คุยหลังไมค์กับ #สายเด็ก ‘ผิดไหมถ้าหนูออกจากบ้าน’ โควิดกับเด็กไทยที่กลับไปก็ไม่เหมือนเดิม - Decode
Reading Time: 3 minutes

นาฬิกาบอกเวลาให้ตื่นตัว เตรียมอุดอู้ในห้องนอนแทนห้องเรียน
ระยะห่างผกผันกับปฏิสัมพันธ์ สะท้อนความคิดคนได้ดังกว่าเดิม

ในวันที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ความเครียด ความอึดอัด ความไม่สบายใจจากสถานการณ์ไม่ปรกติครั้งนี้ จึงส่งผลกับเด็กและเยาวชนไม่แพ้ใคร เมื่อระยะห่างทางสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่ระยะห่างภายในบ้านกลับลดลง ปัญหาสั่งสมไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว เพื่อน และเรื่องอื่น ๆ ต่างถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดพัก หากเราสามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อรักษาสุขภาพกาย แล้วสุขภาพใจต้องสวมใส่สิ่งใดหากต้องการการดูแล

De/code ได้ร่วมพูดคุยกับ มูลนิธิสายเด็ก 1387 องค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อเด็กและเยาวชนที่ดำเนินงานบริการด้านคำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับปัญหาของเด็กทุกคนในประเทศไทย 24 ชั่วโมง เพื่อถอดรหัสเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ในช่วงเวลาที่ความใกล้ตัวอาจไม่ใกล้ใจ พร้อมสร้างพื้นที่แห่งการตระหนักและทำความเข้าใจระหว่างวัยไปด้วยกัน

จากเพื่อนแก้วสู่สายเด็ก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนอันเป็นยุครุ่งเรืองของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก หลายคนคงรู้จักกับ รายการเพื่อนแก้ว ที่ออกอากาศทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ทุกวันจันทร์เวลา 16.00 – 16.30 น. โดยมีช่วงหนึ่งของรายการเป็นช่วงของการเปิดจดหมายจากเด็ก ๆ ทางบ้าน จดหมายเหล่านั้นมีปริมาณล้นหลาม จนไม่สามารถยกขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาออนแอร์ได้ครบ ไม่ครอบคลุมสารที่เด็กทุกคนต้องการสื่อ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเป็นไอเดียสายด่วนเพื่อรองรับความต้องการของเด็ก ๆ ที่ต้องการพูดคุยหรือระบายปัญหาคาใจ ทำให้รายการเพื่อนแก้วได้พัฒนามาเป็นโครงการสายเด็กในเวลาต่อมา และได้กลายเป็นมูลนิธิสายเด็ก 1387 ในที่สุด

ว่าด้วยเรื่องของจุดหมายปลายทาง

“เราต้องการให้เด็กที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน” เจม-หฤษฎ์ เจริญสุข ฝ่ายสื่อสารและระดมทุนมูลนิธิสายเด็กกล่าว

โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามที่ประเทศไทยได้ลงนามภาคยานุวัติรับรอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 มีสาระสำคัญเรื่องสิทธิของเด็กประกอบไปด้วย 4 ด้านคือ 1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง 3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ 4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม

นอกจากสายด่วน 1387 แล้วยังมีอีกหน่วยหนึ่งที่ทำงานร่วมกันภายใต้ชื่อมูลนิธิสายเด็กนั่นคือ ศูนย์เดอะฮับสายเด็ก ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน

“เด็กหลายคนไม่มีเงินติดตัวเลยต้องเดินทางฟรีผ่านรถไฟ และปลายทางของรถไฟเหล่านั้นที่เด็ก ๆ เดินทางมาคือหัวลำโพง นี่คือเหตุผลที่เราตั้งศูนย์บริการไว้ที่นั่นครับ”

ยิ่งไปกว่านั้นมูลนิธิสายเด็กยังมีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ไปพร้อมกันเช่น นโยบายประเทศนี้ไม่ตีเด็ก โดยการเสนอและผลักดันให้รัฐทำการปรับร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567 วงเล็บ 2 ซึ่งระบุให้ผู้ปกครองสามารถทำโทษบุตรได้ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้กลายเป็นการไม่ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจในทุกกรณี

โควิดวันนี้กับเรื่องวันก่อน

“ถามว่าแตกต่างไหม มันก็แตกต่างครับ แต่จะมีจุดที่เหมือนกันคือปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเพื่อนหรือครอบครัว และปัญหาทางด้านจิตใจเป็น top 3 ที่น้อง ๆ ทักมาปรึกษาบ่อยมาก แต่พอมีโควิดมันกลับมีความเข้มข้นของการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“จากสถานการณ์โควิดทำให้ต้องกักตัวอยู่บ้าน เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน หลายคนต้องอยู่กับครอบครัว และถ้าครอบครัวเขาใช้ช่องทางนี้เพื่อทำสิ่งเหล่านั้นกับเด็กได้มากกว่าเดิมมันเลยเป็นปัญหา เราเลยพยายามทำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้เด็ก encourage ตัวเองและมีความกล้าที่จะออกมาพูดกับเรา”

(1)-(2) สุขภาพจิต ครอบครัว คนละเรื่องเดียวกัน

สุขภาพจิต 6,792 เคส ครอบครัว 6,143 เคส

“เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาไม่ได้ต้องการที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพจิต แต่ต้องการคนที่สามารถคุยด้วยได้เท่านั้นเอง” แจน จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิ 1387 อธิบาย

ความรู้สึกไม่สบายใจ หนักใจ เครียด วิตกกังวล สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ปัญหาที่มักพ่วงมากับปัญหาสุขภาพใจอยู่เสมอคือ ปัญหาครอบครัว 

De/code: ประเด็นหลักของปัญหาเหล่านั้นคืออะไร

พี่แจน: “พี่ว่ามันเป็นเรื่องของช่วงวัยที่ห่างกันเยอะ เด็กก็ไม่ยอมที่จะปรับมาตรงกลาง และพ่อแม่เองก็ไม่ยอมที่ทำความเข้าใจว่า เฮ้ย ยุคนี้แล้ว หลาย ๆ อย่างที่เด็กไม่มีความเชื่อ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องศาสนา เรื่องนรก พ่อแม่พูดแต่ว่าทำแบบนี้บาปนะ ตกนรกนะ เด็กไม่เข้าใจแล้ว

“ส่วนความไม่ลงรอยกันของเด็กและพ่อแม่ที่เจอบ่อยในช่วงหลัง ๆ ไม่ว่าเด็กจะออกมาชุมนุมหรือเรื่องอะไรก็ตาม เด็กบอกว่าระบอบที่เรามีอยู่น่ะมันไม่ฟิตกับปัจจุบันแล้ว มันกลายเป็น conflict ที่ใหญ่มากในครอบครัว เพราะครอบครัวก็ไม่ยอมที่จะมีลูกทรพี ลูกที่คิดอะไรขนาดนี้”

ครอบครัวโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือครอบครัวเดี่ยว (พ่อ แม่ ลูก) และครอบครัวขยาย (พ่อ แม่ ลูก และเครือญาติ) ซึ่งเมื่อเทียบกับบริบทของสังคมไทย ความแน่นแฟ้นภายในบ้านถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เขาว่ากันว่าตัดไม่ขาด ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะมีจำนวนคนมากน้อยเพียงใด ด้วยคำพร่ำสอนให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ และนอบน้อมในทุกการกระทำ ซึ่งหลังจากที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายครอบครัวต้องกักตัว ลูกหลานไม่ต้องไปโรงเรียน ผู้ปกครองขาดรายได้ บรรยากาศตึงเครียดเหล่านั้นนอกจากจะส่งผลลบในความสัมพันธ์แล้วยังทำให้เด็กเครียด โทษตัวเอง และมีภาวะคล้ายซึมเศร้าอีกด้วย

De/code: อะไรคือจุดเปลี่ยนในยุคโควิด

พี่แจน: “พี่เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ ตอนที่ไม่ได้เกิดโควิดพ่อแม่แทบไม่ได้อยู่กับลูก เช้าไปส่งลูกเรียน เย็นเด็กไปเรียนพิเศษต่อ กินข้าวเย็นพอกินเสร็จเด็กขึ้นห้องเลย แต่ทุกวันนี้อยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลา พ่อแม่อาจจะ work from home เด็กก็เรียนออนไลน์ มันเจอกันบ่อยมันปะทะกันบ่อย ซึ่งมันน่าจะเป็นโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกว่าเดิมแต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ มันกลายเป็นความรู้สึกเบื่อกันแทน มีเด็กโทรมาที่สายเด็กแทบทุกวันเพื่อบอกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว หนูไม่ไหวแล้ว’ แต่ก็ทนอยู่ต่อ

(3) เธอเปลี่ยนไปหรืออะไรเปลี่ยนเธอ

ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน 4,612 เคส

ในปี 2020 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่ง ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษอยู่หลายช่วงเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หากแต่โรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานที่แห่งการเรียนรู้เท่านั้น แต่เป็นสังคมขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ และความสัมพันธ์ต่าง ๆ อีกด้วย ระยะห่างที่นานกว่าที่เคยเป็น อะไรที่เคยคิดว่าปรกติดีตอนนี้กลับไม่ และกลายเป็นความไม่สบายใจในที่สุด

“ปัญหาเรื่องเพื่อนเป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับเขา เชื่อไหมว่าวันหนึ่งเด็กติดต่อเข้ามาเยอะมาก ๆ ว่าพอกลับไปเรียนเขากลับไปคอนเนคกับเพื่อนไม่ได้ เด็กรู้สึกว่ากลับไปแล้วเพื่อนไม่เหมือนเดิม เขาเลยรู้สึกว่ามันเป็นเพราะโควิด มันเป็นเพราะว่าหนูอยู่ที่บ้าน หนูไม่ได้เจอเพื่อน กลับมาครั้งนี้เพื่อนก็ไม่เหมือนเดิม” พี่แจนกล่าว

การกักตัวในช่วงเวลาวิกฤตทำให้อิสระในการใช้ชีวิตหดหายไป หลายคนถึงกับกล่าวว่าโรคระบาดครั้งนี้ได้ฉกฉวยช่วงเวลาที่สดใสในวัยแห่งการเติบโต แม้ทุกคนจะรู้อยู่เต็มอกว่าคลื่นของความหนักใจไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน เพราะเราต่างอยู่ในช่วงเวลาคับขัน แต่เด็กและเยาวชนยังคงคาดหวังให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

(4) โรงเรียนของเราน่าอยู่

ปัญหาในโรงเรียน 1,103 เคส

“ปีที่แล้วมีเรื่องเปลี่ยนทรงผมเลยทำให้มีสายเข้ามาเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะโทรมาบอกว่า ‘พี่ โรงเรียนไม่ให้ไว้ผมยาวนะ ต่อให้มันเปลี่ยนระเบียบมาก็เถอะ’ ‘พี่ติดต่อให้หน่อยสิ เช็คให้หน่อยสิว่าทำไม’ มันก็เลยทำให้ตัวเลขส่วนนี้สูง อีกอย่างหนึ่งคือเรารณรงค์เรื่องประเทศนี้ไม่ตีเด็ก ฉะนั้นในเมื่อประเทศนี้ไม่ตีเด็ก ในโรงเรียนก็ตีไม่ได้”

ปัญหาโรงเรียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวง ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่เด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะโรงเรียนคือสถานที่ที่บอกให้เขาทำตามกฎระเบียบแต่กลับเป็นตัวโรงเรียนเองที่ไม่เคารพสิ่งเหล่านั้น ในยุคที่การตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งต้องห้ามอีกต่อไป คงถึงเวลาแล้วที่สถาบันการศึกษาจะหาคำตอบที่เหมาะสม ก่อนจะทำผิดกับสิ่งที่ตนพร่ำสอนเสียเอง

(5) ไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมอัตราส่วนมันน้อยกว่าเรื่องอื่นทั้ง ๆ ที่เราเห็นข่าวเด็กถูกทำร้ายทุกวัน แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าพอเป็นเรื่องนี้ เด็กไม่แจ้งเพราะเด็กไม่กล้า”

พี่แจนเล่าให้เราฟังอีกว่าสายเด็กเปิดเคสจากข่าวอยู่บ่อย ๆ โดยจะมีทีมงานคอยนั่งหาข่าวของเด็กในแต่ละวัน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางดำเนินการติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป 

“หลายครั้งมันเป็นข่าวดังแต่มันดังอยู่แค่ในทีวี เด็กไม่ได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ หรือเป็นการได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียวจบ มันไม่ใช่ทางออกที่สามารถทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตต่อหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ถามว่าแจ้งแล้วเราทำสำเร็จได้เยอะไหม สามารถพาเขาออกจากปัญหาเหล่านั้นได้จริงหรือเปล่าก็ยังน้อย เพราะระบบการทำงานของไทยยังแย่ กว่าจะ convince เด็กคนหนึ่งให้ไปแจ้งความว่าโดนข่มขืนมันไม่ง่าย แต่พอเด็กได้บอกครอบครัวแล้ว แจ้งตำรวจแล้ว ตำรวจไม่รับแจ้งก็เยอะ”

ผ่านมาแล้วเกือบครึ่งปี กับโควิดที่ไม่เคยหายไป

พี่แจนเล่าให้เราฟังว่าแม้ปี 2021 จะผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน แต่ความรุนแรงของเคสต่างกับปี 2020 มากจนน่ากังวล โดยปรกติสายเด็กมักทำงานในด้าน counselling ที่เน้นการพูดคุยและปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ ณ ปัจจุบันกลับมีคดีความเข้ามาเอี่ยวด้วย ทำให้แต่ละเคสใช้เวลาในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

“เอาตามตรงนะพี่ว่ามันแย่ลง โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพ่อกับแม่ แต่เด็กที่อยู่ตรงนั้นเขาเกิดความเครียดตามสภาพแวดล้อมรอบตัว เด็กมีความรู้สึกไม่ได้อยากอยู่กับครอบครัวนี้ เด็กหลายคนโทษตัวเอง และมันมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

พี่แจนยังเล่าให้เราฟังอีกว่า เมื่อก่อนยังไม่ได้รับสายคอลหรือแชตที่บอกว่า ‘หนูไม่ได้อยากอยู่บ้านนี้แล้ว’ ‘พี่ ถ้าหนูออกจากบ้านนี้ไปเลยผิดไหม’ เยอะขนาดนี้ และหากถามว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร กลับกลายเป็นว่า ณ ปัจจุบันเด็กรับพ่อแม่ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งฟังดูแล้วราวกับเป็นทางตัน ที่ไม่ว่าจะทางเลือกใดก็เป็นทางออกที่ยากไปเสียหมด

“ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตและครอบครัวมันมีความเหลื่อมกันอยู่มาก และมีแต่แนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น”

สวมกอดความเข้าใจในวันที่ใกล้กว่าเดิม

“เราคงต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน ทุกวันนี้เด็กอยู่เพื่อรอให้มันหมดโควิดเพื่อจะได้ออกไปสักที เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่คำตอบแล้วนะ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ครอบครัวควรที่จะหันมาปรับเพื่อที่จะอยู่ ก่อนหน้านี้คุณอยู่กันได้ แล้วเด็กก็รู้สึกว่ามีความสุข แต่พอโควิดเข้ามากลายเป็นตัวที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าจะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนานหรือตลอดชีวิต มันจะไม่เหลือคำว่าครอบครัวไปแล้วเหรอ” พี่แจนตั้งคำถามทิ้งท้าย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ใหญ่ ครอบครัว หรือผู้มีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กและเยาวชน จะวางสิ่งที่อยู่ในใจ ความโตกว่าที่ถือไว้ และเริ่มต้นการฟังด้วยหัวใจ เพราะการใช้ชีวิตในช่วงเวลายากลำบาก ไม่ได้เบาสำหรับเขาน้อยไปกว่าใครที่ไหน อย่างไรก็ตามหากการอยู่ร่วมกันคือการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย คำตอบที่ได้จึงต้องเกิดจากการหาทางออกร่วมกันระหว่างคนทุกช่วงวัย เป็นการสวมกอดความเข้าใจเพื่อการอยู่ร่วมกัน ในวันที่ต้องใกล้มากกว่าเดิม

หากระยะห่างทางกายลดน้อยลง แต่ระยะห่างทางใจเพิ่มมากขึ้นล้วนไม่เกิดผลดีต่อใคร พี่แจนย้ำกับเราอีกครั้งก่อนจะจากกันไปว่าการตระหนักและเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร คือจุดเริ่มต้นที่ดี