ผลพวง(ไม่)เลื่อนสอบทีแคส64 สึนามิการศึกษาไทยซัดเข้าฝั่งเศรษฐกิจ โดมิโนตัวสุดท้ายกลายเป็นคนแพ้ถูกคัดออก - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่เด็กนักเรียนฟ้องศาลให้เลื่อนสอบ จากสถานการณ์โรคระบาดและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป แนวโน้มเด็กไทยเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยน้อยลง เพราะพวกเขาคือโดมิโนตัวสุดท้ายในสายพานความพังของระบบการศึกษา

De/code ชวน ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล  อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในครูผู้เรียกร้องสิทธิร่วมกับเด็กพูดคุยเรื่องเสียงที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ยิน

“นับถือหัวใจเด็ก ๆ ที่ต้องสู้ให้ถึงที่สุดตลอดหลายสัปดาห์นี้ บางทีมันความกดดันไม่ใช่แค่การสอบ แต่มาจากการที่เขารับรู้เรื่องครอบครัว เรื่องวิกฤติ และฐานะทางเศรษฐกิจที่กระทบกับครอบครัว”

อ.อรรถพลกล่าวถึงความกังวลใจของเด็กต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยบั่นทอนความสามารถทางการศึกษาคือการรับรู้ความเป็นไปอันตึงเครียดภายในครอบครัวที่พ่อแม่ของเขาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสังคมท่ามกลางโรคระบาดและรัฐที่ไร้วัคซีน

ความคาดหวังต่อตัวเองที่มากขึ้น หวังว่าตนจะล้มหรือแพ้ไม่ได้ในสนามสอบที่ชี้นำอนาคตของเขาและครอบครัว 

“อยากบอกเขาว่าให้ภูมิใจในตัวเองที่ผ่านปีที่ยากที่สุดปีนึงของตัวเองและของสังคมไทยมาได้ เพราะเป็นปีซึ่งทุกคนบอบช้ำไม่แตกต่างกัน ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่บอบช้ำมาก ๆ เรารู้

เราเข้าใจว่าเขาจะต้องเจอเรื่องอะไรมา คุณเป็นคนเก่ง คุณผ่านเรื่องพวกนี้มาได้ สังคมและผู้ใหญ่หลายๆอาจจะปฏิบัติกับคุณแย่มากในปีนี้  เรียนรู้เป็นบทเรียน

เราจะไม่โกรธที่ตัวคน บางคนเป็นภาพสะท้อนผู้ใหญ่ที่มีชีวิตมาด้วยชุดความคิดที่ทอดทิ้งคนไว้ข้างหลัง เป็นชุดความคิดที่มีปัญหาปล่อยทุกอย่างเป็นเรื่องปัจเจก ถ้าไม่ได้ดิ้นรนด้วยตัวเอง ชุดความคิดแบบที่ทำอะไรแล้วไม่ต้องมารับผิดรับชอบ ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างทำ ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน คือชุดความคิดที่มีปัญหา

ถ้าคุณจะอยู่ในสังคมนี้ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ต้องไปด้วยกันให้ได้ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ปีที่แล้วกับปีนี้สังคมไทยไม่เหมือนเดิมแล้ว พวกคุณเป็นคนทำให้มันเปลี่ยน มีการเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเข้มแข็งขนาดนี้ พวกคุณที่เป็นเด็กคือคนที่ลุกขึ้นมา ช่วยกันส่งเสียง

เด็ก ๆ อย่าประเมินตัวเองต่ำเกินไป เพราะเราไม่เคยมีการเคลื่อนไหวของเด็กครั้งไหนที่ยิ่งใหญ่เท่านี้มานานแล้ว”

ระบบการศึกษา ผู้ผลักโดมิโนตัวสุดท้ายคือเด็กให้ล้มลง

นักเรียนม. 6 ที่เข้าสู่ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา “TCAS” ประจำปี 2564 จำนวนกว่า 4 แสนคน ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แนวโน้มเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของปีนี้สูงมาก ตามการคาดการณ์ของอ.อรรถพล ผลกระทบที่ส่งต่อเป็นทอด ๆ ทำให้โดมิโนตัวสุดท้ายที่ต้องแบบรับคือเด็กต้องล้มครืนและไปต่อไม่ได้ เพราะโอกาสของทุกคนไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาใครแพ้คัดออก

“ปีนี้เด็กพร้อมไม่พร้อมด้วยเรื่องสถานการณ์ ไม่ใช่พร้อมไม่พร้อมด้วยตัวเอง พอสถานการณ์บีบให้เขาไม่พร้อม บรรยากาศทางสังคมในปีนี้กดดันเด็กอยู่แล้ว เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ พ่อแม่เขาได้รับผลกระทบ อย่างไรเสียเด็กก็เป็นหนึ่งในประชาชนไทยที่ต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ บรรยากาศไม่เอื้อให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรเลย  เด็กบางคนต้องออกไปช่วยพ่อแม่ขายของเสียด้วยซ้ำ จนรู้สึกว่าตัวเองยอมแพ้ไปเรียนเอกชนก็ได้ เพราะมีคนจัดทุนให้ ตัวเองเลือกทางเลือกที่จะไม่สู้เลย เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนหนึ่งก็เสนอทุนอยากจะให้เด็กมาเรียน แต่แปลว่าเขาเลือกเสียโอกาสสอบไปเลย

ปีนี้มีแนวโน้มสูงว่าเด็กอาจจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ การเลือกมหาวิทยาลัยเปิดหรือเอกชนอาจจะเป็นทางเลือกของเด็กหลายคน

เด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 มาถึงมหาวิทยาลัยด้วยความล้าและด้วยความเกลียดผู้ใหญ่ ถ้าผมเป็นเด็กม.6 รุ่นนี้ ผมจะต้องโกรธผู้ใหญ่มาก

ปีนี้เต็มไปด้วยเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำตัวน่าโกรธ กล้อนผมเด็ก ครูกระทำความรุนแรงกับเด็ก ทุกคนต้องการการสนับสนุนทางจิตใจแต่ครูก็ไม่บันยะบันยังในการสั่งงานเลย เพราะครูก็โดนต้นสังกัดบีบมาให้สอนออนไลน์ ทุกคนขาดความเห็นอกเห็นใจกันหมด

ม.6 เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต ถ้าเขาไม่ได้คณะที่เขาคาดหวังไว้คือเสียเวลา 1 ปี หรือถ้าเราเป็นลูกคนแรกของบ้าน แล้วปีนี้พ่อแม่เราประสบวิกฤติเศรษฐกิจ คุณก็คงอยากสอบติดมหาวิทยาลัยรัฐเพราะอย่างน้อยได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ สถานการณ์เป็นแบบนี้ สภาพจิตใจเราจะเป็นอย่างไร

สิ่งนี้จะยิ่งสร้างรอยร้าวทางสังคมระหว่างวัย (Generation) เด็กจะรู้สึกแย่มาก ๆ กับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาที่ไม่ได้เอาเด็กเป็นหัวใจของระบบตามที่เขียนในกฎหมายการศึกษาว่าต้องยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด

คุณที่ออกแบบระบบการสอบให้เด็กเสมือนคู่ค้า อุตส่าห์เป็นวิศวกรของระบบการศึกษา แต่คุณไม่ดูแลลูกค้า ไม่สนใจเลยว่าคนจะใช้ระบบนี้คือใคร”

แนวโน้มเด็กหลุดจากระบบยิ่งมาก ยิ่งแปรผันกับความเครียดของเด็ก

เด็กเครียดมากครับ เราเรียนรู้จากสิ่งนี้แล้วไม่ใช่เหรอ ปรากฎการณ์เด็กทำร้ายตัวเองเยอะขึ้น ยิ่งสังคมเราเป็นสังคมที่เด็กไม่ได้มีเบาะรองรับ (safety net) เด็กต้องการแรงสนับสนุนจากครอบครัวอย่างดีพอ ปีนี้จึงเป็นปีที่ต้องเข้าใจกันและกัน พ่อ แม่ เด็กก็ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ เครียดจากเศรษฐกิจเป็นโดมิโนล้มต่อ ๆ กัน เด็กเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในโดมิโนนั้นด้วย นี่คือเรื่องที่ต้องรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ๆ

การเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิตมนุษย์ คือการออกจากบ้านไปอนุบาลวันแรกจบม.6 เข้ามหาวิทยาลัย จบมหาวิทยาลัยเริ่มต้นทำงาน นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ๆ ของชีวิตคน ช่วงม. 6 ขึ้นมหาวิทยาลัยปี 1 ของเด็กเหล่านี้หายไปทั้งปีไม่มีกีฬาสี บรรยากาศไม่เอื้อให้มีอะไรเลย ชีวิตเขาหายไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องเห็นใจเขาเยอะๆ ว่าเด็กจะเป็นแบบนี้

“เด็กจะมาพร้อมกับความโกรธ มาพร้อมกับความหดหู่สิ้นหวัง เด็กจะมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่น่าเคารพ ผู้ใหญ่ไม่ฟังเขา ถ้าเด็กจะโกรธคุณมากขึ้น ตั้งแง่คุณมากขึ้น นี่มันคือผลพวงจากการที่คุณเพิกเฉย ปล่อยให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้น” อ.อรรถพลกล่าว

เส้นทางต่อสู้ให้เลื่อนสอบ

ข้อพิพาทระหว่างเด็กและผู้จัดสอบเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนเด็ก 64 ฟ้องศาลปกครอง กรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ประกาศยืนยันไม่เลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา “TCAS” ประจำปี 2564 ตามกำหนดการเดิม ในวันที่ 27 และ 29 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา

ศาลปกครองวินิจฉัยไม่เลื่อนสอบโดยให้เหตุผลว่าแผนการสอบครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก นักเรียนต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 7 เดือน หากเลื่อนจะส่งผลกระทบต่อการยืนยันการสอบใหม่ สถานที่ เลขที่นั่งสอบ กระทบต่อผู้มีความพร้อม และการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย เพราะการการสอบเข้าคือเรื่องของคนที่พร้อม

“จริง ๆ เด็กเรียกร้องมาโดยตลอด เสียงเด็กไปไม่ถึงผู้ใหญ่ ตลอดปีมันอลเวงมาตลอดทั้งปี ทุกประเทศตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างน้อยๆ 6 ประเทศที่ผมค้นพบว่าเลื่อนสอบคือ จีน อินเดีย อังกฤษ นิวซีแลนด์ เวียดนาม และฮ่องกง เลื่อนสอบทั้งหมด ทั้งการสอบปลายภาค สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเปิดเทอมใหม่ บางประเทศยกเลิกการสอบ เพราะเขาเล็งเห็นว่าสอบไปก็ไม่ได้ผลการเรียนของเด็กจริงๆ  เพราะปีนี้เราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ

ไม่รู้ว่าอีกหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป จะมีอะไรเกิดขึ้นจากการสอบครั้งนี้ไหม ผมหวังว่าภาพแย่ที่สุดจะไม่เกิดขึ้น คือการระบาดเพราะการจัดสอบ” อ.อรรถพลกล่าว

ในขณะที่การสอบของเด็ก 64 กำลังดำเนินไป การระบาดของโรคโควิด- 19 ระลอก 3 จากคลัสเตอร์ทองหล่อเมื่อวันที่ 2 เม.ย 64 คาบเกี่ยวกับสนามสอบ 7 วิชาสามัญ (3-4 เม.ย 64) และสนามสอบกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กสพท. (10 เม.ย 64) นับเป็นสนามสอบที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งทปอ.ไม่ได้ประกาศเลื่อนสอบแต่อย่างใด

สอบเข้าต้องแข่งขัน ใครไม่พร้อมก็แพ้ไป

เด็กถูกผลักลงไปเล่นในเกมที่ซับซ้อนขึ้นทุกปี เขาไม่รู้ว่าต้องเจอเกมซับซ้อนขนาดนี้ คนนอกเกมอย่างพ่อแม่ก็ไม่รู้ด้วยว่าลูกตัวเองเจออะไร คุณปล่อยเด็กลงไปเล่นในเกมแบบนั้นได้อย่างไร เด็กกำลังสู้กับกลไกทางการเมือง เขาสู้กับกลไกรัฐที่ไม่เป็นธรรม ไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์

บางคนเล่าว่า ‘อาจารย์ครับ วันนี้ผมปัจฉิมฯ แต่อาจารย์ยังทวงงานกันอยู่เลย’ ปัจฉิมมันควรจะเป็นวันที่เราเฉลิมฉลองว่าเราเรียนจบไม่ใช่เหรอ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าชีวิตเด็กปีนี้ไม่ปกติ แต่ผู้ใหญ่ทุกคนปิดตาไม่มองเรื่องนี้แล้วปล่อยไป

การสอบครั้งนี้จะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กจำนวนมากเสียโอกาสยิ่งกว่าเดิม  ปีนี้เด็กเข้าไม่ถึงคุณภาพการเรียนได้อย่างเสมอภาคกัน ถูกผลักลงไปแข่งในเกมโดยที่ตัวเองไม่พร้อม ในเวลาและทุนที่ไม่พร้อมด้วย อีกทั้งความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน คนจึงไม่ใช้พลังของตัวเองในการต่อรองกับรัฐอีกแล้ว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นรุ่นพ่อแม่ของเขา มันเหนื่อยล้าที่ต้องมาสู้กับหน่วยงานรัฐ กลับเป็นเด็กที่พยายามจะสู้ แล้วเราก็เห็นว่าเด็กวิ่งชนกำแพง

จริงๆ สิ่งที่อยากสนับสนุนจิตใจเด็กมากๆ คืออยากให้เขารู้ว่า กำแพงมันแบบนี้แหละ วิ่งชนไปก็เท่านั้น เราต้องเจาะทิ้ง

สำหรับผมคิดว่ามันคือเรื่องเดียวระหว่างม๊อบกับรัฐ เด็กกำลังสู้กับกลไกทางการเมือง คุณตะโกนเขาก็จะไม่ฟัง เพราะเขาไม่เห็นว่าเสียงคุณมีความหมาย

กำลังใจถึงโดมิโนตัวสุดท้ายที่รอดพ้นจากสนามสอบ

คุณเป็นความหวังของผู้ใหญ่หลาย ๆ คนในตอนนี้ เพราะฉะนั้นคุณต้องเห็นตัวเองเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ได้เป็นคนรับกรรมจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกับคุณ นี่คือโจทย์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่จะต้องต่อสู้กันต่อ ไม่ว่าจะไปเรียนต่อคณะไหน ได้เรียนตรงสายถูกใจหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเผชิญแล้วก็รับมือกับมัน

เราไม่ต้องปล่อยผ่าน ไม่ต้องมูฟออน (move on) จะปล่อยผ่านไปได้ยังไง เราต้องอยู่กับมัน รู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรียนรู้ว่าเราต้องทำอย่างไร ปีหน้าคิดเผื่อน้องรุ่น 65 ไว้เลย

“อย่าให้เขาต้องเจอสิ่งที่เราต้องเจอกับมันปีนี้”