คุยกับทีมผู้สร้าง BCC-SAT 1 เด็กมัธยมที่พิสูจน์ว่า ‘ไม่มีใครเด็กเกินกว่าจะไปอวกาศ’ - Decode
Reading Time: 4 minutes

  Space for Thai

นิศาชล คำลือ

อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่ถ้าให้พูดให้ถูก ต้องบอกว่าอวกาศไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัว เพียงแค่คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามจะไปดวงจันทร์ อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตรงนี้ให้คนในประเทศ ไม่เช่นนั้นเราจะเจอประโยคที่ว่าทางลูกรังในประเทศยังไม่หมด จะไปอวกาศทำไม ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่ลดลง ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่จะข้องใจกับคุณภาพชีวิตและภาษีที่พวกเขาจ่ายไป รัฐจึงต้องให้ความสำคัญในการให้ความรู้ว่ารัฐกำลังทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร และสังคมจะได้อะไรกลับคืนมา อุปสรรคที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของการไม่มีงบประมาณ รัฐเก็บภาษีประชาชนทุกชนชั้นอยู่ตลอด แต่มันคือการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่สร้างสรรค์มากกว่า

คุณคิดว่าการไปอวกาศได้อะไร แล้วต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะไปอวกาศได้ มายาคติที่ว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ทำแล้วไม่ได้อะไร ครอบคลุมไปทั่วประเทศไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ เด็ก ๆ จำนวนมากจึงไม่อาจทำตามความฝันของพวกเขาได้ในประเทศนี้ เพราะผู้ใหญ่มักบอกว่าความฝันของเขามันทำแล้วไม่ได้อะไร สู้เอาเวลาไปตั้งใจเรียน เติบโตในกรอบที่ผู้ใหญ่สร้างให้ จะได้เป็นเด็กดีที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แล้วเด็กดีคืออะไร ผู้ใหญ่ที่ดีคืออะไร และกรอบที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ให้เด็ก ๆ มันทำให้พวกเขาได้เติบโตอย่างแท้จริง จริง ๆ หรือ นี่ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือด่าทอ แต่คือการตั้งคำถามต่อสังคมที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่

ผู้เขียนเป็นเด็กที่เริ่มเข้ามาทำงานในแวดวงอวกาศไทยตั้งแต่อายุ 17 ในฐานะนักเขียนเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนเคยเป็นเด็กที่ถูกสั่งสอนให้อยู่ในกรอบและขั้นตอนที่ถูกต้อง คือ ตั้งใจเรียน หางานทำ แต่งงาน มีลูก และสอนให้ลูกอยู่ในกรอบและขั้นตอนเดียวกันนี้ต่อไป ในตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกว่านั่นช่างเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าเสียนี่กระไร แต่ก็ก้มหน้าก้มตาเรียนเพื่อให้ผลการเรียนออกมาดี เพื่อที่ตนเองจะได้เป็นเด็กดี แต่เมื่อวันหนึ่งที่ได้ค้นพบความฝัน ผู้เขียนได้ตัดสินใจวิ่งตามมัน ความรู้สึกที่มีหลังจากได้เรียนวิชาดาราศาสตร์จากนักวิชาการและนักวิจัยจริง ๆ ไม่ใช่เพียงความหลงไหล แต่ยังเต็มไปด้วยความเคารพทั้งต่อจักรวาลและผู้คน เป็นความรู้สึกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับวิชาดาราศาสตร์ในห้องเรียน แบบที่เรียนกับนักวิชาการและนักวิจัยคือการสอนให้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ทำงาน แบบที่เรียนในห้องเรียนคือการสอนให้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปสอบเก็บคะแนนและสอบแข่งขัน

และด้วยความที่ผู้ใหญ่ในแวดวงนี้โดยส่วนมากที่ผู้เขียนเจอในช่วงเวลานั้น เป็นผู้ใหญ่ที่ต่างออกไปจากผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเจอมาทั้งชีวิต พวกเขาชื่นชอบเมื่อผู้เขียนตั้งคำถาม คำถามแล้วคำถามเล่า แววตาของพวกเขาเป็นประกายขณะตอบคำถามของผู้เขียนโดยไม่มีท่าทีรำคาญใจ พวกเขาแสดงท่าทีสนุกสนานเมื่อเราถกเถียงกันด้วยเหตุและผล และที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาเคารพความคิดเห็นของผู้เขียนทั้งที่ผู้เขียนเด็กกว่ามาก ในขณะที่ผู้ใหญ่กลุ่มที่สองที่ผู้เขียนเจอทั่วไปในชีวิตประจำวันกลับมีท่าทีไม่พอใจเมื่อผู้เขียนตั้งคำถาม พวกเขาปฎิเสธที่จะถกเถียงกับผู้เขียนด้วยเหตุผลและตราหน้าว่า ผู้เขียนนั้นเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ความต่างของผู้ใหญ่สองกลุ่มที่ผู้เขียนเจอทำให้ผู้เขียนนึกทบทวนถึงความคุ้มค่าและสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ นั่นเป็นจุดที่ทำให้ผู้เขียนลาออกจากโรงเรียนเพื่อหนีผู้ใหญ่กลุ่มที่สอง เพื่อวิ่งตามสิ่งที่ตนเองต้องการจริง ๆ ได้อย่างอิสระ รู้ตัวอีกทีผู้เขียนก็อยู่นอกกรอบของการเป็นเด็กดีเสียแล้ว และการเลือกเดินออกจากกรอบการดำเนินชีวิตที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ ทำให้ผู้เขียนกลายเป็นเด็กไม่ดีทันที เพียงเพราะเส้นทางที่เราเลือกเดิน ไม่ใช่เส้นทางที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลือก

ทำอวกาศในไทยจะเอาอะไรกิน เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้เขียนถูกถามอยู่บ่อย ๆ ด้วยท่าทางดูถูก แต่หากเราลองตั้งคำถามใหม่ล่ะ ว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอวกาศในไทยมันเติบโตพอที่จะเลี้ยงปากท้องคนทำงาน จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ที่มีความฝันด้านนี้ได้ทำตามความฝันในประเทศนี้ นั่นอาจจะทำให้เราต้องมองย้อนกลับไปในระบบสังคมที่พังพินาศว่าคนไทยส่วนมากยังต้องการอะไร พื้นฐานเลยคือความเข้าใจ อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลยที่ยังขาดความเข้าใจ แม้แต่ภาครัฐเองก็ยังขาดความเข้าใจในด้านนี้ หลายครั้งที่รัฐเลือกที่จะเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับโครงการที่ไม่ได้อะไรกลับมาอย่างคุ้มค่าเพื่อพัฒนาสังคม Space for Thai จึงเป็นคอลลัมน์ที่ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอวกาศให้กับคนในสังคมไทยได้บ้าง พร้อมทั้งบอกเล่าถึงความเป็นไปของวงการอวกาศไทยในปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้หันมาสนับสนุนกันและกันในด้านนี้มากขึ้น จุดเล็ก ๆ หนึ่งจุดอาจไม่ได้อะไร แต่หากเป็นจุดเล็ก ๆ หลาย ๆ จุด เราอาจจะสามารถสร้างภาพที่สวยงามขึ้นมาได้ก็ได้

ไม่นานมานี้ทีมผู้สร้าง BCC-SAT 1 ได้เติมจุดเล็ก ๆ ลงไปอีกหนึ่งจุดให้กับผืนผ้าใบของสังคมไทย ผ่านการส่งดาวเทียมศึกษาขนาดเล็กดวงแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างโดยเด็กมัธยมศึกษาขึ้นสู่อวกาศ และเป็นดาวเทียมดวงที่สองที่สร้างโดยคนไทย โดยความหมายของคำว่าดาวเทียมขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Nano Satellite ในที่นี้ก็คือ ดาวเทียมที่มีขนาด 10*10*10 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกินหนึ่งกิโลกรัม โดย BCC-SAT 1 ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก ณ ความสูง 575 กิโลเมตร ไปแล้วในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ด้วยจรวด Soyuz 2 ของรัสเซีย ยิงที่ Baikonur Cosmodrome คาซัคสถาน โดยทีมผู้สร้างอยู่ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในการสร้างดาวเทียม เรียกได้ว่า ผลงานของพวกเขาในครั้งนี้ได้ทำลายเพดานของความเป็นไปได้ที่เคยมีอยู่ในสังคมไทยไปอีกระดับ

ใครเป็นใครในทีมผู้สร้าง BCC-SAT 1

ทีมผู้สร้าง BCC-SAT 1 เป็นเพียงเด็กมัธยมปลายโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ 4 ตัวแทนจากทีมผู้สร้างที่มีกันทั้งหมด 22 คน ได้แก่ บุ๊ค-ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์, ยู-ศุภวิชญ์ เยี่ยมเเสนสุข, ปันปัน- ปัณณ์ พัฒนกิจารักษ์ และ ปรีดี-คฑาทอง ธรรมโสภณสกุล โดยน้อง ๆ ใช้วิธีการทำงานคือ แบ่งฝ่ายออกเป็นทั้งหมด 5 ฝ่าย ได้แก่ Communication (การสื่อสาร) มีหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางในการทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่าย เนื่องจากในหนึ่งโครงการอวกาศนั้นจะมีฝ่ายถูกแบ่งออกยิบย่อยเพื่อแบ่งกันทำหน้าที่ ฝ่ายนี้ถือว่าเป็นฝ่ายหนึ่งที่ต้องใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมาก เพราะในการทำงาน ความผิดพลาดหลายส่วนมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาด และยิ่งในโครงการที่มีคนทำจำนวนมาก โอกาสผิดพลาดในการสื่อสารยิ่งมีมากขึ้น และสำหรับโครงการอวกาศโดยเฉพาะโครงการที่ส่งคนหรือสัตว์ขึ้นไปบนอวกาศ ยิ่งไม่ควรจะมีพื้นที่ให้กับคำว่าผิดพลาด, Ground Station (สถานีภาคพื้นดิน หรือสถานีปลายทางโลก) มีหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างดาวเทียม หรืออะไรก็ตามที่ถูกส่งไปปฎิบัติภารกิจ อาจเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือสองทางก็ได้

Electronical (ไฟฟ้า) มีหน้าที่ในการดูแลจัดการระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบสายไฟ, การคำนวณพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ เป็นต้น, Command and Data (คำสั่งและข้อมูล) มีหน้าที่ในการจัดการข้อมูลทุกรูปแบบ, ดำเนินการตามคำสั่งจากสถานีภาคพื้นดิน เป็นต้น และสุดท้าย Structure (โครงสร้าง) มีหน้าที่ดูแลจัดการและออกแบบโครงสร้างของอะไรก็ตามที่จะถูกส่งออกไปปฎิบัติภารกิจในอวกาศ ทั้งนี้ในการทำงานอวกาศแต่ละโครงการความละเอียดและจำนวนฝ่ายในการปฎิบัติภารกิจจะขึ้นอยู่กับความใหญ่และซับซ้อนของโครงการนั้นๆ ด้วย

“ลองเล่าให้พี่ฟังหน่อยได้ไหมว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไรกันบ้าง”

“ทีมเรามีทั้งหมด 5 ฝ่ายครับ มี Communication, Ground Station, Electronical, Command and Data, Structure ผมทำฝ่าย Communication ครับ” – บุ๊ค
“ผมอยู่ฝ่าย Ground Station ครับ อีกคนไม่ได้มาอยู่ Structure ออกแบบตัวโครงสร้าง” – ปัน
“ผมอยู่ฝ่าย Eletronical ครับ” – ยู
“ผมอยู่ฝ่าย Command and Data ครับ อย่างฝ่ายผมก็จะเป็นโปรแกรม” – ปรีดี

“ภารกิจของ BCC-SAT 1 คืออะไร”

“สำรวจทรัพยากรธรรมชาติประเภทพวกพืชพันธุ์โดยใช้การถ่ายรูปแบบ Multispectral” – บุ๊ค

“Multispectral ก็คือการถ่ายรูปที่เราแยกเฉพาะความถี่แสงที่เราต้องการใช้ ปกติถ้าเราถ่ายรูป ตาเราจะเห็นความถี่ช่วง Visible light แต่ว่าในการถ่ายรูปแบบ Multispectral เราสามารถใช้ฟิลเตอร์ในการสแกนเอาเฉพาะย่านความถี่ที่เราต้องการได้ ซึ่งเมื่อพืชมันสังเคราะห์แสงมันจะมีการคายไอน้ำออกมา ทำให้กระจุกบริเวณนั้นเวลาเราถ่ายภาพแบบแยกแบนด์แสงมาแล้วมันจะเป็นสีเหลือง เราก็เลยใช้เทคโนโลยีนี้ในการแยกแบนด์แสงออกเป็นสี่แบนด์ เอามาซ้อนทับกัน แบนด์สีเหลืองเกิดจากการคายน้ำของพืช เราก็จะสรุปได้ว่าพื้นที่ตรงนั้นมีพืช” – ปัน

“ถ้าของจริงละเอียดได้มากพอ เราอาจเอาแต่ละสีมาบ่งบอกได้ลึกกว่านั้นอีกว่าเป็นพืชชนิดไหน” – ยู

การถ่ายภาพแบบ Multispectral นั้นอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เดินทางมายังโลก และกระทบกับวัตถุบนพื้นโลก ด้วยความที่วัตถุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกันจึงมีการดูดซึมและสะท้อนแสงต่างกัน ทำให้เราสามารถแยกชนิดของวัตถุจากความยาวคลื่นแสงที่วัตถุสะท้อนกลับมาได้ การถ่ายภาพแบบ Multispectral จึงเป็นการถ่ายภาพที่อาศัยหลักการนี้มาแยกแบนด์แสงแต่ละช่วงคลื่นออกจากกันแล้วนำภาพมารวมกัน

“เราสำรวจไปเพื่ออะไร”

“ตอนที่เราเลือกภารกิจกัน เราคิดว่าถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง เราอยากทำให้มันมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย ก็เลยเลือกทำในเชิงของการเกษตร ก็คือในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากได้ข้อมูลตรงนี้มาก็คือจะเปิดเป็นสาธารณะให้คนที่เขาคิดว่าจะได้ประโยชน์จากตรงนี้นำไปใช้ต่อ” – บุ๊ค

“อะไรทำให้พวกเรามารวมกัน”

“ตอนแรกระบบมัธยมปลายโรงเรียนผมมันจะเป็นเหมือนโรงเรียนอื่นครับ แต่ทีนี้โรงเรียนเราเปลี่ยนระบบใหม่โดยยังคงอยู่ในโครงของวิทย์-คณิต เน้นให้หาตัวเองให้เจอเร็วที่สุด ถ้าชอบก็ลองสายนี้ดู ถ้าลองแล้วชอบก็ไปมหาวิทยาลัยต่อ โดยสเปซนี่เปิดขึ้นมาใหม่เลย ก็คือวิศวกรรมอวกาศ” – ปัน

“แล้วพวกเราชอบอวกาศกันไหม”

“เอาตอนแรกหรือตอนนี้ครับพี่” – ปรีดี

เกิดเสียงหัวเราะครืนขึ้นทันทีในหมู่พวกเราหลังจากจบประโยคของปรีดี เพราะถึงแม้เราจะชอบขนมหวานสักเพียงใด หากต้องกินเพียงแค่ขนมหวานติดต่อกันทุกมื้อเป็นเวลานาน เป็นใครก็ต้องมีเอียนบ้างล่ะ เด็ก ๆ เล่าว่าตอนแรกมองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าตื่นเต้นพอตัว แต่ก็ยังมองภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร แล้วจะเอาไปทำอะไรต่อ แต่ก็เห็นว่ามันเป็นโอกาสหาประสบการณ์ ลองทำงานเป็นทีม ลองทำโปรเจ็คใหญ่ ๆ และคงมีไม่กี่คนในประเทศไทยที่มีโอกาสได้เรียนสายนี้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

“แล้วตอนนี้เรารู้สึกยังไงกับอวกาศ”

“รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใหญ่มาก ๆ เพราะมันคือทั้งหมดของโลกเรา มันไม่ได้มีแค่วิศวะอย่างเดียว มันสามารถแตกไปทางเคมีได้ ชีวะได้ เอาทุกอย่างมารวมกันแล้วมันกลายเป็นอวกาศ” – ยู

คำตอบนี้แอบทำให้ผู้เขียนนึกถึงตัวเองที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเจ้านึงเมื่อ 3 ปีที่แล้วจนยิ้มออกมา เพราะมันแทบจะเหมือนกันเป๊ะ เนื่องจากใครที่ได้ศึกษาอวกาศจริง ๆ จะค้นพบสัจธรรมอย่างหนึ่งที่ว่าแม้อีโก้และโลกใบนี้จะใหญ่สักเพียงใด แต่เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจักรวาลที่รวมทุกสิ่งทุกศาสตร์เอาไว้เป็นอันเดียวกันเท่านั้น

“ได้เจอตัวเองมากขึ้นไหมจากการได้ทดลองทำ”

“รู้สึกว่าผมทำไฟฟ้าไม่ได้ แต่ส่งไปแล้วยังไม่ระเบิดแค่นี้ก็โล่งใจแล้ว” – ยู

คำตอบโดยรวมของทุกคนมีทั้งเล่าว่าตัวเองทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกสายเรียนในมหาวิทยาลัย มีทั้งคนที่อยากจะไปต่อในด้านนี้เพราะค้นพบความชอบและความถนัด และมีทั้งคนที่อยากจะเบนเข็มไปสายอื่น แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือมันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่ได้ลองสร้างดาวเทียมฝีมือตนเอง

บทสนทนาของพวกเรายังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นและสนุกสนาน แม้แรก ๆ น้อง ๆ จะมีท่าทีเก้ ๆ กัง ๆ และกลัวนิดหน่อยว่าอาจจะพูดในสิ่งที่ตนเองคิดออกไปไม่ได้ แต่ภายหลังการยืนยันอย่างหนักแน่นว่าในคอลัมน์นี้คือสถานที่ปลอดภัยที่น้อง ๆ จะแสดงความคิดเห็นได้ น้อง ๆ ก็ดูผ่อนคลายและเป็นตัวเองมากขึ้น

“เคยเจอคำว่าเป็นไปไม่ได้ไหม”

“ไม่เจอครับ วงการนี้ไม่พูดคำนี้ เขาจะถามหาเหตุผลเราก่อน” – ยู
“มีแต่เขาพูดว่าแล้วทำไมเราถึงไม่ทำ” – บุ๊ค 

“คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง”

“สังคม ความคิด วิธีการทำงาน” – ยู 

“มันเป็นการเปลี่ยนมุมมองเราด้วย อย่างคนปกติจะมองว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลมาก เราอยู่ประเทศไทยเราก็ทำงานบนพื้นแบบนี้ของเราไป จะไปทำไมอวกาศ แล้วมันเป็นโครงการแรกของนักเรียนมัธยมปลาย อวกาศมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรานะ มันไม่ได้ไกล นักเรียนก็ศึกษาและทำอะไรกับมันได้ ตอนนี้มัธยมปลายโรงเรียนอื่นก็เริ่มลองให้เด็กทำเกี่ยวกับอวกาศบ้างแล้ว” – ปัน

“คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันได้เปลี่ยนสังคมบ้างไหม”

“โคตรเลยครับ” – บุ๊ค
“แต่หลาย ๆ คนก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ดี” – ปัน

“มันเปลี่ยนบ้าง ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ยังคิดเหมือนเดิม อย่างพวกผมตอนทำโครงการก็มีโดนแซะ เพราะว่าโครงการหลักสิบล้าน มันคือเงินโรงเรียน ซึ่งมันยังมีหลาย ๆ อย่างในโรงเรียนมันยังต้องการการปรับปรุง มันมีคนพูดว่ามีปัญญาไปอวกาศได้ แต่ไม่ซ่อมระบบ” – บุ๊ค

หากย้อนไปช่วงไม่เกินห้าสิบปีก่อน การจะส่งดาวเทียมแต่ละครั้งมีมูลค่าสูงหลักร้อยล้าน พันล้าน ราคาถูกย่อลงเหลือหลักสิบล้านภายในเวลาไม่กี่สิบปี เนื่องจากมีผู้แข่งขันจำนวนมากขึ้นในอุตสาหกรรมอวกาศโลก และในอนาคตราคาจะถูกกดต่ำลงไปอีกหากคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยในที่นี้ยังไม่คำนึงถึงตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ในอนาคต หลักสิบล้านจึงเป็นราคาที่สมเหตุสมผลมากแล้วในตอนนี้ แต่หากเราอยากจะพูดถึงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบ ก็ต้องย้อนไปที่ความสามารถในการจัดการงบประมาณของผู้ถืองบ เนื่องจากมันไม่จำเป็นที่จะหยุดฝ่ายนึงไม่ให้ได้รับการพัฒนาเพราะมีอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับการพัฒนา มันควรจะได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทั้งสองฝ่าย

ท้องฟ้าข้างนอกคาเฟ่ที่พวกเรานั่งกันเริ่มมืดครึ้ม ส่งสัญญาณว่าอีกไม่นานจะมีสายฝนหยาดลงมา พวกเรามองตากันปริบ ๆ เนื่องจากไม่มีใครพกร่มมาแม้แต่คนเดียว ก่อนจะดำเนินบทสนทนาต่อ

“คิดว่าทำไมสิ่งที่เราทำในไทยถึงไม่เป็นกระแส”

“ผมว่าที่มันไม่เป็นกระแสเพราะว่าโดยภาพรวมแล้วคนไทยไม่ได้เข้าใจวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น มันเป็นเรื่องที่มา ๆ ไป ๆ อยู่แล้วในชีวิตเขา มันไม่ได้มีผลโดยตรง ในไทยที่สร้างเองโดยคนไทยมีแค่สองดวง คือ KNACKSAT /มหาวิทยาลัยเป็นคนทำ แล้วก็ BCC-SAT 1 มันออกไปในเชิงเพื่อการศึกษามากกว่า ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องพวกนี้มันควรจะเกิดขึ้นโดยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเองก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้อยู่แล้ว แต่เราซื้อต่างประเทศตลอด มันก็เลยทำให้คนไทยมองว่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมก็ได้ เอาแรงไปทำอย่างอื่น แล้วใช้เงินแก้เอาง่ายกว่า มันเลยทำให้คนไทยรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะโฟกัส” – บุ๊ค

“ถ้าส่งเพลงให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มในสังคมไทยได้คนละหนึ่งเพลง”

“เส้นทางลูกผู้ชายของพี่เสก โลโซครับ มีท่อนนึงครับที่ผมชอบมากร้องว่า คนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่เคยทำเหี้ยอะไร ซึ่งผมชอบมาก ในสังคมที่ทุกคนพร้อมจะโทษกันตลอดเวลา” – บุ๊ค

“อยากให้เธอลอง อย่าไปห้ามเด็กครับ ให้เด็กได้ลอง” – ปรีดี
“หนักแผ่นดินครับ ถึงจุด ๆ นึงมันก็คุยอะไรไม่ได้แล้วผมว่า” – ปัน

“ลืมไปก่อน เหมือนกับว่าถ้าจะมาคุยอะไรกับพวกผม ให้ลืมสิ่งที่รู้ไปก่อน เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างบางสมการที่เรียนมา มันก็มีการพิสูจน์ใหม่และเปลี่ยนไปแล้ว” – ยู

เด็กไทยหลายคนไม่กล้าที่จะยกมือถามเมื่อสงสัย ไม่กล้าจะถกเถียงเมื่อไม่เห็นด้วยกับผู้ใหญ่ เพราะมันจะทำให้พวกเขากลายเป็นเด็กไม่ดี จนเรามีเด็กดีที่ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าถกเถียงอยู่เต็มประเทศไปหมด การทำให้เด็กกลัวที่จะพูดคุยอย่างอิสระและปลอดภัยเมื่ออยู่กับผู้ใหญ่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ดีจริงหรือ การแสดงความรักความเป็นห่วงอาจไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็ก ๆ เดินและเติบโตในกรอบที่สร้างเสมอไป เพราะนั่นไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริง การมาของเทคโนโลยีทำให้โลกในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดอาชีพใหม่ ๆ สร้างความหลากหลายทางอาชีพมากขึ้น

เด็กในปัจจุบันจึงเริ่มมีความฝันที่หลากหลายมากกว่าในอดีต สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ในอดีต กลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็คือการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศโลก การปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเองเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ให้เด็กได้ลองเจ็บเองดูบ้าง อย่างเด็ก ๆ ทีมผู้สร้าง BCC-SAT 1 ที่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ พวกเขาได้ลองทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีเด็กไทยคนไหนได้ทำนั่นคือส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรต่ำโลก ซึ่งต้องยอมรับและชื่นชมจากใจจริงต่อผู้ใหญ่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ที่ได้ยอมรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศโลก และเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างทางเลือกให้เด็กไทยมีโอกาสได้เลือกมากขึ้นกว่าเดิม

อวกาศมันอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลมาก ๆ หากเราคิดว่าอวกาศคือนอกโลก แต่แท้จริงแล้วเราเองก็คือส่วนหนึ่งของอวกาศ คาร์ล ซาแกน นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชื่อดังชาวอเมริกัน (ป.ล.โดยปกติเราจะรู้จักคาร์ล ซาแกน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอเพิ่มดีกรีนักปรัชญาไปด้วยเพราะแทบทุกอย่างที่เขาพูดล้วนเป็นปรัชญาทั้งนั้น) เคยกล่าวไว้ว่า จักรวาลอยู่ภายในตัวเรา เราล้วนถูกสร้างขึ้นจากดวงดาว เราคือหนทางที่จักรวาลจะได้รู้จักตนเอง (The cosmos within us. We are made from star stuff. We are a way for the cosmos to know itself.) เราไม่ได้สร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อละทิ้งโลก แต่เราสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลกันและกันให้ดีมากขึ้นบนโลกอันยิ่งใหญ่และในจักรวาลอันอ้างว้างนี้

BCC-SAT 1 นอกจากเป็นดาวเทียม ยังเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ว่า “ไม่มีใครแก่เกินไปที่จะเรียนรู้ และไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะไปอวกาศ”