สมัยเรียนใครเคยเรียนเรื่องฝังยาคุมบ้าง ยกมือขึ้น…
หากมือทั้งสองข้างของคุณจะยังชิดลำตัว นั่นหมายความว่า คุณไม่ได้ผิดปกติ ถ้าใครชูมือขึ้นมานี่สิแปลก จนอาจจะต้องถามต่อว่าเรียนจบที่ไหนมา เพราะตลอดการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียน เรื่องการคุมกำเนิด ดูคล้ายเป็นเรื่องลี้ลับ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า “ฝังยาคุมกำเนิด” หนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ จนมีการพูดขำขันว่าเป็นรองเพียงแค่การไม่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น จึงไม่เคยปรากฏในตำราที่ถูกสอนในห้องเรียนเล่มใดมาก่อน จนกลายเป็นว่า “รีวิวการฝังยาคุม” ที่ถ่ายทอดในโลกออนไลน์ กลับเป็นตำรานอกห้องเรียนที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา
De/code จึงอยากลองพาไปดูกันว่า ตำรานอกห้องเรียนเรื่องการฝังคุมกำเนิดนี้ เหตุใดเล่ากี่ครั้งก็ยังคงเป็นบทเรียนใหม่ได้อยู่เสมอ อีกทั้งมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้อัตราผู้เข้ารับบริการยังคงมีตัวเลขต่ำอยู่เพียง 8% เท่านั้น
บทเรียนที่ 1 : เพศศึกษานอกห้องเรียน
022565286 ตู๊ด ตู๊ด ไม่น่าเชื่อว่าการรอสายธรรมดา ๆ จะแอบตื่นเต้นไม่เบา เมื่อไม่ถึงเดือนก่อน เนย ในวัย 23 ปี ตัดสินใจโทรศัพท์ไปยังคลินิกวางแผนครอบครัว รพ.จุฬาลงกรณ์ ไม่ใช่เพราะเธอกำลังจะลั่นระฆังวิวาห์ แต่เพื่อที่จะนัดหมายการฝังยาคุมกำเนิด
“เอ้า หนูฝังฟรีได้ด้วยเหรอคะ ไม่ใช่แค่ต้องต่ำกว่า 20 ปีเหรอ”
เนย เล่าว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอสนใจการฝังยาคุมกำเนิด แต่เป็นครั้งแรกที่เธอลงมือหาข้อมูลและนัดหมายอย่างจริงจัง ด้วย “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” ในปัจุบันที่เปลี่ยนไป
“เนยว่าประเด็นที่ทำให้ไปฝังเลย คือ การใช้ชีวิตของเราว่าพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของเรามันใช้ยาคุมเยอะมั้ย อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่ทำแล้วจบ ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์บ่อย ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาใช้แค่ถุงยางได้”
ด้วยค่าใช้จ่ายหลักพันกับการฝังยาคุม ซึ่งก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับนักศึกษาอย่างเธอ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลให้เธอผลัดวันมาตลอด ดังนั้นการที่ได้รู้ว่าเธอฝังฟรีได้จึงเสมือนโบนัสเล็ก ๆ
“พอโทรไปเขาก็ถามว่าอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า อายุเท่าไหร่ แล้วเขาก็บอกว่าสำหรับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ฟรี แต่มีค่าใช้จ่ายนิดหน่อยราว 500 บาท เป็นค่าตรวจภายในกับค่ายา”
คงจะมีทั้งคนที่เคยผ่านตาหรือไม่รู้มาก่อนเลยว่าคนอายุ 10-20 ปี มีสิทธิรับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมสวัสดิการจากรัฐได้ทันที โดยหนึ่งในนั้น คือการฝังยาคุมกำเนิด
ด้วย พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปี รับบริการ และขอคำปรึกษาได้ฟรีกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาบรรดาคุณแม่วัยใสที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กรณีของเนย แม้จะอายุเกิน 20 ปีแล้ว แต่ตามสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้ผู้ที่อยู่พักอาศัยในกรุงเทพ ฯ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หอพัก คอนโด สามารถเข้ารับบริการได้ฟรี “ตอนแรกที่รู้ก็แอบคิดว่าเขาน่าประชาสัมพันธ์เยอะกว่านี้”
เมื่อนัดหมายวันเวลาได้แล้ว เนยเล่าว่า ขั้นตอนในการฝังไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่กังวล เมื่อผ่านกระบวนการคัดกรองผู้ป่วย ทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจภายในก่อน จากนั้นก็ไปสู่ขั้นตอนการฝังยาคุมได้เลย ซึ่งเธอฝังยาคุมชนิดที่สามารถคุมกำเนิดได้ 3 ปี โดยคุณหมอจะฉีดยาชาก่อน ก่อนที่จะฝังยาคุมดังกล่าวเข้าไป เพียงอึดใจเดียวก็เรียบร้อยแล้ว
และด้วยสถานการณ์โรคระบาด การติดตามผลจึงใช้ไลน์ทั้งหมด เนยจึงไม่ต้องกลับไปโรงพยาบาลอีก
สำหรับเนยนั้น การฝังยาคุมครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำตามปกติ ไม่ได้มีเหตุการณ์พูดจาไม่หวานหู อย่างที่หลายคนเป็นกังวล อีกทั้งเธอยังไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นปัญหากับชีวิต อย่างครั้งที่ใช้วิธีทานยาแม็ดคุมกำเนิด เธอรู้สึกตัวบวม และน้ำหนักก็เพิ่มขึ้น
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสการฝังยาคุมกำเนิดกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีวัยรุ่นคนหนึ่งตัดสินใจเขียนรีวิวการฝังยาคุมโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อหวังว่าจะเป็นการแนะนำให้กับหลาย ๆ คนที่สนใจ แต่ได้รับคำติติงจากครอบครัว ด้วยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย และสื่อถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
“เนยบอกแม่ก่อนที่จะไปฝัง อาจจะเพราะเราคุยกับแม่ทุกเรื่อง แม่ก็งง ๆ ว่ามีฝังด้วยเหรอ ได้ถึง 3 ปีเลยเหรอ เขาก็ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ไป”
นับว่าเป็นโชคดีของเนยที่เธอสามารถเล่าเรื่องสำคัญเช่นนี้ให้ฟังได้ แม้จะไม่ใช่กับทุกคนในครอบครัว แต่เท่านี้เธอก็สบายใจแล้วไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไม่เคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องลำบากใจ
“แม่เราไม่ได้หัวโบราณ แต่ไม่ได้หัวสมัยจ๋า เขาค่อนข้างโตไปกับเรา”
เธอยังเล่าอีกว่า ครั้งแรกที่แม่ได้รับรู้ถึงการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกนั้น แม่ถึงขั้นเสียน้ำตา แต่ต่อมาเมื่อปรับความเข้าใจ และอธิบายถึงทัศนคติในการใช้ชีวิตคู่ สองแม่ลูกจึงเห็นพ้องต้องกัน
ต่างกับ ดิว ในวัย อายุ 21 ปี ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 เดือนกับการฝังยาคุมกำเนิด เธอยังไม่กล้าปริปากเล่าให้ที่บ้านฟัง “ลึก ๆ เราอยากบอกมาก อยากบอกว่าเราเซฟ อยากให้เขารู้ว่าไม่ต้องเป็นห่วง”
ดิวยอมรับว่า ด้วยพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของตัวเอง ทำให้เธอต้องกินยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินอยู่หลายครั้ง เธอจึงตัดสินใจฝังยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวนี้แทน
แม้ดิวจะเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ด้วยไม่ทราบว่ามีช่องทางให้เธอสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี เธอจึงเข้ารับคำปรึกษาและตัดสินใจทำในคลินิกที่ให้บริการ ด้วยอัตราค่าใช้จ่ายสูงถึง 5,800 บาท
ก่อนหน้าที่เธอได้ฝังยาคุมนั้น เธอต้องเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ เนื่องจากมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า จึงกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงกับภาวะทางอารมณ์จากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง คุณหมอจึงแนะนำให้ดิวเริ่มต้นจากการฉีดยาคุมกำเนิดก่อน เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า เธอไม่มีภาวะอย่างที่กังวล จึงตัดสินใจดำเนินการฝังอย่างที่ตั้งใจ
บทเรียนที่ 2: ฝังฟรีก่อนอายุ 20 ปี ≠ ปัญหาทั้งหมดของความไม่รู้
“เรารู้สึกเลยว่าเรียนสุขศึกษาในห้องเรียนมันไม่พอ อย่างตอนนั้นเรียนใส่ถุงยางตอน ม.5 ถึงตอนนั้นเนยยังไม่ได้มีเซ็กส์ครั้งแรก แต่ถ้าคนที่เขาเร็วกว่านั้นล่ะ”
ในระหว่างการสนทนา เนยชี้ว่าไม่ใช่เพียงสิทธิการฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรีก่อนอายุ 20 ปีเท่านั้นที่เธอไม่ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมในพื้นที่ห้องเรียน นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การให้ข้อมูลที่สมควรเป็นสิ่งที่จำเป็น จะว่าเป็นเรื่องบังคับก็ว่าได้
เพราะด้วย พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น ไม่ได้มีผลเพียงกับสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงสถานศึกษาที่จัดสอนเพศศึกษา ช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ให้เรียนได้ต่อเนื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ต้องดูแล ฝึกอาชีพ จัดหางานให้แก่วัยรุ่นตั้งครรภ์ และการจัดหาครอบครัวทดแทนให้ในรายที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้เองอีกด้วย
การหลีกเลี่ยงด้วยมองว่า ขัดกับขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมนั้น อาจไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลเองก็เห็นด้วยกับสิ่งนี้สะท้อนผ่านนโยบายที่ได้ออกมา
ดังนั้นคำถามที่ว่า ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้เพศศึกษาแล้วจะไปกระตุ้นความอยากรู้ อยากลองหรือไม่นั้น เป็นเหมือน “ปัญหาไก่กับไข่” ที่เนยมองว่าทะเลาะกันไปก็ไม่มีจุดจบ
“รู้สึกว่าควรจะให้ข้อมูลเด็ก ถึงแม้เขาจะอยากหรือไม่อยาก ไปกระตุ้นหรือไม่กระตุ้น สักวันหนึ่งเขาก็ต้องผ่านจุดนั้น ตอนมหาวิทยาลัยเพื่อนบางคนที่มาจากหญิงล้วน เขายังไม่รู้เลยว่าใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมันใช้ยังไง หรือเนยใช้ผ้าอนามัยแบบถ้วย ก็มีเพื่อนอี๋ กลัว”
“อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องฝังยาคุมด้วยซ้ำ แต่เรื่องอื่น ๆ ก็ควรจะให้ข้อมูล แม้แต่ผู้ชายเองก็เถอะ หลายคนไปเรียนเพศศึกษาตามหนังโป๊ มันก็ไม่โอเค ไม่ได้ถูกต้องเลย”
บทเรียนที่ 3 : 1-2-3 / 2-3-5
1-2-3 และ 2-3-5 นี่ไม่ใช่ตัวเลขที่ปรากฏบนข้างกระสอบปุ๋ยที่ชินตากันแต่อย่างใด แต่เป็นประโยคที่ คุณหมอโอ-นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มักใช้เป็นโค้ดที่ไม่ลับเกือบทุกครั้ง ที่มีโอกาสได้ถ่ายทอดเรื่องราวของยาคุมกำเนิดแบบฝัง
คุณหมอโอ เริ่มต้นการทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่าการฝังยาคุมกำเนิดในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมด้วยกันสองรูปแบบ ซึ่งแบ่งตามประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
“1-2-3 หมายความว่า 1 เข็ม ใช้เวลาฝัง 2 นาที อยู่ได้ 3 ปี ส่วนอีกแบบหนึ่ง 2-3-5 ก็คือ 2 เข็ม ใช้เวลาฝัง 3 นาที อยู่ได้ 5 ปี”
ในอดีตรูปแบบการฝังยาคุมไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่าใดนัก ด้วยปัจจัยประการแรก คือ ราคาที่ค่อนข้างสูงในครั้งแรก เมื่อเปรียบเทียบกับการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น ๆ ด้วยเฉลี่ยแล้วอาจจะต้องจ่ายเงิน 2,500-3,000 บาท หรือมากกว่านั้นในสถานพยาบาลอื่น ๆ
ปัจจัยถัดมา คุณหมอโอ ยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์ มีส่วนสำคัญค่อนข้างมาก เพราะนับตั้งแต่ที่มี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้ามา โครงการต่อเนื่องต่าง ๆ ก็ผุดขยายขึ้นมา การรับรู้ของคนทั่วไปก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ การมีพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมให้พยาบาลสามารถให้บริการฝังยาคุมได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอแพทย์ จึงยิ่งเป็นการขยายให้การฝังยาคุมเป็นที่รู้จัก นี่ยังไม่นับรวมการอุดหนุนจากรัฐบาล ที่ให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดใหญ่สามารถเบิกจ่ายยาได้ เมื่อต้นทุนลดลง หลายแห่งก็ยิ่งยินดีที่จะให้บริการ
ในแง่ของประสิทธิภาพ คุณหมอโออธิบายต่อว่า นอกเหนือจากผลลัพธ์ที่ดีแล้ว หากต้องการกลับมามีลูกในอนาคตก็สามารถทำได้ทันที ทั้งยังมีผลพลอยได้ที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการต้องมาพบหมอบ่อยอย่างการฉีดยาคุมกำเนิด อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมาหาหมอทุก 3 เดือน
แม้จะเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น แต่หมอโอ กล่าวว่า การเข้าถึงบริการนี้ยังมีตัวเลขอยู่ที่ 8% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทั้ง ๆ ที่ “ประสิทธิภาพดีมากเลย 99.95% โอกาสท้องแค่ 0.05% เท่านั้นเองเวลาฝังยาคุม ซึ่งถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบการคุมกำเนิดประเภทอื่น ๆ”
ปัญหาสำคัญเกิดจากความไม่เข้าใจ การสื่อสารจึงยิ่งจำเป็น มากกว่านั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง “บอกว่าเป็นยาวิเศษนี่ก็ไม่ถูก เราต้องบอกผลข้างเคียงให้เขาตัดสินใจเอง”
“มันมีผลข้างเคียง เช่นทำให้เลือดออกไม่เป็นแพทเทิร์น เวลาฝังยาคุม ประจำเดือนเราจะมาได้ 3 แบบ คือ ไม่มาเลย มาเป็นรอบปกติ หรือมากะปริบกะปรอย ทำให้หลายคนตัดสินใจเอาออก”
หากสืบค้นในโลกออนไลน์ ประเด็นคำถามหนึ่งที่มักพบฝังยาคุมแล้วยังจำเป็นต้องใส่ถุงยางหรือไม่นั้น คุณหมอโอ แนะนำว่า ยังคงจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ อย่างซิฟิลิส ก็เป็นโรคหนึ่งที่พบสูงมากในทุกวันนี้
“ทำไมต้องให้ใส่ถุงยาง เพราะเราป้องกันการติดโรค การฝังยาคุมป้องกันได้แค่ติดลูก”
อีกข้อแนะนำหนึ่ง คือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาก็ควรพบแพทย์เพื่อเอาออก เพราะอย่างไรเสียก็เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ที่หากต้องการเอาออกในอนาคต อาจติดปัญหาพังผืดได้ แม้จะไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิตก็ตาม
“มาหาหมอทีเดียวเท่านั้นแหละ ฝังยาคุมแบบ 2 เข็มอยู่ได้ 5 ปี ทดแทนที่ไม่ต้องกินยาคุม 1,800 เม็ด ทีเดียวจบนะ”
ตลอดการสนทนากับผู้ที่ผ่านประสบการณ์ฝังยาคุม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคคลรอบข้าง จุดร่วมหนึ่งที่ปรากฏคล้ายกัน คือ ‘กลัว ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย’ เพราะ “ความไม่รู้”
“พออธิบายไปสักพักแม่รับฟังนะ” เนยกล่าว
ดิวจินตนาการว่าหากเล่าไป “รู้ว่าลึก ๆ เขาเห็นด้วย แต่เขาเป็นห่วง”
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้เขียนเองก็ได้เรียนรู้ และอยากถ่ายทอดออกไปว่า การฝังยาคุมที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ จนหลายคนยังลังเลใจ หรือไม่ยอมรับด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ อาจไม่สามารถเดินต่อไปได้ไม่ว่าทางใด หากไม่มีความพยายามที่จะสื่อสารและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการสร้างความเข้าใจ แต่ถ่ายทอดอารมณ์เกรี้ยวกราด เพื่อเอาชนะ กรอบความเชื่อและค่านิยมบางอย่างมาล้อมไว้ ยิ่งหากป้อมปราการเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นโดยครอบครัว ทุกคนจึงควรพยายามสื่อสารร่วมกัน อย่างที่คุณหมอโอ ย้ำตลอดการพูดคุยว่า
“เขากลัวที่จะฝัง (ยาคุมกำเนิด) จะไม่ดีไหม เพราะเขาไม่รู้จัก สิ่งที่ต้องทำคือคุย มันเป็นหน้าที่หมอ”