กล้าบ้าบิ่นสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นไปกับสตาร์ทอัพ(อวกาศ)สัญชาติไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

Space For Thai

นิศาชล คำลือ

บนโลกที่บ่อยครั้งความฝันและปากท้องมักเป็นสองสิ่งที่สวนทางกัน ทำให้หลายคนต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความฝัน หรือปากท้อง ดูเหมือนว่าโลกใบนี้ไม่ใจดีกับมนุษย์อย่างเรา ๆ เอาเสียเลย คำถามคือเราจะยอมเลือกเส้นทางที่โลกสร้างมาให้อยู่แล้ว หรือเราจะสร้างเส้นทางของเราขึ้นมาเอง เส้นทางที่ความฝันและปากท้องสามารถเติบโตขนานกันไปได้ มันอาจฟังดูบ้า แต่ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เริ่มเข้ามาคลุกคลีกับวงการอวกาศ ผู้เขียนพบคนบ้าเป็นจำนวนมาก คนบ้าเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่พวกเขาเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดมาอย่างยาวนาน และในหลาย ๆ ครั้ง ความบ้าของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงโลกมานักต่อนักจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างบุคคลระดับประวัติศาสตร์ เช่น กาลิเลโอ กาลิเลอี ชายผู้อุทิศแทบทั้งชีวิตให้กับการเฝ้าสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า จนถูกคาดการณ์ว่าเพราะสาเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุให้เขาตาบอด

แต่ความบ้านี้ก็ได้ทำให้โลกได้รู้จักกับดวงจันทร์กาลิเลเลียน และองค์ความรู้อีกมากมายที่ชายผู้นี้ทิ้งไว้ คนบ้ารอบตัวของผู้เขียนมีทั้งคนบ้าที่เดินทางไกลหลายชั่วโมง อดนอนท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เพื่อถ่ายภาพทางช้างเผือกเรืองรองขณะที่ท้องฟ้ามืดมิดเพียงไม่กี่ภาพ คนบ้าที่ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนเพื่อสร้างการค้นพบใหม่ ๆ และคนบ้าที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ก็คือคนบ้าที่ทำสตาร์ทอัพอวกาศในประเทศไทย ใช่แล้ว คุณผู้อ่านอ่านไม่ผิด สตาร์ทอัพอวกาศในประเทศไทย! 

ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ หรือคุณเกีย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Space Zab Company ปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก หรือ Post-doc ที่ NUAA(Nanjing University of Aeronautics and Astronautics) ประเทศจีน และทำสตาร์ทอัพในประเทศไทยอยู่สองตัว หนึ่งในนั้นได้แก่ Space Zab Company ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพอวกาศที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ คุณเกียเรียกได้ว่าเป็นวิศวกรสาย Robotic และ AI ที่กำลังทำงานเกี่ยวกับท่าทางการเดินของหุ่นยนต์ และกำลังทำหุ่นยนต์ที่จะไปเดินในสภาพแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าบนโลก 

Space Zab Company ไม่ใช่ร้านอาหารแต่เสริฟอวกาศรสมือแม่

ทุกความสำเร็จไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เริ่มจากการเริ่มต้นเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่ ณ สถานที่แห่งนั้นมีการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่แห่งนั้นมักจะมีความกลัวปกคลุมไปทั่วเหมือนหมอกควันที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เคล็ดไม่ลับของความสำเร็จไม่ใช่การกำจัดความกลัว แต่คือการจัดการกับความกลัวเพื่อเดินก้าวแรก ย้อนกลับไปในอดีต สตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยยังไม่รู้จักมากนัก สิ่งที่ผู้เขียนเคารพในตัวผู้ก่อตั้ง Space Zab Company คือการเริ่มต้นลงมือทำบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสตาร์ทอัพ หรือการขับเคลื่อนวงการอวกาศไทย 

เดิมทีการทำสตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่ท้าทายมากอยู่แล้วสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากรูปแบบของสตาร์ทอัพคือบริษัทที่เริ่มจากคนเพียงไม่กี่คน โดยที่ไม่มีทุน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรมากนักในสังคมโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในหลาย ๆ ประเทศที่มีการส่งเสริมให้นักลงทุนลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่การทำสตาร์ทอัพอวกาศในไทยเป็นเรื่องที่ต่างออกไป เนื่องจากโดยปกติแล้วปัจจัยการลงทุนของนักลงทุนคือผลตอบแทน แต่มุมมองของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังมองว่าอวกาศเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ผลตอบแทนที่ว่าดูเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้เช่นกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องแก้ให้ได้ ว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนเห็นว่าผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับเมื่อตัดสินใจลงทุนเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ฉะนั้นการทำสตาร์ทอัพอวกาศในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่กล้าบ้าบิ่นเอามาก ๆ เหมือนเดินฝ่าดงจระเข้ 

ถึงจะชื่อว่า Space Zab Company แต่ก็ไม่ใช่ร้านอาหารแต่อย่างใด แต่เป็นสตาร์ทอัพที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

  • การศึกษา
  • การพัฒนาเทคโนโลยี
  • การทำให้เกิดอุตสาหกรรม

สตาร์ทอัพอวกาศที่เริ่มจากความหงุดหงิดและคำสบประมาท

แน่นอนว่าภาพวาดหนึ่งภาพต้องเริ่มต้นด้วยจุดหนึ่งจุด ส่วนจุดหนึ่งจุดของ Space Zab Company คือความหงุดหงิด ดร.โพธิวัฒน์ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า Space Zab Company นั้น เกิดจากการที่ตนและทีมได้เข้าร่วมงานประกวดงานประกวดหนึ่ง และต้องพบเจอกับคำดูถูกและคำสบประมาทถึงงานของตนและทีม แต่คำพูดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาท้อและล้มเลิกไอเดียไป มันกลับกลายเป็นชนวนที่ทำให้พวกเขาต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ความคิดของพวกเขานั้นถูกต้องและควรค่าแก่การรับฟัง

“ไม่มีความเป็นวิศวกรรมเลย”

“การท่องเที่ยวอวกาศไม่มีทางเกิดขึ้นหรอก ภายใน 5-10 ปี ข้างหน้านี้”

ประโยคข้างต้นเหล่านี้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการตั้งชื่อว่า Space Zab Company เพราะพวกเขาตั้งใจที่จะเสิร์ฟการท่องเที่ยวอวกาศให้ดูด้วยเรื่องอาหาร จึงตั้งชื่อว่า Space Zab แซ่บที่หมายถึงอร่อย 

บทสนทนาระหว่างผู้เขียนและ ดร. โพธิวัฒน์เริ่มเข้มข้นมากขึ้น เมื่อเขาเริ่มเล่าถึงประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพเมื่อ 7-8 ปี ที่แล้ว ในตอนนั้นผู้คนยังไม่รู้จักการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ในนามว่าสตาร์ทอัพด้วยซ้ำ แต่รู้จักกันในนามผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ Young entrepreneur ซึ่งในตอนนั้นสตาร์ทอัพตัวนั้นก็ต้องหยุดการดำเนินกิจการลง พอฟังมาถึงตรงนี้ในใจของผู้เขียนที่เป็นผู้ฟังก็เริ่มสงสัยถึงความกลัวในการเริ่มต้นใหม่ และความกลัวที่จะล้มเหลวอีกครั้งของดร. โพธิวัฒน์

“ตอนนั้นไม่กลัว แต่รู้สึกว่าอาจจะไม่ใช่ทางของเรา” 

ประสบการณ์ครั้งนั้นไม่ได้นำเขาไปเจอกับทางตัน แต่มันนำเขาไปเจอทางแยกระหว่างการเป็นนักธุรกิจหรือเป็นนักวิจัย หลังจากถามตัวเองในส่วนลึก เขายังต้องการเป็นนักวิจัย เขาสนุกกับมัน แต่ปัญหาคือการหาทุนวิจัยในประเทศไทยเป็นเรื่องยาก ต่างประเทศก็ติดปัญหาเรื่องทุน แต่ก็ยังดีกว่าประเทศไทย ฉะนั้นการทำสตาร์ทอัพเลยตอบโจทย์การทำวิจัยในระดับนึงแต่ไม่ใช่ทั้งหมดสำหรับเขา

มาเฟียอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่า

สู่จักรวาล New Era Space ประเทศไทย

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าการทำสตาร์ทอัพอวกาศในประเทศไทยในมุมมองของผู้เขียนนั้นเป็นเรื่องกล้าบ้าบิ่นเหมือนเดินฝ่าฝูงจระเข้ หลายท่านอาจกำลังตั้งคำถามว่าทำไมผู้เขียนถึงมองเช่นนั้น  ผู้เขียนจึงอยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านมามองย่อยอุตสาหกรรมอวกาศ และทำความรู้จักกับ Business Segmentation หรือการแบ่งส่วนธุรกิจอวกาศเสียก่อน

อุตสาหกรรมอวกาศจะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองแบบ คือ Traditional Space หรืออุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่า และ New Era Space หรืออุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่ และการแบ่งส่วนธุรกิจสามารถแบ่งได้ 6 ส่วน ได้แก่ 1. Satellite Data/Space Tech Application คือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากดาวเทียม 2. Satellite Infrastructure, Deployment and Operation คือการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงสร้างของดาวเทียมและการปรับใช้ 3. In-orbit Services คือบริการในวงโคจร 4. Launch Services คือบริการยิงจรวด 5. Space Tourism/Migration คือการท่องเที่ยวอวกาศและการย้ายถิ่นฐาน 6. Space Exploration/Space mining 

อุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่าครอบคลุมการแบ่งส่วนธุรกิจเพียงแค่ 4 ส่วน คือ 1. Satellite Data/Space Tech Application, 2. Satellite Infrastructure, Deployment and Operation 3. In-orbit Services 4. Launch Services ในขณะที่ New Era Space หรืออุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่ ครอบคลุมไปถึง 6 ส่วน

มันก็เหมือนกับการขยายห้องโถงสักห้องให้กว้างกว่าเดิม เราก็จะสามารถจุคนได้มากกว่าเดิม New Era Space เลยเหมือนห้องโถงฉบับใหม่ที่ได้รับการขยับขยาย พร้อมจะจุผู้คนให้มากกว่าเดิม หากดูจากระดับโลกแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศใหญ่ ๆ ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศมานานอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรือจีน ไปถึงยุคอุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่แล้ว และยังเป็นมาเฟียของอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่าอีกด้วย ในขณะที่ประเทศไทยการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่ายังไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ 

อุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่าจึงเป็นเหมือน Red Ocean ที่สภาพตลาดมีการแข่งขันสูง แต่อุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่ยังเป็น Blue Ocean ที่สภาพตลาดมีการแข่งขันต่ำ ในปัจจุบันทั่วโลกจึงกำลังค่อย ๆ พยายามลงทุนกับอุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่มากขึ้นในเรื่องการสำรวจอวกาศ หรือการทดลองบนสถานี ISS(International Space Station) พยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น มากกว่าที่แค่ส่งดาวเทียมออกไปแล้วเอาภาพถ่ายกลับมา

หากถามว่าประเทศไทยจะสู้ในตลาดโลกของอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่าได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ด้วยความที่การแข่งขันสูงมาก ๆ และต้องใช้องค์ความรู้ที่สูง ฉะนั้นมันเลยเป็นธุรกิจที่ถ้าจะสู้ได้ ต้องทุ่มเงิน ทุ่มจำนวนคนเข้าไปเยอะ ๆ เพื่อแข่งกับเวลาที่ประเทศอื่นทำไปเป็น 30-40 ปีมาแล้ว 

“Space Zab Company เอง เราพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศกลับมาใช้บนโลกได้ เราเอาความรู้ที่ใช้บนอวกาศมาใช้บนโลกได้ เช่น Clinostat(จำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง) ที่เราทำ เราไปทดลองได้ว่าต้นไม้ลดสารพิษได้ด้วยสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เราสามารถเอาต้นไม้นั้นมาทำเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องฟอกสารพิษได้ แบบนี้คือสิ่งที่เราขายบนโลก มันคือการพลิกภาพในเชิงธุรกิจ ธุรกิจมันอยู่ได้ด้วยการขายผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ให้สตาร์ทอัพมันมีเงินกลับเข้ามา ไม่ใช่วิจัยอย่างเดียว” 

ผลสะเทือนของ Space Education เดดไลน์ภายใน 5 ปี

“อย่างแรกที่เรามองเห็นเลยคือ สมมุติว่าถ้าอนาคตมันมี Business ที่เป็นธุรกิจอวกาศขึ้นมา เกิดมันโตแล้วคนไทยบ้าเห่อทำกันจริงกันจัง คำถามคือเรามีกำลังคนที่จะมาทำตรงนี้จริง ๆ เหรอ ถ้าเราไม่เตรียมตั้งแต่วันนี้ เพราะการศึกษาต้องใช้เวลา มันใช้เวลาเป็น 10 ปี คำถามคือเราจะเตรียมคนในเวลา 2-5 ปี ให้มันพอกับ Demand ที่มันจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อย่างไร”

ดร.โพธิวัฒน์ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้ผู้เขียนเห็น โดยพูดถึงอุตสาหกรรม Robotic ที่ในอดีตมีการพูดถึงกันว่าอุตสาหกรรม Robotic กำลังจะมา แต่ก็ไม่ได้มีการเตรียมคนอย่างจริง ๆ จัง ๆ มากพอ จนเมื่ออุตสาหกรรม Robotic มาจริง ๆ จึงนำไปสู่วิกฤตการณ์ขาดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถในด้าน Robotic ซึ่งอุตสาหกรรมอวกาศก็อาจเกิดวิกฤตเช่นนั้นได้ในอนาคตเช่นกัน หากประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมกำลังคนและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ มากพอ

พรมแดนของพื้นที่หวงห้าม อนาคตจะอยู่ตรงไหน

ในส่วนของการเติบโตและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศประเทศไทย ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้ รัฐบาลยังขาดความชัดเจนว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหนกันแน่ อุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่า หรืออุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่ เป็นเหตุผลให้เอกชนรายใหญ่ ๆ ยังไม่ค่อยกล้าเข้ามาเล่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงไม่เกิดขึ้น

“น่าต้องรอจับตาดูว่าสิ่งที่ออกมา จะออกมาเป็นรูปแบบไหน ถ้าออกมาเป็นรูปแบบที่ยังมองด้วยอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่าก็ยังไม่น่าเกิด แต่ถ้ามองด้วยอุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่อันนี้มีความเป็นไปได้ มันต้องใช้คนที่มีมุมมองต่ออนาคตที่ไกลในระดับนึง มีหัวธุรกิจระดับนึง ในการที่จะมาควบคุมทิศทางของธุรกิจอวกาศประเทศไทย ถ้าสมมุติเราเอาตรรกะแบบอุตสาหกรรมอวกาศแบบเก่า ดาวเทียมมันต้องเป็นความลับ หรือเป็นของทหาร หรือเทคโนโลยีอวกาศทุกอย่างเป็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ถ้าคิดแบบนั้น ไม่ให้เอกชนเข้ามาจับ หรือการที่เอกชนจะเข้ามาจับได้ต้องผ่านกำแพงอันสูงชันมากเกินไป อันนี้จะลำบาก แต่ไม่ได้บอกว่าห้ามไม่มีความลับนะ ถามว่าเราต้องเป็นห่วงไหมเทคโนโลยีอวกาศ ต้องเป็นห่วง แต่มันต้องแบ่งพื้นที่ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่หวงห้าม พื้นที่ไหนเอกชนเข้ามาได้ ฉะนั้นถึงบอกว่ามันต้องการคนที่มองอนาคตให้ออกว่า อนาคตของประเทศไทยจะอยู่ในจุดไหน เช่น รัฐบาลจะยึดถือเทคโนโลยีจรวดและดาวเทียมเอาไว้กับตัวเอง แต่ถ้าเทคโนโลยีอื่นก็ปล่อยให้เอกชนทำ อย่างที่อเมริกาทำ คือโยนเงินให้เอกชนเอาไปทำให้สำเร็จมาให้ได้ อย่างอีลอน มัสก์ ยังใช้เวลาตั้งหลายปี เป็นเรื่องที่ยังต้องดูและคิดกันยาว ๆ”

Inspired คนรุ่นใหม่หน่อย

“นึกไม่ออก” (หัวเราะ)

“อยากจะบอกว่าลองลงมือทำ และเรียนรู้กับมันเยอะ ๆ จริง ๆ ไม่ได้มองว่าแค่เรื่องของอวกาศหรอก สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าเราทำอะไรได้ เราทำอะไรไม่ได้ เราต้องรู้ให้เร็ว รู้ให้เยอะ รู้ให้กว้างว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ และเราเหมาะกับอะไร พอเรารู้พวกนี้แล้วเราก็จะเดินหน้ากับมันได้เต็มที่”

รอบตัวผู้เขียนในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่มักจะรายล้อมด้วยคนบ้า แต่คนบ้านี่แหละที่เป็นมิตรชั้นดี คนเหล่านี้มักจะเต็มไปด้วยความปราถนาและความหลงไหล สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนให้พวกเขาลงมือทำตามความฝัน เมื่อโลกไม่ได้สร้างเส้นทางที่ความฝันและปากท้องให้ไปในเส้นทางเดียวกัน แล้วคุณจะทำอย่างไร ท่ามกลางเสียงทักท้วงของคนส่วนมาก คนบ้าเหล่านี้มักเลือกที่จะสร้างเส้นทางของตนเองขึ้น

เมื่อเลือกที่จะสร้างความแตกต่าง พวกเราทุกคนล้วนเป็นคนบ้าด้วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งเราได้ความสำเร็จมาครอง โลกจะเลิกเรียกเราว่าคนบ้า แต่จะหันมาเรียกเราว่าอัจฉริยะ โลกต้องการคนบ้าที่ลงมือทำ

ประโยคข้างต้นของดร.โพธิวัฒน์ อาจเป็นการให้แรงบันดาลใจที่ไม่หวือหวาหรือสวยหรูเท่าไหร่นักในด้านภาษาศาสตร์ แต่ทั้งนี้ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องจริง การลงมือทำและเรียนรู้กับมันเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ๆ คือวิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้เราเดินหน้าต่อกับมันได้ ทางข้างหน้าอาจเป็นความล้มเหลว แต่ตราบใดที่คุณยังไม่หยุดพยายาม ใครจะรู้ว่าวันนึงความสำเร็จจะมาถึง ด้วยความที่มิตรสหายของผู้เขียนนั้นล้วนเป็นคนบ้า หลายครั้งที่ผู้เขียนมักจะถามว่าไม่กลัวหรือ คำตอบที่ได้มีทั้งกลัวและไม่กลัว แม้แต่คนบ้ายังกลัว ความกลัวเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนเป็นธรรมดา มันไม่มีวิธีกำจัดความกลัว มีเพียงวิธีจัดการความกลัวเท่านั้นที่จะช่วยให้คุณกล้าลงมือทำได้