เคาะสนิมเนื้อใน บทสนทนาของเพนกวิน เริ่มที่ประวัติศาสตร์คนข้างล่าง แต่ไม่จบที่ "ประยุทธ์ออกไป" - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ในการเคลื่อนไหวของผม คุณจะด่าว่าผมยังไงก็ได้ แต่จะหาว่าผมไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้ ผมเป็นคนรักวิชาประวัติศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ ที่สนใจเป็นพิเศษคือประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ล้านนา”

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จัก เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในฐานะแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในคนที่ยกระดับข้อเสนอทะลุเพดานของการต่อสู้รอบใหม่ แต่เรื่องราวในอีกมุมหนึ่งที่คนมักไม่คุ้นเคยกันคือ เพนกวินในฐานะคนรักวิชาประวัติศาสตร์ ผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

De/code ชวนเพนกวินมาสนทนาถึงมุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์ ความเชื่อมโยงระหว่างความสนใจในประวัติศาสตร์กับการเป็นนักสู้ทางการเมือง รวมถึงแนวทางการเคลื่อนไหวในสถานการณ์ที่ใครหลายคนบอกว่า ปัญหาการเมืองไทยเริ่มสุกงอมมากขึ้นทุกขณะ

ประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ทางการเมือง

“ต้องขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้ผมไม่ไปรู้จักประวัติศาสตร์ผ่านห้องเรียน ไม่งั้นผมก็คงจะเกลียดประวัติศาสตร์เหมือนกัน”

เพนกวินเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในประวัติศาสตร์ ว่าเกิดจากการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ๆ ทางบ้านก็สนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหนังสือที่ได้อ่านค่อนข้างบ่อยก็คือหนังสือประวัติศาสตร์ จากที่อ่านการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวบุคคลสำคัญต่าง ๆ ก็เริ่มอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาประวัติศาสตร์เข้มข้นขึ้น จนในช่วงมัธยมปลายก็สนใจประวัติศาสตร์แบบลงลึก และมีความสนใจเฉพาะด้านขึ้นมา แต่จุดที่น่าสนใจอยู่ที่การอ่านหนังสือในช่วงประมาณ ป.3-5

“การที่ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ ทำให้ผมมาเป็นนักสู้ทางการเมือง ตอนประมาณ ป.3-5 ผมก็ได้เริ่มอ่านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เริ่มรู้จักคำว่าเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ผ่านประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นแรงบันดาลใจให้เราสนใจการเมืองขึ้นมา”

สำหรับเพนกวินแล้ว ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าที่จดจำกันมา จำผ่านปากต่อปากก็คือประวัติศาสตร์มุขปาฐะ จำผ่านการบันทึกในพงศาวดารก็คือประวัติศาสตร์พงศาวดาร หรือจำผ่านจารึกหรือหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ก็คือประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่โดยองค์รวมแล้ว ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวหรือเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่สังคมจดจำร่วมกัน แสดงว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงแต่เล่าสืบต่อกันมา ประเด็นสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องเล่านี้มันใกล้เคียงกับความจริงมากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ในทางประวัติศาสตร์

“ถ้าเราลองสนใจประวัติศาสตร์ก็จะค้นพบว่า เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือ พอที่จะได้รับการจดจำมา เราก็จะรู้ว่าเรื่องเล่าต่าง ๆ ทั้งเป็นและไม่เป็นประวัติศาสตร์ ทั้งที่คนอยากให้เราเชื่อหรือเราอยากให้คนอื่นเชื่อ เราจะมองเห็นกระบวนการสร้างเรื่องเล่าพวกนี้ว่ามันสร้างมายังไง ทำไมคนเชื่อ ทำไมคนไม่เชื่อ ทำไมคนเลือกที่จะจำ ทำไมคนถึงเลือกที่จะไม่จำ”

มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ล้านนา

ในบรรดาประวัติศาสตร์ทั้งหมด ความสนใจที่เพนกวินมีให้เป็นพิเศษคือประวัติศาสตร์ล้านนา เพราะมีความลุ่มลึกและชวนให้น่าพิศวงอยู่ตลอด อย่างที่เห็นในภาคเหนือปัจจุบันซึ่งมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ในช่วงที่เพนกวินยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายได้อ่านประวัติศาสตร์ล้านนา และสิ่งที่ทำให้รู้สึกว้าวมากเป็นพิเศษคือเรื่องปรัชญาการเมือง ในล้านนาจะมีความคิดว่าแต่ละเมืองมีพันนาเป็นหน่วยการปกครอง พอพันนาทุกพันนารวมกันก็กลายเป็นล้านนา หรือเกิดจากแผ่นดินเล็ก ๆ มาต่อกันกลายเป็นแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นความคิดเรื่องแผ่นดินเดียวกันเหมือนเวลาพูดถึงแผ่นดินไทยตอนนี้

“ล้านนาไม่ว่าใครจะขึ้นมาครอง แผ่ขยายอำนาจไปเท่าไร มันจะมีเขตแดนที่ขีดไว้ประมาณนึงว่าตรงนี้เป็นของล้านนา แต่ไม่ได้มีเขตแดนตายตัวแบบนี้ในสยาม ถ้าเป็นที่อื่นแถวนี้ต้องรอฝรั่งมาล่าอาณานิคม แต่ทำไมคนล้านนามีสิ่งนี้ในความคิดมาตั้งแต่ 400-500 ปีที่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจที่อาณาจักรเล็ก ๆ ในภูเขาไม่น่าจะเจริญแต่กลับเจริญทางความคิด”

ด้วยความที่เพนกวินเป็นคนเหนือจึงทำให้อยากศึกษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้มากขึ้น และข้อดีของประวัติศาสตร์ล้านนาคือมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก อันเป็นผลมาจากการที่คนล้านนาสมัยก่อนมีความเชื่อว่าเขียนคัมภีร์ 1 ผูกได้บุญเท่ากับสร้างพระพุทธรูป 1 องค์ จะส่งผลให้ได้เป็นพระจักรพรรดิ 1 ชาติ ดังนั้นจึงมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่แทบทุกวัด ไม่เหมือนพระราชพงศาวดารอยุธยาที่เอกสารค่อนข้างหายาก มีเก็บไว้เฉพาะวัง บ้านขุนนาง หรือสถานที่ราชการเท่านั้น

หลายคนที่เอียนกับการโดนยัดเยียดให้รู้แต่ประวัติศาสตร์สยาม/ไทย (ภาคกลาง) ก็จะไปศึกษาประวัติศาสตร์ต่างประเทศ หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาคต่าง ๆ ล้านนาก็เป็นหนึ่งในอาณาจักรที่มีคนมาศึกษาจำนวนมาก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ยุคกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เก่าพอที่จะมีมนต์เสน่ห์ แต่ก็ไม่ได้เก่าเกินจนไม่เหลือบันทึกอะไรเลย

“ผมว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีมนต์เสน่ห์ที่ไม่เหมือนประวัติศาสตร์ส่วนกลางนะ อย่างล้านนามันค่อนข้างลงตัว ด้วยความที่มีรัฐ มีอาณาจักรเก่า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองขึ้นเขาด้วย ดังนั้นธีมของประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วง 100-200 ปีให้หลังจึงเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองขึ้น การถูกผนวก การเป็นชาติที่โดนกลืน”

อุดมการณ์คณะราษฎรและศักดินาไทย

ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ได้มีการจัดรำลึกถึงคณะราษฎรขึ้นมา และหนึ่งในผู้จัดงานช่วงเย็นของวันนั้นก็คือเพนกวิน ซึ่งได้เปล่งเสียงนำมวลชนอ่านประกาศคณะราษฎรดังกระหึ่มบนลานสกายวอล์ก ปทุมวัน ถือเป็นสัญญาณว่าคณะราษฎรได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งแล้ว

แม้เพนกวินยอมรับว่าคณะราษฎรมีข้อผิดพลาดหลายอย่าง ทั้งการประนีประนอมและไม่แตกหักกับระบอบเก่า รวมถึงขาดเอกภาพทางความคิด จนทำให้ในท้ายที่สุด การปฏิวัติของคณะราษฎรถูกตีโต้โดยกลุ่มปฏิกิริยาฝ่ายเจ้า แต่ที่ยังต้องสนใจการต่อสู้ของคณะราษฎรและพยายามหาแง่มุมบางอย่างมาปรับใช้ในปัจจุบันนั้น เพราะประเทศไทยเมื่อ 2475 กับ 2564 ยังมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกันอยู่

“ตอนนั้นคนรุ่นอาจารย์ปรีดี คนรุ่นจอมพล ป. สู้รบกับศักดินายังไง วันนี้เราก็ยังสู้รบกับศักดินาอย่างนั้นอยู่”

เพนกวินชี้ให้เห็นว่าประกาศคณะราษฎร 2475 ที่เขียนโดยปรีดี พนมยงค์ พูดถึงปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ตอนนั้นค่อนข้างจะครบถ้วน ทั้งการทุจริต รับสินบน การแต่งตั้งคนตามเครือข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง การที่กษัตริย์ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายในบางประการ การมีสิทธิพิเศษให้บางชนชั้นมากกว่าราษฎร การบริหารประเทศแบบไม่มีความรู้ ไม่ใช้หลักวิชาการแต่ใช้อารมณ์ส่วนตัว ฯลฯ อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลักใหญ่ใจความของปัญหายังคงเดิม

“ใครปฏิเสธได้บ้างว่าที่คณะราษฎรพูดใน 2475 มันไม่จริง ใครปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่คณะราษฎรพูด ตอนนี้หายดีแล้ว ไม่มี ในเมื่อภารกิจของคณะราษฎรมันยังไม่จบเราก็ต้องสานต่อ เวลาผมไปชุมนุมยิ่งช่วง 24 มิถุนา อ่านประกาศคณะราษฎรที่ไหนเฮที่นั่น แปลว่าทุกคนรู้สึกร่วมกับสิ่งที่คณะราษฎรทำ ทุกคนเห็นว่าปัญหามันก็ยังเป็นเหมือนเดิม ทุกคนก็เลยโหยหาคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”

นอกจากขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยอุดมการณ์คณะราษฎรแล้ว วาทะสำคัญที่เพนกวินใช้กับการปราศรัยทุกครั้งโดยเฉพาะในเวทีของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมคือ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ต่างจากอีกวาทะสำคัญของครูครอง จันดาวงศ์ “วีรบุรุษสว่างแดนดิน” ที่ถูกประหารด้วย ม.17 ของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2504

คำถามสำคัญคือทำไมถึงเลือกใช้คำว่า “ศักดินา” ในการเคลื่อนไหว

เพนกวินอธิบายให้ฟังว่า ศักดินา (Feudal) มีลักษณะสำคัญ 3 ข้อ คือ ทุกอย่างเอื้อตามชาติกำเนิด มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และอาศัยความชอบธรรมผ่านความเชื่อ แต่ละประเทศก็ใช้และเรียกต่างกัน ไทยเรียก “สมมติเทพ” จีนเรียก “อาณัติสวรรค์” (Mandate of Heaven) ตะวันตกบอกว่าพระเจ้าให้สิทธิธรรมมาครองตาม “เทวสิทธิ์” (Divine Right)

เพนกวินชวนมองเปรียบเทียบวิวัฒนาการทางสังคม ซึ่งสังคมไทยมีความแตกต่างจากสังคมตะวันตกอยู่คือ สังคมตะวันตกเคลื่อนเหมือนกงล้อไปข้างหน้าออกจากสังคมยุคทาส ยุคศักดินา แล้วกลายเป็นยุคทุนนิยม หรือกล่าวอีกอย่างว่ามันมีสิ่งเก่าดับไปสิ่งใหม่ขึ้นมา

แต่สังคมไทยไม่มีอะไรแตกดับ ซ้ำยังพอกขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนดินพอกหางหมู คือ ไทยก็มีสังคมยุคทาส ครั้นถึงยุคศักดินาอย่างสังคมอยุธยา ทาสก็ไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่มีศักดินาเพิ่มเข้ามา จนในปัจจุบันเป็นสังคมยุคทุนนิยมที่มีนายทุนกับกรรมกร แต่ลักษณะของสังคมศักดินายังคงอยู่ แม้ทาสจะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีไพร่กับเจ้า ลักษณะสำคัญของสังคมศักดินาคือมี 3 ชนชั้นหลัก ไพร่ เจ้า ขุนนาง ไพร่ก็ “พวกเรา ๆ ” การเกณฑ์ไพร่ก็คือการเกณฑ์ทหาร

“เราก็ยังต้องใช้คำว่า ‘ศักดินา’ เพราะสังคมไทยยังเป็นศักดินา มันอาจจะเป็นศักดินายุค 4.0 หรือศักดินา 2021 แต่ก็ยังมีความเป็นศักดินาในอีกรูปแบบหนึ่ง คำถามคือถ้าเราไม่ทำให้ศักดินานี้มันจางลงหรือไม่ทำลายศักดินานี้ไป สังคมไทยจะไปต่อยังไง ต้องอยู่อย่างนี้อีกกี่ปี อีกกี่รุ่น”

กลุ่มทุน+ศักดินา เรื้อรังฝังรากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ปมปัญหาใหญ่ของวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพนกวินมองว่ามาจากการช่วงชิงบทบาทกันระหว่างกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ของ ส.ส. ในช่วงต้นของการสร้างประชาธิปไตยหลัง 2475 ถึงแม้จะล้มอำนาจของ “ศักดินากลาง” ไปได้ แต่อำนาจของ “ศักดินาท้องถิ่น” ยังอยู่ คนที่เป็น ส.ส. ในยุคแรก จึงเป็นครู ทนาย ข้าราชการ ที่มีความเป็นศักดินาท้องถิ่น ครั้นเวลาผ่านมาถึงช่วงทศวรรษ 2510-2530 กลุ่มทุนเริ่มขยายตัวขึ้น ทุนท้องถิ่นเริ่มมีความหมาย นักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนเล็กในท้องถิ่นจึงขึ้นมามีบทบาทแทน

“จะสังเกตว่าสนามการเมืองมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทีนี้ก็ต้องถามย้อนกลับไปต่อว่า ในยุคต้นที่ ส.ส. เป็นครู ทนาย ข้าราชการ มันไม่มีกลุ่มทุนเหรอ ก็มีแต่เขาไม่ลงกัน เพราะการเมืองไม่ได้เปิดกว้างและเขารู้สึกว่าลงมาเล่นเองแล้วมันเหนื่อย พวกนี้มีอำนาจ เล่นการเมืองผ่านพวกนี้ดีกว่า”

พอถึงทศวรรษ 2540-2550 ก็เกิดกลุ่มทุนใหญ่ในระบบการเมืองขึ้นมา ดังเห็นได้จากทักษิณ ชินวัตรขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง จุดนี้เองที่ทำให้ศักดินากับทุนขัดแย้งกัน จนนำมาสู่การรัฐประหาร 2549

“พอมาถึงรัฐประหาร 57 ก็ถึงจุดที่คนเดินหน้าก็อยากจะเดินหน้าต่อ แต่ก็มีคนที่อยากหมุนนาฬิกากลับไปยุคเปรม ยิ่งตอนนี้พอเกิดความขัดแย้งระหว่างทุนกับขุนนาง ประชาชน ไพร่ ๆ อย่างเราก็เห็นโอกาสเหมือนกันว่า ถ้านายทุนเขาจะสู้เพื่อที่ทางทางการเมือง ประชาชนก็ต้องสู้เพื่อที่ทางทางการเมืองด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นแค่เศษเบี้ย”

เผด็จการล้างสมองประชาชนด้วยประวัติศาสตร์ ?

ต่อปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ผูกขาดความจริงเพียงชุดเดียวโดยรัฐ เพนกวินมองว่ามันเชื่อมโยงกับปัญหาของระบบการศึกษาโดยรวม กล่าวคือ ระบบการศึกษามีไว้รับใช้หรือสนับสนุนระบอบการเมือง ถ้าระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตยก็จะสร้างพลเมืองด้วยการศึกษาที่เปิดกว้าง ถ้าเป็นระบอบการเมืองเป็นเผด็จการก็จะสร้างพลเมืองด้วยการศึกษาแบบล้างสมอง ประวัติศาสตร์ก็กลายเป็นคัมภีร์ มีไว้เชื่อ บูชา ซาบซึ้ง และภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้มีไว้คิดว่าคืออะไร

“การที่ประวัติศาสตร์จะเป็นบทเรียนให้แก่มนุษยชาติได้ จะต้องวิพากษ์และตั้งคำถามต่อมันได้ แต่ในการเมืองที่เป็นเผด็จการ ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจในตัวผู้นำ มันกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไป ดังนั้น ถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตย การศึกษาก็จะมุ่งให้คนคิด ประวัติศาสตร์ก็จะมุ่งให้คนตั้งคำถาม”

โจทย์ใหญ่และเกมยาว แค่ไล่นายกฯ ไม่จบปัญหาการเมืองไทย

สถานการณ์ขณะนี้ที่มีหลายฝ่ายเริ่มออกมาแสดงออกว่าต้องการขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามากขึ้น จนเริ่มมีความคิดเห็นออกมาว่า โมเมนตัมของการเคลื่อนไหวในรอบนี้จะเทไปที่การขับไล่นายกรัฐมนตรี มากกว่าที่จะไต่เพดานไปให้ถึง 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และอาจทำให้ข้อเสนอในส่วนหลังนี้จะเริ่มจางลงไป กลายเป็นเพียงกระแสแต่ไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

ทว่าเพนกวินไม่คิดเช่นนั้น เพราะมองว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ รวมถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่ในใจคนไปแล้ว ปีที่แล้วคือการจุดประกายไฟในใจคน ปีนี้ขับเคลื่อน และยังมองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตประชาชนทุกคนและอันตรายต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยข้อเกือบครึ่งหนึ่งจาก 10 ข้อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ยังไงเสียข้อเสนอต่าง ๆ คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน

“เรากำลังสู้กับสิ่งที่ครอบงำประเทศนี้มาพันปี แน่นอนว่ามันไม่ได้จบในวันสองวัน ผมตอบอย่างนี้ว่ามันเป็นเกมยาวแต่ถึงเวลาสั้นมันก็สั้น ของอย่างนี้เป็นเรื่องสนิมเกิดจากเนื้อในตนทั้งนั้นเลย”

สำหรับโมเมนตัมที่คนหลายฝ่ายพากันออกมาไล่พลเอกประยุทธ์ เพนกวินมีความเห็นว่า ถ้าพลเอกประยุทธ์ถูกขับไล่ จะทำให้องคาพยพของเผด็จการ+ขุนนางที่ก่อร่างมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 พังทลายลงไป ส่วนเรื่องกระแส “นายกฯ พระราชทาน” ก็เป็นไปได้ว่าที่จะหาตัวแทนใหม่ แต่ค่อนข้างเชื่อว่าประชาชนที่ตื่นรู้แล้วจะไม่หลงกล เป็นสิ่งท้าทายเหมือนกันว่าตื่นรู้ขนาดนี้ ผู้มีอำนาจจะกล้าทำอะไรได้อีก

“ผมอยากชวนพี่น้องทุกคนมาร่วมกันจินตนาการว่า ไม่ใช่แค่ไล่พลเอกประยุทธ์ออกไปอย่างเดียว เราต้องการการเมืองหลังประยุทธ์ออกยังไง เราต้องการการเมืองแบบไหน นายกฯ ที่จะมาแทนประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯ แบบไหน นายกฯ ที่มาตามขั้นตอนอะไร และมีภารกิจของรัฐบาลที่จะทำคืออะไร”