เราเสียเวลากับการศึกษา(มาก)แค่ไหน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชีวิตคนเราก็เหมือนรถไฟที่มีจุดหมายเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง

แต่ระหว่างทางนั้นก็ต้องมีอยู่แล้ว แต่ทำไมในระหว่างทางที่บางคนคิดว่ามันโรยไปดูกลีบกุหลาบแต่แท้จริงแล้วมันกลับเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย จนทำให้บางทีเราอาจต้องยอมเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางและอุปสรรค ถึงแม้มันจะเป็นเส้นทางที่ฝันไว้ว่าสักครั้งจะได้ไป แต่ยังไงก็ต้องเอาเส้นทางที่ปลอดภัยไว้ก่อน

แต่คำว่า “พื้นที่ปลอดภัย”ได้ทำลายเส้นทางฝันของหลายคนแต่เมื่อบางคนได้เดินทางไปกลับค้นพบว่ามันเสียเวลาเกินว่าที่จะเสียไป เลยมีตัวเลือกที่ชื่อว่า การสอบเทียบ

การสอบเทียบหลายคนคงอาจได้ยินมา แต่ก็อาจมีหลายคนที่ยังไม่เคยได้ยิน งั้นมารู้จักกันเลย การสอบเทียบ คือ การสอบในหลักสูตรการเรียนอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับระบบการศึกษาหลัก เช่น สอบเทียบ ม.6 ด้วยหลักสูตรอื่น ๆ แล้วได้เทียบวุฒิเท่า ม.6 ในไทยสามารถเลือกได้ทั้งคณะในภาคไทยและอินเตอร์ (แต่มันเป็นเพียงอดีตไปแล้ว) เพราะในปัจจุบันนั้น มหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครในไทยภาคไทยก็เหลือเพียงน้อยนิด ในตอนนี้คณะที่เปิดรับเข้าส่วนมากก็มักเป็นภาคอินเตอร์ หรือไม่ก็ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นเอกชน ซึ่งค่าเทอมนั้นก็สูงเช่นกัน ไหนจะค่าสอบอีก ทำให้เด็กหลายคนต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการสอบ และค่าเทอม

แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เด็กอายุ 16-17 หาเงินขนาดนั้นได้ยังไง แต่เด็กบางคนก็อาจจะเก็บได้ แต่ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด สุดท้ายภาระก็ตกไปที่ผู้ปกครองที่ต้องเสียเงินให้ลูกได้ทำสิ่งที่ฝัน แต่ก็ใช่ว่าผู้ปกครองทุกคนจะมีเงินขนาดนั้น เด็กบางคนก็เลยต้องยอมทน ยอมเสียเวลาให้กับการศึกษาไทย หรือแม้กระทั่งต้องยอมเสียความฝันไปก็ตาม

De/code ได้พูดคุยกับทั้ง 2 ท่านที่ออกมาจากเส้นทางการศึกษาแบบปกติ และมุ่งหน้าสู่เส้นทางฝันที่เคยฝันไว้ ได้แก่ แต๊งส์ ผู้ที่ลาออกมาจากโรงเรียนเพื่อสอบเทียบตอนอายุ 16 แล้วออกเดินทางตามเส้นทางที่เขาฝันไว้ และ แป้ง ผู้ที่มีความคิดที่ต้องการจะสอบเทียบ ผู้ปกครองเธอสนับสนุนแต่มันก็มาพร้อมกับความกดดันเหมือนกัน มันเลยทำให้เธอสับสนในเส้นทาง จนบางทีเธอก็ไม่รู้เลยว่าเธอจะต้องพบกับอะไรในเส้นทางไหนบ้าง

บุคลากรเป็นคนขับเคลื่อนล้อรถไฟ

รถไฟก็ต้องมีผู้ที่คอยขับเคลื่อนอยู่แล้ว ในเส้นทางฝันของเรา เราก็ต้องคอยคุมด้วยตนเองและคอยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ แต่ในทางกลับกันอาจารย์ที่ควรจะให้คำแนะนำในทางที่ฝันกลับมาพังทลายเส้นทางฝัน และกำหนดเส้นทางที่เราไม่อยากเดินเท่าไหร่

แต๊งส์ใช้เวลาครุ่นคิดสักพักหนึ่ง แล้วพูดกับเราด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่า เราว่า บุคลากรเป็นตัวขับเคลื่อนการศึกษา คือถึงหลักสูตรมันจะดีแค่ไหน แต่ถ้าบุคลากรไม่ดี มันก็ไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่ อย่างตอนเราอยู่มัธยมต้น เราได้เรียนในหลักสูตร IP เราคิดว่าหลักสูตร IP มันปกป้องเราจากการศึกษาไทยที่มันแย่มาก ๆ แล้วพอตอนมัธยมปลายเราได้ตัดสินใจมาเรียนสายศิลป์ญี่ปุ่น เราเลยพบว่าแบบตอนที่เราเรียนหลักสูตร IP คือมันต่างจากที่เรียนตอนนี้มาก คือ ตอนเราเรียนอยู่หลักสูตร IP ครูคือต่างจากหลักสูตรปกติมาก ด้วยความหลักสูตร IP ส่วนใหญ่จะเรียนกับครูที่เป็นต่างชาติ แต่ตอนเรียนศิลป์ญี่ปุ่น ครูโดยส่วนมากก็จะเป็นคนไทย เลยทำให้บางทีสภาพแวดล้อมในการเรียนมันเลยต่างกัน แล้วด้วยความที่เราเรียนโรงเรียนที่ผู้หญิงเยอะกว่า

พวกคุณครูก็เลยค่อนข้างที่จะกดผู้ชาย

ใส่เชื้อเพลิงมากไปไม่ได้ทำให้วิ่งเร็วขึ้น

รถไฟเกือบทุกแบบไม่ว่าจะสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ต้องพึ่งพาอยู่แล้ว

แต่เชื้อเพลิงของรถไฟในแต่ล่ะแบบก็ต้องใช้เชื้อเพลิงที่ต่างไป และปริมาณที่ไม่เท่ากัน หากใส่น้อยเกินไปรถไฟก็จะวิ่งช้าลง หรือถ้าใส่มากไปรถไฟอาจรับเชื้อเพลิงไม่ไหวและอาจไม่วิ่งเลยเช่นกัน มันก็เปรียบเหมือนกับถ้าเราเรียนมากไปก็ไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้น การที่รูปแบบการเรียนมันเยอะมากไปก็อาจทำให้นักเรียนไม่เก่งในเส้นทางฝันของตัวเอง จนต้องเดินตามเส้นทางที่ตนไม่ชอบ

แป้งได้พูดด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด แล้วพูดกับเราว่า ทำไมเราต้องเรียนเยอะถึงขนาดนั้น เวลา 8 ชั่วโมงกับการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งมันเป็นชั่วโมงเรียนที่เยอะมากๆ แล้วเรายังมีการบ้านที่ยังต้องเอากลับไปทำที่บ้านอีก แต่สุดท้ายมันก็เอากลับไปทำอะไรไม่ได้เลย แล้วนักเรียนก็ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองอีก สอบเทียบเลยน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากการศึกษาที่มันล้าหลัง แต่ก็ต้องควบคู่มากับความพยายาม และเงินจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียไป

แป้งพูดจบด้วยสีหน้าที่ยังคงความเคร่งเครียดอยู่ แต่เสียงของแต๊งส์ที่ดังขึ้นมาแทน แล้วเขาก็พูดว่า เราว่าวิชาที่มันไร้สาระมันเยอะมาก ถึงจะมีวิชาที่ไม่ไร้สาระก็ตาม แต่ระบบการศึกษาของไทยมันไม่เอื้อที่จะทำให้เราฝันมากขนาดนั้น ที่เราเคยเจอคือ ตอนเราไป Open House กับเพื่อนอีก 3 คน แล้วทุกคนก็ตัดสินใจที่จะเรียนฟิล์มเหมือนกับเรา แต่สุดท้ายก็มีเราคนเดียวที่เรียนฟิล์ม เนื่องด้วยเขาโดนกีดกันจากสิ่งรอบข้าง สุดท้ายแล้วเขายอมทิ้งฝัน แล้วไปเรียนอะไรที่เขาอาจไม่ได้แฮปปี้ขนาดนั้น แต่จังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อมันถูกกดดันเยอะมาก ๆ จนเขาต้องตัดสินใจอย่างนั้นไป

อุปสรรคที่เราต้องผ่านไปให้ได้

ทุกการเดินทางก็ต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว เหมือนกันการที่เราฝันอะไรไว้แต่ก็มีคนมันทำให้เราไม่มั่นใจในความฝันของตัวเอง แต่สุดท้ายเราก็ต้องเชื่อว่า…เราทำได้

“มีอุปสรรคเยอะมาก นอกจากครอบครัวที่ไม่เห็นด้วย เพื่อนเราก็ด้วย ครอบครัวเราเขาก็กังวลตามแบบที่เขาเคยเจอมาแหละ ส่วนเพื่อนเราก็เป็นห่วงแหละ ว่ากลัวเราจะทำไม่ได้ แต่ตอนนั้นเรามั่นใจมากว่าเราทำได้”

แต๊งส์พูดด้วยน้ำเสียงที่เรียบง่าย แต่ปนด้วยความเศร้าเล็กน้อยในเรื่องราวอดีตของเขา ไม่นานเขาได้พูดเพิ่มว่า ครอบครัวเราก็เป็นห่วงตามที่มุมมองที่เขาคิด แล้วยิ่งยายเรายิ่งไม่โอเคเลย แต่เราก็ใช้เวลาในการค่อย ๆ พูดกับเขา ถึงมันจะใช้เวลานานก็เถอะ  ส่วนเพื่อนเราก็เป็นห่วงแหละ เพราะตอนนั้นเกรดเราไม่ค่อยดีด้วย เพื่อนก็บอกว่าถ้าเราออกไปแล้วทำไม่ได้ แต่ตอนนั้นเราก็มั่นใจว่าเราทำได้ อย่างเพื่อนเราก็รู้อยู่แล้วว่าเราชอบดูหนัง แต่เราก็บอกกับเพื่อนแล้วว่าสุดท้ายเราต้องทำให้ได้ ไม่งั้นเราจะไม่ได้ไปในเส้นทางที่เราอยากไป แต่เพื่อนเราไม่ได้ซีเรียสเท่ากับครอบครัวเรา เราก็เข้าใจเขานะ เพราะว่าตอนนั้นสภาพเราแย่มาก ๆ สาเหตุมาจากตอนเราอยู่ ม.4 เราเจอครูที่ค่อนข้างแย่ จนต้องไปพบกับจิตแพทย์

ใช้ทางลัดเพื่อให้ไปถึงปลายทางฝันเร็วขึ้น

การสอบเทียบมันก็เหมือนกับเราใช้เส้นทางลัดในการเดินทาง แต่ขึ้นชื่อว่าเส้นทางลัดมันก็ต้องมีความเสี่ยงมากกว่าเส้นทางอื่น แต่เส้นทางลัดนั้นจะทำให้เธอถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นจริงเหรอ แต่เธอได้บอกกับเราว่า “ถ้าเราไม่ลองเสี่ยงดู แล้วจะรู้เหรอว่าผลลัพธ์มันเป็นยังไง”

“การสอบเทียบมันก็เหมือนย่นเวลา ให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่สุดท้ายมันก็เป็นผลดีต่อตัวเราเอง”

แป้งได้พูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวังซ่อนอยู่ในคำพูดของเธอ แต่ก็ปนความตึงเครียด เธอยังได้พูดอีกว่า การสอบเทียบมันช่วยย่นเวลาในการทำเราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับความพยายามมากกว่าคนอื่น แต่เราก็ไปได้ไกลกว่าคนอื่นด้วย เราสามารถสร้างคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้ที่ข้ามขั้นของตัวเอง มีเวลาวางแผนไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือเรื่องครอบครัว แต่เราว่าถ้าช่วงสอบเทียบน่าจะเป็นช่วงหนึ่งในชีวิตเราที่หนักมากเหมือนกัน เราคิดว่าเราคงต้องเหนื่อยมาก ต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ หรือพอสอบผ่านแล้วก็อาจต้องไปเจอกับสภาวะแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เจอแต่คนโตกว่า อาจทำให้รู้สึกแปลกแยก แต่สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าตัวเองจะมีอนาคตที่ดีแน่นอน

มาออกแบบเส้นทางของตัวเองกันเถอะ

“เราอยากให้การศึกษาไทยไม่ต้องมานั่งเรียน 8 ชั่วโมง เพราะมันยากมาก ๆ แล้วบุคลากรทางการศึกษาก็ควรสนับสนุนนักเรียนมากกว่านี้ และควรปรับหลักสูตรที่ให้นักเรียนฝันมากกว่านี้”

แต๊งส์ได้พูดถึงเส้นทางที่เขาวาดฝันไว้ แล้วได้พูดทิ้งท้ายก่อนจะจากลาว่า นักเรียนไม่ควรเรียนมากเกินไป แบบเรียนวันละ 8 ชั่วโมงขนาดนั้น เราว่ามันยากมาก ๆ เลยที่จะเรียน ถ้ามันต้องแก้จริง ๆ เราว่ามันควรเริ่มจากบุคลากรทางการศึกษาเลย เพราะว่าหลักสูตรมันแย่แล้ว  เราว่าบุคลากรก็ยังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรที่สนับสนุนนักเรียน แล้วหลักสูตรมันควรสอนอะไรที่มันมีข้อมูลที่นักเรียนเอาไปใช้ในชีวิตได้จริง  เรารู้สึกว่าพวกวิชาสังคม มันควรจะได้เรียนรู้ถึงสภาวะสังคม การเมืองของเรา แต่เขามักจะสอนแต่ค่านิยม เรารู้ว่าแบบนี้ มันไม่ใช่ แล้วไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่ถ้าอยากให้มันน่าเรียนกว่านี้ มันต้องมีวิชาที่ทำให้นักเรียนฝันได้มากกว่านี้

“อยากให้เขาสอนในสิ่งที่ใช้ได้จริง ปรับระบบการศึกษาให้ทันสมัย ลดเวลาเรียนที่โรงเรียน เพิ่มการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เน้นแต่ทฤษฎี”

แป้งได้พูดถึงเส้นทางฝัน ที่เธอวาดฝันไว้ และสิ่งที่เธออัดอั้นมานาน แล้วได้พูดทิ้งท้ายก่อนจะวางสายว่า เขาควรสอนเราในสิ่งที่ใช้ได้จริงในชีวิต ไม่ใช่เน้นแต่ทฤษฎี แต่พอปฏิบัติจริง กลับทำไม่ได้ มันก็ไม่ต่างจากการที่เราไม่เรียนหรอก ช่วยปรับหลักสูตรให้มันทันสมัยขึ้นให้เข้ากับนักเรียนในแต่ละยุค ไม่ใช่จะยึดติดแต่กับยุคของตัวเอง แล้วเราต้องมานั่งเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เราก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำเกรดเราก็จะไม่ดีอีก เราเลยต้องทำใจเรียนกับมันไป เราว่าคนที่ควรหาทางออกคือ รัฐบาล ให้เขาออกนโยบายสักอย่างที่จะพัฒนาประเทศ ไม่ใช่มาผลักภาระให้นักเรียน

เราก็ได้เห็นเส้นทางของทั้ง แต้งส์ และ แป้ง แต่ถ้าเราได้เห็นแค่ในเส้นทางของคน Gen เดียว อาจจะทำให้เราหาข้อสรุปไม่ได้ ทาง De/code จึงได้พูดคุยเพิ่มกับ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ไม่ได้มีแค่ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ยังมีความเข้าใจในเรื่องการศึกษาของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการให้ลูกได้เรียน Home school และคอยสนับสนุนการเรียน Home school หรือการกระจายอำนาจในห้องเรียนให้เท่ากัน แต่ในวันนี้อาจารย์จะพูดในประเด็นที่ต่างไป

12 ปีเส้นทางที่แสนยาวนาน

การเดินทางของรถไฟ 12 ปี ก็เหมือนกับที่เราต้องอยู่ในโรงเรียน 12 ปี 12 ปีนั้นยังไง

“สำหรับผมการลดเวลาไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่ควรจะปรับคือ หลักสูตรมันเป็นการเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง อาจารย์ก็ต้องเก็บเนื้อหาให้ครบตามหลักสูตร แล้วก็เอาผลนั้นมาวัดเด็ก ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับลักษณะของเด็กยุคใหม่ ที่ต้องเน้นสมรรถนะที่พวกเขาต้องการ”

อาจารย์ได้พูดประโยคข้างต้นหลังจากที่เราได้ถามไป อาจารย์พูดต่ออีกว่า สมรรถนะของการทำสิ่งต่าง ๆ คือการที่เนื้อหาจะไม่ได้ไปบอกคนวัยนี้ควรรู้อะไร แต่มันควรที่จะเปลี่ยนไปแต่ละช่วงวัยว่าควรทำอะไร มันควรที่จะลดความเป็นคอนเทนต์ลง แล้วเปลี่ยนให้แต่ละคนประยุกต์ใช้ แสดงความสามารถของตัวเองออกมา แล้วจำนวนปีที่เราพูดถึงมันก็โอเคแล้ว เราคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเร่งไปมากกว่านี้ สิ่งที่เราควรทำคือเปิดโอกาสในแต่ละช่วงเวลาให้มากกว่านี้ หรือไม่ถ้าเราจะเรียนน้อยลงจะเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น ผมก็คงไม่ค้าน แต่เราคงไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเวลาในวัยเด็กที่เขาเสียไปในการที่จะเรียนเนื้อหาที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ว่ามันควรเป็นแบบนั้น เราไม่ได้มองเขาในแง่ของการทำเวลาให้สั้นลงเพื่อหลุดพ้นจากวัยเรียน แต่เรากลับมองว่าเวลาที่เขาเสียไปคืนมา ให้เขาสามารถกำหนดเองได้มากกว่า

ลดเวลาการเดินทางแต่ละวันที่มากเกินไป

เกือบทุกการเดินทางบนโลกนี้ก็ต้องใช้เวลากันทั้งนั้น แต่การที่เราเสียเวลามากเกินไป อาจทำให้เวลาที่เราสูญเสีย เราสามารถเดินทางไปพบกับเส้นทางฝันได้เร็วขึ้น แต่จริง ๆ แล้วมันผิดที่สิ่งรอบตัวรถไฟ หรือตัวรถไฟเองที่ทำให้ไปไม่ถึงฝัน

“เราไม่ได้เน้นเรื่องเวลาเฉย ๆ ถ้าสมมุติว่าเราลดเวลา แต่เนื้อหายังเหมือนเดิม  มันก็จะยิ่งทำให้เด็กบางคนทุกข์กว่าเดิม เพราะงั้นการลดเวลาในแต่ละปี หรือแต่ละวัน มันก็ยังต้องเปลี่ยนความคิดหรือหลักสูตรมาก่อน”

หลังจากอาจารย์ได้พูดประโยคข้างต้น แล้วใช้เวลาไม่นานอาจารย์ได้พูดต่อว่า เรื่องเวลาสำหรับเรามันไม่ได้สำคัญเท่ากับหลักสูตร ถ้าเราเปลี่ยนหลักสูตรให้มันดีขึ้นได้ เราก็จะช่วยให้น้อง ๆ เขามีอิสระความคิดเพิ่มขึ้นในห้องเรียน มันหมายความว่า ถ้าสมมติเราไปโรงเรียน เราก็ต้องอยู่แต่ในห้องนี้เช้าจรดเย็นแทบจะทุกคน แล้วถ้าเราเปิดพื้นที่ในโรงเรียนให้มันมีที่เรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นห้องเรียนเดียวกัน มันก็จะทำให้เขามีเวลาของเขาเองได้ไปรวมกลุ่มกับเพื่อน แล้วก็ทำในสิ่งที่เขาชอบได้

สมรรถนะของแต่ละรถไฟที่ต่างกันไป

 อาจารย์ได้พูดถึงสมรรถนะของแต่ละรถไฟว่า การที่เราเอาคนที่มีสมรรถนะไม่เท่ากัน มาขังไว้อยู่ในห้องเดียวกัน ภายในเวลาเดียวกัน มันก็สร้างความกดดันให้ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นปัญหาที่นำทั้งสองฝ่ายมาขังไว้รวมกัน เพราะงั้นวิธีแก้มันคือการปล่อยเวลาให้แต่ละคนได้เลือกใช้รูปแบบที่มันเหมาะสมซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ เหมาะสมต่อการเรียนรู้ บางคนอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยในการเรียนรู้ ก็จะเหมาะสมอีกลักษณะหนึ่งก็คือ เหมาะสมในแง่ที่เขาจะไปแสดงออกที่เขาจะใช้วิธีการเรียนรู้ยังไง อย่างเช่น คนเรียนคณิตศาสตร์มันก็ไม่ได้หมายความว่าต้องแสดงออกด้วยการแก้โจทย์อย่างเดียว มันอาจจะแสดงออกด้วยความเป็นศิลปะก็ได้ แต่เราทรีตว่าเขาต้องแสดงออกความสามารถทางคณิตศาสตร์ด้วยการแก้โจทย์อย่างเดียว

หลังจากนั้นเราก็ได้เล่าเรื่องราวเส้นทางของทั้งแต้งส์ และแป้งให้อาจารย์ฟัง เพื่อถามความเห็นของอาจารย์ว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นมันควรแก้ไขอย่างไร

อาจารย์ได้ตอบกลับมาว่า คือผมคิดว่ามันคนละบริบทกัน เพราะของเขามันเอาเวลากลับคืนมาไม่ได้ แต่ผมพูดถึงในอนาคตว่าจะต้องแก้ยังไง เพราะฉะนั้นเมื่อน้องคิดว่าเอาเวลากลับคืนมาไม่ได้ เขาก็เลยคิดว่าเวลาที่เขาจะเสียไปในอนาคตต้องทำให้มันสั้นลงที่สุด แต่ถ้าถามถึงเด็ก 6 ขวบ เขาก็อาจจะไม่ได้คิดว่าคิดว่า ฉันขอเรียนไปเถอะ จนถึงอายุ 16 ก็พอ แต่ถ้าพูดตอนที่อายุ 16 ปี แล้วเขาบอกว่าเลิกเถอะ มันเป็นวิธีเดียวกัน แล้วเขาไม่ไว้วางใจที่จะทดลองเสี่ยง สองปีนั้นอาจทำให้เขามีความสุขมากขึ้นก็ได้ เราเข้าใจว่าเรื่องนี่น้องพูดมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่จากคนละมุม

เปลี่ยนเส้นทางแห่งความฝันให้เป็นเส้นทางแห่งความจริง

“เราก็คิดว่าประมาณมัธยมต้น เด็กน่าจะได้ลองประกอบกิจการของเขา แล้วตอนมัธยมปลายเราต้องทำให้กิจการของเขาไม่เป็นเพียงแค่กิจกรรม”

ก่อนจะวางสายอาจารย์ได้ทิ้งท้ายประโยคข้างต้น แล้วอาจารย์ยังได้พูดต่ออีกว่า อย่างตอนมัธยมต้น เด็กก็น่าจะได้ลองประกอบกิจการของเขา เขาได้ลองทำสุดท้ายแล้วเขาก็จะเกิดการเรียนรู้เอง แล้วนำมาประยุกต์สิ่งที่เขาได้เรียนมา เพื่อทำให้แผนของเขามันไปได้ อย่างถ้าเขาทำเสื้อตัวหนึ่งมันต้องคำนวณอะไรบ้างในการขาย ในเชิงศิลปะต้องออกแบบคิดอะไร ในเชิงสังคมมีแผนการประชาสัมพันธ์ยังไง นี่คือตัวอย่างไม่จำเป็นต้องขายเสื้ออย่างเดียว เพราะงั้นเราถึงต้องมาสรุปกันใหม่ว่า เด็กอายุเท่านี้ สมรรถนะที่เขาจะทำได้มันเกินไปแบบนั้นจริง ๆ รึเปล่า

เราก็มีความเชื่อว่า ถ้าเป็นเด็กนักเรียนอายุประมาณ 13-15 ปี สมรรถนะของเขาจะอยู่ได้ จะบริหารจัดการในกิจการของตัวเองได้อย่างครบถ้วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะดำรงกิจการอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง แล้วตอนมัธยมปลายอาจจะต้องทำให้กิจการไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรม แต่มันต้องดำรงอยู่ต่อเนื่อง อันนี้เราเรียกว่าสมรรถนะ แล้วถ้าเป็นอย่างประถมปลายก็อาจจะให้เขาเล่าเรื่องเรื่องหนึ่งได้ตลอดรอบฝั่ง มันมีตรรกะในการเล่าเรื่องของมัน เขาสามารถวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่ง สมมุติเขาจะพูดเรื่องจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่ว่าเขาจะไปเลือกห้องไหน มันก็เกี่ยวข้องกับตำราสมรรถนะของเขา ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรต้องเรียนแบบเดียวกัน

ตอนนี้ทุกคนพบเส้นทางของคุณหรือยัง เส้นทางที่คุณจะเลือกจะหลุดพ้นออกจากเส้นทางที่ล้าหลัง หรือคุณจะเลือกที่จะทนอยู่กับมันแล้วรอวันที่มันจะดีขึ้น แต่ถึงคุณเลือกอะไร แต่ถ้าสุดท้ายแล้วตัวคุณไม่ออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางนั้น มันก็คงเป็นได้แค่เส้นทางที่เพ้อฝัน