ห้าตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง - Decode
Reading Time: 2 minutes

‘กล่องฟ้าสาง’ คือกล่องกระดาษ ขนาดย่อม หนึ่งฟุตหน่อย ๆ ซึ่งถูกจัดทำให้เป็นประหนึ่งนิทรรศการที่ส่งถึงมือผู้ชมในวาระครบรอบสี่สิบห้าปีของเหตุการณ์หกตุลา

ปฐมเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ “หกตุลา” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีจนมาปีนี้ ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร เพราะมหาวิทยาลัยในนัย “หกตุลา” คือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่พื้นที่ของสถานศึกษา

และเวลาก็ผ่านมาสี่สิบห้าปีแล้ว

ยาวนานถึงสี่สิบห้าปีที่เราทุกคนรู้ดีว่า มีนิสิตนักศึกษาประชาชนจำนวนมาก ถูกสังหารป่าเถื่อนทารุณในกลางมหานคร สี่สิบห้าผ่านมา โดยไม่มีใครต้องชดใช้ความผิด ไม่ว่าในการสังหารหมู่ประชาชนครั้งนั้น หรือครั้งไหน ๆ สี่สิบห้าปีผ่านมาโดยเราก็อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับวันนั้น กับได้เห็นแต่ภาพความตายโหดร้ายมากมาย รวมทั้งภาพชายนิรนามถูกแขวนคอกับต้นมะขามฟาดด้วยเก้าอี้ที่กลายมาเป็นไอคอนของเหตุการณ์ สี่สิบห้าปีเราเห็นและรู้แต่เรื่องราว และภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่หก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของขบวนการนักศึกษา

…มีเรื่องเล่ามากมาย มีน้ำตามากมาย    

แต่เราแทบไม่เคยรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะถึงเช้าวันนั้น เราไม่เคยรู้ว่าอะไร ที่นำมาซึ่งการสังหารหมู่ที่น่ากลัวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อะไรที่ทำให้เด็กๆ ถึงต้องถูกฆ่าตายทำร้ายจำนวนมากอย่างป่าเถื่อน อะไรที่ทำให้คนกล้ากระทำสิ่งเลวร้ายขนาดนี้ กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   

อะไรได้เกิดขึ้นบ้างระหว่างสามปีนับจากสิบสี่ตุลามาจนถึง “หกตุลา” 

สิ่งที่อยู่ในกล่องฟ้าสาง คือบันทึกฉบับย่อการต่อสู้ของเยาวชน ทรงจำคร่ำคร่าการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวมากมายที่บัดนี้หลายคนก็ได้กลายมาเป็นปู่ย่าตายาย แต่หลายคนไม่ได้ หลายคนไม่ได้กระทั่งสามารถ เอาชีวิตรอดออกมาจากวันนั้น  

หลายคนสาบสูญและยังคงสาบสูญหายมาจนถึงทุกวันนี้พร้อมกับเรื่องราว

เรื่องราวของผู้คนสามัญชนโดยตัวของมันเองมักถูกเพิกเฉยอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงสามัญชนในการต่อสู้ทางการเมือง เราแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และยิ่งทำให้ยากที่จะเข้าใจว่าอะไร ที่ลากพาเรามาสู่การฆาตกรรมเหี้ยมโหดในวันที่หก ยิ่งข้อมูลของเหตุการณ์นี้ ไม่มีปรากฏในหนังสือเรียนอย่างตรงไปตรงมายิ่งยาก การจัดงานรำลึก การเสวนาพูดถึง และนิทรรศการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

และหนนี้ก็ต่างออกไป

ต้องขอชมและขอบคุณคณะผู้จัดมา ณ ที่นี้ ที่หาหนทางและทางออก ในการรำลึกเหตุการณ์หกตุลาได้อย่างงดงาม แม้จะสะเทือนใจ ไม่เพียงแต่ส่งนิทรรศการมาให้ชมกันถึงบ้าน ผู้ได้ชมนิทรรศการยังสามารถเก็บเศษเสี้ยวของเหตุการณ์ ไว้เล่าต่อให้ลูกหลานได้รับรู้ และเล่าต่อไปเป็นทอดๆ ในอนาคตอีกด้วย

หลายต่อหลายครั้งที่นึกย้อน สิ่งหนึ่งที่ปวดร้าวเกินจะทำความเข้าใจ ไม่ใช่แต่แค่ตัวเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ที่น่าตระหนกใหญ่หลวงคือ ความเงียบงันและเฉยชาของประชากรต่อเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซ้อนหลายต่อหลายหนไม่จบสิ้นเลิกรา ไม่ว่าจะเป็นสิบสี่ตุลา หกตุลา พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์กระชับพื้นที่ปีสองพันห้าร้อยห้าสิบสาม

เรามีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร ประหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ประหนึ่งไม่มีคนตาย ประหนึ่งคนตายไม่เคยมีชีวิต เป็นที่รัก มีชีวิต จิตใจ ความหลงใหลใฝ่ฝัน

หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการสังหารหมู่ประชาชนไม่ให้เกิดขึ้นอีก คือการทำความจริงให้ปรากฏให้มากที่สุด รอบด้านที่สุด คือการทำเรื่องราวทั้งหมดให้ถูกมองเห็นแจ่มกระจ่างที่สุด ทำให้คนตายมีใบหน้า ทำให้คนสูญหายมีตัวตน และคนสั่งได้รับโทษทัณฑ์

เราจำเป็นต้องรำลึกและรื้อฟื้นเพื่อที่ประเทศนี้ จะได้เดินไปข้างหน้าอย่างอารยชนในโลกสมัยใหม่  

คณะทำงาน : Mob Fest, Eyedropper Fill, Deadline Always Exists, Rackscene Collective, We Wide Wave, Studio Dialogue, บันทึก 6 ตุลา, คณะกรรมการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา