เฝ้ามองการปลูกดอกไม้ผ่านจดหมายฉบับสุดท้าย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ฉันเลือกหนังสือเล่มนี้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะด้วยปกสีขาวนวล ไม่มีลวดลายอะไรมาก ทำให้รู้สึกถึงความสามัญธรรมดา และได้เปิดอ่านบ้างก่อนจะซื้อ ข้อความในหนังสือที่ อ็องเดร กอร์ซ เขียน ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความสามัญธรรมดามากขึ้นไปอีก

แปดสิบกว่าปีของการมีชีวิตอยู่
ห้าสิบแปดปี
ของการใช้ชีวิตคู่

อ็องเดร กอร์ซ นามแฝงของเฌราร์ด์ ออสต์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา มีผลงานตีพิมพ์ อาทิ ผู้ทรยศ 

เขาเขียนหนังสือเล่มสุดท้าย จดหมายถึง D. (Lettre à D.) ภรรยาของเขา “ดอรีน” และหลังจากนั้นในเดือนกันยายน ฤดูใบไม้ร่วงปี 2007 ทั้งคู่ในวัยแปดสิบกว่า กระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้ยา ในบ้านพักเมืองโวส์นง  

“คุณจะมีอายุครบแปดสิบสองปี ตัวเล็กลงหกเซนติเมตร น้ำหนักเพียงสี่สิบห้ากิโลกรัม และคุณยังคงสวยเหมือนเดิม” คือสองบรรทัดแรกของจดหมาย

ข้อความที่อ็องเดร กอร์ซ เขียน เป็นการเล่าความรู้สึกถึงหญิงอันเป็นที่รักของเขา ผ่านจดหมาย 1 ฉบับ
เล่าตั้งแต่แรกเริ่มที่พบเธอ-ระหว่างทางของทั้งคู่-วาระสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่

00 ฉันผู้เฝ้ามองการปลูกดอกไม้

เมื่อมองอีกมุม ภายใต้บทบาทของนักคิด เขาเป็นเพียงชายคนหนึ่ง ที่หลงรักภรรยาอย่างสุดหัวใจ และต้องการอิสระในการเลือกเส้นทางชีวิตก็เท่านั้น 


หลังจากอ่านไปสักพักฉันสัมผัสถึงความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อภรรยา เขาเขียนออกมาได้เหมือนเรื่องเพิ่งผ่านมาเมื่อวาน ทั้ง ๆ ที่หลายเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว 

“เราเกิดมาเพื่อต่างฝ่ายต่างปกป้องซึ่งกันและกัน”

เมื่ออ่านถึงประโยคนี้ ฟังแล้ว ฉันคิดว่าชีวิตคู่ของทั้งสองเปรียบเหมือน ‘นักปลูกดอกไม้’ พวกเขาตั้งใจรดน้ำความสัมพันธ์เพื่อให้ดอกไม้ต้นนี้เติบโตขึ้นด้วยกัน

การสร้างสัมพันธ์แบบคนรัก ก็เหมือนการปลูกดอกไม้สักต้น สำหรับฉันทั้งสองอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราจะต้องดูแล ใส่ใจ ให้เวลา หากเราหลงลืมหรือไม่ใส่ใจมันแล้ว ดอกไม้ก็จะแห้งเหี่ยวไปเสียก่อนจะได้ชื่นชมความงดงามของกลีบและเกสร

โดยฉันเปรียบเทียบช่วงเวลาความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็น 3 ช่วง คือเมื่อเริ่มปลูก-ยามเมื่อดอกไม้บาน-เมื่อถึงคราวโรยรา

01 เมื่อเริ่มปลูก

ก่อนหน้าที่เขาจะได้รู้จักเธอ เขาไม่เคยใช้เวลาเพื่อทำความรู้จักผู้หญิงคนไหนได้เกินสองชั่วโมง

ใช่ฉันหมายถึง เฌราร์ด์ กับ ดอรีน 

เหตุผลที่เขาสนใจในตัวเธอเป็นพิเศษคือ การที่ทั้งสองได้สร้างโลกที่มีเกราะกำบังจากค่านิยมทั้งหลายที่เคยครอบงำพวกเขาในวัยเยาว์ กล่าวคือ เขาเป็นชายชาวยิวออสเตรียธรรมดา หากแต่เธอเป็นหญิงชาวอังกฤษผู้ทรงศักดิ์ที่ได้รับเชิญให้เข้าสังคมผู้ดี ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่เขาทั้งสองมองข้ามความเป็นชนชั้น หรือแม้กระทั่งศาสนาและชาติพันธุ์

เรื่องของทั้งคู่ได้เริ่มต้นอย่างน่าอัศจรรย์ 

เมื่อเขาเจอเธออีกครั้งที่จตุรัส เขาคิดว่านี่คงเป็นรักแรกพบ จากนั้นเขาชวนเธอไปเต้นรำ ท่ามกลางผู้คนมากหน้าที่มาให้เธอเลือก เธอไม่ปฏิเสธ แต่ตอบไปว่า ค่ะ Why not ? 

หลังจากนั้นทั้งคู่ทะนุถนอม ตั้งใจหว่านเมล็ด รดน้ำ พรวนดิน เพื่อรอวันที่ดอกไม้บาน มิใช่ใครคนใดคนหนึ่งขยันรดน้ำฝ่ายเดียว แต่เป็นทั้งคู่ที่แบ่งหน้าที่กันดูแลเป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ

ระหว่างที่ดอกไม้จะบาน บางครั้งก็มีแมลงตัวดีมากัดแทะ หรือไม่ก็มีคนมาเด็ดมันไป หน้าที่ของการเป็นคนรักก็คือ ‘การปกป้อง’ กันและกัน โดยเฉพาะการปลอบโยนจิตใจ

เชื่อเถิดทุกครั้งเมื่อคุณลงมือปลูก คุณจะหวังให้มันเติบโตและบานสะพรั่งสักครั้งเหมือนกันกับเขา

02 ยามเมื่อดอกไม้บาน 

ช่วงเวลายากลำบากของพวกเขายุติลงในฤดูใบไม้ผลิ 1951 

เขาได้งานที่หนังสือพิมพ์ภาคค่ำ ปารีส-แพรส โดยดูแลบทวิจารณ์ข่าวของสื่อต่างประเทศ โดยมีเธอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกความสำเร็จ 

อย่างเอกสารที่กองพะเนินเทินทึกของเขา เธอเป็นผู้จัดเรียงหมวดหมู่ให้เข้าที่ ทำให้เขาสามารถใช้เอกสารพวกนี้เพื่อก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้

“คุณมีกลุ่มเพื่อนและใช้ชีวิตในแบบของคุณ พร้อมกับมีส่วนร่วมในชีวิตของผมอย่างเต็มที่” เขากล่าว

เธอเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดของเขา ที่ทนรับทุกความล้มเหลวที่เขาทุ่มเทให้กับงานเขียนใหม่ ๆ ได้ เธอไม่เคยแสดงความกังวลหรือรำคาญใจ ราวกับว่า เธออุทิศชีวิตเพื่อปลอบประโลมเขาในงานที่เขามุ่งมั่น 

หลังจากผ่านร้อยเรื่องราวหลากฤดูมาด้วยกัน จนมาถึงวันที่ดอกไม้บานสะพรั่ง เขามีงานที่ดี เป็นที่ยอมรับในสังคม และได้เขียนหนังสืออยู่เสมอ เธอโดดเด่นในเรื่องของการมีมิตรไมตรีที่ดีกับแขกของเฌราร์ด์
ไม่เพียงแค่เรื่องการงาน เขาและเธอ แต่การประคับประคองความสัมพันธ์  นั้นสำคัญยิ่งกว่า

สำหรับฉัน ช่วงเวลาที่ดอกไม้บานมักจะเป็นช่วงที่เรารอคอยมากที่สุด แต่มันก็ผ่านไปเร็วที่สุดเช่นเดียวกัน
สิ่งที่มีค่าในความสัมพันธ์ ไม่ใช่การที่เห็นว่าดอกไม้บาน แต่กลับเป็นการคิดถึงเรื่องราวระหว่างทาง ที่เราใช้เวลากับมัน ใส่ใจ เข้าใจความต้องการ และให้ความสนใจ 

03 เมื่อถึงคราวโรยรา

ดอกไม้ย่อมมีวันโรยรา ไม่ต่างอะไรกับชีวิตคน ดอรีนป่วยทรมานร่วมสิบปี และพบว่ามีอาการป่วยจากเนื้องอกที่เยื้อหุ้มสมองชั้นกลางอักเสบ ทั้งคู่ปฏิเสธการรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยนั้น และหันมาพึ่งการรักษาด้วยธรรมชาติบำบัด

ในวัยแปดสิบสองปี เป็นธรรมดาที่คนเราจะนึกถึงภาพสุดท้ายของชีวิต
คืนหนึ่งเขาฝันเห็นเงาตะคุ่มของชายคนหนึ่งเดินตามรถบรรทุกศพบนเส้นทางที่ไร้ผู้คน เขาคือชายคนนั้น หลังจากตื่น เขาปฏิเสธที่จะร่วมงานฌาปนกิจศพของภรรยา หากวันนั้นมาถึง -(จากหนังสือหน้า 111)

เขาตื่นจากฝัน 

สิ้นสุดเวลาของนักปลูกดอกไม้

“เราต่างปรารถนาไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อเมื่ออีกฝ่ายตายจากไป เราต่างบอกกันบ่อยครั้งว่า ถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้ หากมีชีวิตใหม่อีกครั้ง ก็ขอให้ได้ร่วมชีวิตกันอีก” เฌราร์ด์เขียนในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้

ปีถัดมา ทั้งคู่ในวัยแปดสิบกว่าตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้ยา 
ท้ายที่สุดแล้วการที่เขาทั้งคู่ได้เตรียมพร้อมก้าวเท้าเพื่อไปเผชิญกับโลกอีกใบ ที่ไม่สามารถกลับมาได้อีก ด้วยวิธี เวลา และสถานที่ที่พวกเขาสามารถเลือกเองได้

เราสามารถออกแบบการใช้ชีวิตได้ แต่เรามักจะออกแบบการตายโดยสมบูรณ์ไม่ได้

ทำให้ในปัจจุบันมีหลายประเทศมีการ “การุณยฆาต” อย่างถูกกฎหมายเกิดขึ้น เพื่อลด “อัตวินิบาตกรรม” พูดง่าย ๆ คือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เพราะเป็นบาปในทางศาสนา และเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เมื่อตัดสินใจทำลงไปแล้วจะสำเร็จหรือไม่ 

เมื่อเรารู้ว่าเรากำลังเจ็บป่วย หรือโรยรา เราน่าจะสามารถเลือกการจากไปในแบบที่เจ็บปวดน้อยที่สุดได้ 

ตอบจบของหนังสือ ลงวันที่ 21 มีนาคม – 6 มิถุนายน 2006 

ทั้งคู่จากโลกนี้ไปในเดือนกันยายน 2007  เป็นเวลา 1 ปีกว่า ที่ทั้งคู่เตรียมความพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพียงแค่กินยาและหลับไปพร้อมกัน แต่ระหว่างทาง หลังเขียนหนังสือจบ ไม่มีใครรู้เลยว่าชีวิตของทั้งคู่เป็นอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านทุกคนได้แต่จินตนาการเพียงเท่านั้น

หนังสือ: จดหมายถึง D.
ผู้เขียน: André Gorz
ผู้แปล: อุไรวรรณ กูร์โตด์
สำนักพิมพ์: 1001 Nights Editions

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี