นักข่าวเจ็บจริง ตายฟรีในม็อบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

การทำข่าวการชุมนุมดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นทุกวันสำหรับนักข่าว เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า เนื่องจากนักข่าวไม่ใช่คู่ความขัดแย้งโดยตรง ดังนั้นจะได้รับโอกาสให้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ แต่วันเวลาแบบนั้นหดสั้นลงทุกวัน

พฤษภาคม ปี 2553 เมื่อรถถังเคลื่อนเข้าประชิดพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในใจกลางเมือง ผู้เขียนจำได้ว่ายกหูโทรศัพท์หาเพื่อนนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งแต่เช้าตรู่เพื่อจะบอกว่า กำลังเริ่มมีการสลายการชุมนุม เพื่อนนักข่าวงัวเงียขึ้นมารับโทรศัพท์เนื่องจากเพิ่งนอนเอาใกล้ ๆ เช้า แต่พอได้ยินเรื่องความเคลื่อนไหวใหม่ก็อาศัยความไวกระโจนออกจากบ้านทันใดเหมือนกัน เราไม่ได้ติดต่อกันอีกจนกระทั่งมาได้ยินข่าวเพื่อนเข้าโรงพยาบาล

เพื่อนนักข่าวรายนี้บาดเจ็บสาหัสจากการเจอกระสุน M79 เข้าไปในระหว่างที่ไปทำหน้าที่ โชคของเขายังดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ไกลจากมือหมอ เมื่อมีผู้นำตัวส่งโรงพยาบาลเขาก็ได้รับการผ่าตัดสมองโดยด่วน ในเวลาใกล้เคียงกันก็มีเพื่อนนักข่าวต่างประเทศอีกคนโดนยิง ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกแห่งด้วยการผ่าตัดด่วนเช่นเดียวกันและอย่างยาวนานถึงสี่ชั่วโมง ทั้งคู่รอดชีวิตมาบอกเล่าเหตุการณ์ได้ แต่สำหรับคนที่ผ่าตัดสมองนั้นได้รับผลกระทบหลายอย่าง จนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับมือชีวิตประจำวันไปอย่างสิ้นเชิง

“ผมไม่เป็นอะไรมากหรอก” ผู้เขียนจำได้ว่าเพื่อนบอกแบบนี้ ในขณะที่เรานั่งคุยกันในร้านกาแฟ ช่วงพบกันเขายังนั่งพิงพนักไม่ได้เพราะหลังเต็มไปด้วยบาดแผล ผลกระทบบางอย่างคือความสามารถในการได้ยินลดลงต้องใส่เครื่องช่วยฟัง ต้องหัดเขียนหนังสือด้วยมืออีกข้าง แต่นักข่าวรายนี้ก็ยืนยันว่ายังรับมือไหว

“ปัญหาใหญ่คือเวลาเดินทาง มันมีชิ้นส่วนโลหะบางอันยังติดในสมองและมันอยู่ลึก หมอไม่กล้าเอาออก เพราะฉะนั้นเวลาผ่านเครื่องสแกนมันจะดังน่ารำคาญและต้องอธิบายตัวเองทุกครั้ง”  ไม่แน่ว่าเพราะผลกระทบพวกนี้หรือเพราะงานผลิตสื่อที่เหือดแห้งลง ในที่สุดนักข่าวรายนี้ก็เปลี่ยนอาชีพไป

นักข่าวทั้งไทยและเทศเจ็บและตายมาแล้วในพื้นที่การชุมนุมในเมืองไทย เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเสื้อแดงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สดใหม่มากที่สุด และน่าจะทำให้วงการนักข่าวต่างประเทศจดจำกันได้เป็นอย่างดี เพราะมีสื่อที่เสียชีวิตคือนักข่าวช่างภาพชาวต่างประเทศสองคน ซึ่งถูกยิงเข้าบริเวณจุดสำคัญในร่างกาย  หนึ่งในนั้นคือฟาบิโอ โปเลงกี (Fabio Polengi) ช่างภาพอิสระ ถูกยิงทะลุหัวใจ

ส่วนฮิโรยูกิ มูราโมโต้ (Hiroyuki Muramoto) ช่างภาพของรอยเตอร์ ถูกยิงเข้าที่หน้าอก กระบวนการยุติธรรมไทยใช้เวลาถึง 3 ปีคือในปี 2556 จึงสรุปผลการไต่สวนการตายได้ว่าโปเลงกีเสียชีวิตด้วยกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร  ส่วนกรณีฮิโรยูกิ คำสั่งไต่สวนการตายออกมาในปี 2558 คือห้าปีหลังเหตุการณ์ ที่สำคัญศาลบอกว่าไม่มีหลักฐานมากพอที่จะตัดสินได้ว่ากระสุนที่ยิงเขานั้นมาจากทหารหรือฝ่ายผู้ประท้วง

ทั้งสองกรณีมีคนติดตามทวงถามความเป็นธรรมให้อย่างแข็งขัน กรณีโปเลงกี มีญาติสนิทคือน้องสาวของเขา Elizabeth Polengi ซึ่งก็เป็นช่างภาพด้วยเช่นกันเป็นผู้ติดตามอย่างไม่ลดละ อลิซาเบ็ธไม่ได้พอใจกับแค่ผลของคำสั่งไต่สวน เธอต้องการให้เอาคนลงมือยิงมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ และเดินทางเทียวไปเทียวมาระหว่างอิตาลีกับไทยหลายหน แต่ในที่สุดเมื่อเธอเสียชีวิตในปี 2557 เพราะความป่วยไข้ เรื่องก็พลอยเงียบหายไป 

ส่วนกรณีมูราโมโต้ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะติดตามทวงถามผลของคดี เรื่องก็ดูจะจบแค่นั้นเช่นกัน ความตายของช่างภาพต่างประเทศและความไม่คืบหน้าของคดีถูกยิงตายกลางกรุง ไม่ต่างจากในสมรภูมิสงครามที่อื่นเช่นนี้มันบอกเราว่า ในคดีชุมนุมทางการเมือง กับการสูญเสียเช่นนี้ แม้จะเกิดกับกรณีชาวต่างประเทศ ที่น่าจะมีแรงกดดันมากกว่ากรณีทั่วไป แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรขึ้นมาเช่นกัน

ทุกวันนี้การทำข่าวความขัดแย้งมีอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่จากสถานการณ์เท่านั้นแต่จากคู่ความขัดแย้งเอง เช่นในการชุมนุมซึ่งต้องถือว่าเป็นการเมืองบนท้องถนนนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้คนตระหนักแล้วว่า มันมีอีกสนามหนึ่งของการแข่งขันที่วิ่งคู่ขนานกันไป นั่นก็คือสนามที่เป็นสงครามข่าวสาร 

เพราะการช่วงชิงใด ๆ ในพื้นที่การเมืองต้องอาศัยความชอบธรรมในสายตาคนหมู่มากเป็นองค์ประกอบ โดยมีตัวตัดสินความชอบธรรมอยู่ที่การใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิ ดังนั้นการยึดสันติวิธีและการละเมิดสิทธิก็ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสนามของการต่อรองด้วยการชุมนุม

การตระหนักเช่นนี้ทำให้ผู้คนหลายฝ่ายต้องการให้ข้อมูล ที่ออกมาสนับสนุนตัวเองหรืออย่างน้อยก็เป็นธรรมกับตัวเองไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ฝ่ายที่จะไม่พึงพอใจอยู่กับแค่งานข่าวและข้อมูลที่ตรงไปตรงมาไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต้องการจะเข้าควบคุม ก็คือฝ่ายที่รู้ว่าการกระทำของตนสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหรือการใช้ความรุนแรง  

สื่อเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปล่อยข่าวสารออกสู่สาธารณะ เป็นประตูไปสู่ข้อมูลที่ถือว่ามาจากฝ่ายที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง หากสื่อถูกทำร้าย หากไม่ใช่เพราะลูกหลงก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายที่ไม่ต้องการความโปร่งใส

ในหลายกรณี เราจะพบว่านักข่าวที่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งล้วนต้องเผชิญอันตราย ยูเนสโกรายงานไว้ว่า ลำพังช่วงเวลาระหว่างปี 2561-2562 มีนักข่าวที่เสียชีวิตในพื้นที่มีความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธไป 67 คน ในจำนวนนี้ 23 คนตายในพื้นที่สู้รบโดยตรง นอกเหนือจากถูกฆ่า พวกเขายังพบกับแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งในเรื่องที่มองเห็นได้และที่มองไม่เห็น ถูกทำร้าย คุมขัง พยายามปิดปาก กรณีที่เสียชีวิตแล้วนั้น ยูเนสโกบอกว่า ส่วนใหญ่คลี่คลายไม่ได้เสียด้วย พูดง่าย ๆว่า ตายฟรี

นอกจากนั้นในพื้นที่ความขัดแย้งบางพื้นที่ นักข่าวถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ บางทีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งสัญญานแสดงตัวอย่างของการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่ยึดความทารุณหรือการสร้างความหวาดกลัวเป็นยุทธวิธี หลังสุดเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนมา ซึ่งประชาชนชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นระลอกไม่หยุดตั้งแต่ที่ทหารยึดอำนาจเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

Committee to Protect Journalists หรือ CPJ กลุ่มที่จับตาสถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อทั่วโลกออกรายงานเมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ทหารเมียนมาปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนักตั้งแต่ยึดอำนาจมา ก่อนหน้านั้นรัฐบาลจากการเลือกตั้งเปิดเสรีในการสื่อสาร แต่ปัจจุบันเมียนมากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่จับกุมคุมขังนักข่าวหนักที่สุด จนถึงเดือนกรกฎาคม มีนักข่าวถูกจับเข้าคุกไปแล้ว 32 คน บางคนที่ถูกจับยังถูกทำร้ายและทรมาน และเชื่อว่าตัวเลขนี้น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะสื่อหลายสำนักไม่อยากเปิดเผยว่าใครทำงานให้ตัวเองเนื่องจากเกรงจะตกเป็นเป้ามากขึ้น ส่วนในประเทศไทย นักข่าวที่ทำข่าวการชุมนุมเริ่มได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและแก๊สน้ำตา จนขณะนี้มีความพยายามที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง

มองไปในอนาคตก็เห็นได้ว่ามีโอกาสที่อุณหภูมิจะขยับสูงขึ้นไปกว่านี้อีก เนื่องจากไม่มีท่าทีที่จะประนีประนอมกันได้ ในขณะที่เงื่อนไขในการสร้างความไม่พอใจต่อรัฐปรากฎตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็จากสถานการณ์โควิด การออกไปชุมนุมแม้จะอยู่ในภาวะการระบาดของโรคแต่ก็ยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือมิหนำซ้ำถี่กว่าเดิม หากฝ่ายรัฐบาลยืนยันในเรื่องการใช้วิธีรับมือด้วยกำลังเช่นนี้ต่อไป ก็คาดการณ์ได้ว่าโอกาสการเผชิญหน้าจะสูงขึ้นอีก เราจึงไม่อาจตัดโอกาสที่จะมีการใช้กระสุนจริงดังเช่นในการสลายการชุมนุมปี 2553

หลายคนอาจจะมีคำถามว่าทำไมต้องไปทำข่าวการชุมนุม คำตอบสั้น ๆจากนักข่าวอาจจะเป็นว่า เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่คนสนใจและได้รับผลกระทบ 

ในสหรัฐฯ นักข่าวก็เคยเจอคำถามนี้เช่นกัน ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงเป็นระลอกภายใต้แคมเปญ Black Lives Matter อันเป็นแคมเปญที่ปรากฏตัวหลังจากที่จอร์จ  ฟลอยด์ ชายผิวดำถูกตำรวจผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต ปรากฎว่าในการชุมนุมหลายหน มีนักข่าวตกเป็นเป้าถูกเจ้าหน้าที่สลายฝูงชนคุกคาม รวมทั้งถูกทำร้าย เหตุการณ์เกิดถี่จนแคธี ไบรอน ซึ่งเขียนให้กับเวบไซท์ Poynter ลุกขึ้นมาทำแคมเปญให้กับพวกนักข่าว เมื่อเรื่องนี้ได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น ก็มีผู้ปุจฉากับนักข่าวว่าแล้วเหตุใดนักข่าวจึงต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดอับ ไบรอนรวบรวมความเห็นนักข่าวไว้จำนวนหนึ่งในเว็บไซต์ของ Poynter

Bryan Llenas ของ Fox News อธิบายตัวเองว่า เขาถือว่าสิทธิในการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐานตามระบบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของระบบก็ว่าได้ นักข่าวต้องทำข่าวเพื่อให้คนภายนอกที่ชุมนุมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เขาเชื่อว่าการรายงานอย่างตรงไปตรงมาของนักข่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิในระหว่างที่มีการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

เนื่องจากการชุมนุมนั้นเป็นกิจกรรมที่อ่อนไหว อาจเกิดความพลาดพลั้งกลับกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับจนท.ไปได้เสมอ การเข้าไปรายงานข่าวของนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม นอกจากจะเป็นการบันทึกเหตุกรณ์ บันทึกประวัติศาสตร์แล้ว ยังจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน

ส่วน Kevin Corke นักข่าวฟอกนิวส์อีกรายบอกบอกว่า หากไม่มีนักข่าว และหากมีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะได้ยินก็คือการบอกเล่าจากทางฝั่งผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่เท่านั้น และแน่นอนว่าข้อมูลสองฝ่ายจะไม่ตรงกัน รายงานของนักข่าวจะช่วยให้ข้อมูลในฐานะมาจากบุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และเชื่อว่าจำเป็นต้องมี แม้ว่าจะมีข้อโต้เถียงว่ามันอาจไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกจุด

ซึ่งเรื่องนี้ Al Tompkins นักข่าวอาวุโสที่เขียนใน Poynter บอกว่า การบันทึกการชุมนุมเป็นวิธีรายงานที่จะว่าไปแล้วถือว่าตรงไปตรงมาที่สุดแล้วในเวลานี้ แม้ว่าจะไม่ครบทุกมุมแต่เมื่อเทียบกันกับวิธีอื่น ๆ ถือว่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากไม่มีการรายงานเช่นนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อมาก็จะทำให้มีปัญหาในการที่จะหาผู้รับผิดชอบ 

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่รู้กันในหมู่นักข่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เรียกว่าการปะทะหลายๆครั้งนั้น อันตรายของพื้นที่เกิดเหตุทำให้ผู้สื่อข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป หลายครั้งที่หลังเกิดเหตุประชาชนในพื้นที่การปะทะไปร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวหรือทนายความว่าการปะทะนั้นไม่ใช่การปะทะจริง ผู้เขียนก็เคยลงพื้นที่ในหมู่บ้านที่ผ่านการปะทะ เพื่อจะพูดคุยรับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำเสนอข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวว่ามีการละเมิดสิทธิประชาชนเกิดขึ้น

ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง และในกรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงลงความเห็นว่าเป็นการกระทำฝ่ายเดียว หรือแม้แต่ว่าประชาชนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมไม่ได้เป็นแนวร่วมแต่อย่างใด แต่เมื่อคดีถึงศาล ข้อพิจารณาเหล่านี้ก็ตกไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากฝ่ายที่สามในพื้นที่เกิดเหตุ ที่จะทำให้ศาลตัดสินได้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ

ผู้พิพากษารายหนึ่งถึงกับบอกประชาชนที่ไปรอฟังคำสั่งไต่สวน การตายของญาติพี่น้องของพวกเขาว่า ศาลตัดสินได้เฉพาะในกรอบของข้อมูลที่มีเท่านั้น ในหลายกรณีที่เกิดการเสียชีวิตแต่คดีไม่ปรากฎผลคืบหน้าส่วนหนึ่งก็เพราะว่าไม่มีข้อมูลจากฝ่ายที่สามที่เป็นอิสระ มีเพียงปากคำของสองฝ่ายคือประชาชนกับเจ้าหน้าที่ที่ขัดกัน ทำให้คดีออกมาด้วยผลที่ไม่ทำให้มีการเดินหน้าหาคนผิดได้ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีข้อมูลจากฝ่ายที่สาม 

รายงานจากพื้นที่ชุมนุมมักเป็นการสื่อสารเรื่องความต้องการของผู้ชุมนุม นักข่าวมักจะต้องมีภาพการสื่อสารและเนื้อหาของผู้เข้าร่วม ป้าย โปสเตอร์ การปราศรัย การแสดงออกต่าง ๆ ล้วนมีนัย การชุมนุมนั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นการแสดงออกของคนหมู่มากที่ทำร่วมกัน แต่การตัดสินใจเข้าร่วมถือว่าเป็นตัดสินใจของปัจเจก อาจมีผู้โต้แย้งว่าการชุมนุมหลายครั้งผู้ร่วมชุมนุมรับเงินเพื่อไปชุมนุม แต่ผู้เขียนเห็นว่า ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เราควรมองผู้ชุมนุมว่าพวกเขาไปเข้าร่วมด้วยตัวเอง

ทั้งนี้จนกว่าจะมีหลักฐานว่าเป็นอื่น ดังนั้นการแสดงออกแบบรวมหมู่ แต่การตัดสินใจเป็นของปัจเจกบุคคลต้องได้รับการอธิบายผ่านการนำเสนอภาพหลายแง่มุมเพื่อบอกเล่าความหลากหลายนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้เสพสารสามารถประมวลได้ว่าแก่นของการชุมนุมคืออะไร และสังคมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้มีภาพที่ชัดเจน กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของนักข่าว

การทำข่าวการชุมนุมในความเห็นของผู้เขียน จะช่วยทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีสิ่งที่จะยืนยันพฤติกรรมของพวกเขาได้ว่ามันไม่ล้ำเส้นของเหตุผล ไม่ละเมิดสิทธิและมนุษยธรรม หากไม่มีนักข่าว สถานการณ์การชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มีโอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำไปสู่ความรุนแรง

การปิดกั้นการทำงานของนักข่าว รวมถึงการทำร้ายนักข่าวในที่ชุมนุมซึ่งก็จะกลายเป็นการกระทำที่ส่งผลให้สื่อและนักข่าวต้องถอยจากพื้นที่ชุมนุม จึงมีผลเท่ากับเป็นการพยายามปิดปากและปิดช่องทางของการสื่อสารข้อมูล ให้กับคนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือแม้แต่ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดจุดบอดของข้อมูลข่าวสาร เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็จะลดทอนโอกาสในการคลี่คลายปัญหา สังคมจะไม่มีข้อมูลอื่นนอกจากปากคำของทั้งสองฝ่ายซึ่งแน่นอนว่าจะไปกันคนละทาง และสังคมก็จะตกอยู่ในสภาพไปต่อไม่ได้ในประเด็นนั้น บางเรื่องจะกลายเป็นบาดแผลของสังคมที่เยียวยากันไม่ได้ ดังเช่นกรณีการเสียชีวิตของนักข่าวต่างประเทศสองคน พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในการสลายการชุมนุมปี 2553 

ผู้เขียนเชื่อว่าการชุมนุมนั้นเทียบได้กับการป่วยไข้อย่างหนึ่ง ก่อนหน้าจะแสดงอาการ ปัญหาจะสะสมและต่อมาขยายตัวจนมาปะทุเป็นการชุมนุม การชุมนุมจึงเป็นแค่อาการ ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา การรายงานการชุมนุมคือการรายงาน “แอกชั่น” ซึ่งหลายครั้งไม่อาจอธิบายได้แค่การรายงานการชุมนุม จึงต้องมีความพยายามนำเสนอปัญหาที่ลงลึกมากกว่ากิจกรรมบนท้องถนน แต่สื่อจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านศักยภาพ

ในช่วงหลังมานี้อุตสาหกรรมสื่อแย่ลงอย่างมาก จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในโลกของการสื่อสาร หลายรายลดคนปรับลดรูปแบบและประหยัดการใช้ทรัพยากรที่ล้วนร่อยหรอลง ปัญหาเรื่องทรัพยากรถดถอยล้วนเกิดขึ้นไม่ว่าสื่อใหม่หรือสื่อเก่า ในขณะที่องค์ประกอบด้านการยอมรับจากทางการ เป็นเงื่อนไขกดทับสื่อรายเล็กรายน้อย โดยเฉพาะคนที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็จะพบข้อจำกัดเพิ่มเติมหนักขึ้นไปอีก

ในระหว่างการชุมนุมที่ผ่านมามีนักข่าวไม่น้อยพากันเอาตัวเองเข้าพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงเพื่อแลกมาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ สำหรับสังคมที่ต้องการความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บางคนต้องสูญเสียมาแล้วทั้งขั้นอวัยวะและชีวิต เป็นราคาที่พวกเขาต้องจ่ายเพื่อให้ชุมชนผู้รับข่าวสาร ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ หากสังคมต้องการความโปร่งใสในการรับมือกับเหตุการณ์เช่นการชุมนุมใดๆ หนทางที่ดีด้วยก็น่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมให้นักข่าวทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างอิสระ เพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยให้สังคมได้ข้อมูลที่ดีมากขึ้น 

ข้อมูลบางส่วนมาจาก
https://apnews.com/article/50cc041787ac4417b70e7fd344d19cde
https://www.thebaron.info/people/memorial-book/hiroyuki-muramoto
https://www.khaosodenglish.com/life/2014/04/29/1398861762/
https://cpj.org/2021/07/myanmar-now-one-of-the-worlds-worst-jailers-of-journalists/
https://www.poynter.org/reporting-editing/2020/why-do-journalists-cover-protests/
https://news.un.org/en/story/2020/11/1077432