การเติบโตของกิจการอวกาศ กำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง - Decode
Reading Time: < 1 minute

  Space for Thai

นิศาชล คำลือ

เหตุไฉนความสำเร็จในการส่งจรวด ขึ้นสู่อวกาศระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ผู้คนในประเทศจึงมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน ในขณะที่ผู้คนในประเทศพัฒนาแล้ว แหงนมองจรวดพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความปีติและตื่นเต้น ผู้คนรู้สึกได้ว่าชีวิตของพวกเขากำลังก้าวไปข้างหน้า

กลับกันในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ผู้คนกลับแหงนมองจรวดที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความเคียดแค้น และเสียงก่นด่าสาปแช่ง ผู้คนรู้สึกได้ว่าชีวิตของพวกเขากำลังถูกทอดทิ้ง เป็นเพราะประชาชนมีจิตใจคับแคบไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเพราะเหล่าผู้มีอำนาจ และนักพัฒนาในประเทศเหล่านั้น กำลังพลาดบางอย่างไป

การนำเทคโนโลยีอวกาศมาพัฒนา และใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง มีหลากหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การศึกษา การคมนาคม หรือแม้แต่การนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบาย และความเพลิดเพลินให้แก่ชีวิตประจำวัน

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เทคโนโลยีอวกาศสามารถนำมา พัฒนาชีวิตบนโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ทุกด้าน เพียงแค่เรารู้จักพัฒนาและต่อยอด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเทคโนโลยีอวกาศ ที่ถูกนำมาพัฒนาใช้บนโลกสักหนึ่งตัวอย่าง นั่นก็คือ กล้องถ่ายรูป

กล้องถ่ายรูปถูกพัฒนามาจากการค้นคว้าหาทางลดสัญญาณรบกวนภาพที่ถ่ายในอวกาศโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า CCD (Charge Coupled Device) CCD กลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมภาพถ่ายดิจิทัล ส่งผลให้ปัจจุบันเรามีกล้องดิจิทัลหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศทั้งหมดทั้งมวล ไม่ได้หมายถึงดาวเทียมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

ไม่ได้กำลังบอกว่าดาวเทียมไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ในตอนนี้มันจำเป็นมากแค่ไหน ที่ทุกชาติต้องมีดาวเทียมเป็นของตนเอง และแข่งขันกันส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่อวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ที่ผู้คนกำลังล้มตายจากโรคระบาดและความหิวโหย

นับตั้งแต่อดีตเรามีการส่งดาวเทียม 12,000 ดวงขึ้นสู่วงโคจรโลกเพื่อปฏิบัติภารกิจ 7,510 ดวงยังคงอยู่ในวงโคจร โดยมีเพียง 4,500 ดวงเท่านั้นที่ยังใช้การได้ ส่วนอีก 3,010 ดวงกลายเป็นขยะอวกาศ นี่เป็นตัวเลขของขยะอวกาศจากดาวเทียมเท่านั้น ยังไม่รวมขยะอวกาศอันเกิดจากภารกิจอวกาศอื่นอีกจำนวนมาก และยังมีขยะอวกาศจากธรรมชาติอย่างเศษซากของดวงดาว

รวม ๆ แล้ว ปัจจุบันเรามีขยะอวกาศมากกว่า 29,000 ชิ้น ที่สามารถติดตามได้อยู่ในวงโคจรโลก เหนือหัวของเราขึ้นไป และตัวเลขของขยะอวกาศยังคงมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง

ไม่ว่าจะเป็นนาซ่าหรือองค์การอวกาศยุโรปเอง ก็คำนึงถึงปัญหาของขยะอวกาศเหล่านี้มาสักพัก จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามขยะอวกาศและหาทางแก้ไข พร้อม ๆ กับหาทางลดอัตราการเกิดขยะอวกาศใหม่ ฉะนั้นหากชาติใดกำลังพยายาม สร้างแรงขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศ ด้วยการยิงจรวดส่งดาวเทียมเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่วิธีการที่ชาญฉลาดและยั่งยืนนัก ในอีก 50-100 ปีข้างหน้า วงโคจรโลกของเราคงเต็มไปด้วยขยะ 

บางคนอาจจะบอกว่าหากต้องการกำจัด ก็แค่ใช้ขีปนาวุธยิงทิ้ง เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในปี ค.ศ.2007 จีนทำลายดาวเทียมดวงหนึ่งของตนโดยใช้ขีปนาวุธยิงทิ้ง วิธีการนี้จะทำให้ดาวเทียมแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่อย่าลืมว่าชิ้นส่วนเล็ก ๆ เหล่านั้นวิ่งอยู่ในวงโคจรโลก ทำให้มันมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 40,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นทำให้ถึงแม้มันจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 1 มิลลิเมตร ก็เทียบเท่ากับการถูกยิงด้วยกระสุนปืนเลยทีเดียว

ฉะนั้นลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นดูสิ น่าจะพอเดากันได้ว่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ถูกส่งขึ้นไปยังวงโคจรโลกจะร้ายแรงแค่ไหน

นอกจากขยะที่ลอยอยู่ในวงโคจรของโลกเราแล้ว การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศหนึ่งครั้งยังเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองมาก และตามมาด้วยปัญหาขยะ เนื่องจากเจ้าบั้งไฟยักษ์จะลงเอยด้วยการเป็นแค่ขยะราคามหาศาล เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ในตอนนี้มีเพียงบริษัท SpaceX เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ที่สามารถสร้างจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้เป็นบางส่วนแต่ก็ลดต้นทุนลงเป็นอย่างมาก แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

การที่ประเทศหนึ่งจะสร้างฐานยิงจรวดและสร้างจรวดใช้เอง แน่นอนว่าตามมาด้วยงบประมาณมหาศาล และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ๆ คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นแต่ละประเทศจึงต้องมีระบบรองรับการจัดการขยะ อันเกิดจากอุตสาหกรรมอวกาศที่ดี เพื่อเป็นการไม่ผลักภาระสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน เช่น จรวดที่ใช้เสร็จแล้ว บางส่วนอาจถูกแยกนำกลับมาใช้ใหม่ บางส่วนอาจต้องนำไปกำจัด

คำถามคือ รัฐ ฯ จะกำจัดขยะเหล่านั้นด้วยวิธีการไหน วิธีการที่เลือกใช้จะทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หรือไม่ หากต้องส่งไปให้ประเทศที่รับกำจัดขยะ แน่นอนว่านั่นก็จะวนกลับมาที่ภาษีประชาชน ยังไม่รวมเรื่องมลภาวะต่าง ๆ ที่จะตามมาหากไร้มาตรการและระบบรองรับที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัญหาที่กระทบประชาชนโดยตรง เนื่องจากไม่มีประชาชนคนใด เลือกที่จะไม่ใช้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติร่วมกันกับรัฐ ฯ ได้

แล้วในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา มีความพร้อมแล้วหรือ? สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศ ในรูปแบบจรวดและดาวเทียมหรือ Traditional Space Era คำตอบของคำถามนี้อาจจะต้องย้อนไปมองระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศ การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐ ฯ ระบบการจัดการขยะ และอื่น ๆ ว่ารัฐบาลสามารถจัดการเรื่องพื้นฐาน อันสำคัญต่อชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้แล้วหรือยัง หากยังนั่นหมายความว่าประเทศเหล่านั้นอาจยังไม่มีความพร้อม สำหรับการมาเยือนของอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศในรูปแบบ Traditional Space Era

เราควรปล่อยประเทศตกขบวน ?

คำตอบคือไม่จำเป็น เนื่องจากเราสามารถใช้จรวดของชาติอื่น ในการส่งดาวเทียมได้ และที่สำคัญอวกาศไม่ได้มีแค่เรื่องของดาวเทียม หากท่านใดเคยได้อ่านบทความ กล้าบ้าบิ่นสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นไปกับสตาร์ทอัพ(อวกาศ) สัญชาติไทย ที่มีการชำแหละอุตสาหกรรมอวกาศ จะเห็นได้ว่าทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ New Space Era ที่มีมากกว่าเรื่องของดาวเทียม เน้นการนำเทคโนโลยีอวกาศกลับมาพัฒนา และดูแลชีวิตบนโลกให้ดีมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพของ New Space Era ด้วยงานวิจัยที่ผู้เขียนเคยอ่านอย่าง ‘การวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างไขข้อกระดูกเทียมบนสถานีอวกาศ’ ลองจินตนาการดูว่าหากงานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และสามารถนำมาใช้ได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป ชีวิตบนโลกของเราจะดีขึ้นแค่ไหน นี่เป็นตัวอย่างเพียงอย่างเดียวและด้านเดียวเท่านั้น ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับอวกาศอีกมากมายทั่วโลก และในสถานีอวกาศอีกหลาย ๆ ด้าน ที่กำลังจะนำผู้คนเข้าสู่ยุค New Space

หากเราผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศ แบบไม่ลืมหูลืมตาเพียงแค่เพราะกลัวจะตกขบวน และไม่ตั้งคำถามกับการกระทำของตน เช่นนั้นเราคงไม่ได้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำกลับมาดูแลชีวิตบนโลก ดูแลกันและกันให้ดีมากยิ่งขึ้น แต่เรากำลังทำลายโลกใบนี้ และกำลังจะทำลายอวกาศ และส่วนที่สำคัญที่สุด คือเรากำลังทอดทิ้งชีวิตบนโลกด้วยกันเอง หากเป็นเช่นนั้นเราจะสำรวจอวกาศกันไปเพื่ออะไร

คงไม่สามารถสรุปได้ว่าประเทศไหนควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร แต่ที่แน่ ๆ ทุกประเทศ ควรต้องตั้งคำถามกับการกระทำของตนเอง ในฐานะคนไทย ผู้เขียนเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยจะเริ่มจริงจังกับอุตสาหกรรมอวกาศ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบ Traditional Space ที่ยึดเรื่องของดาวเทียมและจรวดเป็นหลักค้ำเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากในอุตสาหกรรมอวกาศโลก เรื่องของดาวเทียมและจรวดมีการแข่งขันที่สูงมาก และผู้เขียนยังมองไม่เห็นประสิทธิภาพของระบบการจัดการขั้นพื้นฐาน ที่จะมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนโดยตรง และยังมองไม่เห็นศักยภาพที่จะแข่งขันด้านนี้ในตลาดโลก เพราะแค่บริษัท SpaceX เพียงเจ้าเดียวก็ส่งดาวเทียมไปแล้ว 60 ดวงในปีที่แล้ว ทำให้มีดาวเทียม Starlink 800 ดวง นั่นเป็นตัวเลขที่ทิ้งห่างจากประเทศไทยมาก

เคยมีคนบอกว่ามนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่เลวร้าย ยิ่งมีวิวัฒนาการมากเท่าไหร่ ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้นเท่านั้น แล้ววันหนึ่งเราก็จะทำลายอวกาศ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยซะทีเดียว เนื่องจากในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า มีคนจำนวนมากที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และในหลาย ๆ ประเทศก็มีระบบการจัดการ กับต้นตอของปัญหาเหล่านั้นอย่างดีจนถึงดีมาก