให้แนนซี่ฟังด้วยน้ำเสียงความภาคภูมิใจ แทนที่เธอจะตื่นเต้นยินดีอย่างที่ใคร ๆ มักแสดงออกต่อเขา แต่เธอเป็นคนแรกที่บอกว่า เขาเป็นชายหนุ่มที่น่าสงสาร มีบาปกรรม เป็นคนที่ยืนอยู่บนอากาศตัวเปล่า
ฉันไม่คิดว่า การมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะหากินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง
แล้วก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้น เป็นสิ่งมีค่าอะไรตามความคิดเห็นของฉัน
ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่า เท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้
ชีวิตเฉย ๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม
และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสุข แล้วก็รอวันตาย
บทสนทนาที่สะท้อนอุดมคติของแนนซี่ที่ชัดเจนที่สุดและที่สุดก็เปลี่ยนสามัญสำนึกของโกเมศ เพียง 3 เดือนที่ทั้งคู่คบกัน ยิ่งกว่า 22 ปีที่โกเมศได้ใช้ชีวิตโดยปราศจากความคิดและความรับผิดชอบใด ๆ ต่อประเทศแม่ และเป็นอีกครั้งที่ความรักไม่ได้ทำให้เราตาบอดเสมอไป แต่เป็นแนนซี่ที่จูงเขาออกมาจากป่ารกทึบในชีวิต ซึ่งแต่ก่อนเขาเข้าใจว่ามันเป็นสวรรค์ของคนที่แปะป้ายตัวเองเป็น “ผู้ดี” ไม่ก็ “ชนชั้นสูง” เท่านั้นที่จะมีเอกสิทธิ์ที่จะอยู่ในสวรรค์ได้ แต่แนนซี่เข้ามาในชีวิตทำให้ดวงตาเขาสว่างวาบ สวรรค์ที่คนเหล่านั้นกล่าวอ้างมันเป็นป่ารกทึบที่กักขังชีวิตที่โฉดเขลา และเต็มไปด้วยคำแช่งสาป “แนนซี่ทำให้ฉันยอมเดินตามเธอออกมาจากป่าที่เคยหลงว่าเป็นสวรรค์แต่โดยดี” หักมุมก็ตรงที่มันไม่ใช่ความรักในคอนเซปต์ “เราสองคน” แต่เป็นความรักความสัมพันธ์ระหว่างคนหนึ่ง “ให้” กับหลายคน “ยอมรับ” ความเท่าเทียม-ความยุติธรรม
ค่อย ๆ เปลี่ยนคอนเซปต์ของ “ความรัก” ในแบบเดิม ที่กุหลาบ นิยามมันว่า “ความรักสำหรับชายหญิงนั้น ถ้ามีก็เป็นความรักวงแคบ ๆ นิดเดียว แนนซี่ได้มาสอนให้ฉันรู้จักความรักที่แผ่กว้างออกไปในชุมชนมนุษย์ ความรักที่พึงให้แก่มนุษย์ผู้เกิดมาอาภัพยากจนข้นแค้น” แต่เนื้อในของนวนิยายเล่มนี้กำลังวิพากษ์ความล้าหลังและไม่เท่าเทียมในสังคมไทยหยั่งรากถึงปัญหาจากระบอบเผด็จการและชนชั้นนำผลัดเปลี่ยนอำนาจและผลประโยชน์ บอนไซสังคมเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาจนถึงวันนี้ก็เกินกว่าจะเยียวยาแก้ไขในเวลาอันสั้น
เธอคงจะได้เห็นแล้วว่า ในประเทศไทยอันอำไพด้วยแสงเดือนแสงตะวัน อันชื่นบานด้วยอากาศบริสุทธิ์ และความรำเพยพลิ้วของลมเย็น อันระรื่นตาด้วยสีเขียวชอุ่มของต้นข้าวและใบ้ไม้ อันได้รับประกันอดยากจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินนั้น ในอีกด้านหนึ่ง คือการปฏิบัติต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศอันผาสุกนั้น เต็มไปด้วยความอยุติธรรมความอัปลักษณ์โสโครกเพียงใด ด้วยอาศัยกลไกการปกครองและการจัดระเบียบสังคมอันเหี้ยมโหดเลือดเย็น และเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอันน่าสยดสยองนั้น
ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศถูกกดไว้ภายใต้ความต่ำทรามอันน่าทุเรศ มวลชนตั้ง 90% ของประเทศ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อจะเอาชีวิตรอดไปวันหนึ่ง และต้องนำรายได้อันมีค่าทั้งหมดนั้นไปประเคนปรนเปรอความสุขสำราญอันเหลือเฟือของคนส่วนน้อยนิดในเมืองหลวง และด้วยการถือโอกาสแห่งความสงบเสงี่ยมและนำใจโอบอ้อมอารีของประชาชนผู้อาภัพนั้น บรรดาพวกอิ่มหมีพีมันจึงคงรื่นเริงสุขสำราญต่อไปอย่างลืมตัว โดยไม่คำนึงถึงการปันส่วนรายได้เสียใหม่แต่อย่างใดเลย ในบางครั้งคราวหรือบ่อย ๆ ยังใช้อำนาจกดขี่เหยียดหยามประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้นเสียอีก
