“หวังว่าพรุ่งนี้จะไปถึงขั้วโลกเหนือ” พูดคุยกับคนรุ่นใหม่(วันนี้)ทำไมต้อง...ย้าย (ประเทศ) เมื่อประเทศนี้คือบ้าน แต่วันนี้เจ็บปวดและสิ้นหวัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

เสียงในโซเชียลมีเดีย จากโพสต์ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’
ผู้ใหญ่ Comment: “ดีครับประเทศจะได้เบาขึ้น”
คนรุ่นใหม่ Reply: “ผมว่าไม่เบาขึ้นหรอกครับ…เพราะว่าตัวที่หนักแผ่นดินยังอยู่”
ผู้ใหญ่ Reply: “พวกมึงนั่นแหละหนักแผ่นดิน”

คนรุ่นใหม่หลายคนมองว่า ผู้ใหญ่ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา คิดว่าพวกเขาถูกล้างสมอง ยังไม่มีประสบการณ์มากพอจะเข้าใจโลก ได้อย่างที่ผู้ใหญ่ผ่านชีวิตมานานกว่าจะเข้าใจ ในขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่าผู้ใหญ่ ยึดติดกับชุดประสบการณ์เดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดตัวเอง หวังว่าโลกในวันพรุ่งนี้จะเหมือนเมื่อวานไปตลอด

ช่องว่างระหว่างวัย นับวันยิ่งขยายใหญ่ขึ้น การสื่อสารโต้ตอบกันผ่านช่องทางออนไลน์ แทบไม่ได้สร้างความเข้าใจ ในมุมมองความคิดของใครสักคนได้อย่างลึกซึ้ง เพราะทุกคำล้วนออกมาจากอารมณ์ เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างปัจจุบันทันด่วน เราแทบไม่ได้ใคร่ครวญกับข้อความที่สื่อสารออกมาในโลกออนไลน์ De/code จึงชวน 2 คนรุ่นใหม่มานั่งจับเข่าคุย ถามถึงความคิดความรู้สึกที่เขามีต่อสังคม ทำไมสังคมนี้จึงทำให้เขาสิ้นหวัง และอยากจะพาตัวเองย้ายออกไป 

อยากโตมาเป็นพลเมืองของโลก ไม่ใช่เป็นเบี้ยล่างตามคำสั่งใคร

เกด อายุ 22 ปี ปัจจุบันเป็นพนักงานในหน่วยงาน NGO แห่งหนึ่ง พร้อมกับกำลังเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เธอเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่อนุบาลจนจบชั้นมัธยม 6

ชีวิตหลังเรียนจบมัธยมของเธอ เหมือนได้อิสระในการผจญภัยโลกกว้าง แต่แลกมาด้วยความรับผิดชอบและการใช้ชีวิตตัวคนเดียวมาตลอด เส้นทางการไปต่างประเทศของเธอเริ่มต้นขึ้นในช่วงมัธยม 5  

“ตอนนั้นเราไม่ถึงกับต้องการย้ายประเทศไปถาวร มันเริ่มจากอยากกลับไปเยี่ยมครอบครัว เราได้พ่อบุญธรรมเป็นคนอังกฤษ ที่อาศัยอยู่ประเทศไอร์แลนด์ เราจัดการทำเอกสารด้วยตนเอง ปรากฏว่าครั้งแรกเอกสารไม่ผ่าน เป็นช่วงเวลาที่เครียดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ”

จากมัธยม 5 จนถึงช่วงที่เธอเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 คือระยะเวลาเตรียมเอกสาร เธอเลือกดรอปเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อมาทำเอกสารขอเข้าประเทศไอร์แลนด์ เมื่อครั้งแรกไม่ผ่านเกดไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เธอยื่นขอวีซ่าอีกครั้งในฐานะนักเรียน

“ครั้งที่ 2  เราไปด้วยช่องทางการเรียนต่อด้านภาษาไปทำ visa student แต่การไปเรียนภาษาเราต้องสอบวัดระดับให้เขาดูก่อน ใช้คะแนน IELTS ค่าสอบ 6,900 บาท

“จากครั้งที่ 1 มาถึงครั้งที่ 2 ใช้เวลาเตรียมตัว 7-8 เดือน พอได้คะแนนสอบและยื่นเอกสารที่เตรียมมา ปรากฏว่าครั้งที่ 2 ก็ไม่ผ่านอีก หลังจากครั้งนั้นเราเริ่มท้อและหยุดเรื่องไปต่างประเทศ”เธอผ่านความล้มเหลวมา 2 ครั้ง เกดเลือกพักแผนการไปต่างประเทศชั่วคราว และเริ่มทำงานที่สปาแห่งหนึ่ง ควบคู่กับการกลับไปศึกษาต่อ เกดเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากนัก 

โดยพื้นเพแล้วเกดสนใจเรื่องการท่องเที่ยวและการฝึกภาษา ไม่ได้สนใจประเด็นสังคมหรือการเมือง แต่สิ่งที่ผลักดันให้เธอเริ่มมาสนใจมันเกิดขึ้นจาก “จุดแตกหักคือวันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เป็นวันที่เราเดินทางกลับจากภูเก็ตเข้า กทม. พร้อมกับเห็นข้อความของพ่อใน Facebook ว่า ‘วันนี้ที่รอคอย’ เลยเป็นจุดแตกหักของทั้งสองเรื่องคือ 1.หันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง 2.ความสัมพันธ์กับพ่อหยุดชะงักไป มันไม่ได้ตัดขาดแต่ไม่สนิทใจเหมือนเดิม”

ตั้งแต่เด็กเธอเติบโตมาในโรงเรียนประจำ แทบไม่ได้เปิดโอกาสให้เธอได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน จนเมื่อเธอออกมาใช้ชีวิตข้างนอก มันทำให้เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว จากความสนใจจนนำไปสู่ความสิ้นหวัง

“เราเริ่มสิ้นหวังในวิธีการบริหารประเทศที่ไม่รับฟังคนรุ่นใหม่ ใช้หลักการกดทับโดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีพื้นฐานมาจากทหาร เขามองเหมือนประชาชนเป็นพลทหาร เป็นเบี้ยล่างมีหน้าที่ทำตามคำสั่ง ไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้มีสิทธิเสรีภาพ ที่จะทำอะไรในประเทศนี้

“แต่ก่อนเราคงใช้คำว่า มีสิทธิที่จะทำอะไรโดยไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ ณ ตอนนี้คงต้องมาดูที่มาของกฎหมายด้วยว่า มันมาอย่างถูกต้องหรือไม่ กลายเป็นคำว่าผิดกฎหมาย คือคำที่รัฐพยายามจะป้ายสีประชาชน มันไม่ใช่กฎหมายมันคือคำสั่งของผู้มีอำนาจ

“แล้วเราจะอยู่ในที่ที่เขาไม่เห็นประโยชน์ทำไม สู้ไปอยู่ในที่ที่เขาให้คุณค่า เคารพความเป็นมนุษย์ของเราดีกว่า”

ด้วยเหตุผลที่เธอกล่าวมา จึงทำให้แผนการย้ายประเทศชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับมีกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” กลุ่มนี้ช่วยให้เธอเห็นลู่ทางมากขึ้น เธอเปรียบเปรยว่า “เหมือนมีคนมาชี้ลู่ทางสำหรับการออกวิ่งให้ เพียงแค่หารองเท้าวิ่งดี ๆ มาใส่ ฝึกซ้อมและออกวิ่งไปตามเส้นทางที่มีคนแนะนำ” แต่ด้วยต้นทุนในชีวิตแผนการไปต่างประเทศของเธอจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 

“หนึ่งคือเรื่องทุนทรัพย์ เราเป็น First jobber ที่ต้องเรียนด้วย จึงไม่สามารถบริหารจัดการเงินให้เพียงพอ สองคือเรื่องคอนเน็กชัน ตั้งแต่มีกลุ่มย้ายประเทศมันก็พอช่วยเราได้บ้าง 

“สามคือเรื่องภาษาที่ต้องฝึก  คิดว่าถ้าวันนี้เรายังมี mindset ที่อยากย้ายประเทศ แต่ยังติดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างเรามองว่ามันยังมีเวลาให้เตรียมตัว ครั้งนี้เรามองหาโอกาสในประเทศแถบเอเชีย เช่น ไต้หวันกับญี่ปุ่น เผื่อเวลาสำหรับแผนนี้ไว้สามปีจากวันนี้”

แววตาของเธอดูมุ่งมั่นกับแผนนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า คงเป็นครั้งที่ 3 ที่เธอต้องทุ่มเทในการเตรียมตัวอีกครั้ง แต่ในความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอ เราอยากรู้ว่าเธอคิดจะเปลี่ยนใจบ้างไหม ยังมีความหวังหลงเหลืออยู่บ้างรึเปล่า

“ภายใน 3 ปีนี้ คงไม่ทันเห็นความเปลี่ยนแปลง พูดไปมันคงไม่เกิดผลอะไรแต่เรามีสิทธิที่จะพูด อยากให้พวกเขาฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ลองปรับมุมมองดูแล้วจะเห็นปัญหาต่างๆ ที่คนรุ่นเราพยายามตั้งคำถามแต่ถูกสกัดปิดไว้ แค่เปล่งเสียงออกมาคุกก็รอพวกเราแล้ว

“เราไม่อยากเห็นประเทศตัวเอง กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีคนรุ่นใหม่ คือประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ดีนะ อยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี อุดมสมบูรณ์มีทุกอย่าง แผ่นดินไหวภัยธรรมชาติไม่ค่อยมี”

ในความสิ้นหวัง เราเชื่อว่าลึก ๆ ทุกคนต่างมีความหวัง เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มคุยกับเธอ ในยามบ่ายวันเสาร์ ที่ก้อนเมฆฤดูร้อน กระทบแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ ก่อนเธอขอตัวปั่นจักรยานกลับ เราถามเธอถึงสิ่งที่ยังคงรู้สึกดีในประเทศนี้ “เราชอบอาหารไทย ธรรมชาติที่สวยงาม และพื้นฐานนิสัยของคนไทยก็ยังมีดีอยู่เยอะ คนไทยใจดีช่วยเหลือกัน เรายังไม่หมดหวัง 100% ถึงมันจะดี-เลวอย่างไร ที่นี่มันก็คือบ้านของเรา”

เหมือนอยู่ในสังคมกลางทะเลทราย ที่คาดหวังว่าพรุ่งนี้จะเดินไปถึงขั้วโลกเหนือ

เฟิร์น นักศึกษาทุนด้านวิทยาศาสตร์ กำลังเรียนจบชั้นปีสี่ 4 จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศแห่งหนึ่ง ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เธอกำลังมองหางานภาคเอกชน ระหว่างรอเวลาเรียนต่อปริญญาโท ด้วยความคิดที่ว่าอยากหาประสบการณ์ทำงานก่อนเพื่อค้นหาตัวเอง ตอนนี้เธอกำลังสนใจเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ตนเองเรียนมา 100% 

‘เรียนดี กิจกรรมเด่น’ คือคำนิยามความเป็นตัวเธอ สำหรับเราแล้วเธอคือบุคลากร ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับหัวกะทิ เส้นทางการอยากไปใช้ชีวิตต่างประเทศของเธอ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ด้วยวิธีการหาทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เธอเตรียมตัวฝึกภาษาอังกฤษ สร้างผลงานใส่พอร์ตไว้ตั้งแต่ปี 1 

“เพื่อนบางคนเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ปริญญาตรี แต่ตอนนั้นเราเลือกเรียนที่ไทยก่อนเพราะว่า อยากมองหาคอนเน็กชันในอนาคต อีกอย่างคือเราได้รับโอกาสดี ๆ จากสังคมนี้ 

“เราเป็นเด็กชนบทที่ได้เจอคนดีๆ รู้จักอาจารย์ดี ๆ หรือแม้กระทั่งครอบครัวเราก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราไม่ได้อยู่ในที่ทรัพยากรเหลือเฟือ แต่เรายังได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น เขาสนับสนุนเราอาจเพราะหวังว่า เราสามารถทำอะไรดี ๆ ให้สังคมนี้ได้ เหมือนเขาเห็นศักยภาพในตัวเรา แต่ต้องบอกเลยว่าเราเป็นส่วนน้อยที่มีคนเห็นคุณค่า เราเลยเลือกเรียนปริญญาตรีที่เมืองไทย”

แต่อย่างไรแล้ว เธอก็ยังบอกถึงความจำเป็น ที่อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท

“เพราะว่าสายงานของเรา ด้วยข้อจำกัดความพร้อมด้านเทคโนโลยี การให้คุณค่ากับอาชีพต่างประเทศเขาพร้อมกว่า สังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่างานด้านวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่”

ภาพที่เฟิร์นประทับใจ จากการไปทำกิจกรรม ณ ประเทศเกาหลีใต้

จากเหตุผลตั้งต้นที่การไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาสร้างประโยชน์ให้สังคม จุดหักเหที่ทำให้เฟิร์น เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคตต่อสังคมนี้มันเกิดขึ้นจาก

“เราเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อติดตามข่าว ลูกคนรวยขับรถชนคนธรรมดาตาย ระบบรักษาความยุติธรรมไม่สามารถดูแลคนที่ถูกรังแกได้เพราะอีกฝั่งรวยกว่า มันไม่มีความปลอดภัยของชีวิตในสังคมนี้ หลาย ๆ ข่าวมันอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่มัน non sense สำหรับเราคือ การที่ผู้มีอำนาจผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เขาแก้ไขปัญหาได้อย่างน่าประทับใจ ประทับใจจนเรารู้สึกอยากย้ายประเทศ”

จากความรู้สึกไม่มั่นคง นำไปสู่การที่เธอเริ่มพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” เฟิร์นเองไม่ต่างจากเกด ที่บอกว่ากลุ่มนี้ไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรเธอ มันแค่ทำให้แนวคิดที่เคยราง ๆ ชัดขึ้น ที่สำคัญกลุ่มนี้เป็นที่มาต่อความสิ้นหวังที่เธอมีต่อสังคมแห่งนี้

“วันที่เราเข้ากลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ตอนนั้นความรู้สึกมันยังไม่ชัด แต่วันที่ผู้ใหญ่เริ่มมาแถลงการณ์ แสดงความคิดเห็นเราถึงรู้สึกสิ้นหวัง

ความสิ้นหวังมันมาจากความคาดหวัง ตอนที่กระแสย้ายประเทศเข้ามา เราคาดหวังว่าเขาต้องสังเกตแล้ว ว่ามันมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า มีคนอยากย้ายประเทศ 7 แสนกว่าคน ถ้าเราเป็นผู้บริหารประเทศ เราคิดว่าต้องรู้สึกแปลกแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องคิดก็ได้ว่าปัญหามาจากตัวเขาเองรึเปล่า แค่พยายามเข้าใจว่ามันมีอะไรผิดปกติ

“แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่พูดออกมา มีแต่ความคิดความรู้สึกตนเอง ความคิดความรู้สึกของคุณตอนนี้เราไม่ต้องการ เราแค่อยากให้คุณตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น” 

สุดท้ายเราสิ้นหวัง เพราะแค่คาดหวังให้เขาฉุกคิด เขายังทำให้เราไม่ได้ วิธีการที่เขารับมือคือ โต้ตอบ หยุดยับยั้ง กระแทกแดกดัน ด่าเสียดสี 

นอกจากนี้เรื่องการบริหารจัดการโควิด เป็นอีกปัจจัยทำให้ความเชื่อมั่นของเธอที่มีต่อรัฐในตอนนี้ลดน้อยลงไปอีก 

“ขนาดเรื่องโรคระบาดแบบนี้ เขายังไม่ให้ความปลอดภัยของพลเมือง ไม่สนใจความเจ็บป่วยของคนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก มันไม่ใช่แค่การไม่เห็นคุณค่านะ มันคือการไม่เห็นความหมายของชีวิตคน”

เมื่อเราถามถึงจุดยืนและมุมมองที่เธอมีต่อสถานการณ์บ้านเมือง เราพบว่าเฟิร์นไม่ใช่คนที่ให้ความสนใจเรื่องการเมืองมากนัก เธอเพียงแค่ต้องการคุณภาพชีวิตที่รู้สึกปลอดภัย ซึ่งความปลอดภัยควรเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่รัฐต้องมอบให้กับพลเมืองของตนเอง แต่ในเมื่อรัฐมอบให้ไม่ได้ สิ่งที่เฟิร์นอยากจะบอกพวกเขาคือ “เราว่าลึก ๆ คุณรู้ว่าวิธีการที่คุณทำอยู่มันใช้ไม่ได้แล้ว แต่คุณอาจรู้สึกว่าแล้วอย่างไรล่ะ ในเมื่อฉันรวยเพียงพอที่จะไม่ต้องทำมาหากินไปตลอดชีวิต ตอนนี้ฉันมีบ้านมีที่ดินไว้ทำกินแล้ว”

คนรุ่นเรามันไม่ใช่ วันนี้เราเพิ่งจะอายุ 20 เราเหลือเวลาชีวิตอีกตั้งหลายปี แล้วจะให้เราอยู่กับปมที่คุณมัดไว้เหรอ ?  พอเราชวนกันลุกมาแก้ปม พยายามเปลี่ยนแปลงคลี่มันออกมาคุณก็ห้ามเรา เพราะเราไม่ทำตามวิธีที่คุณชอบ พอปรับตัวไม่ได้เราอยากไปอยู่ในที่ที่เหมาะกับเราคุณก็มาว่าเรา

สำหรับเฟิร์นประเทศนี้ คือบ้านของเธอเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และอาจเป็นบ้านของเธออีก 40-50 ปีข้างหน้า เธออยากทำให้สังคมดีขึ้น หากพูดถึงอนาคตเธอมองว่าไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิม ๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว “อย่าพยายามคิดว่าอะไรมันจะเหมือนเดิม เราแค่อยากสร้างที่นี่ให้มันดี ในตอนที่คุณอาจจะอายุ 80 ปี เราอยากได้ประเทศที่ตอนนั้นทุกคนยังมีความสุขอยู่” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

แม้เธอจะคาดหวังให้สังคมนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความหวังสำหรับเฟิร์นตอนนี้เปรียบเสมือน “มันเหมือนกับตอนนี้เราอยู่ในทะเลทราย และคาดหวังว่าพรุ่งนี้เราจะเดินทางถึงขั้วโลกเหนือ คือเราหวังนะแต่มันไกลมาก…ไกลมากจังเลย”

ยิ่งคุยกันนานเท่าไหร่ พลังในตัวเธอเหมือนจะเริ่มแผ่วลงไปเรื่อย ๆ มันคงลดลงไปตามจำนวนคำถามที่เราถามเธอ เป็นคำถามที่มองไปข้างหน้าไม่เห็นความหวัง มองไปข้างหลังก็เหลือแต่ความทรงจำที่ผ่านมา และในความทรงจำของเธอ มีสิ่งใดที่ยังรู้สึกดีกับประเทศนี้อยู่บ้างไหม ?

เราชอบอาหารเขตร้อน ชอบป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยเด็กๆ เราเดินป่าบ่อย ป่าบ้านเรามีความหลากหลายมาก เรามีต้นไม้หลายชนิด และก็ความอัธยาศัยดีของผู้คน อีกทั้งเรายังมีพ่อและแม่อยู่ที่นี่

ภาพที่เฟิร์นประทับใจ จากการไปเดินป่ากับเพื่อน ๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรี

หลังจบการสนทนากับพวกเขาทั้ง 2 คน และนั่งเรียบเรียงสิ่งที่ได้คุยกัน เราคิดว่าพวกเขาไม่ได้โกรธเกลียดใคร พวกเขาแค่ไม่ต้องการเห็นสังคมที่เติบโตมา พังทลายไปในยุคสมัยของพวกเขา 

เพียงแค่พวกเขาสิ้นหวัง หมดหวังต่อฝันที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้  เมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ การเลือกเดินออกมาจากปัญหาคงเป็นทางออกที่เจ็บปวดน้อยที่สุด

“ถ้ารู้สึกแย่กับสถานการณ์ในปัจจุบัน รู้สึกเศร้าสิ้นหวัง อยากให้รับรู้ว่ามีคนรู้สึกเหมือนกัน คุณไม่ได้แย่ที่จะรู้สึกแย่กับมัน” เฟิร์น

“อะไรที่เราทำได้ก็ช่วยกันทำจนถึงที่สุด แต่อย่าลืมแผนสำรองของตัวเองไว้ สู้ได้ก็สู้ สู้ไม่ได้ก็หนีไปเถอะ” เกด

เสียงจากคนรุ่นใหม่ ต่อสังคมที่พังทลายความหวังของพวกเขาจนหมดสิ้น