เพราะมันคือเมืองของเรา
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ เป็นเวลาเดียวกันกับที่ตำรวจออกมาฉีดน้ำ ยิงกระสุนยาง ฉีดแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนอีกครั้ง กับการเรียกร้องเปลี่ยนรัฐบาล จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการเรียกร้องวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลักของประเทศแทนวัคซีนไร้ประสิทธิภาพที่ใช้อยู่ ผมกำลังพิมพ์มันด้วยสติ ยับยั้งความโกรธ คับแค้นใจ และรู้สึกว่าพวกเราต้องไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อีกแล้ว
“รอตรวจ รอติด รอเตียง รอตาย รอตัง”
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตลอดหลายเดือนตั้งแต่โควิดระลอก 3 ระบาด ผมไม่เคยเห็นพลังงานความสิ้นหวัง ความเศร้า ความสลด มากมายขนาดนี้ในสังคม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ เมืองแห่งโอกาส และเป็นศูนย์กลางในหลายอย่างของประเทศไทย
นี่คือช่วงเวลาอะไร? เราทำอะไรได้บ้างไหม?
ท่ามกลางความสิ้นหวังตอนนี้ ผมนึกถึงบทความหนึ่งที่เคยได้อ่านเมื่อหลายปีมาแล้ว และคิดว่าน่าเอามาแปลและเล่าสู่กันอ่านเป็นอย่างยิ่ง เป็นบทความของคุณ Margaret J Wheatley เขียนถึงการสนับสนุนผู้นำแห่งการบุกเบิกในรูปแบบของชุมชนผู้ปฏิบัติ (Supporting Pioneering Leaders as Communities of Practice) และคิดถึง TEDx Talks ของคุณ Deborah Frieze ที่พูดในหัวข้อ “How I Became a Localist” และเน้นย้ำเรื่องระบบใหญ่ในสังคมกำลังทำให้ระบบชุมชนเสียหาย และชวนให้คิดว่าถ้าเราเลิกซ่อมแซมแก้ไขปัญหาจากระบบใหญ่นั้น แต่กลับมาทำให้ระบบ “ชุมชนเข้มแข็ง” เป็นการสร้างระบบใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานชุมชนแทน ผมจึงอยากใช้บทความนี้เขียนถึงแนวคิดของทั้งสองท่าน และเล่าสู่กันฟังเพื่ออย่างน้อยเป็นอีกทางเลือกให้เราจากประโยคคำถามข้างต้นว่า “เราทำอะไรได้บ้าง?” โดยบทความนี้จะขอพูดถึงข้อคิดจากคุณ Margaret ก่อนครับ
“ผู้บุกเบิก” และ “ผู้ปฏิบัติ” ดูจะเป็น 2 คำที่คุณ Margaret พยายามเน้นย้ำ เพราะในสังคมที่หดหู่ สังคมแห่งความสิ้นหวัง เรามักไม่เหลือเรี่ยวแรง ไม่เหลือหัวจิตหัวใจในการปฏิบัติหรือบุกเบิกอะไรใหม่ ๆ เรามักเต็มไปด้วยความรู้สึกท้อแท้ ยินยอมต่อความเป็นไป ยอมรับกับความล้มเหลวของระบบสังคม และผู้ปกครองที่พยายามหลอกเราทุกวันว่ามันกำลังจะดีขึ้นแต่ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง คุณ Margaret ชวนตั้งคำถามให้คิดตามเพื่อให้ค้นพบหนทางแห่งการบุกเบิกสิ่งใหม่ ผมสรุปมาสั้น ๆแบบนี้ครับ
ตอนนี้คือเวลาอะไร?
คุณ Margaret เริ่มจากการตั้งคำถามนี้ เพราะคำถามจะนำไปสู่การตัดสินใจและการปฏิบัติที่แตกต่าง คำตอบที่ Margaret ชวนคิดคือ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่มีพื้นฐานของความเชื่อและการปฏิบัติแบบเดิมที่จะทำให้สังคมดีกว่านี้ได้หลงเหลืออยู่แล้ว ความเชื่อและการปฏิบัติชุดนี้มีแต่จะทำให้มันแย่ลงไป ทำให้คนในสังคมท้อ เป็นภัยต่อความหวัง เป็นภัยต่ออนาคตของสังคมมากๆ ระบบโครงสร้างที่สังคมทุกวันนี้ใช้ที่เราเห็นว่ามันคือปัญหา และเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ จึงเป็นโจทย์ที่ผิดถนัด เราไม่ได้มีชีวิตที่จะใช้เวลาแก้ปัญหาของสังคมอันผุพังนี้ มีความพยายามนับล้านครั้ง เงินทุนจากมูลนิธิและประเทศโลกที่ 1 มากมายถมลงเพื่อพยายามจะแก้ปัญหาต่างๆ รัฐบาลหลายประเทศพยายามจะแก้ปัญหาต่างๆด้วยความพยายามมากมาย แต่มันไม่เคยสำเร็จเลยใช่ไหม คุณ Margaret เชื่อว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ใน Quote ที่ Eistien เคยกล่าวไว้ว่า “No problem can be solved from the same level of consciousness that created it” เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยระบบความคิดแบบเดิมที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมาหรอก ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เวลาแห่งการแก้ปัญหาในระบบสังคมเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่นี่คือเวลาของการสร้างระบบสังคมใหม่ต่างหาก
แล้วระบบสังคมใหม่นี้มันคืออะไรกันล่ะ?
คุณ Margaret ยกตัวอย่างผู้บุกเบิกที่พยายามสร้างสังคมใหม่มากมายที่อยู่ในชุมชนเล็กๆ หนึ่งในตัวอย่างที่สามารถอธิบายการสร้างระบบสังคมใหม่ได้ดีที่สุด นั้นคือผู้นำชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งที่เธอเคารพมากๆ คุณ Taddy Blecher ลงไปสร้างมหาวิทยาลัยชื่อ CIDA Campus ที่ Johannesburg ในขณะที่เขาเปิดมาได้ 2 ปี เขารับนักเรียนไปแล้วกว่า 1,200 คนจากชุมชนบ้านนอกที่จนที่สุดในแอฟริกาใต้ Taddy มีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์มาก เขาชื่อว่า “ทุกคนคือ “ผู้นำ” และต้องถูกบ่มเพาะเพื่อให้เป็นผู้นำ” ที่ CIDA เด็กแอฟริกากว่าพันคนจึงถูกบ่มเพาะให้เป็นผู้นำใหม่ของแอฟริกาใต้ โดยไม่ได้ใช้ระบบการศึกษาจากส่วนกลางเลย เป็นระบบการศึกษาที่ถอดมาจากวิถีชุมชนและคุณค่าของชาวแอฟริกา โดยใช้การเรียนรู้ร่วมกัน อยู่ร่วมกัน ทำอาหารร่วมกัน ร้องเพลงร่วมกัน ทุกคนใช้ชีวิต ทำงาน และเรียน ไปด้วยกัน ตัวอย่างหนึ่งตอนที่ Margaret ไปเจอกลุ่มนักเรียน CIDA ประมาณ 30 คนที่กำลังเรียนเรื่องโรคระบาด AIDS และการสร้างความเข้าใจในชุมชน ทั้ง 30 คนกลับไปเพื่อสอนคนที่บ้าน สร้างความเข้าใจและตื่นรู้ต่อโรคระบาดเพื่อป้องกันไม่ให้ชุมชนของพวกเขาต้องเป็นภัย มากกว่านั้นก็มีอีกหลายกลุ่มที่กำลังเรียนเรื่องระบบออมเงิน การซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ และใช่ นักเรียนทุกคนจะกลายเป็นผู้นำที่ต้องนำกลับไปใช้ประยุกต์จริงในชุมชนที่บ้านของพวกเขา
ผู้นำใหม่ ผู้บุกเบิก เกิดขึ้นแล้ว
นี่คือการสร้างระบบสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางสังคมใหญ่ที่พังทลาย และก็ไม่ใช่แค่ที่ CIDA เท่านั้น มีผู้นำ ผู้บุกเบิกมากมายอยู่ตามพื้นที่ชุมชนเล็กๆของพวกเขา เขากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงในพื้นที่ นำโดยการสร้างให้เห็น กล้าที่จะบุกเบิก ผู้นำเก่านั้นสร้างความผิดหวังให้กับพวกเขา ระบบสังคมใหญ่ทำให้เห็นความสิ้นหวัง แต่ความหวังสามารถสร้างได้จากชุมชนของเขา มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จริงเป็นแรงผลักดันจากภายในที่เกิดขึ้นแล้วมากมายทั่วโลก
กลับมาสู่บริบทบ้านเรา ท่ามกลางวิกฤติโควิด ผู้ติดเชื้อมากมายในชุมชน ผมเห็นผู้นำมากมายหลายคนในหลายชุมชนทั่วประเทศ มีพลังจากชุมชนมากมาย คุณครูอ๋อมแอ๋ม พี่ติ และเพื่อนผองกลุ่มคลองเตยดีจัง รวมตัวกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด หาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ ทำระบบการช่วยเหลือเบื้องต้น หายาที่จำเป็น สร้างครัวกลาง พี่ตันกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง ก็เริ่มทำที่ชุมชนของเขา พี่เล็กสมภพ ขยับสร้าง “น้ำขิง โมเดล” ใช้การต้มน้ำขิงแจกคนในชุมชนให้ตื่นรู้กับการดูแลตัวเองในชุมชนแออัด บังเสริฐลุกขึ้นมาสร้างศูนย์พักคอยระดับชุมชน พี่แหววพี่อนันต์ ปลุกคนในชุมชนฝั่งธนแถวภาษีเจริญมาจัดการตัวเอง ประสานสร้างศูนย์บริจาคเพื่อรับความช่วยเหลือจากคนใจดีมากมาย เป็นสะพานบุญเชื่อมให้คนอยากให้ได้เจอคนเดือดร้อน มีผู้นำมากมายที่เกิดขึ้นในชุมชน และนี่ไม่ใช่แค่เพราะวิกฤติครั้งนี้ แต่ทำมานานแล้วอย่างต่อเนื่อง
แต่พวกเขากำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายอย่างเดียวดาย
คุณ Margaret เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้บุกเบิกหรือผู้นำใหม่ที่อยู่ในชุมชนมากมายนี้ พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนได้ก็จริง แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นขยับไปชนกับโครงสร้างของระบบสังคมเก่า พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย พวกเขาต้องต่อสู้กับความท้าทายมากมายอย่างโดดเดี่ยว โดยคิดว่าไม่มีใครเผชิญสิ่งเหล่านี้เหมือนเขา แต่แท้จริงแล้ว ผู้บุกเบิกทุกคนเจอสิ่งเดียวกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันสามารถนำพาพวกเขาออกมาจากปัญหาเหล่านั้นได้ การต่อสู้อย่างลำพังจึงเป็นอะไรที่ทำให้หลายคนท้อ ถดถอย โดยคุณ Margaret ได้เรียบเรียงความท้าทายที่เกิดขึ้นกับผู้บุกเบิกทุกคนมาไว้ดังนี้
“ผู้นำใหม่ต้องสร้างอนาคตท่ามกลางการต่อสู้กับอดีต”
การสร้างอนาคตไปพร้อมๆกับความพยายามปฏิเสธความล้มเหลวของอดีตนั้นเหมือนเป็นการทำงานสองเท่า คือการสร้างองค์กรหรือรูปแบบกระบวนการจัดการเพื่อไปสู่อนาคต และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอดีตไปพร้อมๆกัน มันจึงเป็นความท้าทายที่ยากและบางครั้งทำให้ไม่สำเร็จสักทาง
“มันไม่ง่ายเลยที่จะทำลายขนบธรรมเนียมเก่า”
การสร้างสิ่งใหม่แปลว่าเราต้องไม่ติดกับกรอบของขนบธรรมเนียเก่า และหลายครั้งที่ไปไม่ได้ก็เพราะธรรมเนียมเหล่านั้นห้ามไว้ จึงจำเป็นต้องทำขนบเหล่านั้น แรงกดดันจากความเชื่อ การจัดการ และการปฏิบัติที่คุ้นชินของขนมเก่าจึงสร้างแรงกดดันมหาศาล สร้างความหวาดกลัว และสร้างความรู้สึกให้เราอยากกลับไปสู่ขนบธรรมเนียมเดิมๆ ถึงแม้เราจะรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่เวิร์คแล้วก็ตาม นี่คือความท้าทายของวัฒนธรรมและความหวาดกลัวของมนุษย์ที่ผู้บุกเบิกต้องเผชิญ
“ผู้สนับสนุนต้องการให้ดูคุ้นชินกับรูปแบบเก่า ๆ”
ผู้สนับสนุนจะรู้สึกเสี่ยงเกินไปที่จะสนับสนุนผู้บุกเบิกที่ทำอะไรแตกต่างจากขนบเก่าๆ ทำอะไรที่เป็นพฤติกรรมไม่คุ้นชิน หรือเป็นตัวชี้วัดที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนว่าจะสำเร็จได้ ผู้สนับสนุนจึงกลัวที่จะสนับสนุนผู้นำใหม่หรือผู้บุกเบิกเหล่านี้ จึงทำให้หลายครั้งการบุกเบิกเริ่มต้นอะไรใหม่ๆไม่สามารถเกิดได้จากผู้สนับสนุน หรือหลายครั้งที่ผู้นำใหม่จำเป็นต้องปรับวิธีการของเขา เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ผู้สนับสนุนคุ้นชินหรือคิดว่ามันจะสำเร็จ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเป็นการทำลายผู้บุกเบิก เป็นการทำลายการสร้างระบบสังคมใหม่ไปโดยปริยาย
“ไม่มีพื้นที่ให้ล้มเหลว”
ด้วยระบบสังคมปัจจุบันไม่อนุญาตให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆแบบนั้น การบุกเบิกหรือเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ต้องการความสำเร็จเร็วที่สุด ต้องการทางเลือกที่ใช่เร็วที่สุด หากผิดพลาดไปแล้ว การจะลุกขึ้นมาบุกเบิกหรือเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ไม่ง่ายนัก พวกเราหลายคนก็ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนอะไรใหม่ๆหรอก หากเห็นแล้วมันล้มเหลวสักครั้งหนึ่ง เราคงไปมองหาอะไรที่ปลอดภัย แน่นอน และการันตีความสำเร็จได้มากกว่า มันจึงไม่มีพื้นที่ให้ล้มเหลวหรือเริ่มใหม่เรื่อยๆหรอก
“พวกเราเองก็ต้องการให้พวกเขาล้มเหลว”
นี่น่าจะเป็นความท้าทายที่หนักหนาที่สุดแล้ว เพราะส่วนใหญ่ของสังคมไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของผู้นำใหม่เหล่านั้นแปลว่าพวกเราทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เราต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัย ขนบธรรมเนียมเก่า ต่อให้มีหวังว่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าก็ตาม ตามธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปเราก็ไม่ได้อยากจะปรับเปลี่ยนใดๆอยู่แล้ว นี่จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปทั้งสังคม ต่อให้เราจะมีความหวังต่อสิ่งใหม่แค่ไหนก็ตาม
สนับสนุนและช่วยเหลือผู้นำใหม่
จากความท้าทายข้างต้น หน้าที่สำคัญของพวกเราทุกคนจึงเป็นการสนับสนุนผู้นำใหม่ หรือ ผู้บุกเบิกทุกคนที่กำลังต่อสู้ในพื้นที่ของเขา สนับสนุนให้พวกเขาจับมือกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้เกิดเป็นชุมชนของผู้ปฏิบัติ (Communities of Practice) เพื่อสร้างระบบสังคมใหม่ ขยายผลการเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาพใหญ่ เมื่อความร่วมมือกันของชุมชนผู้ปฏิบัติสัมฤทธิ์ผล วันนั้นคือจุดเริ่มต้นของ “ระบบสังคมใหม่” ที่เกิดจากการร่วมมือกันของทั้งสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการดูแลและสนับสนุนผู้นำเหล่านั้น
เมื่อ “ระบบสังคมใหม่” สร้างขึ้นโดยชุมชนผู้ปฏิบัติ วันนั้นก็จะสามารถนำพาคนใหม่ๆ เข้าสู่ระบบสังคมใหม่นี้ได้มากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาความล้มเหลว ด้วยวิธีคิดแบบใหม่ ที่ยั่งยืนเพราะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เกิดขึ้นชุมชนเล็กๆทั่วโลกนั่นเอง
ในวันนี้ท่ามกลางวิกฤติโควิดและความล้มเหลวของการบริหารจัดการของรัฐ ที่มิอาจแก้ไขปัญหาทั้งการจัดการการแพร่ระบาด การนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ การเยียวยาธุรกิจของคนตัวเล็ก การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพใหญ่ การบริหารจัดการที่ล้มเหลวทุกกระบวนท่า ทั้งหมดทั้งมวลคือระบบสังคมเก่าที่กำลังล่มสลาย ผมเห็นผู้นำใหม่มากมาย ที่ลุกขึ้นมาในระดับชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ลุกขึ้นมาพัฒนาบ้านของพวกเขา ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับโครงสร้าง
เราทำอะไรได้บ้าง?
คำถามที่ถามไว้ตั้งแต่ต้นบทความ ผมคิดว่าคำตอบอยู่ตรงนี้ มาช่วยกัน “สนับสนุน ผู้นำใหม่ ผู้บุกเบิกในชุมชน” ที่กำลังสร้าง “ระบบสังคมใหม่” อย่างท้าทาย อย่างกล้าหาญ ให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ให้เขามีกำลังใจ ให้เขามีพลังที่จะเดินสู้กับความท้าทายมากมายที่เผชิญอยู่และต้องเผชิญอีก ระบบสังคมใหม่ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่มีวันแก้ได้จากความคิดเก่า ๆจากรัฐบาลชุดนี้
เราจะหลุดออกจากวังวนนี้ และมีชีวิตที่ดีกว่านี้ไปด้วยกันครับ