การอธิบายสังคมไทยในลักษณะนี้ ในมุมมองของนักวิชการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่มองเป็นการอธิบายด้วยทฤษฎีมาร์กซ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากุหลาบได้ยอมรับในหลักการของลัทธิมาร์กซ์แล้วทั้งที่ในปี 2493 ขบวนการมาร์กซ์ในหมู่ประชาชนคนไทยเพิ่งจะเริ่มต้น กุหลาบเองก็มีส่วนร่วมโดยการเขียนเรื่อง “ระบบลงการประชาธิปไตยของประชาชน” ลงในอักษรสาส์น เดือนกันยายน 2492 บทความนี้แปลมาจากเรื่อง People’s Democratic Dictatorship ของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งแถลงในโอกาสครบ 28 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมา กุหลาบได้เขียนเรื่อง “ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส” ตีพิมพ์ในนิตยสารอักษรสาส์น ในปี 2493 ในปีเดียวกัน กุหลาบ ได้แต่งนวยิยาย จนกว่าเราจะพบกันอีก นับว่าเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตเล่มแรกในสังคมไทยที่แถลงจุดมุ่งหมายในการแต่งว่า “นักเขียนเช่นเรา ๆไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่า โอกาสที่จะได้เสนองานและความคิดตามที่เขาเชื่อว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาคมที่เขาประสงค์จะได้ร่วมสร้างสรรค์ ให้เป็นประชาคมที่ดีงาม และจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าปราศจากเสียซึ่งความเป็นธรรมในประชาคมนั้น”
แม้เนื้อเรื่องในนวนิยายจะใช้บทสนทนาของตัวละครสองสามคนเป็นเส้นเรื่องหลัก แต่ก็สะท้อนถึงพัฒนาการทางความคิดของกุหลาบ ผ่านความคิดของตัวละครเอก คือ โกเมศ นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักอุดมคติ แนนซี่ เฮนเดอร์สัน ที่ทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองจากคนไม่เอาไหน กลายเป็นนักอุดมคติที่มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์
เหลือล้นด้วยความหวังที่จะกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประชาชนคนไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเก่าก่อน โดยกุหลาบ ได้อธิบายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ 2475 ไว้ว่า ในประเทศของฉัน สมัยก่อนการเปลี่ยนการปกครอง ผู้ที่เป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรี มีเงินเดือนขนาดคนงานชั้นส่งนมส่งขนมปังรวมกันราว 150 คนเห็นจะได้ และถ้าเทียบกับรายได้ของพวกชาวนาแล้ว เสนาบดีคนหนึ่งได้รับเงินเดือนเท่ากับรายได้ของชาวนาประมาณ 400 – 500 คนรวมกัน
“มันเป็นไปไม่ได้” เธอทักท้วง
“มันเป็นไปไม่ได้ในประเทศของเธอ แต่มันเป็นไปได้อย่างสบายในประเทศไทย และยังมีสิ่งที่น่าเหลือเชื่ออีกมากมายในประเทศของฉัน” โกเมศตอบ ห้วงหนึ่งของบทสนทนาที่คนอ่านไม่ต้องหลับตานึกย้อนจินตนาการเป็นภาพขาวดำแต่อย่างใด เพราะภาพในอดีตกับปัจจุบันยังคงคมชัดระดับ Full HD จนถึงวันนี้ “ไม่มีเปลี่ยน” แช่แข็งอำนาจนิยม การเป็นผู้กดขี่ อยุติธรรมและเหลื่อมล้ำ เพียงแต่กุหลาบ กำลังวิจารณ์ผู้ก่อการคณะราษฎรในสายตาของ “โกเมศ” แรง ๆ ตรง ๆ ว่า ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เพียงแต่ไล่ผู้มีอำนาจชุดเก่าไปแล้ว ตัวเขาก็ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน ในชั้นต้นก็ดูว่าเขาได้พยายามจะชำระสร้างความโสโครกอยู่เหมือนกัน แต่ในไม่ช้าความโลภและความเห็นแก่ตัวก็ค่อย ๆ งอกงามขึ้นในจิตใจของเขา ในที่สุดเขาก็หลงติดอยู่ในวิมาน ดังนั้น แทนที่จะทำลายวิมานอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรมนั้น เขากลับเรียกหาความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในวิมานนั้นมาก่อนและรวบรวมกำลังกันเข้ารักษาวิมานนั้นไว้อย่างแข็งแรง
เพียงเท่านี้ก็พอจะรู้สึกรู้สาเจ็บปวดกับทุกคำบาดลึกไปถึงสามัญสำนึกส่วนบุคคล การได้อ่านวรรณกรรมของกุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกครั้งก็เหมือนอ่านความเป็น “คน” ที่เชื่อว่า “คนเท่ากัน”
บางความ จึงให้ความจริง
บางความ เติม “คน” ให้เต็ม “คน” จนกว่าเราจะมี “ร่ม” เป็นของเราเอง
เหมือนกับที่ “ข้างหลังภาพ” “สงครามชีวิต” “แลไปข้างหน้า” และ “จนกว่าเราจะพบกันอีก” เดินทางผ่านกาลเวลาอันบ้าคลั่งกำลังสร้างบทสนทนาของความเป็น “คน” มีอานุภาพยิ่งกว่ากองทัพ และเรือดำน้ำ
หนังสือ: จนกว่าเราจะพบกันอีก
นักเขียน: ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
สำนักพิมพ์: ศรีปัญญา พิมพ์ครั้งที่ 21
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี