คุณแสดงเป็นตัวละครไหนในดินแดนวิปลาสนี้?
เป็นนักมายากลที่ลวงชีวิตและความเชื่อของตัวเอง
เป็นทาสผู้จงรักซึ่งถวายตัวรับใช้นาย
เป็นตัวประกอบที่พูดได้สองสามคำ
เป็นตัวตลกให้พวกมีเงินซื้อบัตรขำขันใส่
หรือเป็นโขดหินนิ่งงันที่ไม่เคยรู้สึกรู้สากับความอัปยศใด
บทบาทเหล่านั้นคงต่างกันลิบลับกับบทบาทของตัวละครในหนังสือ “ในดินแดนวิปลาส” ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจากความทรงจำอันขื่นขมของนักข่าวอย่าง ‘รัช’ ที่เตร็ดเตร่ผ่านสมรภูมิการเมืองและชีวิตนัก(ต่อสู้)ทางการเมืองมามากต่อมากนัก เขาเคยเป็นนักข่าวประชาไทติดตามคดีการเมืองเเละคดี 112 จึงเห็นโลกของสามัญชนที่เป็นผู้ต้องหาคดีดังกล่าวมาหลายคน
เเละพวกเขาเหล่านั้นก็คือตัวละครที่ ‘รัช’ หยิบยัดลงในหน้ากระดาษเล็ก ๆ เเต่ล้วนแสดงบทบาท “ประชาชน” ได้อย่างกระตือรือร้นและสมจริงยิ่งต่อการประกาศิตกึกก้องว่าพวกเขาคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นเจ้าของประเทศนี้ พวกเขากล้าสงสัยในสิ่งที่คนไทยไม่กล้าสงสัย กล้าเอ่ยหาคำตอบต่อคำถามที่คนไทยซ่อนไว้ใต้ลิ้น แม้ความจริงของคำถาม ‘ทำนองนั้น’ จะเขยื้อนขึ้นมาอยู่หว่างอกแล้วก็ตาม
แต่ความกล้าหาญชาญชัยก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียมากมาย เพราะทันทีที่พวกเขาคิด พวกเขาเอ่ย หรือแสดงทีท่าอันกวนจิตกวนใจฝั่งอนุรักษ์นิยม พวกเขาก็กลายเป็น ‘ภัย’ แห่งความมั่นคงของทุกสรรพสิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายตรงข้ามจะยัดเยียดให้ เสมือนหนึ่งเป็นแอกที่พันธนาการพวกเขาให้สูญสิ้นชีวิตอันปกติสุข
ในดินแดนแห่งนี้มีปิศาจล่าแม่มด
ใครว่า การคิดต่างเป็นสิ่งสวยงาม เฉกเช่นดอกไม้หลากสีที่บานร่ารวมกันอยู่ในท้องทุ่ง แต่นั่นคงไม่ใช่สำหรับท้องทุ่งแห่งความคิดของประเทศนี้ เพราะเพียงคุณคิดเห็นเช่นต่างอย่างนอกขนบสังคม ซึ่งฉีกทึ้งความเชื่อ ความศรัทธาเดิมที่คนส่วนใหญ่ดื่มด่ำมานานนับศตวรรษ ทั้งยังท้าทายต่อสิ่งซึ่งพวกเขาจงรักแล้วไซร้ แม้ความคิดดังกล่าวจะก่อขึ้นด้วยความสมเหตุสมผล และหลักฐานอันประจักษ์ชัดเพียงใด แต่พวกเขาก็จะกล่าวหาว่าคุณเป็นพวกชังชาติ ชังแผ่นดิน และปฏิบัติการตามล่าแม่มดจะเริ่มขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว
นั่นคือสิ่งซึ่งตัวละคร ‘ป้า’ (ไม่ระบุนาม) ต้องประสบพบเจอ มวลมหาประชาชนผู้คลั่งรัก ไล่ล่าตามด่า เพราะเพียงโพสต์ ‘ทำนองนั้น’ ซึ่งไม่ถูกจริตพวกเขา อาจเป็นโพสต์ที่ไม่โศกเศร้าในช่วงเวลาเปราะบาง ข้อความล่าแม่มดที่ปรากฏ เช่น
“แผ่นดินเกิด แผ่นดินที่มึงหาแดก บรรพบุรุษบูรพกษัตริย์เขาสร้างมา
รบกู้บ้านเมืองมา ไม่สำนึกบุญคุณ อายหมาบ้าง อีทรพี” (หน้า 37)
“เมิงจะเล่นกับใครกูไม่ว่า แต่อย่าเล่นกับคนที่พวกกรูรัก” (หน้า 38)
“ถ้าพวกเรารักพ่อต้องช่วยกันดูแลบ้านแทนพ่อ ต่อไปอย่าให้คนชั่วมีที่ยืน
ต่อไปลูกหลานพวกเราคนไทยจะได้ไม่เดือดร้อน” (หน้า 38)
“น่าจับฉีกปากแล้วกระทืบให้ตายคาตีน” (หน้า 39)
ดังกล่าวคือเสี้ยวความโกรธแค้นของผู้ปาวรณาตนว่ารักชาติ รักแผ่นดิน สุดชีวิต และผลักไสไล่ส่งคนอื่น ๆ ให้เป็นคนชังชาติเสียดื้อ ๆ ซึ่งแม้ความจริงแล้วฉันไม่คิดว่าจะต้องให้ค่ากับคำก่นด่าที่ไหลหลากออกมาอย่างลืมหูลืมตาเลยสักนิด แต่ปฏิบัติการลากตัวคนที่ส่อว่าไม่รักมาโบยตีดังกล่าวดูจะทวีคูณความเลือดเย็นขึ้นทุกวัน จากข้อกล่าวหาที่แบ่งแยก ‘คนรักชาติ’ กับ ‘คนชังชาติ’ ก็พัฒนามาเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ซึ่งอย่างหลังนี่นับว่าน่ากลัวมาก เป็นเหมือนยาที่มอมเมาให้คนหลายชาติเข่นฆ่ากันเองอย่างไม่รู้สึกผิด เช่นที่เกิดขึ้นในรวันดา อินโดนีเซีย หรือในไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เกิดความเชื่อประหลาดว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ผิด ไม่บาป ก็เป็นตัวอย่างของประวัติศาสตร์บาดแผลได้เป็นอย่างดีมิใช่หรือ แต่วันนี้คอมมิวนิสต์หายเงียบไปแล้ว ที่ถูกพุ่งเป้าก็เป็นคนที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ชังชาติ’ หรือ ‘ล้มเจ้า’ แทน แม้หลายคนจะไม่เคยคิดถึงขั้นนั้นก็ตาม
ในดินแดนแห่งนี้ ‘รักสามัญ’ ถูกฉีกทึ้ง
‘รัก’ คงเป็นนามธรรมที่ทรงพลังและมีอานุภาพมากที่สุด เพราะ ‘รัก’ เบิกตาให้คนมองโลกในแง่ดี สดใส และรู้จักให้อภัย ขณะเดียวกัน ‘รัก’ ก็ทำให้คนตาบอดต่อความจริง หูหนวกต่อความผิด และใบ้ที่จะทวงถามความถูกต้อง แต่อานุภาพที่ฉันคิดว่าร้ายเเรกที่สุดของ ‘รัก’ ก็คือการอาจหาญฉีกทึ้ง ‘รักอื่น’ ให้แหลกลาญไปต่อหน้าต่อตา อันเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไรในดินแดนวิปลาสนี้ ที่ ‘รักศักดิ์สิทธิ์’ ทึ้ง ‘รักสามัญ’
โศกนาฏกรรมของคู่รักสูงวัยยืนยันสิ่งที่ว่ามาได้เป็นอย่างดี ‘รัช’ พาผู้อ่านไปรู้จัก ‘ป้า’ (อีกคน) ที่สูญเสียสามีไปอย่างไม่หวนกลับ สามีซึ่งเป็นนักสู้ที่ไม่เคยถอดทิ้งความฝันและอุดมการณ์ หลังจากติดคุกยาวนานเกือบ 1 ใน 3 ของชีวิต สามีของป้าก็ถูกตั้งข้อหาคดีการเมืองเป็นครั้งที่สาม แต่ครั้งนี้เขาเลือกระเห็จระเหินออกนอกประเทศ ไม่ยอมถูกจองจำอีก แต่หนีไปไกลแค่ไหนพวกนั้นก็ตามไปถึง จนเขาหายตัวไป ไม่มีคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อหัวใจทั้งดวงเหมือนถูกกระชาก ‘ป้า’ จึงกระวนกระวาย หาทางให้ได้รู้ว่าเขายังอยู่ดี ตั้งแต่ตระเวนถามคนทรง เปิดหน้าให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเรื่องราวชีวิตคู่ จนพบ……เขาในสภาพเป็น ‘ศพ’ เสียแล้ว คงไม่ต้องถามว่าฉากหลักจากนั้นยังเป็นยังไง แค่จินตนาการว่าถ้าสามี ภรรยา หรือลูกของคุณ หายไปแล้วกลับมาในสภาพศพที่ไม่มีความสมบูรณ์ คุณจะรู้สึกยังไง นั่นแหละคงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับ ‘ป้า’
และเช่นเดียวกับ ‘เขา’ อีกตัวละครไม่ปรากฏนาม ที่ ‘รัช’ ระบุเพียงว่าเป็นคนหนุ่มที่ทรงพลัง แข็งแกร่ง กล้าหาญ มีชีวิตชีวา และงดงามในแง่ที่หัวจิตหัวใจคิดถึงผู้ทุกข์ยากเสมอ ก็เผชิญกับชะตากรรมไม่ต่างกัน คดีของของเขาค่อนข้างไร้สาระและน่าอับอายชาวโลก แต่เมื่อเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ก็สามารถทำให้เป็นเรื่องร้ายแรงได้เสมอ ถึงวันพิพากษา ‘เขา’ เหมือนคนที่ยืนอยู่บนขอบเหว หากเลือกสู้ต่อ ก็ต้องสู้กับยักษ์ที่ตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชนะ แต่นั่นก็จะรักษาศักดิ์ศรีโดยไม่ก้มหัวให้กับความไม่จริง กับอีกทางเลือกหนึ่งคือจำต้องกระโดดลงไปในเหว ด้วยการรับสารภาพ เพื่อให้เรื่องมันจบ ๆ เขาอาจทนทุกข์อยู่ในเหวลึกนั้นสักระยะ แต่ก็ยังมีหวังจะปีนป่ายกลับมาหาคนที่รัก คำตอบซึ่ง ‘รัช’ เฉลยไว้คือ
“เขาเป็นคนแบบแรก และคนแบบที่ครอบครัวมักต้องจ่ายราคาความเจ็บปวดต่อการการยืนยันต่อสู้
มีผัว-เมีย พ่อแม่-ลูก หลายครอบครัวทะเลาะกันอย่างหนักเรื่องแนวทางการสู้คดี
แม่บางคนร้องไห้จะขาดใจในห้องเยี่ยม เมียบางคนตะโกนด่าพร้อมยื่นคำขาดจะหาผัวใหม่
ผัวบางคนขู่จะฆ่าตัวตาย ลูกบางคนหนีออกจากบ้านเพื่อประท้วงการตัดสินใจ ฯลฯ” (หน้า 47)
แต่การตัดสินใจย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อาจเพราะการต่อสู้เหน็ดเหนื่อยจนโรยแรง หรือหัวใจบอบช้ำจากการโบยตีมากเกินไป แต่สำหรับ ‘เขา’ ไม่มีใครรู้ว่าทำไมจึงตัดสินใจรับสารภาพ นักข่าวติดตามคดีของเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัว ถ้าให้คิดต่อจากคำใบ้เช่นว่า ฉันก็คิดว่าการเลือกใหม่ของเขาก็เพื่อปกป้อง ‘รักแสนสามัญ’ ไม่ให้แหลกยับเยินไปกว่าที่เป็น และนั่นคงนับเป็นการสารภาพที่จุกอกเอามาก ๆ เช่นที่ ‘รัช’ เขียนเล่าถึงคำเล่าของเขาในนาทีที่รับสารภาพต่อศาล หลังออกจากคุกมาหลายปีว่า…
“ผมรับสารภาพทั้งน้ำตา ผมไม่ได้พูดว่ารับสารภาพเลย
เพราะพูดไม่ได้ น้ำตามันไหล สะอึกจุกที่อก ผมได้แต่พยักหน้า” (หน้า 49)
การจำนนอันปวดร้าวของทั้งสองคนที่ ‘รัช’ เขียนถึง เพียงพอแล้วที่จะบอกว่าในดินแดนแสนวิปลาสนี้ ‘รักศักดิ์สิทธิ์’ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายทุกสิ่งอย่างที่ทึกทักขึ้นว่าเป็นภัยต่อตน ไม่เว้นแม้กระทั่งรักของสามัญชน ทั้งด้วยกลไกทางกฎหมายและกลไกความเกลียดชังทางสังคม ล้วนแต่คือความอัปยศที่สาดกระเซ็นอยู่ทุกหนแห่ง และส่งกลิ่นคาวตลบไปทั่ว แต่ทำไม…ทำไมคนส่วนใหญ่ในดินแดนนี้จึงยิ้มรื่นเหมือนว่าทุกอย่างยังปกติดี
ในดินแดนแห่งนี้ ‘ชาติ’ ปลุกปั้น ‘ภัย’ ขึ้นหลอกหลอนตัวเอง
คำแอบอ้างหนึ่งซึ่งมักถูกใช้เพื่อจัดการต่อคนที่กล้าดันเพดานทางคิด คือ พวกเขาเป็น ‘ภัย’ ความมั่นคงของ ‘ชาติ’ เพราะ ‘ชาติ’ ในดินแดนวิปลาสนี้หมายถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ประชาชน เมื่อประชาชนเอ่ยขึ้นด้วยคำถามที่เฉยเมยและไร้ซึ่งคำยกยอปอปั้น ‘ชาติ’ ก็จะปลุกปั้น ‘ภัย’ นั้นขึ้นมากับมือ ปั้นมันด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของผู้คน และเหวี่ยงใส่พวกเขาอย่างไม่ปราณี
ซึ่งตัวละครในหนังสือเล่มนี้ ทั้งที่กล่าวมาบ้างแล้ว และที่ยังไม่เอ่ยถึง คือตัวอย่างของสามัญชนที่ถูกดาหน้าว่าเป็น ‘ภัย’ ความมั่นคงของ ‘ชาติ’
เเละการถูกประทับตราว่าเป็นภัยความมั่นคงของชาตินั้นไม่ใช่เรื่องสนุก หรือความเท่ที่จะเอาไปอวดโอ้อย่างดีอกดีใจ หากแต่นั่นคือสัญญาณบ่งชี้ว่าชีวิตต่อแต่นี้ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคหนักหนาที่จะโถมซัดเข้ามา เช่นที่ ‘รัช’ เผยความจริงว่าในห้วงเวลาซึ่งเมฆสีดำเคลื่อนคลุมทั้งเมืองอย่างกะทันหันในปี 2557 คนจำนวนหนึ่งถูกป่าวเรียกชื่อให้รายงานตัวที่นั่น ที่โน้น เวลานั้น เวลานี้
“เจ้าของชื่อมีสองทางเลือก จะไปดี ๆ หรือจะถูกไล่ล่า
ผู้ที่ไปตามนัดถูกพาตัวหายเข้ากลีบเมฆ
ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้ยังจะมีหรือไม่……….คนหัวแข็งแตกฉานซ่านเซ็นไปตามศักยภาพ
และระดับความเสี่ยงของตน บ้างไปต่างประเทศ บ้างหลบกบดาน” (หน้า 95)
ดินแดนวิปลาสจึงไม่ใช่อื่นใดเลย เว้นแต่เป็นดินแดนที่กลวงเปล่าซึ่งความยุติธรรมนานาและสามัญชนผู้คิดต่างถูกกรีดเนื้อหนังเป็นแผลเหวอะหวะคนแล้วคนเล่า
ความวิปลาสของดินแดนนี้จึงยังดำรงอยู่มาจนถึงขณะปัจจุบัน
หนึ่งปีที่แล้ว ‘นักต่อสู้ทางการเมือง’ ที่ฉันชื่นชมหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ห้าเดือนก่อนหน้านี้ ‘เพื่อน’ ร่วมชั้นเรียนของฉันถูกจับเข้ากรงขังด้วยข้อหา 112
วันนี้ (18 ก.ค. 2564) พี่น้องประชาชนที่ลงถนนทวงคืนอำนาจและคุณภาพชีวิตที่ดี
ก็เพิ่งถูกทำร้ายถูกน้ำแรงดันสูง แก๊ซน้ำตา และกระสุนยาง
“ในดินเเดนวิปลาส” เล่มนี้จึงเป็นหนังสือร่วมสมัยที่ทันต่อการเปลี่ยนเเปลงเเห่งยุคสมัย ‘รัช’ เป็นใครฉันไม่ทราบ เเต่ ‘รัช’ ได้เขียนเเต่งเรื่องจริงได้อย่างน่าประทับใจ ประทับใจทั้งเเง่ของภาษาที่สละสลวย ประทับใจในความกล้าหาญที่จะเขียนถึงเรื่องที่ควรเขียนเท่าที่เขียนได้ เเม้บางเรื่องจะจับต้นชนปลายไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เขาเล่าให้เราฟังเป็นมาอย่างไร หรือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เเต่นั่นก็เข้าใจได้ถึงความวิปลาสที่จับตามองทุกตัวอักษร
สุดท้าย ฉันไม่รู้ว่าสามัญชนอย่างเราจะชนะได้เมื่อไหร่
แต่ฉันเชื่อเสมอว่าเราจะชนะได้ด้วยการทลายระบอบซึ่งฝั่งรากมายาวนานถึงเจ็ดปี
เเละพัวพันไปกับรากอื่น ๆ อย่างยากจะเเยก
คำถามเดิมของฉันจึงคือ ต่อแต่นี้คุณจะแสดงเป็นตัวอะไรในดินแดนวิปลาส?
หนังสือ: ในดินเเดนวิปลาส: บันทึกบาดเเผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน
เรื่องโดย: รัช
สำนักพิมพ์: Paragraph
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี