“ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน” เผด็จการข้อมูลที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของรัฐสวัสดิการ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อเราพูดถึงชีวิตที่พึงปรารถนาพูดถึงสังคมที่ดีขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น หรือการพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” ระบบสังคมที่พูดถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ให้ความสำคัญต่อชีวิตประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน มักจะมีคำถามสำคัญว่า

“เรายังไม่พร้อม”
“เราไม่เหมือนเขา”
“เศรษฐกิจเราไม่ใหญ่พอ”
“เทคโนโลยีเราไม่ดีพอ”
“อุตสาหกรรมเราไม่กว้างขวางพอ” 
“คนประเทศเรายังมีการศึกษายังไม่พอ”

จึงไม่พร้อมกับการมีรัฐสวัสดิการ ไม่มีสถาบันทางการเมืองที่ดีพอ ไม่มีสถาบันทางเศรษฐกิจที่กำหนดกิจกรรมสวัสดิการที่เพียงพอ เราไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่มีงานวิจัยที่เพียงพอ กดเครื่องคิดเลขแล้วเป็นไปไม่ได้ต้องรอไปอีก 50 ปี ฯลฯ

คำอธิบายมากมายสารพัดที่จะสรุปว่า เราไม่พร้อมกับรัฐสวัสดิการ และคนไทยไม่สมควรที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น คำอธิบายทั้งหลายเหล่านี้ เต็มไปด้วยความปรารถนาดีแต่กลับทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการกลายเป็นเรื่องซับซ้อน ผูกขาดความหมาย และกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยการผูกติดความเป็นไปได้ทุกอย่างไว้กับตัวเลขในอดีต ความเป็นไปได้ของโลกเก่า และคิดเสมอว่า เราต้องหาโมเดลที่ใกล้เคียงเราเท่านั้นเพื่อนำมาปรับใช้และประยุกต์ การกล่าวเช่นนี้สะท้อนทัศนะอนุรักษนิยมที่พยายามยื้อเวลาของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะแท้จริงแล้วไม่มีประวัติศาสตร์ที่ไหนในโลกที่ซ้อนทับกันแบบสนิท ไม่มีที่ใดในโลกที่ระบบสวัสดิการเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด

หากสวีเดนใช้เวลาในการต่อสู้ 40 ปีเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เราจำเป็นต้องใช้เวลาแบบนั้นหรือไม่ หรือหลายประเทศเริ่มต้นการพัฒนาระบบสวัสดิการบางเรื่องที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่เราอยากได้ทุกอย่างพร้อมกัน ? เราสามารถเริ่มสร้างสังคมที่เท่าเทียมโดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่อื่นแต่ไม่ใช่ให้มันกลายเป็นกรอบกำหนดความเป็นไปได้ใหม่ ๆได้หรือไม่ ?

ในอดีตนั้นชัดเจนที่ว่าการกีดขวางความก้าวหน้าและสิทธิอันเท่าเทียมของผู้คนในพัฒนาการแต่ละขั้นของรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นผ่านอำนาจทางการเมือง เมื่อใดที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจมากก็มุ่งทำลายความก้าวหน้า พยายามใช้กลไกตลาดเข้ามาจัดสรรทุกอย่างโดยชอบธรรมและเหลื่อมล้ำ แต่ในปัจจุบัน แม้อำนาจเผด็จการทางการเมืองอาจไม่สามารถกระทำการกีดขวางได้อย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็ได้สถาปนาอำนาจเผด็จการชุดใหม่นั่นคือ “อำนาจเผด็จการของข้อมูล”

อำนาจเผด็จการของข้อมูลนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่ความไม่เสมอภาคของการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการพยายามทำประเด็นต่าง ๆ ให้ซับซ้อนด้วยข้อมูล ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้อำนาจการอธิบายของคนทั่วไปลดน้อยลง และถูกฝังกลบด้วยความเป็นไปไม่ได้ทุกอย่างเมื่อปราศจาก “ข้อมูล”

ผมลองยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสติดตามเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อนำเสนอประเด็นภาษีทรัพย์สินกลุ่มคนมั่งคั่ง แก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ง่วนอยู่กับการหารายละเอียดประกาศ คำสั่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำอธิบายราวกับว่าเป็นคำถามโลกแตกว่า ไม่สามารถจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ได้เพราะติดขัดอยู่กับข้อกฎหมายต่าง ๆ หรือก็วนไปอยู่ที่ว่าข้อมูลที่มีนั้นไม่เพียงพอต้องมีการสำมะโนใหม่ หรือกลัวในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเพียงแค่ 100 วันในการดำเนินนโยบายภาษีอัตราก้าวหน้าจากกำไรในตลาดหุ้นในอัตราที่สูงแบบไม่เคยมีมาก่อน แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อน แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ อุปสรรคมันไม่ได้อยู่ที่ข้อมูล แต่อยู่ที่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เราเชื่อต่างหาก

เมื่ออำนาจรัฐและทุนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมข้อมูลมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่ไม่มีความก้าวหน้าสามารถถูกสื่อสารได้อย่างดูมีความชอบธรรม เช่น การจัดสวัสดิการแบบควานหาคนจนด้วยเทคโนโลยีการจำแนกบุคคลจากพฤติกรรมต่าง ๆ พวกเขาอาจรู้สึกว่าเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพจากฐานข้อมูลที่ทันสมัย เป็นระบบ พวกเขาสามารถหาคนจนจริง ๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ความจน ไม่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังสามารถหาคนจนที่มีศักยภาพที่จะได้รับเงินแล้วเติบโตได้ดีด้วย ลักษณะเช่นนี้ทำให้นโยบายพิสูจน์ความจนและสังคมสงเคราะห์ทำงานได้ดีขึ้น แต่กลับเป็นเครื่องมือบั่นทอน สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในลักษณะที่สวัสดิการพึงเป็นสิทธิสำหรับทุกคน เมื่อเรายึดติดกับสถิติข้อมูลที่ถูกใช้โดยผู้มีอำนาจ ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ก็ไม่เกิดขึ้นโดยปริยาย

ในอดีตนั้นก็เคยมีสูตรสำเร็จอธิบายว่าการที่ประเทศจะสามารถจัดสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชนได้นั้นต้องมีเงิน ต้องมีชนชั้นกลางเสียภาษีจำนวนมาก และยิ่งพูดถึงการรักษาพยาบาล ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศยากจนจะสามารถจัดการรักษาพยาบาลให้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ปี 2544 ประเทศไทยก็เริ่มจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้า แม้ขณะนั้นจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศรายได้สูงเช่นกัน

หากย้อนไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่แต่ละประเทศหมกมุ่นกับการล่าอาณานิคมทำสงครามและตรึงกำลังตามภูมิรัฐศาสตร์ ก็มีความเข้าใจว่าความมั่งคั่งของคนในประเทศต้องเกิดได้จากการที่กองทัพสามารถไปปล้นชิงทรัพยากรจากที่อื่นมาให้ได้ ทรัพยากรจากหน่วยแรกจนถึงหน่วยสุดท้ายแทบถูกใช้ไปกับการทหาร และอุตสาหกรรมอาวุธ แน่นอนว่า ในช่วงนั้นก็ไม่มีใครคิดว่า ความมั่นคงที่แท้จริงเกิดขึ้นจาก การดูแลเด็ก คนแก่ นักศึกษา คนว่างงาน คนป่วย ก่อนที่ “รัฐสวัสดิการ” จะกลายเป็นกระแสหลักของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การพูดถึงการนำทรัพยากรจากชนชั้นปรสิตมาเกลี่ยใหม่ เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก็นับเป็นสิ่งที่ “ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน”         

ก่อนหน้านี้ เมื่อราวร้อยกว่าปี การศึกษาไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพหรือศิลปศาสตร์ทั่วทั้งโลกไม่เคยเป็นเรื่องสำหรับคนทั่วไป เป็นเรื่องของคนที่ว่างและมีเงินเท่านั้น โลกมนุษย์เพิ่งรู้จักกับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเมื่อราววร้อยกว่าปีนี่เอง และปัจจุบันการศึกษาในหลายประเทศ ก็เป็นการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและมีเงินเดือนให้กับทุกคน ที่เข้าเรียนได้ สิ่งเหล่านี้เมื่อสองร้อยปีก่อนก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเขาทำกัน แต่ทุกวันนี้มันก็เติบโตจนกลายเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้คนร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องมัน

เราอาจคิดว่าหลายอย่างไม่มีใครเขาทำกัน แต่ที่เดนมาร์ก สวีเดน ประชาชนสามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงก็ตาม                 

การกล่าวว่า “สังคมที่ดีกว่าเป็นไปไม่ได้” เพราะยังไม่ได้ศึกษาวิจัย เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะยังไม่เข้าใจสังคมที่ถ่องแท้ หรือ เพราะ “ยังไม่มีที่ไหนเขาทำกัน” จึงเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ถูกต้องที่ว่า มันไม่มีสถานการณ์ใดที่สุกงอม พร้อมพรั่งด้วยเงื่อนไขที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ถ้ามนุษย์ทำตามสถิติและความเป็นไปเชิงตัวเลข ผู้หญิงก็ไม่มีวันได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้คนก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างเท่าเทียมกัน คนรายได้น้อยก็คงไม่มีโอกาสคิดฝันถึงการผ่าตัดหัวใจที่ราคาแพง เพราะเพียงแค่สถิติบอกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนผิดที่สำคัญคือมันจำกัดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพราะวันพรุ่งนี้มันก็คือเงื่อนไขใหม่ ความเป็นไปได้ในอดีตไม่สัมพันธ์กับการที่เราต้องยอมจำนนเป็นร้อยเป็นพันปีต่อจากนี้

เรื่องของข้อมูล ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเชื่อว่าคนเท่ากันหรือไม่
และโลกแบบไหนที่เราปรารถนาอยากให้มันเป็น